สิ้นภพชาติอย่างเด็ดขาดเมื่อแจ้งภพ

สิ้นภพชาติอย่างเด็ดขาดเมื่อแจ้งภพ

356
0
แบ่งปัน

**** “สิ้นภพชาติอย่างเด็ดขาดเมื่อแจ้งภพ” ****

ขอสาธุคุณสวัสดี ให้มีแต่ความสุขความเจริญ

วันนี้เช้าวันเสาร์ อากาศเย็นๆ เรามาต่อกันในเรื่องภพ

อันเป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต ในการขับเคลื่อน ให้เกิดวัฏฏะอีกสองตัวกัน

น่าดีใจที่เมืองไทยเรา ยังมีพระดีๆมากมาย ที่ท่านยังอยากรู้อยากเข้าใจ การตัดภพตัดชาติ

แม้ท่านเหล่านั้นจะเป็นมหาเปรียญ เรียนบาลีประโยคสูงๆก็ตาม

แต่ท่านเหล่านี้ ก็มีความนอบน้อมต่อธรรม

ใคร่อยากรู้อยากทราบในรายละเอียดแห่งคำอธิบาย

ขอดวงตาเห็นธรรมพึงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลายเถิด

เมื่อกล่าวถึงภพ ภพอันเป็นเหตุให้เกิดผลต่างๆที่เป็นชาติ

การเข้าใจเรื่องภพจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อเรียนรู้การตัดภพ ชาติก็จะดับลงเช่นกัน
ตามกฏ อิธทัปปัจจยตา

ดั่งที่กล่าวมาแล้วว่า

ภพนั่น อาศัยองค์ประกอบ เรียงตัวเป็นเจตนาแห่งวิบากอยู่ สามตัว

คือภพจิต ภพแห่งการสื่อ ภพแห่งการกระทำ

สามตัวนี่ ง่ายๆคือ กาย วาจา ใจ จากพวกเราที่เกิดมาในอัตภาพนี่แหละ

ภพจิตนั้น วันนี้ได้ลงอธิบายไปแล้ว

ว่าเราไปตัด ไปขวาง ไปทำลายอะไรมันไม่ได้

มันเป็นตัวก่อภพตลอดเวลา

เพราะมันอาศัยการปรุงแต่งภพด้วยเหตุแห่งผัสสะ ที่เนื่องด้วยอายตนะ

ที่เกิดมาพร้อมกับนามรูปที่มีวิญญาณ

เมื่อภพจิต เราระงับไม่ได้ เพราะเนื่องด้วยเหตุปัจจัยแห่งสังขาร

เราก็พึงยอมรับมัน และไม่ต้องไปฝืน

ที่จริงมันมีอีกวิธีหนึ่ง ที่จะระงับภพจิตได้

นั่นก็คือกำลังแห่งฌานสมาธิ

แต่ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก มันแค่ข่มเวทนาแห่งภพไว้ชั่วคราวเท่านั้น

เมื่อคลายมาอยู่ในวิถีจิต ภพมันก็ก่อเกิดปรุงแต่งขึ้นมาอีกเหมือนเดิม

นี่เพราะไม่ไปล้มล้างกันที่เหตุ

สมาธินี่เป็นผลที่ไปข่มที่ปลายเหตุ

แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย
ก็เลือกที่จะใช้สมาธิข่มกันโดยไม่รู้ตัว
ในครรลองแห่งการฝึกปฏิบัติ

และเน้นหนักในเรื่องสมาธิกันมากเกินไป
จนเลยล้นไปเป็นอัตตา

ความคิดนั้น เราห้ามมันไม่ได้ เพราะมันเป็นภพแห่งจิต

แต่เราสามารถ ห้ามไม่ให้ความคิดนั้น สื่อออกมาได้

นี่..กำลังของเราอยู่ตรงนี้

ภพแรก เราบังคับที่จะให้มันไม่เกิดไม่ได้

แต่เราห้ามการแสดงออก ห้ามการสื่อออกมาได้

เมื่อไม่แสดงออก ก็ไม่มีใครเดือดร้อน จากการปรุงแห่งภพจิต

หากการแสดงออก เราเอาไม่อยู่ ด้วยกระแสแห่งสันดานจิต

เมื่อเอาไม่อยู่ ภพแห่งวาจา

คือการสื่อที่แสดงออกมา มันเกิดขึ้นมาแล้ว

เมื่อภพสองตัวเกิดขึ้นมา กำลังแห่งวิบากก็มากขึ้น

ทำให้เจ้าของเกิดการกระทำขึ้นมา

การกระทำที่สำเร็จด้วย กาย วาจา ใจ ตามเจตนา

มันเป็นกรรม ที่มีวิบากย้อนอันสมบรูณ์

วิบากนี้คือผลแห่งกรรม ที่เจ้าของได้กระทำลงไป

มันอาศัยภพทั้งสามตัวเป็นองค์ประกอบขับเคลื่อน

ภพทั้งหลายในวัฏฏะ มันอาศัยองค์ประกอบสามตัวนี้ เป็นเหตุให้เกิดวิบาก

วิบากนี้ก็แยกออกไปเป็น กุศลและอกุศลอีก

หากขยายก็อีกเยอะแยะ

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า

ภพมันอาศัยองค์ประกอบสามตัว ทำให้ก่อเกิดภพแห่งวิบากในการเวียนว่ายตายเกิด

ภพจิต..เราตัดไม่ได้

ภพวาจา การสื่อเจตนาแห่งจิต …เราระงับได้

ภพกาย การกระทำต่างๆ …เราระงับได้

ผู้รู้ผู้เข้าใจ ท่านจึงตัดขาดภพอีกสองตัว

เพื่อไม่ให้ ภพประกอบตัวออกมาจนครบเป็นกรรม เพื่อให้เกิดวิบาก

การบวชจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการตัดภพชาติ

เพราะการบวช มันมีคอกกั้นแห่งใจ

ถคือพระธรรมวินัยและความเป็นเอกเทศแห่งนักบวช ที่โลกเขาสมมุติขึ้น

ผู้ไม่ออกบวช การตัดภพชาติ จะทำไม่ได้เลย

อย่าไปกล่าวอ้างเลย ว่าการเป็นฆราวาส จะบรรลุมรรคผลได้

จริงๆแล้วไม่เถียงหรอกคำๆนี้ ว่าฆราวาสบรรลุมรรคผลได้

แต่เมื่อบรรลุมรรคผลแล้ว มันจะอยู่ในคราบสภาพฆราวาสไม่ได้

ที่อยู่ไม่ได้นี่ ไม่ใช่จะต้องตายอย่างคัมภีร์เขาว่ากันหรอก

ความหมายก็คือ มันจะก่อภพภูมิขึ้นมาใหม่อีก

เพราะเหตุปัจจัยในสังขารมันเกื้อหนุนอยู่

การบวชจะทำให้เหตุแห่งการเกื้อหนุน ในสังขารจิตมันมีคอกกั้น

หากไม่มีคอกกั้น ผู้บรรลุธรรมก็จะต้องตายไปจากความดีเหล่านั้น

ไม่ใช่ตายไปจากโลกนี้ ดั่งที่ใครๆเขาเข้าใจกัน

ชนทั้งหลาย ต่างไม่เข้าใจเรื่องภพ

เมื่อไม่เข้าใจ ต่างก็ทึกทักกันไปด้วยตรรกะแห่งตน

พระพุทธองค์เจ้าทรงตรัสรู้เห็นแจ้งตามที่ได้แสวงหาโมกขธรรม

พระพุทธองค์ทรงรู้รอบหมดจดเขตแดนแห่งเหตุและผล

เมื่อรู้โลกหมดจดจบแดนสิ้นสงสัยในสิ่งที่จะแสวงหา

ทำไมพระพุทธองค์ถึงไม่กลับไปสู่ภูมิสถานที่ได้ทิ้งและพรากจากมา

การรู้ภพจบสิ้นสงสัย จะมาบวชให้ลำบากอยู่ทำไม

กลับไปเป็นพระราชา และเผยแพร่ธรรมด้วยความเป็นพระราชา

จะมีคนเชื่อมากกว่า การเป็นนักบวช ที่มีวรรณต่ำกว่าจัณฑาลซะอีก

เมื่อบรรลุแล้ว จบกิจแล้ว กลับไปอยู่อย่างสบายๆ ยังอัตภาพที่เหลือ ให้มีความสุขไม่ดีกว่ารึ

เหตุที่พระองค์ท่านไม่กลับออกไป ก็เนื่องด้วยภพในอัตภาพนี่แหละเป็นเหตุ

การกลับออกไปสู่เพศฆราวาส

การก่อภพภูมิ ในการที่จะเกิดวิบากหมุนเวียนในวัฏฏะ มันก็จะก่อตัวขึ้นมาใหม่

ไม่มีใครไปฝืนหรือบังคับกฎข้อนี้ได้

เพราะธรรมชาติมันเป็นของมันเช่นนี้

ธรรมชาติแห่งจิต มันไม่ได้เลือกว่า นี่พระเจ้า นี่พระพุทธเจ้า นี่พระอรหันต์ นี่พระอนาคามี อะไรนี่

จิตมันก็ทำงานปรุงแต่งของมันไป ตามเหตุแห่งผัสสะ

ไม่ใช่บรรลุธรรมแล้ว จะแปลงกายไปเป็นซุปเปอร์ไซย่า ไม่กลับมาเป็นหงอคงอีกแล้วซักหน่อย

นักจินตนาการ มักเข้าใจและให้นิยามกันว่า

พุทธศาสนานี้ พอบรรลุแล้วแปลงกายเป็น พระโสดาบัน

แปลงกายเป็น พระสกิทาคามี

แปลงกายเป็นพระอนาคามี

แปลงกายเป็นพระอรหันต์

พอแปลงกายแล้ว ไม่หวนกลับมาเป็นคนธรรมดาอีกแล้ว

นี่มันนิทานน่ะเพื่อนเอ๋ย

ถ้าไม่เข้าใจเรื่องภพ มันก็จะเข้าใจว่า เมื่อถึงขึ้นหนึ่งก็จะแปลงกาย

เขาไม่รู้ว่า ไม่มีใครแปลงกาย

ทุกคนไม่ว่า ปุถุชนไปยันพระอรหันต์ ที่ให้นิยามกัน

มันก็คือมนุษย์ธรรมดา ที่เกิดมาร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน

ที่แตกต่างกัน คือแตกต่างกันในด้านของปัญญาญาณเท่านั้น

คือเข้าใจโลก กับไม่เข้าใจและหลงยึดอยู่กับโลก

แตกต่างกันแค่นี้ ไม่มีอภินิหารอะไร ที่เหนือมนุษย์อย่างที่เข้าใจอย่างนั้น

ฆราวาส สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้เหมือนกัน

ไม่ใช่จะต้องเป็นพระต้องบวชกันเท่านั้น

แต่เมื่อเข้าถึงธรรมแห่งความเป็นจริงแล้ว

ฆราวาสจะอยู่ในเพศฆราวาสไม่ได้หรอก

ที่บอกๆว่าบรรลุธรรมแล้ว แต่ยังอยู่อย่างฆราวาสน่ะโดนมันหลอก

ตัวมันเองก็โดนตัวเองหลอก

เพราะผู้ที่เข้าถึงธรรมจริง มันจะแจ้งเรื่องภพภูมิ

มันเข้าใจด้วยปัญญาญาณเลยเชียวล่ะ

ว่าหากออกไปอยู่สภาพอย่างฆราวาส อย่างโลกๆที่เขาเป็น

เหตุมันก็จะก่อไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะจิตมันปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยแห่งผัสสะที่เนื่องมาจากอายตนะ

