เกิดมาสร้างความดีให้แก่ชีวิต

เกิดมาสร้างความดีให้แก่ชีวิต

363
0
แบ่งปัน

***** “เกิดมาสร้างความดีให้แก่ชีวิต” *****

หวัดดีจ้า

ตื่นเช้าขึ้นมา
เราลองลุกขึ้นมานั่งนิ่งๆ
สงบๆ ซักพัก

ระลึกถึงความดีทั้งหลาย
ที่เราได้เคยทำ

ระลึกอยู่เนืองๆ

ความดีเหล่านั้นที่ระลึก

มันจะย้อมใจดวงนี้
ให้เป็นใจที่อยู่ในฟากของกุศล

ผู้ที่ระลึกอยู่เช่นนี้เนืองๆ ยามเช้า

หากวิบากมาวาสนาส่งให้ตีตั๋วไปเยี่ยมพยายม

ใจที่เป็นกุศลนี่แหละ
จะนำพาให้เจ้าของ
มุ่งไปสู่แดนสุคติ

เราจึงควรหมั่นลุกขึ้นมานั่งนิ่งๆ
ระลึกถึงความดีของเราทุกๆ เช้า

เป็นการป้อนโปรแกรมความดีเรา

สะสมลงไปในเมมโมรี่แห่งชีวิต

ที่เกิดมา กายม่องเท่ง แต่ใจไปสว่าง

ชีวิตนั้นอย่าได้มืดมนเพียงแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนเราต้องจมปลักลงไปในสิ่งนั้นๆ

เราลองมองออกไปรอบๆกาย

เราจะเห็นเหตุปัจจัยอีกมากหลาย

ที่จะทำให้ชีวิตเรานั้นดีขึ้นกว่าสิ่งที่เราจมแช่แต่กับมัน

คนที่ยังมืด บอกทางคนที่อยู่ในเงามืด มันก็จะเดินกันอยู่ในห้องมืดๆนั่นแหละ

จิตนั้น ไม่มีใครมองเห็นได้หรอก

คำว่า มองเห็นจิตนั้น

ท่านใช้เทียบแค่ว่า มองเห็นอาการภายในที่มันปรุงของมัน

การปรุงนี้ เราบังคับมันไม่ได้

แม้แต่ความคิด จริงๆเราก็ห้ามมันไม่ได้

สิ่งที่เราทำได้นั่นก็คือ

ไม่สื่อออกมา และไม่แสดงการกระทำออกมาเท่านั้น

และภายในที่มันปรุงและแสดงออกมาให้เรารู้สึกได้นั้น

มันก็เป็นอาการนึงของจิต ไม่ใช่ตัวจิต

เราเอาอาการปรุงของจิต มาเป็นเราปรุง

และความรู้สึกที่เราปรุง เราจึงคิดว่า นี่เราเป็นคนเห็นจิต

เราเห็นจิต

แล้วเราคือใคร..

เดี๋ยวก็เที่ยงแล้ว

เราลองเอาช้อนตักข้าวขึ้นมาดู

และเราคิดไว้ว่า เราจะเอาข้าวเข้าปากและกลืนลงไปโดยไม่เคี้ยวดู

ดูซิ..ว่ามันกลืนลงไปได้ไหม

ลองย้อนนึกดูซิ ว่าอะไรเป็นตัวต้านไม่ให้กลืน

ในเมื่อเราจะกลืน

ผู้ฉลาดจะเห็นชัดว่า

แม้กายนี้มันก็ไม่ใช่เรา ที่จะยอมเชื่อฟังเราที่จะกลืนเลย

กายมันมีภาวะต่อต้านการไม่เคี้ยวและจะกลืนของเรา

แสดงว่ากายก็มีโปรแกรมของมันเองต่างหาก

อะไรที่ผิดไปจากโปรแกรมของมันที่มันมีรหัส

มันก็ไม่ให้ผ่านเข้าสู่ร่างมันเหมือนกัน

ไอ้เรานี่..เสือกไปหลงยึดเอง ว่ากายเป็นกู

และเอาตัวกู เข้าไปเป็นเจ้าของกาย

วิธีนี้ จะเห็นชัดว่า

กายอย่างหนึ่ง เราก็อีกอย่างหนึ่ง

นี่..การเห็นธรรมเบื้องต้นในร่องที่จะมุ่งไปสู่การถอดถอนตัวตน..

ปุจฉา >> เมื่อเรามีสติรู้เท่าในความเป็นธรรมดามันจึงไม่ไหลไปในกระแส

แต่สตินั้นก็ไม่เที่ยง เมื่อขาดสติจึงไหลไปในกระแสเป็นธรรมดาเช่นกัน

เราพึงเข้าใจในเหตุและปัจจัยเท่านั้นใช่มั้ยเจ้าคะ

มันคือรู้ที่เห็นและยอมรับในสภาวะของธรรมชาติอย่างแท้จริงใช่ไหมคะ

วิสัชนา << มันมีเหตุปัจจัยเป็นโจทย์ให้เราตัดสินใจอยู่

สิ่งที่ถูกสำหรับเรา มันอาจจะผิดของคนอื่น

แต่ขอให้เรายืนไปบนทางถูกต้องตามเหตุปัจจัยของเราไปก่อน

เพราะการถูกต้องของคนอื่น

มันอาจไม่ใช่เหตุปัจจัยที่เรากำลังเผชิญแต่เพียงลำพัง

ธรรมนั้น…อาศัยตรงตามเหตุปัจจัยที่เจ้าของต้องเผชิญ

ไม่ใช่ว่าต้องตรงไปตามเหตุปัจจัยของใครว่าหรือเอาตำราเข้าไปอ้าง..

ปุจฉา >> ทำไมความเฉยๆ ถึงจัดเป็นตัณหาได้คะ??

ความเฉยนี่ใช่วางใจเป็นกลางหรือเปล่าคะ??

วิสัชนา << เฉยๆ นี่ มันไม่ถึงทิฐิ
จัดเป็นตัณหาตัวหนึ่ง

ใจเป็นกลางนี่ไม่ใช่เฉยๆ

ใจเป็นกลาง คือ ความเข้าใจด้วยปัญญา
ว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย มันเป็นของมันเช่นนี้

เหมือนอยาก .. นี่ตัณหา

ไม่อยาก .. นี่ก็ตัณหา

เฉยๆ .. นี่ก็ตัณหา

ที่เฉยๆ เป็นตัณหาเหตุเพราะสังขารปรุงแต่งออกมาเสร็จแล้ว

ความไม่สะดุ้งสะเทือนต่อใจมันทำให้เฉย

การเฉยเป็นตัวตัณหา ที่ประกอบด้วยมานะและทิฐิอยู่ในตัวมัน

โดยพระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง
พุทธอุทยานบุญญพลัง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี