ว่าถึงกฐินแห่งบุญญพลัง

ว่าถึงกฐินแห่งบุญญพลัง

674
0
แบ่งปัน

****** ว่าถึงกฐินแห่งบุญญพลัง ******

วันนี้ เราพูดเรื่องของกฐินกันดีกว่า… เรื่องกายนอกกายใน พักแป๊บ

สมัยก่อน ภิกษุที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านอยู่จำพรรษาก่อนที่จะมาถึง เมื่อออกพรรษาจึงรีบเดินทางมาเข้าเฝ้า

แต่ฝนที่ยังตกพรำลงมาทำให้ผ้าจีวรเปียกไปหมดทั้งตัว

ท่านมาปวารณา การถึงที่สุดแห่งธรรมต่อหน้าพระพักตร์ เพื่อการยืนยันและโมทนาสาธุคุณจากพระพุทธองค์ท่าน

ตำราโม้มาว่าไงไม่รู้ นี่ถามกันข้างๆนี่แหละ ผิดถูกโทษ

คนข้างๆเด้อ ข้าเองไม่รู้จริงๆ เขาก็ว่ากันต่อๆกันมา

ขณะนั้น…เป็นเวลาสาย นางวิสาขาเองได้จัดอาหาร

มาถวายพระพุทธองค์ท่าน พร้อมเหล่าสาวกผู้ติดตาม

พระที่มาด้วยกันทั้งหมด รวมกันมีแปดพระองค์ แต่ละองค์ต่างก็เปียกโชกกันไปด้วยกันทั้งนั้น

สมัยนั้น…ท่านไม่ได้ใช้สบง ท่านใช้ผ้าคลุมห่มเป็นจีวรผืนเดียว สมัยก่อนนี่ ท่านใช้จีวรผืนเดียว

ใครมาบอกว่าสามผืนก็ไม่รู้

เราจึงมีสบง อังสะเพิ่มมาอีก สบงกับอังสะนี่ เป็นของผู้หญิงเขาใช้ แต่ยุคหลังนี่

เรายึดมาเป็นของพระใช้ เลยใส่กันโก้ไปเลย

บางรูปก็เป็นผ้าห่อศพที่เขาทิ้งลอยมาตามแม่น้ำ นี่เป็นผ้าบังสุกุล

บางรูปก็เป็นผ้าเนื้อดี แต่ขาดและทะลุ เต็มไปด้วยบาดแผลแห่งรอยปะ

ท่านทั้งหลายมีผ้าผืนเดียวเอาไว้ใช้ห่มกายเท่านั้น

พระสมัยนั้น มีกันอยู่แค่นี้ แต่พระในเมืองมีผ้าจีวรกันคนละหลายผืน พระอยู่ป่ามีแค่ผืนเดียว

สังฆาฏิก็ไม่มี พอใจกันมีอยู่แค่ผืนเดียว

นางวิสาขาเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงขออนุญาต

พระพุทธองค์เจ้า ถวายผ้าให้แก่พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น

พระพุทธองค์เอง เมื่อดูตามเหตุปัจจัยแล้วก็ทรงอนุญาต เป็นที่ยินดีแก่นางวิสาขาเป็นอย่างยิ่ง

แต่ว่าพระภิกษุเหล่านั้น…ไม่ขอรับ เกรงว่าจะเป็นการ
ทำลายธุดงค์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ถึงความสันโดษไว้

แต่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

“…ดูกรภิกษุ การพอเพียงแห่งปัจจัยนั้นพึงมีอยู่ ใจที่อาศัยความพอเพียงนั้นเป็นเครื่องอยู่ ย่อมเป็นทานอันเป็นกุศลใหญ่เลิศของผู้ให้…”

พระภิกษุทั้งแปดจึงน้อมรับเหล่าจีวรนั้น มาเป็นเครื่อง
ห่มกาย ซึ่งเป็นทานครั้งแรกที่นางวิสาขาได้ขอให้
พระพุทธองค์ทรงถวายผ้าไตรแก่สงฆ์

อานิสงส์นี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็น
อานิสงส์ใหญ่ จะหาอานิสงส์ไหนมาเทียบเคียงได้ยาก

ที่ใหญ่ เพราะผู้รับไม่ได้มีความยินดีที่จะแสวงหา มีความพอใจอยู่ในสันโดษ ไม่มีความโลภในลาภสักการะ

ผู้ให้ก็ให้ด้วยความมีเมตตา ไม่ได้ต้องการประสงค์สิ่งใด นอกจากมีใจอยากให้กายของภิกษุได้พ้นหนาว

อานิสงส์ครั้งนี้ ที่พระพุทธองค์ทรงโมทนา
เลยเป็นที่มาของการถวายผ้าให้แก่ภิกษุสงฆ์ นับจากนั้นเป็นต้นมา

ทุกครั้งที่ออกพรรษา ชาวบ้านจะมาแย่งกันถวายผ้า จนเกิดปัญหา ผ้ามันมีเยอะ เพราะชาวบ้านอยากได้บุญใหญ่ เรื่องบุญนี่ คนมันบ้าคลั่งและคลั่งใคล้

เหล่าเดียรถีย์ที่มาบวชเอาผ้านั้นไปสะสม แต่ละคน ต่างมีผ้ามาก จนเหล่านอกศาสนาเขาเพ่งโทษ เพราะความมักมาก ที่ไม่ยอมพอ

ท่านจึงออกกฎให้ถวายให้แก่ผู้ที่สมควรได้แค่ผู้เดียว ที่ผ้าเก่า ผ้าขาด หรือจีวรเศร้าหมอง ไว้ห่มกาย

เมื่อมีกฎออกมายับยั้งเช่นนี้ ชาวบ้านที่หวังอานิสงส์
ใหญ่มีมาก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะใครๆก็ต้องการ
เป็นเจ้าของผ้าที่จะได้ถวายสงฆ์

ท่านจึงจัดให้มีการนำผ้ามาร่วมกันเย็บเป็นผ้าจีวร หลายๆคนให้มีส่วนร่วมช่วยๆกัน เรียกว่า การกระดึงผ้า

การทำกระดึงผ้านี้ ก็หมายความว่า นำผ้ามาขึงหนีบรัด
กับไม้ไผ่ เหมือนเวลาเราจะปักชื่อลงบนเสื้อแบบนั้น เขาเรียกว่ากระดึง

การกระดึงผ้าที่นำมาแล้วเย็บกันไป เสร็จแล้วก็นำไป
ย้อม แล้วผู้ร่วมพิธีทั้งหลายก็จะร่วมกันถวายผ้าที่กระดึง
และย้อมแล้วนั้นต่อภิกษุ

การกระดึงผ้านั้นแหละ เรียกว่า กฐิน

ที่เป็นอานิสงส์ใหญ่ ต้องมีองค์แห่งปัจจัยพร้อมแบบ
นางวิสาขาโน่น อย่างนั้นถึงจะมีอานิสงส์หนัก ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างบริสุทธิ์

เมื่อพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ การทำกุศลในครั้งนี้ เป็นอานิสงส์สูง ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็จำกันไปทำเป็นประเพณี

คราวนี้ สงฆ์จะมีผ้า ไม่มีผ้า พอถึงเวลาออกพรรษา ชาวบ้านต่างก็พากันมาทอดกฐิน เพราะปีหนึ่งมีครั้งเดียว ถวายผ้าได้ครั้งเดียวและผืนเดียว

ตอนหลังมาแปลงกันเป็นผ้าบังสุกุล สมมุติว่าเป็นผ้า
ไม่มีเจ้าของ แล้วรับเอามามอบให้สงฆ์ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้รับ

ประเพณีต่างๆ มันก็แปรเปลี่ยนกันไปตามกาล และสถานที่ จนมาถึงบัดนี้ กฐินเป็นการหาเงินเข้าวัด วัดใดไม่มีกฐิน วัดนั้นพระทั้งหลายไม่อยากคบด้วย

ออกพรรษาทีหนึ่ง พระก็มักจะถามกันว่า ที่วัดท่าน จัดกฐินได้ตังค์เท่าไหร่ เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ไปแล้ว ไม่ได้เป็นบุญที่ออกมาจากใจ ทั้งผู้ให้และผู้รับ

กฐินทุกวันนี้จึงมีอานิสงส์น้อย ที่ตำราเขียนว่ามาก มันมากเพราะมีเหตุ พระและคนรุ่นหลังเอาเหตุและอานิสงส์นั้น มาเป็นเครื่องชู เอาไว้หากิน โดยไม่รู้ตัว

บางวัด วัดจัดการพิมพ์ซอง ทำซองเตรียมไว้แจกชาวบ้าน วัดทำเอง หาเจ้าภาพเองก็บอกๆกันกับคนที่มาวัดกันนั่นแหละ ให้เอาซองไปช่วยแจก

ไม่มีเจ้าภาพเป็นผู้จัดการอะไรให้วัดหรอก วัดจัดการทุกอย่างแทนชาวบ้าน วันเวลา วัดก็เป็นผู้เลือก ชาวบ้านแค่เป็นผู้เอาซองออกไปแจก

นี่…เพราะความที่ปลูกฝังกันมาว่า การทำกฐินเป็นบุญ
กุศลใหญ่ พวกเราก็เลยคิดกันว่า มันใหญ่จริงๆ ขอเป็นเจ้าของกฐินซักครั้ง

มันใหญ่ ต้องผู้รับและผู้ให้ บริสุทธิ์ และไม่ใช่การทำ
กฐินเรี่ยไรเงิน เรี่ยไรเงินเมื่อไหร่ มันเป็นกฐินตรงไหน

ที่เขาฝากเงินฝากของมาร่วม เพราะเขามาร่วมงานเองไม่ได้ เขาให้เงินให้ของมา เพื่อใช้หล่อเลี้ยงคนที่มาร่วมงานได้มีกินกัน

เดี๋ยวนี้ มันเป็นกฐินกระตังค์ ไม่ใช่กระดึง เงินที่เขาฝากๆ กันมาร่วม มันต้องมีวัตถุประสงค์

การทำกฐินยุคนี้ก็เลยเป็นการทำกุศลอย่างหนึ่ง ที่เราต่างมาทำกันให้ส่วนรวม

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังเป็นอานิสงส์ที่สูง เพราะทำด้วยใจที่เป็นกุศลจริงๆ

เหลือแต่ผู้รับเท่านั้น หากไม่บริสุทธิ์ กฐินนั้นก็เป็นกฐิน
งานบุญทั่วๆไป แต่หากผู้รับบริสุทธิ์ กฐินนั้นก็ได้ชื่อว่ายังเป็นกฐินที่สมบรูณ์อยู่

ขอให้บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย อานิสงส์สูงไม่แพ้ของนาง วิสาขา ที่สำคัญ…เราต้องทำด้วยศรัทธา

กฐินนั้นจึงจะสมบรูณ์เต็ม

ที่บุญญพลัง การทำกฐินก็คือการย้อมผ้า ก่อนย้อมก็มาเย็บผ้า เป็นผ้าผืนเก่าที่ใช้มาจนคล่ำแล้วนั่นแหละ

การได้ร่วมกันมาเย็บซักครั้ง อานิสงส์ในใจนี่ เกิดเหลือหลาย มันภูมิใจ ที่ได้จับได้ต้อง ได้ลงมือด้วยใจและกายตนเอง

ข้านี่ใส่ทั้งปี ทั้งใส่ ทั้งห่มนอน ทั้งคลุมหนาว ทั้งออกงาน ทั้งเข้าหาใครๆ ทั้งไปต่างประเทศตามกาล

ข้าก็ใช้ผืนเดียวนี่แหละ พอใจอยู่แค่นี้แหละ แค่รักษาการครองผ้าบังสุกุลให้ยืนยาวกันต่อไป ตามพระมหากัสสปะท่านรักษาประเพณีพระป่า ว่ากันเพียงแค่นั้น

ที่สำคัญ มันเป็นธุดงค์อย่างหนึ่งที่ขาดผู้รักษาไปนานแล้ว และข้าก็จะพึงรักษาไว้ ตลอดชีวิต

ฉะนั้น ผู้หวังดีทั้งหลาย อย่าได้เอาความหวังดีมาทำลายธุดงค์ เพราะความเห็นแห่งตนว่า มันน่ารังเกียจ..

โอเคนะ เมื่อยแล้ว แมลงเยอะด้วย

วันที่ 20 กันยายน 2556