ทำความเข้าใจภพแห่งจิต

ทำความเข้าใจภพแห่งจิต

383
0
แบ่งปัน

**** “ทำความเข้าใจภพแห่งจิต” ****

ขอสาธุคุณสวัสดี ให้มีแต่ความสุขความเจริญ

ธรรมทั้งหลายนั้น เราพึงอ่านซ้ำหลายๆครั้ง

ความเข้าใจจะค่อยๆเพิ่มภาชนะมากขึ้นเรื่อยๆ

หลายคนไม่เข้าใจ ทั้งๆที่เป็นภาษาง่ายๆ

และแปลความหมายบาลีออกมาให้เห็น

นี่เพราะท่านไม่มีภาชนะแห่งภูมิธรรม มาแต่ต้น

เมื่อไม่มีภูมิมาก่อน

ความเบื่อหน่ายในการติดตามธรรมก็จะเกิดขึ้นมา

เช้านี้ข้าจะอธิบายให้เห็นช่องทางแห่งการตัดภพ

ภพนี่ คือเหตุ

เมื่อเหตุมี ผลก็ย่อมมี

ผลนี่บาลีท่านเรียกว่าชาติ

ชาตินี่ เกี่ยวเนื่องกับภพ

และชาติก็เป็นเหตุให้เกิดผลต่างๆที่แยกย่อยกันออกไปอีกมากมาย

จำเป็นทีเดียว ที่เราจะต้องรู้และเข้าใจ เรื่องของตัณหา และเส้นทางของมัน ดังที่กล่าวมาเมื่อวันก่อนๆ

ธรรมเหล่านี้ น้องๆพี่ๆเพื่อนๆมั่นใจได้ ว่าไม่บิดเบือนไปจากโบราณ ที่ท่านเข้าใจกันแน่ๆ

พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสรู้ ก็ตรัสรู้ด้วยเหตุแห่งอริยสัจ

อริยสัจนั้น ก็คือหลักเหตุหลักผลนี่แหละ

หลักเหตุหลักผลนี่เป็นเรื่องของโลกที่มันเป็น

เพราะเข้าใจหลักเหตุหลักผล ท่านจึงพ้นโลก

ไม่ใช่จมอยู่กับความรู้ที่ท่านรู้จากหลักเหตุหลักผล

การพ้นโลกนี่ มันเหนือเหตุเหนือผล

อันเนื่องว่าเข้าใจในหลักเหตุหลักผล

ที่โลกนั้นเขาอิงกันอยู่

หลักอริยสัจนี่ เป็นเรื่องของโลก

ชี้ให้เห็นเส้นทางแห่งความจริง ที่โลกเราเดินไปตามเส้นทาง

ความจริงนี้ มันมีเหตุที่ลึกๆๆๆ ลงไป

หลักเหตุหลักผลนี่ เป็นกฏแห่งอริยสัจ

อริยสัจนี่ เดินอยู่บนเส้นทาง อิทัปปัจจยตา

อิทัปปัจจยตา ที่ครบกาลวนรอบตามเหตุตามปัจจัย

เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท เป็นวงล้อแห่งวัฎฎะ ที่สัตว์โลกต่างต้องวนเวียนกันอยู่ในกระแสเช่นนี้

การเรียนรู้ที่จะออกไปจากวงล้อนั้น

คือความเข้าใจในกระแสวัฏฏะที่ต้องเวียนวนอยู่เช่นนี้

มันเป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ

การเกิดจากการฟัง การตรึก การอ่าน การปฏิบัติ การภาวนาอะไรใดๆ

มันเป็นเพียงเส้นทาง ที่จะทำให้ผู้ดำเนิน เกิดประสบการณ์ ที่จะเรียนรู้ความเป็นจริงเท่านั้น

การนำประสบการณ์ ที่ได้เรียนรู้และลงมือทำ

มันจะเกิดปัญญาสร้างสม เข้าใจตรงตามความเป็นจริงของโลก

ผู้เข้าใจโลกตามความเป็นจริง

เขาจะหาหนทางแหวกออกจากวนเวียนแห่งวัฏฏะวงล้อนี้ได้

สิ่งสำคัญที่ทำให้เราต้องก่อเกิดไม่รู้จบนั่นก็คือ ” ภพ ”