ความละอายใจ และการมีหิริโอตัปปะเบื้องต้น มันจะไม่ทรงตัว

มันจะอ้างด้วยกิเลสที่เต็มหัวใจของมันอยู่เสมอว่ามัน ไม่ใช่นักบวช

เมื่อไม่ใช่นักบวช มันก็จะก่อภพไม่มีหยุดหย่อน เพราะจะคิด พูด ทำอะไรก็ได้

ความละอายมันไม่หนาแน่นพอ

การเป็นนักบวชนี่ มันกั้นคอกได้ มันมีวิถีอยู่ได้

เอาลมหายใจมาเป็นวิหารแห่งธรรมได้

แต่ก็น่าเสียดาย ที่เหล่านักบวชเอง เมื่อมีโอกาส แต่ท่านดันไม่ทำหน้าที่ตนให้สมภูมิ

กลับไปกระทำตัวและหัวใจอย่างฆราวาสซะอีก

เรียกว่าอาศัยผ้าเหลืองหากิน

ส่วนฆราวาส ที่คิดว่าตนบรรลุแต่ไม่ยอมออกบวช

ก็เรียกว่า อาศัยธรรมแบบมโนหากินเหมือนกัน

ก็คงพอจะเข้าใจกันบ้างแล้วนะ

วันนี้ขอสาธุคุณให้มีแต่ความสุขความเจริญ

หวัดดีๆ

การทำความเข้าใจในธรรม จะทำให้เราคลายความงมงาย ตามที่พวกพ่อค้าคนกลาง มันเอาธรรมที่จับต้องไม่ได้ มาขายให้เราลุ่มหลงได้

ธรรมทั้งหลาย จะไม่ขัดกับพระไตรปิฎก

ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย

ไม่ขัดกับพระอภิธรรม

ไม่ขัดกับพระสูตร

ปัญหาสำคัญที่เกิดคือ บางพระสูตร ผู้แปลท่านยังไม่เข้าใจธรรม ภูมิธรรมไม่ถึงในอักขระที่แปล

การตีความให้เข้าถึงมรรคผล ตามเหตุตามผล มันจึงเกิดการสะดุดกันไป

เอ๊ะ..ต้องกินข้าวกันก่อนล่ะ น้องๆรอ

—————————————————-

คำถาม >>> กราบขอบพระคุณค่ะพระอาจารย์
ระลึกถึงบางประโยคในภารสุตตคาถา และปฐมพุทธภาสิตคาถาและได้เข้าใจเพิ่มขึ้นเลยค่ะ … ขออนุญาตแชร์นะคะ

บางประโยคในพระสูตรเหล่านั้น (ที่สาธุชนสวดกันอยู่บ่อย ๆ นั่นหล่ะค่ะ)

คือ “พระอริยเจ้า สลัดทิ้งของหนักลงเสียแล้ว ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่น ขึ้นมาอีก

เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้ กระทั่งราก”

และ “นี่แน้ะ นายช่างปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว

เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว

ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป

มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา”

พระอาจารย์ตอบ <<< พระสูตรนี้อธิบายความหมายแห่งภพได้ชัดเจน

แต่ผู้ฟังแค่แปลความกันไม่ออก จึงคิดว่า ต้องเอาตัวเข้าไปเป็น จึงจะเรียกได้ว่า เป็นผู้รู้จักนายช่างปลูกเรือน

จริงๆเป็นเรื่องของปัญญา

เมื่อเกิดปัญญารู้แน่ชัด การสานต่อแห่งภพ ก็ไม่สามารถสร้างเรือน หรือรูปขึ้นมาให้ทุกข์อีกต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง

วันที่ 22 มกราคม 2561