คนรวยเขาทำอย่างไร

คนรวยเขาทำอย่างไร

474
0
แบ่งปัน

***** “คนรวยเขาทำอย่างไร” *****

หวัดดีขอสาธุคุณในยามเช้า…

การทำธุรกิจนั้น การเอาแต่เพียงฝ่ายเดียวย่อมนำไปสู่ความตกต่ำ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ชาวสวน ยอมตัดผลไม้ที่แสนดกออก ก็เพื่อให้ส่วนที่เหลือ มีผลแข็งแรงและเติบใหญ่ไม่แคระแกร็น

ต้นแม่ก็ไม่โทรมเพราะความดกดำของผลที่มากไป

แต่คนโลภ บอกว่าดีแล้ว ลูกยิ่งเยอะ ยิ่งดี จะได้มีกำไรเยอะๆ

นี่..เป็นเรื่องการมองไม่เห็นความเป็นจริง

ต้นแม่อาจตายและพังทะลายลงมาได้

ที่สำคัญ ผลที่คิดว่าเยอะๆนั้น เนื้อเยื่อมันน้อย ขายได้ยากกว่าผลน้อยๆแต่เนื้อเยื่อเยอะ

เพื่อนข้าเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท

ธุรกิจดำเนินมาทางขาดทุน เพราะการต่อสู้และแข่งขันมันมีสูง

เมื่อปรึกษากัน เราจึงเห็นว่า ควรเปิดโอกาสให้แขกเก่าและใหม่ทั้งในและนอกประเทศเข้ามาพักฟรี

ดูเป็นเรื่องขาดทุน ที่ให้แขกมาพักฟรี

แขกนี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวอิสราเอล

เมื่อพักฟรี แขกก็มากันเพียบ 80 ห้องไม่พอ

ธรรมดา เต็ม 80 ห้องนี่ ได้ค่าห้องพักราว 120,000

เงิน 120,000 นี่ มันหายไป

แต่เราได้คนมาเป็นร้อยๆคน ที่รวมๆกันมาพักห้องละห้าหกคนก็มี

ตรงนี้แหละ ที่เราจะทำยังไงให้เงินในกระเป๋าพวกแขกนี้ มาอยู่ในกระเป๋าเรา

เงินน่ะมันมากับคน ไม่ใช่อยู่ๆมันจะเดินกันมาเอง

การเอนเตอร์เทนอาหารและการท่องเที่ยวที่แพงกว่าปกตินิดหน่อย

และห้ามแขกนำอาหารภายนอกเข้ามาในโรงแรมและรีสอร์ท

ปรากฏว่า ตลอด 7 วันแห่งทริปฟรี

ทางโรงแรมขูดเงินจากแขกพักฟรี ได้เงินรวมกันมากกว่า สี่ล้าน

นี่..เป็นการให้ ที่ซื้อใจ ในการขาย

และการให้นี่ เป็นการซื้อที่ได้มา ยิ่งกว่าการขาย ที่จะเอาแต่ผลกำไร

หลายคนสินค้าดี แต่ขาดองค์ประกอบแห่งการค้า

นั่นก็คือรอยยิ้มและมิตรไมตรี

ข้านี่สมัยหนึ่งได้ซื้อน้ำเชื่อมเป็นแก้วๆจากเซเว่น

ซื้อมาสามสี่แก้ว เป็นพวก แมงลัก หรือน้ำว่านหางจรเข้

ปรากฏว่านำมาเก็บไว้แล้วมันเป็นฟอง

จึงลองโทรไปตามเบอร์เจ้าของที่ข้างสลากติดแก้ว

โรงงานเขาอยู่สุพรรณ ข้าอยู่อยุธยา

เจ้าของขับรถมาเองเลย เป็นชายหนุ่มหน้าตายิ้มแย้ม

มาถึงก็ไหว้ขอโทษขอโพย ไม่แก้ตัวในสินค้าหรือหาสาเหตุที่มันเกิดฟอง

เขาขอโทษด้วยการเอาสินค้าที่เพิ่งผลิต มามอบให้สามสี่โหล

และบอกว่า เขาจะปรับปรุงการส่งมอบให้แก่ลูกค้าให้ดียิ่งๆขึ้นไป

เขาโทษแต่ฝ่ายเขา ที่อาจขนมาทางร้านแล้วโดนความร้อน

หรือลูกน้องอาจวางผิดที่ก่อนเข้าเซเว่น

และเราได้คุยกันเยอะแยะ หลากหลาย ในมุมมองการค้าของเขา

ต่อไปเขาบอกว่า เขาจะนำสินค้ามาส่งให้ข้าถึงบ้านเลย ไม่ต้องไปซื้อที่เซเว่น

แพ็คเดียวเขาก็มาส่ง

และเขาก็มาส่งจริงๆในอาทิตย์ถัดมา

ไอ้เราก็เกรงใจ แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไร ยังไงเขาก็ต้องขับรถมาส่งสินค้าในอยุธยาอยู่แล้ว