แต่เราไม่รู้จักภพ

ภพนี้คือเหตุแห่งกาม ตัณหา และอวิชาทั้งปวง

เรามาว่ากันถึงภพ ที่มีรูปปรุงแต่งเป็นเราเรียบร้อยแล้ว

ภพเบื้องต้นอันเป็นเหตุแห่งอวิชานั้นลึกไป เราจะไม่เข้าใจ

ภพอันเป็นเหตุในอัตภาพปัจจุบัน

จะเป็นตัวชี้ครรลองความเป็นมาจากแหล่งกำเนิดภพแรกต้นได้

ภพแรกต้น ไม่สำคัญเท่าอัตภาพในปัจจุบัน ที่กำลังเป็นเรา

ภพนี่ มันประกอบขึ้นมาเป็นผลที่จะขับเคลื่อน สืบต่อไปในวัฏฏะได้นี่

มีองค์ประกอบอยู่ สามตัว

ตัวแรก เรียกว่า ภพแห่งจิต

ตัวที่สอง เรียกว่า ภพแห่งการสื่อ

ตัวที่สาม เรียกว่า ภพแห่งกาย

ง่ายๆก็คือ จิตวิญญาณ ที่แสดงออกมาจาก กาย วาจา ใจ นี่แหละ

เมื่อไหร่ที่การแสดงออกทางกาย วาจา ใจ ครบทั้งสามภพ

การครบนี่ มันเกิดจากเจตนา

เจตนานี่ มันทำให้เกิดกรรม

กรรมนี่ มันทำให้เกิดวิบาก

วิบากนี่ มันทำให้การหมุนเวียนแห่งวัฏฏะมันเป็นผล

ว่ากันถึงภพตัวแรก คือภพจิต

จิตนี่ มันเป็นราก มันเป็นตัวต้นแห่งการสร้างภพ คือเหตุอย่างไม่หยุดหย่อน

หน้าที่ของมันคือการปรุงแต่งสร้างภพ

มันอาศัยผัสสะในการปรุงแต่ง

ผัสสะเกิด อวิชาเกิด

อวิชาเกิด การปรุงแต่งเกิด

ปรุงแต่งเกิด วิญญาณเกิด

วิญญาณเกิด สมมุติเกิด

ง่ายๆจะขยายให้ฟังว่ามันเกิดกันอย่างไร

เช่นเรามองเห็นสิ่งหนึ่ง ที่แปลกปลอมไปจากสัญญา

หรือมีการตั้งคำถาม

สิ่งที่เห็นหรือตั้งคำถามนั้น คือผัสสะ

เมื่อผัสสะเกิด อย่างเช่น ทางตาเห็นรูป

ก่อนที่จะรู้ว่ามันเป็นรูปอะไร

หรือไม่รู้ว่ามันเป็นรูปอะไร

ทั้งรู้และไม่รู้ มันปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว

มันถึงได้รู้และไม่รู้ขึ้นมา

ข้าจะอธิบายกระบวนการปรุงแต่งให้เห็นง่ายๆเช่น

เมื่อผัสสะจากทางตา

สิ่งแรกที่เห็นนี่ มันจะไม่รู้ก่อน ในความรู้สึกแห่งผัสสะนั้น

ตรงนี้เรียกว่า อวิชาเกิดล่ะ

ความรู้สึกแรกนี่ ไม่ใช่เรารู้สึก

แต่เป็นวิญญาณที่ปรุงแต่งมาจากจิตมันรู้สึก

เมื่อรู้สึก ตรงนี้เป็นกองเวทนา

มันจะนำสัญญาที่มีในภวังค์จิต ออกมาเทียบเคียงรูปที่เห็นผ่านทางช่องตา

ตรงนี้เรียกว่าสัญญาแห่งจิตบันทึก

การเฟ้นหาบันทึกจากสัญญานำไปปรุงแต่งเปรียบเทียบภาพที่ผ่านทางคลองจักษุคือตา

เรียกว่าเจตนา

เจตนานี่เป็นการปรุงแต่งจิตที่เรียกว่าสังขาร

สังขารก็คือการรวบรวมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน นี่ความหมาย

เมื่อเกิดสังขารปรุงแต่งสัญญาตามเวทนาที่ปรากฏ

ได้รูปทรงที่แน่ชัด ตรงตามบันทึกและปรุงแต่ง

หรือไม่มีตามบันทึกที่ปรุงแต่งในสัญญา

ตรงนี้เรียกว่าวิญญาณ

กระบวนการทั้งหมดที่เริ่มตั้งแต่ต้นนี้

เรียกว่าเจตสิก

เมื่อปรุงแต่งครบ

มันก็จะก่อภพมาเป็นเวทนา

เวทนาตัวนี้ เป็นสมมุติ ที่มีวิญญาณเข้าไปเป็นเจ้าของรู้เวทนา

ว่าอะไรเป็นอะไร

เรียกว่า เป็นเวทนาทางด้านจักษุวิญญาณ

เมื่อเกิดจักษุวิญญาณ ความเป็นเราก็จะเข้าไปเป็นเจ้าของ

นี่..เราเกิดตรงเวทนาปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว

เวทนาที่ปรุงเสร็จเรียบร้อยนี้

จะเป็นภพให้เกิดตัณหาอีกต่อไป

ตัณหาก็เป็นภพให้เกิดอุปาทาน

คือยึดในสิ่งที่ปรากฏ ว่ามันเป็นอย่างงี้ๆๆๆ

ฉะนั้น ภพแห่งจิตนี่ มันอาศัยผัสสะทางอายตนะ ปรุงแต่งภพอยู่ตลอดเวลา

ตราบใดที่เจ้าของยังมีชีวิตครองรูปสังขารอยู่

เราจึงห้ามคิดไม่ได้

ห้ามเห็นรูปไม่ได้

ห้ามไม่ให้ได้ยินเสียงไม่ได้

ห้ามไม่ให้ได้กลิ่นไม่ได้

ห้ามไม่ให้รู้ร้อน อ่อนแข็งอะไรใดๆทางกายไม่ได้

ห้ามไม่ให้รู้รสไม่ได้

เพราะสิ่งเหล่านี้

มันเป็นช่องต่อเพื่อผัสสะให้วิญญาณรู้ด้วยการปรุงแต่งทั้งสิ้น

บาลีเรียกว่า เวทนา

เป็นเวทนาทาง จักษุวิญญาณมั่ง คือความรู้สึกทางตา

ทางโสตวิญญาณมั่ง คือความรู้สึกทางหู

ทางลิ้น ทางจมูก ทางกาย และทางใจคืออารมณ์

นี่..สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากสังขารจิต

มันปรุงภพตลอดเวลา อาศัยผัสสะในการเกิดในการกำเนิดการปรุง

เมื่อเข้าใจเช่นนี้พอมีปัญญาขึ้นมา

เราจะเห็นว่า

ภพจิต เป็นภพธรรมชาติ ที่เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้

ฉะนั้น พวกอาจารย์ต่างๆที่มักชี้สอนกันว่า

ให้เราหยุดความคิด ไม่ให้คิด

การชี้เช่นนี้ เป็นการชี้แบบตื้นๆ ที่ยังไม่เข้าใจธรรมชาติ

ความคิดนี้เมื่อผัสสะเราจะหยุดไม่ได้

หากไม่เชื่อ

ลองมองหน้าคนข้างๆ

แล้วตั้งมั่นในใจ มองหน้าเขาแล้ว

ห้ามใจเราว่าจะไม่ด่าเขาว่าไอ้หน้าฆวยดูซิ

มองหน้าอาจารย์ที่เราเคารพก็ได้

แล้วเราจะรู้ตรงตามความเป็นจริงว่า

เราห้ามความคิดไม่ได้จริงๆ

เมื่อห้ามไม่ได้ เราจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดวิบาก อันมีเหตุมาจากภพจิต

เอาไว้ว่างๆแล้วค่อยมาสางความรู้ต่อ

ตอนนี้เขารอกินข้าวแล้ว

ยังมีเหลืออีก สองภพ ที่มันเชื่อมโยงกัน

แล้วค่อยมาว่ากัน

วันนี้ขอสาธุคุณสวัสดีวันศุกร์..!!


คำถาม >>> กราบสาธุ สาธุ สาธุค่ะ บางครั้งเข้าใจในความเป็นปกติของโลก ว่า เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ย่อมมี

แต่ยังหวังว่า คนที่เราร่วมงานด้วยจะอยู่ในขอบเขตของตัวเอง

ทำหน้าที่ตนโดยไม่ไปชี้ดีชี้ชั่วคนอื่น ถึงเราจะอยู่กับตัวเองแค่ไหน

รู้ทันความคิด แต่ผัสสะที่มากระทบ ก็ทำให้ใจอึดอัดขัดเคืองได้

แม้นจะบอกตัวเองว่า เป็นธรรมชาติ ธรรมดา เราต้องวางใจอย่างไรคะ

หรือเป็นธรรมดาของจิตที่ยังยึดมั่นในตัวตน

พระอาจารย์ตอบ <<< ให้ทำความเข้าใจว่า

เขาเป็นธรรมชาติของเขาอย่างนั้น

เป็นแต่เรานี่แหละ ไม่เข้าใจความเป็นธรรมชาติของเขาเอง

เราจึงอยากจะให้เขาเข้ากับสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเรา

เมื่อผิดไปจากธรรมชาติของเรา คือทิฐิอัตตาความรู้ที่เราก่อขึ้น

เขาก็ย่อมขัดกับสิ่งที่เราคิดว่าควรเป็นอย่างนั้นควรเป็นอย่างนี้

ธรรมชาติแห่งความขัดใจ ไม่ได้ดั่งใจ ในสิ่งที่เขาเป็น

ทั้งหมด เกิดจากเรา

เมื่อความเข้าใจมีกำลังมากขึ้น โดยการโยนิโสบ่อยๆ

ความขัดเคืองใจและอัตตาต่างๆที่เกิดจากเรา มันก็จะทุเบาเบาบางจางคลาย

พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง

วันที่ 19 มกราคม 2561