ไม่ไปนรกดับตรงไหน

ไม่ไปนรกดับตรงไหน

406
0
แบ่งปัน

******** “ไม่ไปนรกดับตรงไหน” ********

>> … มีคำถามจากพระอาจารย์เพชร ท่านถามว่า เราจะดับเวทนายังไง เพื่อไม่ให้ไปนรก

<< พระอาจารย์ : ข้าบอกว่า การไปนรกนี่ เวทนาไม่เกี่ยวกัน

เวทนานี่ ไม่ใช่ตัวหนทางที่จะไปนรก

คือท่านบวชมาแล้ว ท่านมีจิตสำนึกที่ดีมาก

ท่านบวชเพื่อหนีนรกโดยเฉพาะ…

ไม่เหมือนพวกแก ที่ชอบเฉียดนรกเป็นว่าเล่น

การที่มีใจละอายชั่วกลัวบาปนี่ เป็นหนทางปิดอบายภูมิเลยทีเดียว..

ข้าได้บอกท่านไปว่า…

เวทนานั้นเป็นอาการ เป็นผลจากการปรุงแต่งเสร็จแล้ว

ตัวที่เป็นตัวการจะนำไปสู่นรกนั้น คือตัณหา

ตัณหานี่… มันอาศัยเวทนานั้นแหละ

ตัณหานี่… มันเป็นความถูกใจ ไม่ถูกใจ

ถูกใจนี่ มันเป็นกาม ท่านกล่าวตามบาลีว่า กามสุขัลลิกานุโยค

ไอ้ส่วนที่ไม่ถูกใจนี่ มันเป็นกามเหมือนกัน

แต่เป็นกามด้านทุกข์คือไม่ถูกใจ เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

นี่..อาการเหล่านี้มันเป็นหัวใจธรรมดาของชาวบ้านทั้งหลาย ที่มีที่เป็น

ถูกใจนี่.. เป็นกิเลส

ไม่ถูกใจ.. ก็เป็นกิเลส

เฉยๆ .. นี่ก็เป็นกิเลส

รวมความแล้วทั้งถูกใจ ไม่ถูกใจ และเฉยๆ มันเป็นตัณหาที่เกิดจากใจไม่รู้จบนี่แหละ

ทีนี้..เมื่อตัณหามันเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำอย่างไร เพราะยังไงมันก็ต้องเกิดเป็นธรรมดาของมัน

ตรงนี้นี่แหละ ที่สำคัญล่ะ

หากมันไหลไปตามกระแสถูกใจหรือไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ

ไอ้สามตัวนี่ มันเป็น.. สมุทัย

สมุทัย.. ก็คือหนทางที่ดำเนินไปสู่ทุกข์

ทุกข์ในที่นี้ก็คือ การที่จะต้องเผชิญวิบากที่ก่อขึ้นมาเวียนวนในวัฏฏะ ไม่มีที่สิ้นสุด

นี่..คือทุกข์ที่มีเหตุมาจากหนทางเดินแห่งสมุทัย

นั่นก็คือการก่อเหตุ ที่เกิดตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จบจากใจดวงนี้นั่นเอง

เรียกว่า..เป็นผู้พ่ายต่อกระแสตัณหา ไร้กำลังปัญญาที่จะต่อต้านกระแส

ดุจถาดที่ไหลล่องลอยไปตามกระแสน้ำที่ไหลลงมาถาโถม

ที่สุด.. ก็จะต้องจมลงไปในกระแส

นี่..เรียกว่า เมื่อตัณหามันผุดขึ้นมาจากใจแล้ว พ่ายต่อกระแส

ผลก็คือ… สมุทัย

สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ที่จมไปในกระแส พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นตัณหาที่ดำเนินไหลมาทางก่อ

นี่..หนทางที่ครบและดำเนินไปในแนวทางเช่นนี้ มันมีหนทางที่แยกไปสู่นรกแอบแฝงอยู่เสมอ

ส่วนวิธีที่จะหนีให้พ้นหนทางแห่งนรก

นั่นก็คือ.. การตรึก ตรอง พิจารณา มีสติยับยั้งกระแสเหล่านี้ด้วยปัญญา ที่ตรงตามความเป็นจริง ตามเหตุและปัจจัยที่ใจดวงนี้ได้ผัสสะ

ตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบนี่ มันอาศัย.. เวทนา

เวทนาเกิด ความถูกใจ ไม่ถูกใจ เฉยๆ ที่เป็นตัณหาก็เกิด

เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราเลือกได้ ที่จะดับหรือก่อในตัณหาทั้งหลายนั้น

หากก่อ ก็เป็น.. สมุทัย ผลก็คือ.. ทุกข์

หากดับ เรียกว่า.. มรรค ผลก็คือ.. นิโรธะ

นิโรธะนี่แปลว่า ดับหรือสงบ

มรรคนี่ก็แปลว่า.. หนทางเดิน เหมือนสมุทัย แต่เป็นหนทางเดินที่ดำเนินมาทางดับ

สมุทัยนี่.. เป็นหนทางเดินที่ดำเนินมาทางก่อ

นี่..ผลแห่งทางเดินนี่ มันมีผลไม่เสมอและเหมือนกัน

มรรคนี่เป็นหนทางเดินด้วยปัญญาญาณ ที่มีเหตุปัจจัยอาศัยสติและสัมปชัญญะ

พิจารณาสิ่งที่เป็นตัณหาผุดขึ้นมา ว่าการแสดงออกหรือกะทำนั้น มันควรหรือไม่ควร

เรานั้นห้ามตัณหาที่ผุดขึ้นมาจากใจนี่ไม่ได้

แต่เราห้ามใจเราไม่ให้มันแสดงออกมาหรือกระทำต่อสิ่งที่เป็นตัณหานั้นได้

หากเรามีสติพิจารณาเห็นว่า มันไม่ควรไปตามเหตุปัจจัย

เราก็พึง… ระงับเสีย

สิ่งนี้เรียกว่า… มรรค

เป็นหนทางดำเนินไปสู่ความสงบ พ้นเสียจากหนทางแห่งทุกข์ มีใจอันเป็นกุศลประคองหนทางอยู่

แต่หากไร้สติปัญญาระงับ ใจมีแต่ไหลไปในกระแสที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบนี้

แสดงออกไป กระทำออกไป โดยขาดสติตรึกตรองในกระแสที่ผุดขึ้นมานี้

เช่นนี้เป็นการก่อ เรียกว่า.. สมุทัย

ผลก็คือ.. ทุกข์

และนี่เป็นหนทางที่เวียนวนไปในวัฏฏะ ที่มีนรกซ่อนทางเดินอยู่ทุกซอกมุมที่เราดำเนินใจในทางที่ผิดพลาด

นี่..เป็นธรรมที่เรียกว่า อริยสัจ

ธรรมเช่นนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ในคืนเดือนเพ็ญที่จะถึงนี้

เราชาวพุทธ.. เรียนรู้หนทางแห่งอริยสัจกันถูกหรือเปล่า..??

อริยสัจนี้เป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านได้ค้นพบหนทางเดิน

เรียกว่า เป็นหนทางที่เราสามารถเลือกเดินได้ว่าจะดำเนินไปในหนทางใด

หากเลือกที่จะก่อ ก็เป็น.. สมุทัย

หากเลือกที่จะดับ ก็เป็น.. มรรค

ทั้งมรรคและสมุทัย

ต่างเป็นผลของตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบจากใจดวงนี้ทั้งคู่

มันอยู่ที่เราอันเป็นเจ้าของ รู้จักมันหรือไม่

หากไม่รู้จัก ..

แน่นอน..เราก็ย่อมดำเนินไปทางสมุทัย

หากได้เรียนรู้และรู้จัก ..

ใจยังเสือกเลือกที่จะเดินไปทางสมุทัยอีก นี่ก็ช่วยไม่ได้

ธรรมทั้งหลายผู้รู้ต่างเป็นผู้ชี้ ไม่ได้เป็นผู้ที่ชี้แล้วผู้รับต้องดำเนินการตาม

เรา..เป็นผู้เลือกที่จะก่อหรือดับ

เรา..เป็นเจ้าของในโจทย์ที่เรา ต้องเผชิญกับมัน

เรา..เป็นผู้เสวยผลนั้น

เรา..โง่หรือฉลาด เราเป็นผู้สร้างเหตุขึ้นมาทั้งนั้น

เช้านี้ สวัสดีกับธรรมเบาๆ ที่หลวงพ่อท่านได้ถามมา..!!

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 2 พฤษภาคม 2560