ธรรมเรียนรู้ได้จากสังขารที่ปรุง ไม่ใช่เฉยๆหรือว่าง

ธรรมเรียนรู้ได้จากสังขารที่ปรุง ไม่ใช่เฉยๆหรือว่าง

385
0
แบ่งปัน

****** “ธรรมเรียนรู้ได้จากสังขารที่ปรุง ไม่ใช่เฉยๆหรือว่าง” ******

ปัญหาของคนเรานั้น มักถูกตัดสินจากมุมมองของตนที่มองผล

เรามองเห็นผลอย่างไรเราก็ตัดสินไปตามทิฏฐิตนที่มีปัญญาน้อยนิดนั้น

เราขาดการวินิจฉัยธรรม และการสาวผลทั้งหลายนั้นไปหาเหตุ

ที่ลึกกว่านั้นที่เราคาดไม่ถึงก็คือ

เหตุทั้งหลายนั้น มันเป็นผลอันมีเหตุที่อยู่ลึกลงไป

ฉะนั้น..เราจึงไม่ควรไปตัดสินใคร

แต่ถ้าใครเข้าใจผิดคิดว่าเราตัดสินผู้อื่น

เพราะเหตุที่เขาไม่รู้จักเรา

เช่นนี้..มันก็เป็นเรื่องของภูมิปัญญาเขา

ความทุกข์ทั้งหลาย เกิดจากมีเรา เข้าไปเป็นเจ้าของผล

ที่สำคัญ..มันจะไม่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของมันก็ไม่ได้

เพราะสังขารนี้มันปรุงแต่งไปตามเหตุปัจจัยของมันอยู่

ฉะนั้น..วลีที่กล่าวว่า ถ้าไม่มีความเป็นเราเข้าไปเป็นเจ้าของในสรรพสิ่ง เราก็จะไม่ทุกข์

วลีนี้ดูเหมือนจะถูก แต่เป็นความคิดและคำพูดที่ผิดมหันต์

เพราะความไม่เข้าใจธรรม เราจึงพากันถอดถอนตัวตนของเรา

เราจึงพากันว่างและไม่รู้ไม่ชี้ ต่อธรรมทั้งหลาย ที่มาผัสสะต่อตัวเรา

เรา..คงลืมไปว่า เรามันเป็นเจ้าของตัวตนทุกการกระทำ ความคิด และการฝึกปฏิบัตินั้นๆด้วยความเป็นเรา

พุทธศาสนาไม่ได้ชี้ความว่างไม่เอาอะไรเช่นนั้น

พุทธศาสนาชี้ให้เข้าใจว่าเรา จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรด้วยวุฒิภาวะแห่งปัญญา ที่รู้จักมัน

ในสมัยโบราณ..

มีลัทธิ มีศาสนาต่างๆมากมาย ต่างก็มีความคิดเช่นที่เราเข้าใจนี้

คือไม่รู้ไม่ชี้ ไม่สร้างกรรม ไม่กระทำใดๆในสิ่งที่ให้ความหมายว่าชั่ว

ตรรกะความคิดที่เมื่อไม่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของ เราก็จะไม่ทุกข์

มันเป็นตรรกะความคิดพื้นๆของศาสนาทั่วไป

เพราะผู้คนทั้งหลายต่างก็เห็นดีในตรรกะความคิดเห็นนั้นว่าใช่

นิครณ์ เชน เซน และนิกายต่างๆแห่งพุทธในแต่ละนิกาย

ต่างมุ่งหมายขจัดความเป็นเราออกจากตัวตนนี้ เพื่อหลีกหนีความพ้นทุกข์

คำว่าสุญญตา จึงมีความลึกซึ้งพิสดารแทนความหมายแห่งอนัตตา

เหล่าพราหมณ์ผู้บวชจึงพากันมุ่งเน้นไปในความว่างในความหมายที่มันมี

พุทธะนี่เป็นเรื่องของปัญญา ความว่างเปล่าทั้งหลาย มันไม่มีประโยชน์อันใดที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดปัญญาพ้นทุกข์ขึ้นมาได้เลย

มนุษย์เราเกิดมาด้วยวิบากกรรม

พุทธศาสนาชี้ให้เห็นความเป็นจริงในวิบากทั้งหลาย ที่ทำให้เราเกิดกำเนิดมา

และใช้ปัญญาอาศัยเหตุปัจจัย ในการเข้าไปทำความเข้าใจต่อความเป็นจริง

ไม่ใช่ เกิดมาเพื่อให้ตนนั้นว่างจากความเป็นจริงทั้งหลาย

การทำตัวและใจให้ว่างจากความเป็นจริงทั้งหลาย

มันก็คืออัตตาแห่งตัวตน ที่เข้าใจและคิดขึ้นมา

ว่าความว่างทั้งหลาย และการไร้ตัวตน จะทำให้ตนนั้นพ้นทุกข์

ตลกไหม..เกิดมาเพื่อทำตนให้ว่าง

กับเกิดมาเพื่อเรียนรู้ทุกข์ทั้งหลาย

ผลมันแตกต่างกันคนละขั้ว

ตราบใดที่เรายังมีสังขารปรุงแต่ง

ยอมรับความเป็นจริงไว้ก่อน ว่าตราบนั้น เราจะว่างไปจากผัสสะอะไรไม่ได้เลย

เมื่อมีผัสสะ เวทนาย่อมมี

เวทนามี ตัณหาย่อมมี

ตัณหามี การไหลไปในกระแสแห่งตัณหาก็ย่อมมี

พุทธศาสนาท่านกำหนดสติและปัญญา ยับยั้งและชะลอความเชี่ยวกรากแห่งกระแสตัณหาตรงนี้

หากไหลไปตามกระแส ท่านชี้ว่าเป็นสมุทัย ผลคือทุกข์วนเวียนไปไม่รู้จบ

หากมีสติยับยั้ง ท่านเรียกว่ามรรค ผลก็คือกระแสแห่งตัณหาสงบ ทุเลา เบาบาง จางคลายลงมา

นี่เป็นหลักอริยสัจ ที่เป็นหลักปัญญาของมนุษย์ ที่เกิดมามีสังขารปรุงแต่ง

ทางออกแห่งการพ้นทุกข์มันอยู่ตรงนี้

มันอยู่ตรงที่มีปัญญา มีสติ มองเห็นความเป็นจริงว่า

โลกนี้ เราจะก่อหรือดับ ก็ด้วยตัวตนของเรา

เพราะเราห้ามกระแสตัณหาที่เกิดจากใจไม่รู้จบนี่ไม่ได้

แต่เราเลือกที่จะก่อหรือดับได้

และหลักอริยสัจที่ทรงรู้เห็นด้วยพระปัญญาแห่งพระพุทธชินสีห์ที่ชี้สอนมานี้

เหล่านอกศาสนาเขาไม่มี

ที่มี..คือชี้สอนความว่าง การไร้ตัวตนเพื่อให้ตนนั้นออกจากทุกข์ ด้วยอัตตาตนที่เข้าใจเอา..

ข้าชี้ผู้คนให้เห็นจริงและคลายความงมงายแห่งธรรมทั้งหลาย

แต่เรื่องความเห็นและการตัดสินใจ มันเป็นเรื่องของผู้รับที่จะเลือก

ความเป็นเพื่อนนี่สำคัญกว่าการเป็นครูบาอาจารย์

เพื่อนย่อมพูดคุยและเข้าใจได้ง่ายกว่าความเป็นครูบาอาจารย์ ที่ต่างล้วนมีแต่อัตตาว่าเป็นครู

เราคุยกันอย่างเพื่อน มันก็จะไม่ถือว่าเพื่อน มันจะทำตัวเช่นไร

จริตว่ากันไปตามวิสัย

ที่ดูๆว่าข้าทำอะไรไม่ถูกใจ

นั้นก็เพราะให้ค่าความเป็นครูอาจารย์ ไม่ใช่เพื่อน..

อีกเรื่อง…

ตราบใดที่เรายังครองสังขารมีชีวิตอยู่

ตราบนั้น ธรรมชาติแห่งวิญญาณที่มีนามรูป ย่อมทำหน้าที่ของมันเป็นธรรมดา

เรานั้น..เป็นแค่ผู้เป็นเจ้าของในอาการ ที่ใจมันปรุงแต่งเสร็จแล้ว

เราจึงเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะไปเป็นเจ้าของ ผู้ไม่ปรุงแต่งใจเรา

เพราะเราปรุงแต่งเองไม่ได้อยู่แล้ว

สิ่งที่เราปรุงแต่ง และคิดว่านี่คือการปรุงแต่ง

มันเป็นแค่มโนจิตที่เป็นความคิด มันตรึก มันนึก มันตรองไปเรื่อย

เช่นนี้ ไม่ใช่การปรุงแต่งที่เป็นความหมายแห่งนามขันธ์

แต่มันเป็นการปรุงแต่งจากใจเจ้าของ ที่เกิดจากตัณหาทั้งสิ้น

ความรู้แจ้งแทงใจในวิถีพุทธนั้น เข้าถึงง่าย

แต่มันยากที่จะเข้าใจต่อผู้คนทั้งหลาย

พระพุทธองค์เองก็ทรงท้อที่จะประกาศธรรมออกไป

เพราะความลึกและซับซ้อนแห่งการทำความเข้าใจ

ว่าในสรรพสิ่งมันเป็นธรรมดาของมันเช่นนั้นเองนั้น มันเป็นธรรมดาของมันอย่างไร

ท่านจึงแยกภูมิไว้เปรียบกับบัวสี่เหล่า

บัวพ้นน้ำรอการเบ่งบานเมื่อยามต้องแสงนั้น ยังมีอยู่

ธรรมนี้ก็เช่นกัน

ผู้รอการเบ่งบานเมื่อได้สดับฟัง ก็ยังคงมีอยู่บนโลกเช่นกัน

และข้าเอง

ขอให้บัวเหล่านั้น เป็นทุกๆคนที่ได้มีโอกาสได้รับแสงแห่งธรรม

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 4 พฤษภาคม 2560