ข้าเลยบอกเพื่อนๆในหมู่บ้าน ว่าเจ้านี้สินค้าเขาบริการดี

เขาก็เลยเอาสินค้าที่เขาขนมาทำการแจก แจกทุกบ้านที่เข้ามาพูดคุย

นับจากนั้น

ทุกอาทิตย์ หมู่บ้านที่ข้าอยู่ ก็สั่งซื้อสินค้าเขาอาทิตย์ละสามสี่โหลต่อบ้าน สั่งซื้อกันเยอะแยะ

ยอดขาย มันมากกว่าส่งให้เซเว่นขายสาขาที่ส่ง ไม่รู้ว่าจะเท่าใหร่

นี่..เป็นการซื้อที่ขายให้อย่างเป็นผู้ให้

ผลตอบแทนมันมหาศาลกว่าการขาย ที่เอาแต่จะขายอย่างเดียว

น้องคนหนึ่งขายของตลาดนัด ไม่ค่อยดี

ข้าบอกว่า ลองเปิดโอกาสให้ลูกค้ากินฟรีซิ

ถ้าไม่อร่อยก็ไม่ต้องซื้อกันไป

เขาบอกว่า ทำเช่นนั้นเขาจะขาดทุน

ถ้าเกิดลูกค้าบอกไม่อร่อย เขาจะทำอย่างไร

ข้าก็บอกว่า เราก็บอกลูกค้าไป ว่าต่อไปเราจะนำไปปรับปรุงให้ดียิ่งๆขึ้นไปซิ

งั้นวันนี้พี่กินฟรีไปเลย แถมให้เขาไปฝากเพื่อนด้วย

นี่…เป็นการเปิดตัวสินค้า

การรบมันย่อมเจ็บตัวธรรมดา หากนักรบมัวแต่กลัวหนามเกี่ยวหรือรอยแผลถลอก มันก็มีแต่ใจที่พ่านแพ้

ลูกค้าติเตียน ไม่ชอบใจหรือยังไงก็แล้วแต่ เราขอโทษและจะกลับไปทำให้ดียิ่งขึ้น

เราจะปรับปรุงหรือไม่ปรับปรุง ลูกค้ามันก็พอใจที่เรายอมรับคำติชมของเขาต่างหาก

คนไทยน่ะนิสัยขี้เกรงใจ

ถ้าเขาบอกไม่อร่อย เราก็ขอบคุณเขา แล้วเอาอีกชนิดให้เขากินอีก

แกเชื่อเหอะ ถึงไม่อร่อยมันก็บอกว่าอร่อย ใช้ได้ๆ

เพราะแกได้ซื้อใจลูกค้า ด้วยการยอมรับผิด ในสิ่งที่ลูกค้าเขามีความเห็นและต้องการ

ที่แน่ๆ แกได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

และบอกลูกค้าออกไปว่าเขาต้องการอร่อยรสชาติแบบไหน

ธรรมชาติลูกค้าเขาก็จะอวดภูมิอยู่แล้ว

แค่แกเห็นด้วยกับภูมิความเห็นของลูกค้า

และแกมั่นใจว่าสินค้าของแกมันอร่อยจริง

เดี๋ยวลูกค้ามันก็ว่าอร่อย แม้แกไม่ปรับปรุงอะไรออกไปเลย

ให้รอยยิ้มและให้เขาตำหนิติเตียน

เรียกให้มาลองชิม เรียกให้มากินฟรีๆ

นี่..เป็นการสร้างพื้นฐานของผู้ซื้อ ให้มาซื้อสินค้าของเราตลอดไป

ความพึงพอใจในผู้ขายนั้น มันอร่อยกว่าสินค้าที่ดูว่าน่าอร่อยอยู่เสมอ

สินค้าที่น่าอร่อย แต่ผู้ขายหน้าเหมือนตูดฮิปโป ขาดการเป็นผู้ให้

อย่าเลย อย่าไปทำอาชีพการค้า

ทำเมื่อไหร่ แววเจ๊งและห่อเหี่ยวกับสินค้า ที่ต้องเก็บมาไว้กินเองนี่ มีแววสูง

การให้เป็นผู้ที่จะพึงได้รับเสมอ

ผู้รับ เป็นผู้ที่ต้องตอบแทนแก่ผู้ให้เสมอเช่นกัน

นี่..เป็นกฏธรรมดา

บทธรรมขยายเพิ่มเติมจากพระธรรมเทศนาเรื่อง ***ธุรกิจล้มเหลวเพราะขาดการให้อย่างจริงใจ*** ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2560 โดย
พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง ณ พุทธอุทยานบุญญพลัง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี