ความจริงที่เราไม่เข้าใจในเรื่องความว่าง

ความจริงที่เราไม่เข้าใจในเรื่องความว่าง

398
0
แบ่งปัน

****** ความจริงที่เราไม่เข้าใจในเรื่องความว่าง *****

บทความนี้ เคยนำมาลงให้แล้ว แต่พอท่านมหาเหรียญนำมาให้เห็นอีก เมื่อได้อ่านจึงเห็นว่า เป็นบทความที่สวยงาม และเป็นอกาลิโกธรรม จึงนำมาให้ฟังทางตากันอีกครั้ง…..

การเกิดตัณหา ย่อมเป็นธรรมชาติของการเกิดที่ผุดขึ้นมา ของมันอยู่แล้ว

แต่เหตุแห่งการผุดนี้ มันเลือกที่จะดำเนินได้ เพราะเราเป็นผู้เลือก ว่าจะเลือกดำเนินมาทางไหน ต้องเข้าใจอย่างนี้

เหตุมันเกิดจากตัณหา ผลมันก็ย่อมเป็นตัณหา นั่นเพราะมันไม่คิดที่จะดับตัณหา

ใจมันปล่อยให้ไหลไปตามกระแสแห่งตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ ให้มันก่อเป็นทุกข์ขึ้นมา นี่…ท่านเรียกว่าพวกยังโง่หลายๆ

พระองค์ท่านทรงตรัสรู้มา และรู้ว่า อะไรที่ไหลไปตามกระแส มันย่อมจมลงไปในกระแส อะไรที่มันทวนกระแส สิ่งนั้นย่อมมีกำลัง ไม่จมหายลงไปในกระแส

ตรงนี้ ท่านจึงได้เข้าถึงหลักอริยสัจ เข้าถึงความแจ้งแห่งการเกิดและก่อ คือสมุทัยและมรรค ว่าทุกข์ทั้งหลาย เหตุมันเกิดจาก ใจดวงนี้ ที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบ

มันผุดขึ้นมาเป็นธรรมชาติของมัน เหตุเพราะมีสัญญาอันสืบเนื่องมาจาก อวิชชา ยังไงมันก็มีของมันมาอยู่แล้ว ห้ามเหตุมันได้ไง ธรรมชาติก่อนมีมรรคคามันเป็นอย่างนั่น

ท่านจึงให้ไปดับตรงตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบอันเป็นเหตุนั้นซะ ยังไงมันก็ต้องผุด เพราะมันอาศัยเวทนาที่ผัสสะ เพราะเรามีอายตนะและรูปนามเป็นเหตุ

เมื่อมีเหตุ เราก็ไปดับตรงเหตุ แต่การดับเหตุ ไม่ใช่ไปดับตรงตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบนั่น อย่างที่เข้าใจกันโง่ๆ

ดับในที่นี้ มันเอาสติพิจารณาดับด้วยปัญญา ตัณหาที่มันผุดขึ้นมา ห้ามไม่ให้ผุด มันห้ามไม่ได้ ไม่ใช่ไปดับโดยไม่ให้มันผุด คิดอย่างนี้ โง่หลายๆ

การดับเราดับโดยการ ลด ละ เลิก ตัณหาที่มันผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบนั่น ตามกำลังและปัญญาเรา

นี่..จึงจะเกิดญาณทัศนะขึ้นมา เรียกว่าเดินตามทางมรรค ผลก็คือ ตัณหานั้นค่อยๆ ทุเลา เบาบาง จางคลาย ลงไปเป็นลำดับ นี่..เรียกว่า นิโรธะ

ไม่ใช่ไปคิดว่า เหตุมันเป็นตัณหา ผลก็ต้องเป็นตัณหา คิดอย่างนี้ มันก็เหมือนกับ แล้วแต่เวรแล้วแต่กรรม เพราะไม่มีกำลังปัญญา ลด ละ เลิก เหตุแห่งกรรมนั้น ให้ทุเลาเบาบางลงมาได้เลย นี่…ใจมันขาดปัญญาความเป็น อริยสัจ

การที่จะบอกว่า นั่นก็ไม่มี นี่ก็ไม่มี มันต้องเข้าใจและรู้ชัดในสิ่งที่มี ว่ามันไม่มีแบบไหน ไม่ใช่ อะไรๆๆ มันก็ไม่มี เพราะถึงมีสติไม่หลงในผลของธรรม มันก็ มี ของมันอยู่เช่นนั้นแหละ ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีอะไร

พุทธศาสนาชี้ ความว่างในสิ่งที่มี ไม่ได้ชี้ความว่างที่เกิดจากสิ่งที่ไม่มี หรือยังไม่มี เมื่อมี ทำอย่างไรจึงจะเห็นว่าไม่มี นี่..มันต้องอธิบายออกมาได้ ว่ามันไม่มีอย่างไร ทั้งๆ ที่มันมี

ใจที่มันว่างและมันวาง มันต้องว่างและวางในสิ่งที่มี ที่เป็น ที่ผัสสะได้ เกิดญาณรู้ชัดในสิ่งที่มีและผัสสะสัมผัสได้ ว่าทั้งหลาย มันไม่มีและว่างเปล่า ไร้ความหมายและสาระ ในสิ่งที่มี ที่ผัสสะสัมผัสได้ นี่..ถึงเรียกว่าว่าง

ไม่ใช่ว่างด้วยความคิดเอา หรือเพราะยังไม่มี มันเลยว่าง ว่างและไม่มีเช่นนี้ เป็นว่างและไม่มีอย่างโง่หลายๆ พระพุทธองค์ท่านจึงได้ชี้แนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้เห็นชัดในสิ่งที่มี ว่ามันว่างและไร้สาระความหมายอย่างไร

เราอันเป็นปุถุชน ก็ถือดำเนินตามไป ตามอริยชนคำชี้นั้น ก็จะเห็นซึ่งความว่าง ไม่ใช่ว่ายิ่งปฏิบัติตามคำชี้ จะเป็นการกระทำกรรมให้ซ้อนกรรม หรือยิ่งมีตัณหามากยิ่งขึ้นตามพวกบ้าธรรมมันเข้าใจ

มีพวกบ้าบางพวกมันดันบอกว่า มันว่างของมันอยู่แล้ว อนัตตาอยู่แล้ว นิพพานอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้างกรรมโดยการกระทำอะไรต่อไป ให้ปลงๆๆๆ โหสิอย่างเดียว

ไอ้หำเอ๊ย..!! หากเป็นจริงเช่นนี้ ใครๆ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คงไม่ต้องฝ่าความตายเพื่อให้เข้าถึงธรรม ด้วยการปฏิบัติกันไปตามๆกัน

นั่งคิดเอา นึกเอา ไม่ต้องทำอะไร เพราะทุกอย่างมันว่างของมันอยู่แล้ว รู้อย่างนี้ พวกพราหมณ์มันรู้มาก่อนพระพุทธเจ้าซะอีก แต่ตายไป ก็ยังลงนรกหมด

สภาวะพวกนี้ มันเป็นของมันอย่างนั้น นั่นคือธรรมชาติ แต่ทำอย่างไรจึงจะประจักษ์แจ้งธรรมชาติเหล่านั้น ว่ามันเป็นของมันเช่นนี้

นี่…พระพุทธองค์ถึงได้บัญญัตแนวทางชี้แนะไว้ ไม่ใช่รู้จากอีกคนหนึ่งแล้ว ว่ามันว่างของมันอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว นี่มันเป็นประเภท หวานความรู้ ยังไม่รู้ความหวาน

ความว่างทั้งหลายที่เข้าใจกัน มันเป็นธรรมขั้นสังขาร ในรูปนามแห่งขันธ์ ยังไม่พ้นใตรลักษณ์

เป็นเรื่องของการปฏิบัติในขั้นศีล ยังอยู่ในหลักเหตุหลักผล ของความคิดว่าเช่นนั้นเช่นนี้ โดยการคิดและยึดเอา เรียกว่า ยึดความว่างเป็นสรณะ

กลัวการปฏิบัติเพื่อให้เข้าไปถึงเหตุ เป็นการซ้อนกรรมเข้าไปอีก ซ้อนตัณหา ซ้อนอุปาทาน นี่..มันโง่หลายๆ ตราบใดที่มีสังขาร การกระทำทั้งหลาย มันก็เป็นกรรมของมันอยู่แล้ว เป็นตัณหาอยู่แล้ว เป็นอุปาทานของมันอยู่แล้ว ไม่งั้นท่านจะชี้ให้ตั้งสติพิจารณาธรรมกันทำไม

การพิจารณาธรรม และการปฏิบัติธรรม เริ่มแต่สติอันเป็นศีล มันก็ต้องกระทำกันทั้งนั้น มันจึงจะรู้ขึ้นมาตามลำดับ การกระทำเช่นนี้หากคิดว่าเป็นกรรมซ้อนกรรม หลงยึดในการกระทำอีก นี่มันโง่หลายในทางพุทธ เรียกว่าเป็นการชี้เกินธรรมแห่งสัตบุรุษ เอาผลแห่งความว่างมาเป็นเจ้าของ

มันเป็นว่างในสิ่งที่ยังไม่มี พอมีแล้วมันว่างไม่ออก และมันต้องมีซะด้วย ตราบใดที่ยังมีสังขาร

มันเหมือนเห็นสาวงามรูปหนึ่ง รู้อยู่ตามที่จำกันมาว่า เป็นของสกปรก เต็มไปด้วยขี้ นี่….เรียกว่านึกเอา คิดเอา หลอกตัวเองด้วยธรรมที่คิดเอา และดันไปบอกคนอื่น ว่าไม่งาม มันว่างจากความงาม แต่ดันไปยึดความไม่งามเป็นสรณะซะนี่ มันว่างตรงไหน ในเมื่อยังเอาความไม่งามอยู่ มันก็ตัวตนทั้งแท่ง

ตราบใดที่ตายังเห็น การปรุงแต่งย่อมปรากฏทำงาน สัญญามันมีมันจะไม่งามตรงไหน นี่..หลอกตัวเอง เอาความไม่งามมาเป็นตัวตน และยัดเยียดลงไป ว่าไม่งามอย่างนั้นไม่งามอย่างนี้ ทั้งๆที่สัญญามีว่างาม

พุทธศาสนาท่านชี้ให้เห็นความงามทั้งหลาย มันมีความไม่งามซ่อนเร้นอยู่ ความซ่อนเร้นนี้ เห็นไม่ได้โดยการคิดเอา เพราะสัญญามันบดบัง เราไปเป็นเจ้าของสัญญาไม่ได้ มันมีเป็นธรรมชาติของมัน ว่างโดยการคิดเอา จึงไม่มี ก็ไม่ว่างจากความคิดซะแล้ว

ธรรมเช่นนี้ หากเป็นจริง พุทธศาสนาเราคงไม่มี เพราะไม่จำเป็นที่พระพุทธองค์ ต้องมาทรงตรัสรู้ เพราะลัทธิอื่นเขาก็รู้ ว่ามันว่างของมันอยู่แล้ว

นี่..พวกรู้ว่างนอก แต่ไม่รู้ว่าเจ้าของยึดว่างนั้นเป็นสรณะ เพราะไม่เคยรู้ว่า ว่างในมันต้องใช้สติและปัญญาหล่อเลี้ยง มันยังมีว่างในอีก แถมยังมีว่างในว่างในสิ่งที่มีที่เป็นอีก

นี่..มันชี้ความว่างโดยการคิดเอา โจรมันก็คิดได้ เพราะมันว่างของมันอยู่แล้ว เพียงแต่มันไม่รู้ว่า ตัวเจ้าของนั้น มันเป็นโจรอยู่ มันไม่เคยว่างไปจากใจที่เป็นโจร

เช้านี้โม้มายาวหลายๆ คงต้องหวัดดีแต่เพียงเท่านี้ ว่ากันไปเรื่อย ไม่เกี่ยวกับสุเทพนะเว้ย หวัดดีในเช้าวันพุทธจ้า..

16 กรกฎาคม 2557