จิตเดิมอาศัยอวิชาเกิด ไม่ได้ว่างเปล่า บริสุทธิ์ ประภัสสร

จิตเดิมอาศัยอวิชาเกิด ไม่ได้ว่างเปล่า บริสุทธิ์ ประภัสสร

389
0
แบ่งปัน

**** “จิตเดิมอาศัยอวิชาเกิด ไม่ได้ว่างเปล่า บริสุทธิ์ ประภัสสร” ****

ขอสาธุคุณให้มีแต่ความสุขความเจริญ

หวัดดีๆเช้าๆ เรามาคุยธรรมกันซักข้อ

ซึ่งมันอาจจะขัดๆใจเรากันอยู่บ้าง

แต่เป็นธรรมอย่างสมภูมิธรรม

มีเหตุมีผลมีปัจจัยอ้างอิงได้

เรามักจะได้ยิน พระท่านพูดออกมาบ่อยๆว่า

จิตเดิมแท้นั้นว่างเปล่า บริสุทธิ์

นี่..ท่านมักจะชี้แนะสั่งสอนกันมาเช่นนี้

ที่จริงมันเป็นความรู้ล่ะนะ

เหมือนกับเราเคยได้ยินมาว่า

งูน่ะมันกลัวเชือกกล้วย

ข้าก็เลยเอาเชือกกล้วยคล้องคองู

เพราะที่นี่งูมันเยอะ

ผลก็คือ งูมันฉกเหมือนเดิม

นี่..เชือกกล้วยทำให้งูหมดแรง

โดนความจริงมันทำลายไป ด้วยการทดสอบ

เขาว่ากันว่า งูมันกลัวขี้ห่าน

ข้าเอามาเลี้ยงไว้ฝูงนึง

ปรากฏว่า ห่านที่เลี้ยง โดนงูแดกเรียบ ไม่เหลือซักตัว

นี่..ขี้ห่านทำให้งูหนีไป

โดนความจริงทำลายไปอีก ด้วยการแดกซะเกลี้ยงฝูง

เรื่องจิตก็เหมือนกัน

บางทีท่านเหล่านั้น ก็พูดๆด้วยการจำๆกันมา

เอาความว่างเป็นจิต

นี่..พูดเพราะเข้าไม่ถึงตัวจิต

ไม่รู้จักตัวจิต

ฟังเอา นึกเอา ไปตามตรรกะตน

เรามาว่ากันถึงจิตเดิม ตามความเป็นจริง

ว่าแท้จริงมันว่างเปล่า มันบริสุทธิ์ มันประภัสสร
จริงไหม อย่างที่เราจำๆและฟังๆมา

ชาวพุทธนั้น ฟังด้วยเหตุด้วยผล

อย่าได้ฟังด้วยความเชื่อหรือเสน่หา เพราะความเป็นครูบาอาจารย์ซิ

พูดถึงจิต

จิตนี่ ความหมายอย่างป่าๆที่เข้าใจเลยก็คือ

“รวบรวม”

มันรวบรวมอย่างไร..

รวบรวมนี่ มันหมายถึงหลายๆอย่างมารวมกัน

เหตุมันมาจากผัสสะ

จิตเดิมๆน่ะมันไม่มี

ที่มีน่ะเกิดจากผัสสะ มาเป็นอวิชา แล้วจึงปรุงแต่งมาเป็นสังขารจิต

เมื่อปรุงแต่ง มันก็หลากหลาย

ใครจะมาบอกว่า ดั้งเดิมว่างเปล่า บริสุทธิ์ ประภัสสรนี่

มันก็เริ่มโง่เหมือนเชื่อเรื่อง นั่งทับหมอนแล้วตูดจะเป็นฝีนั่นแหละ

เราจะกล่าวถึงจิตแบบไหน กาลไหน ต้องแยกแยะออกมา

หากเราจะกล่าวถึงจิต ที่มีสภาวะมีวิญญาณสร้างรูปแล้ว นี่ก็อาศัยเหตุปัจจัยหนึ่ง

หากจะกล่าวถึง เริ่มแรกกำเนิดจิตเลยนี่

นี่ก็อีกปัจจัยหนึ่ง

นี่..มันแยกแยะออกไปอีก

เรามากล่าวถึงจิตที่มีวิญญาณสร้างรูปมาแล้วก่อนดีกว่า

เพราะมันใกล้ตัว และมีเราเป็นรูป ยืนยันได้ด้วยตัวเรา

เอาใกล้ๆง่ายๆกันก่อน

จิตเริ่มแรก เริ่มกำเนิดจิต มันอาจไกลปัญญาเราไป ภาชนะความรู้ความเข้าใจเราอาจไม่พอ

ตัวเราที่เป็นรูปนี้ จิตมันอยู่ตรงไหน

นี่..ต้องหาดูก่อน

ทำไมท่านผู้รู้ถึงได้บอกว่า จิตเดิมมันว่างเปล่า บริสุทธิ์ ประภัสสร

เราเกิดมาเป็นรูปได้ เพราะอาศัยวิบาก นี่ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เราปฏิเสธไม่ได้

ตัววิบากที่ส่งผลให้เกิดมามีรูป มันเป็นจิตหรือ

ต้องหาความจริงตรงนี้

หากเป็นจิต..

แสดงว่า มันไม่บริสุทธิ์ล่ะ เพราะมันกอปรด้วยผลแห่งกรรม กระทำมาให้เกิดกำเนิด

นี่ต้นตอของมัน ก่อนมีรูปมาเป็นเรา

เมื่อเป็นเรา เอากันตั้งแต่เกิด

เขาว่าเด็กนั้น บริสุทธิ์ มีจิตประภัสสร ว่างเปล่า

นี่..เป็นเรื่องของรูปใหม่ เครื่องมือใหม่ ยังไม่ได้บันทึกการเรียนรู้ทางอายตนะอะไรมากมายน่ะ

ถ้าเด็กน้อยบริสุทธิ์ ว่างเปล่า ประภัสสร ด้วยเข้าใจว่า จิตเดิมเป็นอย่างนั้น

หากเด็กน้อยเสียชีวิตหรือตายตอนคลอด

เด็กเหล่านั้น ก็ไปนิพพานกันหมดล่ะ

เพราะเธอว่างเปล่า บริสุทธิ์ จิตประภัสสร

หนูๆที่โดนทำแท้ง วิญญาณยังเร่ร่อนเกาะแม่ไปไหนไม่ได้เลยน่ะ

เพราะแม่ไปทำลายรูปเขา

วิญญาณเขาก็ต้องรอก่อรูปอีก ตามเส้นทางวิบาก

นี่..แม้แต่ต้นกำเนิดรูป เหตุก็ยังไม่บริสุทธิ์

ฉะนั้น..ความว่างเปล่า บริสุทธิ์ ที่เราเข้าใจว่าจิตเดิมแท้ บริสุทธิ์ ว่างเปล่า เป็นอันว่า แค่พูดๆและจำๆกันมาก็แค่นั้น

ทีนี้ เรามักจะสอนๆกันว่า เราควรทำใจให้ว่างเปล่า

ปล่อยวาง ไม่เอาอะไร

เด็กน้อยเล็กๆเหล่านั้น ก็ว่างเปล่า ปล่อยวางไม่เอาอะไรเหมือนกัน

ถ้าเขาตายตั้งแต่เล็กแบเบาะ เขาจะไปสู่สุคติหรือเปล่าเล่า

มันก็ต้องหวนกลับมาก่อรูปอีก เพราะวิบากเดิมมันส่งผลอยู่

คำชี้เช่นนี้ ผู้มีปัญญาก็จะเห็นว่าไม่ถูก

มันเป็นธรรมชี้แบบตื้นๆ ขาดเหตุปัจจัย ของการจำๆกันมาแล้วเอาอัตตาเข้าไปเป็น

มันจึงเป็นเรื่องอัตตาทั้งดุ้น

เป็นแค่เปลือกของพุทธศาสนาที่เราเข้าใจว่าเป็นเนื้อเยื่ออยู่

ฉะนั้น ความว่าง ทำตัวว่าง ปล่อยวาง ไม่ใช่เป็นการให้ความหมายในความบริสุทธิ์ของจิต

จิตในความหมายบริสุทธิ์น่ะ มันสูงและละเอียดกว่านั้น

เรื่องจิตนี่มันกว้าง ยิ่งขยายมันก็ลึกละเอียดแผ่ออกไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด

เรามาเข้าสู่ความเป็นรูปเราเลย เพราะอยู่ใกล้กับเรา

เราที่เป็นรูปขึ้นมา เมื่อรู้แล้วคล่าวๆว่า เกิดมาจากผลแห่งกรรมอันเป็นวิบากมาแต่เก่าก่อน ที่ได้กระทำไว้ตามเหตุปัจจัย

รูปนี้เป็นสังขาร

สังขารก็คือเจตนาจิต ที่เป็นผลไปตามวิบากจิต ที่มีกรรมคือการกระทำมาแต่เก่าก่อน

รูปนี้ เกิดมาเพราะวิญญาณเป็นเหตุ

วิญญาณเกิดมา เพราะมีจิตเป็นเหตุ

จิตนี้เกิดมา ก็เพราะอวิชาเป็นเหตุ

อวิชาเกิดมา ก็เพราะชาติเป็นเหตุ

ชาติเกิดมา ก็เพราะภพเป็นเหตุ

นี่..มันมีเหตุของมันอยู่ รูปนี้จึงเวียนวนเป็นวัฏฏะ

เป็นวงล้อ ไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท

ในวงล้อที่ให้เกิดกำเนิดรูปนี้ มันมีเหตุปัจจัยของมันอยู่

ตรงนี้ เมื่อมาเห็นความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยแห่งการเรียนรู้

เราจะเห็นว่า จิต ไม่ใช่ความว่างเปล่า

ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ ไม่ได้ประภัสสรอะไร อย่างที่โบราณท่านเข้าใจ

ฉะนั้น..คำพูดคำชี้ มันเข้าใจไม่ตรง มรรคผลแห่งปัญญา มันก็ไม่ปรากฏขึ้นมาเช่นกัน

นี่..เพราะแค่จำๆกันมาขาดการวิเคราะห์ โยนิโส และพิจารณาในธรรมที่สืบๆกันมาเป็นเหตุ

เราได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ

ชาวพุทธนั้น คือชนแห่งผู้มีปัญญา

เป็นปัญญาของมวลมนุษยชาติ

เป็นปัญญาของทุกคนที่เป็นเจ้าของได้

ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาไหนก็ตาม

ปัญญาไม่ได้แบ่งแยกความเป็นศาสนา

ปัญญาเป็นสมบัติของมนุษย์ ที่จะนำพาเจ้าของ พ้นออกไปจากห้วงทุกข์ได้

เรา..จึงควรเรียนรู้อย่างตรงต่อความเป็นจริง

จึงได้ชื่อว่า ผู้มีปัญญา

ไม่ว่างซะแล้ว ค่อยมาคุยกันใหม่เด้อ

วันนี้ขอสาธุคุณให้มีดวงตาเห็นธรรม

ผู้แสดงความคิดเห็น 1 >>> ไม่ออกมาดิ้นรนคนเค้าก้อจะว่าขี้เกียจ

ดิ้นรนแล้วไม่ได้ดั่งใจก้อว่าไม่ได้เรื่อง
ผมควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรครับหลวงพี่

พระอาจารย์ตอบ <<< ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่ทำมันถูก เราก็พึงอยู่กับความถูกของเรา โดยไม่สะทกสะท้านต่อคำของชาวบ้านเขาซิ

ชีวิตเราออกแบบเอง โดยดูแบบอย่างที่ดีๆ ที่สังคมเขาเป็นและยึดถือเอา


มีคำถามจากพี่ จิระนันท์ >>>

กราบสาธุธรรมเจ้าค่ะ กราบเรียนถามและช่วยขยายคำนี้ด้วยค่ะ

มีคนพูดว่าเมื่อสังขารดับ จิตก็ดับ
อยากทราบว่าเป็นเช่นนั้นจริงรึค่ะ

พระอาจารย์ตอบ <<< จะอธิบายสังขารก่อน..

สังขารนี่มันมีความหมายหลายกาล

สังขารนี่ความหมายคือรวบรวม

การรวบรวมนี่ มันหลากหลาย

ความหลากหลายนี่แหละ ที่ท่านเรียกว่าจิต

วิญญาณนี่ มันมีเหตุมาจากสังขาร ท่านเรียกว่า ” จิตสังขาร ”

จิตสังขารนี่มันมีมูลเหตุมาจากอวิชา

ฉะนั้น..สังขารจิต นี่ก็อย่างหนึ่ง

กายสังขาร ก็อีกอย่างหนึ่ง

กายสังขาร ก็ประกอบด้วย นามรูป

ในนามรูป ก็ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ

ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็แยกย่อยออกไปอีก เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรื่อยไปจนถึงขี้เยี่ยว

นี่..คือสังขารรูป ที่อาศัยอำนาจแห่งวิบากก่อเกิดรูปขึ้นมา มีวิญญาณเป็นเหตุ

คำถามของพี่จิระนันท์ นั้นคงหมายถึงรูปที่ดับ

เอารูปมาใช้คำว่าสังขาร

เมื่อสังขารดับ จิตก็ดับ เช่นนี้ไม่ถูก

เพราะถึงสังขารไม่ได้ดับ จิตก็ดับ

สังขารนี่ มันรวมกันเป็นรูป มันอาศัยผัสสะ

ผัสสะแล้วปรุงแต่ง ปรุงเสร็จ มันก็ดับ

นี่ธรรมชาติของมัน

จริงๆก็ไม่ได้ดับตามความหมายหรอก

มันเป็นแค่กาลปรุงแต่งจากเหตุผัสสะ

จบกระบวนการ มันก็จบหน้าที่

วิญญานอาศัยผัสสะรูปแล้วปรุงแต่ง

ที่ปรุงแต่ง เพราะสังขารรูปมันยังมีชีวิตอยู่

เมื่อสังขารดับ จิตไม่มีรูปให้วิญญาณรู้สึก

จิตมันก็อยู่สภาพของภวังค์จิต มันไม่ได้ดับและสูญสิ้นไปตามสังขาร ดั่งที่เข้าใจ

ไม่งั้นมันก็จะไปแย้ง หลักปฏิจจสมุปบาท หรือวงล้อแห่งวัฏฏะที่เราเรียนรู้กันมา

พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง
วันที่ 5 ธันวาคม 2560