ถามตอบ เดินจงกรม

ถามตอบ เดินจงกรม

684
0
แบ่งปัน

>> คำถาม : กราบนมัสการพระคุณเจ้าและขออนุโมทนาในธรรม ครับ…กราบสาธุๆๆ… ในส่วนตัวผมแล้วจิตช่วงเดินจงกลมจะอยู่กับตัวเรามากกว่านั่งครับ….. 

ผมอยากเรียนถามพระอาจารย์ว่า…ขณะที่เดินจิตมันก็อยู่แค่นั้นครับ..อยู่กับกายขณะเดิน..และยืน…บางช่วงก็มีธรรมะโผล่เข้ามาให้เราพิจารณา..ผมก็จะหยุดเดินแล้วกำหนดรู้..หนอ..รู้หนอ..ที่ลิ้นปี่…เคยเกิดอาการปีติครั้งเดียว…มันสะท้านไปทั้งตัว..น้ำหูน้ำตาไหล..จากอาการนั้น..

แบบว่ามีความสุขมากครับในช่วงนั้น..ผมก็กำหนดรู้..สุขหนอ..สุขหนอ…แล้วอาการนั้นก็หายไป ผมอยากเรียนถามท่านพระอาจารย์ว่าที่ผมปฏิบัติถูกต้องหรือเปล่าครับ….กราบขอบพระคุณครับ…

<< พระอาจารย์ : Meena Mana…

ก็ไม่ผิดหรอกครับ การสร้างสติรู้ตัว มันต้องมีปัญญาประกอบ คำว่ารู้หนอนี่ เป็นการระลึกรู้ บางอย่างมันก็รู้อยู่แล้ว เป็นเรื่องง่ายๆ เบบี๋ ไม่ต้องสอนไม่ต้องชี้มันก็ได้ มันจะกลายเป็นยึดไป

คำว่ารู้หนอ เราใช้ในขณะที่ใจเรามันเริ่มไหลไปในกระแส ระลึกขึ้นมาให้ได้ แล้ว ลด ละ เลิก กระแสที่เป็นภัยและอกุศลนั้นเสีย

เป็นการเจริญอิริยาบท ในสติปัฏฐานสี่ รู้หนอนี่ เป็นคำบริกรรม เพื่อระลึกเตือนสติของใจตน ให้ตั้งมั่นอยู่ในสติที่เป็นสัมปชัญญะ

ไม่ใช่งูจงอางเลื้อยขึ้นมา จะมาบอกว่า งูจงอางหนอ มันชูคอแล้วหนอ มันจะฉกแล้วหนอ กูจะทำไงดีหนอ มันฉกแล้วหนอ จ๊ากกก … หนอ

แล้วก็ตายห่าไปด้วยความโง่ในหนอ

การตั้งต้นบริกรรมกำกับด้วย ทำด้วย มันเป็นเบื้องต้นของการฝึกฝน เมื่อชำนาญแล้ว ไม่จำเป็นก็ได้

ให้มีสติและปัญญาสอดส่องลงไป เห็นงูก็เห็นหนอน่ะดี มันเข้ามาแล้วหนอ นี่ก็ดี มันจะฉกกูไม๊หนอ นี่เริ่มโง่แล้ว

เผ่นออกไปก่อนดีกว่าโว๊ย นี่ฉลาดกว่า คำว่าหนอนี้ เป็นการเริ่มต้นที่จะมีการพิจารณาต่อไป เมื่อกระทบกับผัสสะ

เป็นอุบายการเริ่มต้นในการที่จะได้พิจารณา ไม่ใช่หนอกันไปตลอดชีวิต

หนอตลอดชีวิต เป็นหนอแบบโง่ๆ ได้


>> คำถาม : กราบเรียนพระอาจารย์อธิบายการวางจิตในขณะเดิน เราควรจะเอาจิตไว้ที่เท้าขณะก้าว สติต้องไปจับอยู่ที่เท้าที่จะก้าวใช่ไหมเจ้าค่ะ แล้วจะต้องมีองค์บริกรรมหรือไม่ การวางมือควรจะอยู่ในท่าอะไร เห็นในรูปพระอาจารย์ วางมือไว้ด้านหน้า แต่ที่หนูทำมาจะวางมือไว้ที่ด้านหลังลักษณะมือไพล่หลังวางไว้ตรงกระเบนเหน็บเจ้าค่ะ ผิดถูกอย่างไร กราบเรียนถาม เจ้าค่ะ สาธุ

<< พระอาจารย์ : จิระนันท์ สิโรจน์รังสี..การเดินจงกรมโดยเอามือไพล่หลัง ถือเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ เขาว่างั้น

การเดินจงกรม เราเดินสบายๆ นี่แหละ ไม่ต้องวางท่ามากหรอก มันฝืนธรรมชาติ

เราเดินสบายๆ เดินไปเดินมาพอรู้อารมณ์ในขณะนั้นก็พอ

ฝึกทำความรู้ตัวทั่วพร้อม ในการที่จะก้าว จะเดิน จะหยุด จะหมุน และอิริยาบทขณะเคลื่อนไหว เราทำความรู้สึกแค่นี้

ส่วนการบริกรรม จะพุทธโธ จะสัมมาอรหัง จะก้าวหนอ หรืออะไร นี่เขาเอาคำมากำกับใจ ไม่ให้มันฟุ้งซ่าน

เมื่อใจมันอยู่กับอารมณ์เดียว มันก็ไม่รำคาญและวอกแวกกับสิ่งภายนอก

ใจที่มันสงบในเวลาเดิน เมื่อทำการวิปัสนาญาณ มันจะพิจารณาได้ดีกว่าการนั่ง

เพราะการนั่ง เวลาสงบ มันจะสร้างมโนจิตวิปลาสฟุ้งไปเรื่อย หากสติไม่ตั้งมั่นพอ

การเดินจงกรม มันก็มีผู้ชี้การวางจิตไปทีละขั้น มันไม่ได้ย่ำอยู่กับที่

แรกๆ ก็ก้าวอย่างสบายๆ พอจิตสงบ เดี๋ยวมันก็ปรับสมดุลย์ของมันเอง

เมื่อสงบ แม้ไม่ได้พิจารณาอะไร แค่เป็นผู้เฝ้ามองอาการเคลื่อนแห่งกาย มันก็จะเห็นเวทนา คือการผัสสะ

มันจะเห็นชัดหมด ทั้งผัสสะทาง ตา หู กลิ่น ความรู้สึกกับเรือนกาย และมโนใจ

นี่..อาการเวทนาที่เกิด เราก็จะเห็น และเห็นได้ชัด

คนที่เห็นเวทนาชัด เมื่อทำจนชำนาญ มันก็จะเห็นชัดว่า

เวทนาทั้งหลายที่ผัสสะ มันเกิดจากจิต ที่มีผลเป็นเวทนา ยามผัสสะ

เวทนา ไม่ได้เกิดจากกาย แต่เวทนาอาศัยกายเพื่อให้เกิดเวทนาอันเป็นอาการแห่งจิต

นี่..เมื่อรู้จิตจนชำนาญ ปัญญามันก็จะเกิด มันจะเห็นชัดอีกว่า อาการแห่งจิตที่เป็นโปรแกรมแห่งเวทนา มันก็อาศัยธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัยเกิดอีก

ไม่ใช่จิตมันเป็น เรียกว่าเห็นธรรมชาติที่มันมีที่มันเป็น ว่ามันอาศัยเหตุปัจจัยเกิดเป็นธรรมดาของมัน นี่..เรียกว่ามองเห็นธรรม

ภาวะธรรมเช่นนี้ อาศัยการเดินจงกรม ตั้งมั่นในหลักแห่งสติปัฏฐานสี่

กรรมฐานทั้ง 40 กอง ก็ยกเข้ามาใช้กับการเดินจงกรมได้ ไม่ได้แยกกัน

ที่ท่านแยกว่า กรรมฐาน 40 กอง ใช้สำหรับนั่งทำกรรมฐาน อย่างนี้ไม่ถูก

กรรมฐาน 40 กอง มันเป็นการเพ่งซะ 11 กอง เป็นการพิจารณาซะ 29 กอง เราเดินพิจารณาก็ได้ ยืนก็ได้ นอนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งแต่เพียงอย่างเดียว

การเดินก็นำมาใช้ได้ พูดง่ายๆ ว่า เป็นกองกรรมฐานในอิริยาบทสี่คือ เดิน ยืน นอน นั่ง

เอาอิริยาบทใดก็ได้ ตามแต่ถนัดและตามเหตุปัจจัยของสถานะการณ์

เพียงแต่เรามันติดการนั่ง เข้าใจว่าการนั่งเป็นการเจริญสมาธิ เลยพากันนั่งเป็นพวกฤษีที่นั่งไม่รู้ไม่ชี้กันไป และเสือกมีปัญหาทางด้านความคิดกัน

สติเป็นตัวสอดส่ง ทำให้เกิดองค์ตรัสรู้ ที่เรียกกันว่า โพชฌงค์ จะนั่ง ยืน นอน เดิน เข้าโพชฌงค์ได้ทั้งนั้น ไม่ได้แยก เพียงแค่เริ่มแรก ฝึกสร้างสติให้ดีไว้ก่อน..


>> คำถาม : กราบเรียนถามพระอาจารย์เจ้าค่ะ ว่าเวลาบางทีนั่งอยู่เฉยๆ หรือบางทีตื่นแล้วแต่ยังไม่ได้ลุกจากเตียง ก็เกิดใจเป็นทุกข์ไม่สบายใจซะงั้นโดยไม่มีสาเหตุ และเราก็เห็นใจทีเป็นทุกข์ ด้วยสติว่าใจเป็นทุกข์ แล้วทุกข์นั้นก็จางหายไป เป็นแบบนี้เรียกว่าสภาวะอะไรเจ้าค่ะ กราบสาธุค่ะ

<< พระอาจารย์ : จิระนันท์ สิโรจน์รังสี ทุกข์นั้นต้องมีสาเหตุ หากไม่รู้เหตุ แสดงว่า จิตจับแต่เรื่องเศร้าหมอง หรือไม่ เราก็หยาบเกินไปกว่าจะรู้เหตุ

ธรรมชาติของจิต เมื่อตื่นขึ้นมา หากเอาสติลงไปสอดส่ง ยามเช้า

เรื่องราวทั้งหลายที่ค้างคาใจ มันจะอุบัติขึ้น เราจะรู้เรื่องได้ชัด

และแก้ไขลงได้ด้วยกำลังแห่งปัญญา

แต่จู่ๆ บอกว่าทุกข์ มันต้องมีเหตุ หากไม่ค้างคาเหตุ ใจมันทุกข์ไม่ได้

มันไม่ใช่วิสัยในธรรมชาติแห่งจิต ลองพิจารณาหาเหตุของมัน เราจะเห็นเหตุแห่งความทุกข์ใจได้ด้วยตัวเราเอง
แล้วหาวิธีดับ คือยอมรับด้วยปัญญาว่า มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง ถ้าเรา..ไม่ไปเสือกกับมัน

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง เดินจงกรม……ท่อนที่ 2 ณ วันที่ 19 กันยายน 2557
โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง