ว่างเปล่าด้วยปัญญา กับว่างเปล่าด้วยอัตตา แตกต่างกัน

ว่างเปล่าด้วยปัญญา กับว่างเปล่าด้วยอัตตา แตกต่างกัน

377
0
แบ่งปัน

*** “ว่างเปล่าด้วยปัญญา กับว่างเปล่าด้วยอัตตา แตกต่างกัน” ***

ขอสาธุคุณยามเช้าให้มีแต่ความสุขความเจริญ

ว่าจะอธิบายเรื่องอุเบกขา ที่เราพากันเข้าใจกัน ว่าเป็นการไม่เอาอะไร

แต่มันมีธรรมที่ใกล้เคียงกัน และเห็นชัดในการกระทำกัน ของนักปฏิบัติธรรมในยุคนี้อยู่

เราจึงมาคุยเรื่องเหล่านี้กัน

หลายท่านมาที่นี่ ทั้งพระและโยมศรัทธา

ท่านเหล่านี้ ไม่ทราบว่าไปเรียนรู้มาจากสำนักไหน

ว่าการปฏิบัติคือ เราต้องไม่เอาอะไร ไม่ถืออะไร

เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน รู้สักแต่ว่ารู้

ที่จริงเรื่องเหล่านี้นี่ มันมีเขียนมาในคำภีร์เหมือนกัน

แต่ความหมายของคำเหล่านี้นี่ มันมีกาลและโครงสร้างของปัญญาอยู่

ไม่ใช่ว่าเรา จะเอาตัวเข้าไปเป็น

หลายท่านใช้ชีวิตชิวๆ เพราะคิดว่าตนนั้นไม่เอาอะไรแล้ว

การไม่เอาอะไรแล้ว ตนดูว่ามีความสุข

ที่จริงนี่เป็นการหลอกตัวเอง

มันเป็นธรรมเข้าข้างกิเลสตน

พุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องของปัญญา

การเกิดมามีเรือนร่างได้นั้น มันอาศัยเหตุปัจจัยที่เป็นกรรม

เรานี่เป็นวิบากแห่งกรรมที่ได้เคยกระทำไว้

การเกิดกำเนิดมานี่ ไม่ได้เกิดมาแล้ว เพื่ออยู่เฉยๆ กับความว่างอย่างที่เราเข้าใจ

แต่เราเกิดมา เพื่อการได้เรียนรู้ กับการมีชีวิตที่ได้กำเนิดเกิดมา

การไม่เอาอะไร เฉยๆ เป็นการทำตัวเองขึ้นมา เพราะเห็นว่า นี่เป็นธรรมที่จะนำออกไปจากความพ้นทุกข์

ตรงนี้เข้าใจผิดทีเดียวน้องเอ๋ย

ความหมายแห่งพุทธ ที่ใช้คำว่า รู้สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น

ทำตัวว่างเปล่าจากสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น

มันเป็นอาการของผู้มีปัญญารู้เห็นตรงตามความเป็นจริงแล้ว

ท่านจึงอยู่ด้วยความเข้าใจ

ว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง

ความหมายนี้ มันประกอบพร้อมด้วยการเป็นผู้มี ศีล สมาธิ และปัญญาที่เห็นแจ้ง

ไม่ใช่ว่า เราจะคิดเอา ด้วยคำกล่าวที่ผู้เห็นแจ้งท่านได้บอกกล่าวมาแล้วเราเอาตัวเองเข้าไปเป็น

ผู้ที่มีปัญญาเข้าถึงความเป็นจริงในตถาตาจริงๆ นั้น

ท่านจะรู้ว่า ตราบใดที่ยังมีจิตสังขารครองกาย

ตราบนั้น มันมีเหตุปัจจัยหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด

เรายังมีสังขารอยู่ อายตนะยังมีอยู่

การปรุงแต่งแห่งเจตสิกย่อมมีและเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

เราจะเข้าไปเป็นเจ้าของความว่าง การไม่เอา ไม่สนใจอะไรเลยนี่ ไม่ได้เลย

เพราะมันแสดงตัวของมันอยู่อย่างนั้น

มันเป็นธรรมชาติของมันเช่นนั้น

สิ่งที่เรามีกำลังพอที่จะยับยั้งได้นั้น

นั่นก็คือ การสื่อแสดงออกมา กับการกระทำ

เราระงับยับยั้งได้ในสองตัวนี้ คือทางวาจาและกายที่แสดงออกมา

ส่วนทางใจนั้น ห้ามมันไม่ได้เลย เพราะอาตนะมันทำงานของมันอยู่

เราจึงควรเข้าใจมันตรงนี้

ว่ามันมีของมันเป็นธรรมดา เราจะไปทำตัวไม่ให้มีนี่ไม่ได้

ท่านที่เข้าใจ ท่านที่มีปัญญา ท่านจึงไม่เคยไว้ใจในกระแสแห่งตัณหาที่ผุดออกมาจากใจเช่นนี้

ตัณหานี้ เราห้ามมันไม่ได้ แต่เรายับยั้งมันไม่ให้แสดงและกระทำออกมาได้

ฉะนั้น..การเข้าใจว่า การทำตัวว่างๆ ไม่เอาอะไร ดูทุกสิ่งว่างเปล่าอะไรนี่

นั่นมันเป็นความหมายของการให้นิยามแห่งสมมุติ

มันเป็นการแปลความหมายของสรรพสิ่งด้วยความคิด

แต่ความจริง เรากำลังเผชิญกับมันอยู่

แค่สิ่งที่เผชิญ มันยังไม่ถึงทิฐิเรา เราจึงพออยู่กับกำลังของเรา ที่คิดว่าว่างได้

แต่พอถึงทิฐิ เราก็จะทุรนทุราย

ที่ทุรนทุราย ก็เพราะมันเป็นธรรมชาติแห่งจิต ที่แสดงอาการของมันออกมาเป็นธรรมดาของการหวงแหน

และการหวงแหนนี้ มันเป็นธรรมชาติโปรแกรมในการรักษารูป

มันอยู่เหนือสมมุติและความเป็นจริงที่เราเข้าใจเอาเอง

เราน่ะเข้าใจยังไงก็ได้

แต่จิตน่ะ มันไม่ได้เข้าใจอย่างที่เราเข้าใจและยึดสมมุติกัน ว่าเราจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

พระพุทธชินสีห์ท่านทรงชี้ให้เห็นธรรมชาติเช่นนี้

ท่านไม่ได้ชี้เพื่อให้เรานั้น เอาตัวเข้าไปเป็น

ผู้ที่เห็นธรรมชาติเช่นนี้ ท่านจึงอยู่ด้วยความเข้าใจธรรมชาติ

และเห็นธรรมชาติที่มันมีที่มันเป็น เป็นธรรมชาติเช่นนั้น

นี่..เช่นนี้ ท่านจึงเลือกที่จะอยู่กับความว่างไปตามเหตุปัจจัย

ไม่ใช่ว่าง เพราะไม่เอาอะไรอย่างที่ใครๆ เข้าใจกัน

พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 3 เมษายน 2563