สิ่งที่เรารู้เพราะฟังและอ่าน กับรู้จากการปฏิบัติ มันแตกต่างกัน

สิ่งที่เรารู้เพราะฟังและอ่าน กับรู้จากการปฏิบัติ มันแตกต่างกัน

356
0
แบ่งปัน

***** “สิ่งที่เรารู้เพราะฟังและอ่าน กับรู้จากการปฏิบัติ มันแตกต่างกัน” *****

ถาม*** กราบสาธุขอรับท่านอาจารย์ อาการหิวทางกายเพื่อกินข้าว

กับอาการหิวทางกามราคะอยากมีเพศสัมพันธ์นี่

มันเหมือนหรือต่างกันไหมครับ

ตอบ*** เป็นอาการทางจิตปรุงแต่เหมือนกัน เพียงแต่มันทำงานคนละหน้าที่

เดี๋ยวพรุ่งนี้ข้าจะอธิบายคำถามที่พระท่านได้ถามมา

เกี่ยวกับ เวทนา ในขันธ์ห้า กับเวทนาในปฏิจจสมุปบาท

เป็นตัวเดียวกันหรือคนละตัวกัน

รวมทั้ง วิญญาณในขันธ์ห้า กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท

เป็นตัวเดียวกันรึเปล่า

เรื่องพวกนี้ ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้

มันไม่ได้การันตีมรรคผลอะไรต่อการที่เราเข้าไปรู้

ผู้รู้นั้น ท่านก็ไม่ได้รู้แล้วนำไปปฏิบัติอะไร

ธรรมเหล่านี้ ผู้รู้ท่านแจ้งแล้ว ท่านจึงสอดส่องลงไป

และขยายธรรมที่สอดส่องนั้น มาอธิบายว่ามันเป็นอย่างงี้ๆๆๆ

ท่านไม่ได้รู้ว่าอย่างงี้ ๆๆๆ แล้วจึงเข้าไปรู้แจ้ง

พูดเช่นนี้พวกเราอาจจะงงกันอีก

ธรรมทั้งหลายนั้น สำหรับผู้มีธรรม ท่านอธิบายด้วยประสบการณ์ที่รู้แจ้งนั้น

ไม่ใช่ว่าผู้รู้จะจดจำมาจากการรู้ธรรมที่ปฏิบัติเพราะการจำได้หมายมั่นนั้นๆ

การจำมันเป็นอัตตาสัญญาอย่างหนึ่ง

แน่นอน..มันเป็นตัวขวางมรรคผลความเป็นจริงอย่างหนึ่งด้วยอำนาจแห่งอุปาทาน

ธรรมที่เกิดจากใจอันผ่านประสบการณ์

มันเรียงร้อยสายใยแห่งธรรมให้ขับเคลื่อนออกมาได้โดยไม่รู้จบ

ธรรมทั้งหลายที่หลั่งไหลออกมา

มันเกิดจากใจที่มันเข้าใจ และยืนยันได้ด้วยความจริงที่เกิดจากอำนาจประสบการณ์

ประสบการณ์มันเองก็อาศัยอำนาจแห่งความทรงจำ

เป็นเพียงแต่มันมีปัญญาตีความ ความทรงจำนั้นได้ละเอียด

โดยที่ความละเอียดนั้นมันไม่เคยมีความทรงจำอะไรมาก่อนเลย

ธรรมที่จดจำมาอธิบาย

สู้ธรรมที่ออกมาจากใจที่เข้าใจไม่ได้เลย

ธรรมที่ออกมาจากใจ ย่อมได้ใจเพราะไม่ได้ออกมาจากจด

ธรรมที่ออกมาจากจด ย่อมได้แค่จดเพราะไม่ใช่ธรรมที่ออกมาจากใจ

ถาม*** พุทธเจ้า รู้ ปฏิจจสมุปบาท ก่อนการ ตรัสรู้ (ความรู้จากการอ่าน)

ฉะนั้น การเข้าใจ กฎอิทัปปัจยตา ในเชิงเชาว์ปัญญา ไม่อาจทำให้หลุดพ้น ได้เลย

ผมเข้าใจถูกต้องมั๊ยครับ

ที่นี่ ปัญหาของผมก็คือ เราจะรู้แจ้งจากใจ ด้วยการปฏิบัติ ด้วยวิธีไหนครับ

กราบเรียนถาม (จะไปฟังด้วยหูอย่างเร็วที่สุดครับ)

ตอบ*** ท่านตรัสรู้ก่อนรู้ปฏิจจสมุปบาทน่ะลุง

ตรัสรู้แล้วจึงมาทำการวินิจฉัย

การตรัสรู้นี่ ไม่ได้หมายความว่ามันจะรู้ทุกเรื่องทุกอย่าง

การตรัสรู้นี่

มันเป็นความเข้าใจตรงต่อความเป็นจริง

ว่าสรรพสิ่งมันอาศัยเหตุอาศัยผลเป็นเหตุปัจจัยมาเป็นเช่นนี้เอง

ผู้ตรัสรู้แล้ว

ท่านก็วินิจฉัยไปตามเหตุและผลที่มันปรากฏและสาวลงไปได้เท่าที่กำลังแห่งปัญญาจะมี

ไม่ใช่รู้แล้วทุกเรื่อง

การรู้แจ้งจากใจ เรารู้แจ้งได้ด้วยการปฏิบัตไปตามตำราที่เขาว่ามานั่นแหละ

เริ่มต้นด้วยทาน ศีล สมาธิ และปัญญา

เพียงแต่ มันมีเหตุปัจจัยมากมายในการเข้าไปรู้แจ้ง

และเหตุปัจจัยนั้น บางทีกำลังเรายังมีไม่พอ

เมื่อยังไม่พอ เราก็หมั่นฝึกฝนกันไป

ถาม*** กราบสาธุค่ะพระอาจารย์ หากร่างกายนี้ไม่ต้องการอาหารเป็นแต่เพียงอาการของจิตที่ต้องการ

แล้วคนที่ตายเพราะร่างกายขาดอาหารเหตุมาจากอะไรคะ ขอพระอาจารย์ชี้แนะด้วยค่ะ

ตอบ*** จิตนี้มันหล่อเลี้ยงกายด้วยโปรแกรมของมัน

เมื่อกายไม่ได้รับอาหาร รหัสโปรแกรม มันก็ทำลายชีวิตมันไป

เราขังแม่ไก่ไม่ให้มันกินอาหารอะไร มันจะตายไปภายในสิบวัน

แต่ถ้ามันฟักไข่ มันอยู่โดยไม่กินอะไรเลยยี่สิบกว่าวัน

เอาหมีมาขังไม่ให้อาหารอะไรเลย สิบวันมันก็ตาย

แต่ถ้ามันจำศีลร่างกายไม่ได้กินอะไรเลย มันอยู่ได้เจ็ดแปดเดือน

คนก็เหมือนกัน ที่เนปาล มีหนุ่มคนหนึ่งนั่งสมาธินานหกปีไม่กินอาหาร กายก็ไม่เห็นตาย

ความตายแห่งการขาดอาการ เป็นอาการของจิตที่มันยึดอุปาทานจิต

เป็นโปรแกรมปกป้องกาย เมื่อเลยขีดจำกัดแห่งโปรแกรม

มันก็จะสลายร่างไป คือทิ้งร่าง

ข้านี่เพิ่งเลิกงาน แต่พระน้องๆเขาก็ยังทำกันอยู่

พระน้องๆเขากินเมื้อเดียว

แต่ทุกคนต่างก็ทำงานเหมือนคนกินหลายมื้อ

นอกจากงานส่วนรวมแล้ว

ยังต้องทำสมาธิภาวนาตามแต่จริตอีก

บางท่านก็งดอาหารไปเลย สามวัน ห้าวัน เจ็ดวัน

แต่ท่านก็ยังทำงานอยู่เหมือนเดิม ไม่ตาย

นี่เป็นเรื่องของกำลังใจ ที่ยอมรับในสิ่งที่ตนกระทำ

แต่คนที่ไม่เคยกระทำ และไม่ได้ตั้งใจงดอาหาร

แต่เป็นด้วยเหตุแห่งขาดอาหารเพราะการไม่มีจะกิน

ธรรมชาติแห่งใจที่มีความเป็นอยู่ มันแตกต่างกัน

เมื่อทำจนชิน

สิ่งที่กระทำก็เป็นธรรมดา

แต่คนที่ไม่ได้ทำ

เขาก็จะว่า ทำอะไรเกินตัว

นี่..ภาวะแห่งกำลังมันแตกต่างกัน

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 5 พฤษภาคม 2560