อุปาทานแห่งการเรียนรู้ปฏิบัติ

อุปาทานแห่งการเรียนรู้ปฏิบัติ

304
0
แบ่งปัน

*** “อุปาทานแห่งการเรียนรู้ปฏิบัติ” ***

ธรรมทั้งหลายนั้น อาศัยประสบการณ์

นักปริยัติ อ่านมาจำมา ก็จะจมลงไปในกระแสแห่งปริยัติ

นักปฏิบัติ ปฏิบัติโดยไม่ฟังปริยัติ มันก็จะจมลงไปในกระแสแห่งปฏิบัติ

การศึกษาธรรมนั้น หากจมไปในฟากใดฟากหนึ่ง มันก็จะโต่ง

โต่งด้วยโลกสวยในการปฏิบัติตามปริยัติ

กับโต่งด้วยความจริงจังในการปฏิบัติ

สองสิ่งนี้ ขวางมรรคผลทั้งคู่

ปริยัตินี่ ท่านให้ศึกษาเพื่อนำผลอันเกิดจากปฏิบัติ มาเทียบเคียงได้

ไม่ใช่เอาตัวเข้าไปเป็นในเรื่องราวที่ตนร่ำเรียนมา

การปฏิบัติ ท่านให้ปฏิบัติ เพื่อได้เรียนรู้และมองเห็นสภาวะธรรมกันจริงๆ

ว่าธรรมชาติแห่งจิตที่อาศัยเวทนาผ่านทางกายนั้น มันเป็นธรรมชาติของมันเช่นนี้

ไม่ใช่เอาตัวเข้าไปเป็นเช่นกัน หรือไม่เอาปริยัติ

ทั้งสองสิ่ง มันเป็นสิกขา เป็นการเรียนรู้

ปัญหาคือ เจ้าของ มักเอาตนเองเข้าไปเป็นเจ้าของในสิ่งที่เรียนรู้

การฟาดฟันทางวาทะ ทางความคิดเห็น ทางปัญญา มันก็เลยทะเลาะกัน

นี่..สิ่งที่ข้าเห็นมาอย่างช้านาน

ข้าได้พบเจอน้องๆพระมากมาย ที่เก่งๆปริยัติ

ได้มหาเปรียญสูงๆ

แต่นั่นแหละ มันเป็นการเรียน จิตใจไม่ได้สูงตามสิ่งที่เรียนมา

อัตตาเยอะ เข้าใจว่ารู้ธรรม

ธรรมที่รู้นั้น ตนเองไม่ได้เรื่องซักเรื่อง

พอใจอยู่แต่กับธรรมที่ตนเรียนรู้

นี่..ก็จะขวางมรรคผล

บางท่านปฏิบัติมาก อยู่ป่าอยู่ดอย เบื่อผู้คน

จมอยู่กับการเป็นผู้ปฏิบัติ ดูว่าการปฏิบัติ ดีกว่าการเรียนการอ่าน

แน่วแน่แต่การทำสมาธิ ปลีกวิเวก ไม่เอาใคร

นี่..ก็ขวางมรรคผลเช่นกัน

ทั้งสองส่วนนี่ หากเจ้าของจมลงไปในด้านใดด้านหนึ่ง

มันจะเป็นอาการโต่งด้วยกันทั้งคู่

มรรคผลปัญญาญานมันจะไม่เกิด

สิ่งที่เกิดคือตัวตนในสิ่งที่เป็น

และมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดชีวิต จนตายจากไป

ด้วยความเข้าใจ ในสิ่งที่ตนเองเป็นนั้น คือมรรคผล

ธรรมทั้งหลาย รู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด

เพียงแต่เจ้าของอย่าทำตน เป็นน้ำเต็มแก้วก็พอ

ขอให้ทุกคนมีดวงตาเห็นธรรม

พระธรรมเทศนา วันที่ 14 กุมภาพันธุ์ 2561

โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง