ทำไมเฉยๆจึงเป็นตัณหา

ทำไมเฉยๆจึงเป็นตัณหา

379
0
แบ่งปัน

****** “ทำไมเฉยๆจึงเป็นตัณหา” *******

#ผู้ถาม >>> ถามครับ ผมขับรถไปเห็นเสาไฟฟ้า เห็นสะพานลอย แล้วรู้สึกเฉยๆ อย่างนี้ ผมมีตัณหาหรือเปล่าครับ???

ส่วนตัวผมว่าความรู้สึกเฉยเฉยไม่ใช่ตัณหา เพราะไม่เช่นนั้นผัสสะทุกครั้งก็จะเป็นตัณหาทุกครั้งครับ

#พระอาจารย์ตอบ <<< ถ้าแกอยากได้เสาไฟ อยากได้สะพานลอย เพราะเหตุปัจจัยของแก

แกจะเฉยหรือดีใจที่ได้มันมา หือ..

แต่ที่เห็นแล้วเฉยๆ เพราะมันไม่ถึงทิฏฐิแก

แกยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะอยากได้

ที่ไม่อยากได้ เพราะมันมีเป็นธรรมดาของมันอยู่แล้ว

และแกก็ไม่รู้จะไปตื่นเต้นกับมันทำไม ลองไม่มี ไม่เคยเห็นซิ แกจะไม่เฉยๆ

เฉยๆ นี่ ที่เป็นตัณหา เพราะมันอาศัยความรู้สึก

รู้สึกนี่มันเป็นเวทนา

เมื่อเวทนามี ตัณหาก็มีเป็นธรรมดา

นี่เป็นกฏของธรรมชาติ

เพียงแต่แกไม่รู้จักกฏธรรมชาติ แกจึงไม่เข้าใจว่า

ไอ้เฉยๆ นี่ มันมีเหตุมาจากอะไร

และใครเป็นผู้เฉยๆ

#ผู้ถาม >>> แล้วเวทนาที่ไม่ปรุงเป็นตัณหาก็มีใช่ไม๊ครับหรือมีเวทนาแล้วต้องมีตัณหา???

#พระอาจารย์ตอบ <<< เวทนาที่ปรุงแล้ว ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันก็เกิดตามๆ กันมาเป็นธรรมดา

มันรวมกันเป็นก้อนเดียวกันนั่นแหละ คือรู้ว่ามันคืออะไร

เป็นแต่เพียงว่า มันถึงทิฐิเจ้าของหรือไม่เท่านั้น

ถ้าไม่ถึงทิฐิ คือเคยชิน หรือมีอยู่แล้ว รู้จักแล้ว หรือจำนนด้วยเหตุปัจจัย

ความรู้สึกมันก็คือเฉยๆ

เฉยนี่จึงเป็นตัณหาตัวหนึ่ง ที่เรียกว่าวิภวตัณหา คือมันไม่สะเทือนด้วย กามตัณหา และภวตัณหา

ที่มันไม่สะเทือน เพราะมันเกิดมีของมันด้วยเหตุปัจจัยอยู่แล้ว

#ผู้ถาม >>> ผมเข้าใจว่าความรู้สึกเฉยเฉยเป็นเวทนาตัวหนึ่ง

ท่านพุทธทาส บอกว่าให้เรามีสติกับผัสสะ

เพราะ ผัสสะทำให้เกิดเวทนา

ถ้าเรามีสติไม่ให้เวทนาปรุงต่อ ตัณหาก็ไม่เกิด สายปฏิจจสมุปบาทก็ขาด

แต่ถ้าเรา ปล่อยให้เวทนาปรุงเป็นตัณหาแล้วอุปาทาน ภพ ชาติ ความมีตัว กู ก็มีมาพร้อม

ที่ท่านพุทธทาส ให้เราดูที่ผัสสะนี้เพราะเรายังใช้สติทำได้ดูได้ลองทำได้ครับ

ถ้าจะให้เริ่มตั้งแต่อวิชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ เราจะดูไม่ทันครับ

#พระอาจารย์ตอบ <<< ผัสสะนั้น ดูไม่ทันหรอกกิตติ ไม่ได้ปรามาสธรรมพระพุทธทาส

เพราะผัสสะ เป็นธรรมชาติของรูปนามที่มีช่องต่อที่เรียกว่าอายตนะ

ตามองไปทางไหน มันก็เห็นรูปละ ห้ามไม่ได้

เสียงเกิด หูได้ยินละ ห้ามไม่ได้

ร้อน อ่อน หนาว กายสัมผัสล่ะ ห้ามไม่ได้

ทีนี้..ที่มันรู้ว่ารูปอะไรนี่ มันปรุงเสร็จแล้วด้วยอำนาจแห่งเจตสิก

ตัวปรุงเสร็จนี่ เรียกว่าเวทนา

เวทนาตัวนี้นี่ มันมีตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติครบอยู่ในนั้น เราจึงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ที่ท่านผู้ทรงคุณแยกออกมาเป็นอย่างๆ ก็เพื่อให้เห็นขั้นตอนการทำงานของมันชัดๆ ว่ามันมีกระบวนการอะไร อย่างไร

ผัสสะปุ๊บ เวทนาเกิด นี่มันปรุงเรียบร้อย มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของเรียบร้อย

ความเป็นเจ้าของนี่ มันรู้ว่าสิ่งนี้ๆ คืออะไร

สิ่งที่รู้มันเป็นอัตตาตัวหนึ่ง ที่ได้ใส่สมมุติลงไปเรียบร้อยแล้ว

สมมุตินี้ เรียกว่าชาติ คือเป็นผลที่เกิดขึ้นมาแล้ว มันอาศัยภพ

ภพนี้คือเหตุของมัน ภพอาศัยอุปปาทาน

อุปาทานที่เป็นผล มันอาศัยธรรมที่เรียกว่าตัณหา

ตัณหามีได้เพราะเวทนาที่โดนปรุงออกมาแล้วเสร็จนี่แหละเกิด

ฉะนั้น..ความเป็นเราที่จะดูได้ด้วยความเป็นเจ้าของนั้น ก็คือ จะไปก่อหรือดับ ตัณหาอันเป็นเหตุนั้นที่ผุดออกมาจากใจไม่รู้จบ

ถ้าก่อก็เรียกว่าสมุทัย อาศัยกระแสแห่งตัณหาไหลเชี่ยวกรากพาดำเนินไป

ผลก็คือทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายต่อไปในวัฏฏะโดยไม่รู้จบ

ถ้าดับ เรียกว่ามรรค อาศัยสติปัญญาตรึกตรองตัณหาเหล่านั้นตามเหตุปัจจัย

ผลก็คือ เกิดปัญญาเข้าใจเหตุและผลในสิ่งที่ผัสสะ ความสงบ ระงับ ทุเลา เบาบาง จางคลาย ก็จะเกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัย

พระพุทธองค์เจ้า ท่านให้มาดูที่เหตุ คือตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ

ท่านให้มีสติดูตรงนี้ เพื่อที่จะได้ดำเนินไปในเส้นในทาง แห่งการดับหรือก่อ

ถ้าเราเลือกที่จะก่อ ก็เป็นสมุทัย

ถ้าเราเลือกที่จะดับ ก็เป็นมรรค

ผลของทั้งคู่นั้นเราเป็นผู้รับ ด้วยเหตุแห่งเราที่เป็นผู้เลือก

นี่เป็นหลักอริยสัจ ที่พระพุทธองค์เจ้าทรงตรัสรู้

ฉะนั้น การที่ให้ไปดูตรงผัสสะ ดูได้ แต่เกาไม่ถูกที่คัน..

ผู้ถาม >>> ถ้าความ รู้สึกเฉยเฉยยังเป็นตัณหาแล้ว ความรู้สึกแบบไหนครับที่ไม่มีตัณหา

พระอาจารย์ตอบ <<< แกรู้จักคำว่าตัณหารึเปล่า ว่ามันคืออะไร?

ผู้ถาม <<< ความอยากได้อยากมีอยากเป็น

พระอาจารย์ตอบ <<< ข้าจะอธิบายให้แกฟังถึงเหตุและผล

ตัณหานั้นอาศัยเวทนาเป็นเหตุ

เวทนานั้นดับไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวเนื่องมาจากผัสสะ

ส่วนตัณหานี่ มันเกี่ยวเนื่องมาจากเวทนา

ตัณหานี่ดับมันไม่ได้ แต่เราเลือกได้ ที่จะให้มันเกิดทุกข์หรือดับทุกข์

ถ้าไหลไปตามกระแสแห่งอุปทาน มันก็จะก่อภพชาติเป็นสมุทัย ผลคือทุกข์

ถ้าตั้งสติโยนิโส ลดละอุปาทานในกระแสตัณหา มันก็จะดับภพชาติเรียกว่ามรรค

ทั้งมรรคและสมุทัย ต่างเป็นผลของตัณหาที่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จบทั้งคู่

พระพุทธองค์ท่าน ตรัสรู้เรื่องอริยสัจ

ทุกข์นั้นเป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ

สมุทัยเป็นผล ตัณหานั้นเป็นเหตุ

ตัณหานั้นเป็นผล เวทนานั้นเป็นเหตุ

นี่เหตุและผลมันไหลมาเป็นอย่างนี้

นิโรธนั้นเป็นผล มรรคนั้นเป็นเหตุ

มรรคเป็นผลตัณหานั้นเป็นเหตุ

ฉะนั้น มรรคและสมุทัย ต่างเป็นผลของตัณหาที่ผุดขึ้นมาจากใจที่อาศัยเวทนาที่มาจากผัสสะทั้งคู่

เมื่อตัณหาเกิด ท่านจึงให้เลือกเดินทางดับหรือก่อ

ถ้าก่อก็เป็นสมุทัย ผลคือทุกข์

ถ้าดับก็เป็นมรรค ผลก็คือนิโรธ

ฉะนั้น อยาก…เป็นกามตัณหา

ไม่อยาก…เป็นกามตัณหาที่ประกอบด้วยมานะ และทิฐิ

เฉยๆ…เป็นทิฐิที่ประกอบด้วยมานะ และกามตัณหา

มันเป็นตัวอยากที่จะไม่อยาก

ตัณหานี่เป็นผลของเวทนา

เราจะเข้าไปเป็นเจ้าของหรือไม่เป็นเจ้าของ ตัณหามันก็เกิดตามธรรมชาติของมัน

อยากนี่ มันปรุงเสร็จของมันแล้ว มันจึงอยาก

ไม่อยาก มันก็ปรุงเสร็จของมันแล้ว มันจึงไม่อยาก

เฉยๆ มันก็ปรุงเสร็จของมันแล้ว มันจึงเฉยๆ

ปรุงเสร็จแล้วนี่เรียกเวทนา

มันเป็นความรู้สึก

เมื่อรู้สึกก็ย่อมมีเจ้าของ

ความมีเจ้าของนี่แหละ เรียกว่าตัณหา..

ถาม>>>> เพราะความดับไปแห่งเวทนาตันหาจึงดับ เพราะความดับไปแห่งตัณหา อุปทานจึงดับ อย่างนี้ผิดหรือเปล่าครับ

อย่างนี้แสดงว่า ผัสสะทุกครั้งตัณหาเกิดทุกครั้งใช่ไหมครับ

ตอบ <<<<<<นี่แกมันไม่ได้เข้าใจธรรมอะไรเลย กิตติคุณ

แกรู้เพราะจำและอ่านมาเท่าที่แกเข้าใจ

แกมองไปด้านหน้าซิ ว่าแกเห็นอะไรบ้าง

และสิ่งที่เห็น มันมีความหมายหรือรู้ไหมว่ามันคืออะไร

แกก็จะตอบว่ารู้ๆๆๆๆ ด้วยความไม่รู้ของแก

แกดูท้องฟ้าด้วยความรู้สึกเฉยๆ เพราะมันมีสัญญาในตัวของมันอยู่แล้ว แกแค่ไม่สะดุ้งสะเทือนอะไรกับสิ่งที่เห็น

กับแกอยู่แต่ในรู ไม่เคยเห็นท้องฟ้า แกคิดว่าสิ่งที่ผัสสะนั้น มันจะสดุ้งต่อใจแกไหม

ไอ้ตื่นตาตื่นใจนั้นแหละ ตัวตัณหา มันเป็นความทะยานอยาก

เป็นกามตัวหนึ่ง

แต่ที่แกมองเห็นท้องฟ้าตอนนี้แล้วเฉยๆ

นั่นเพราะว่าแกมีสัญญาในภวังค์ของแกเรียบร้อยแล้ว

มันเป็นอุปทานไปแล้ว

และอุปทานนี่..มันอาศัยตัณหาเป็นเหตุ ไม่ใช่อาศัยความเห็นแกเป็นเหตุพอเข้าใจไหม

ลองท้องฟ้ามันปั่นป่วนแปลกหูแปลกตาดูซิ

ใจแกก็จะสะดุ้งสะเทือนตื่นตาตื่นใจด้วยความไม่เคยเห็น

และอยากบอกใครๆในสิ่งที่ตนเองเห็น และอยากเห็นอีกในท้องฟ้าที่แปลกๆเหล่านั่น

นั่นแหละๆๆ คือตัณหา

ผัสสะแล้วเรียกเวทนา และเมื่อมีเวทนา ตัณหามันก็เกิดทุกครั้ง

เป็นแต่แกมันไม่รู้จักเองว่าอะไรคือตัณหา

แกควรวางตำราและพิจารณาด้วยความเป็นจริง

แกงหนึ่งถ้วยมีคนชิมแล้วบอกว่าอร่อย

อร่อยนี่มันเป็นเวทนา

ไอ้การอยากรู้ว่าอร่อยยังไงนี่ มันเป็นตัณหา

ที่นี้จะอธิบายยังไงกับไอ้ความอร่อยที่เป็นเวทนานั้น

มันก็ต้องอธิบายด้วยสมมุติ ว่ามันประกอบด้วย เปรี้ยว หวาน เผ็ด เค็ม มัน

ไอ้คนฟังก็ฟังเปรี้ยวอย่างนี้ หวานอย่างนี้ เผ็ดอย่างนี้ มัน อย่างนี้ เค็มอย่างนี้

พวกฟังต่อๆกันมา ก็จะไปเอา เผ็ดบ้าง หวานบ้าง เค็มบ้าง เปรี้ยวบ้าง มันบ้าง ว่ามันคือความอร่อย

เช่นนี้ แกคิดว่าจะมีใครถึงความอร่อยอย่างแท้จริงไหม

ชาวพุทธเราเรียนรู้ธรรมอย่างเปรี้ยว หวาน เผ็ด เค็ม มัน อะไรอย่างนี้แหละ

หาคนเข้าถึงความจริงแห่งความอร่อย ที่เป็นต้นเหตุแห่ง ความเปรี้ยว หวาน เผ็ด เค็ม มัน ที่สมมุติๆกันมาไม่ได้เลย

และเราต่างก็ไม่ยอมรับความจริงในข้อนี้กันซะด้วย

ก็ขอให้ทุกคนมีดวงตาเห็นธรรมแห่งความอร่อยนั้นกันทุกคน..

โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 25 พฤษภาคม 2560
ณ พุทธอุทยานบุญญพลัง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี