เข้าฌาน ท่อนสาม ฌานสี่

เข้าฌาน ท่อนสาม ฌานสี่

1274
0
แบ่งปัน

ข้ามาอธิบายห้องนี้ดีกว่า จะขอพูดเรื่องฌานสี่ เรื่องฌานสี่นี่ น้อยคนที่จะทำจิตเข้าไปถึงได้ แต่ก่อนถึงฌานสี่ มันก็ต้องผ่านจุดหนึ่งมาก่อนที่กำบังใจมันถอดถอนความปรุงแต่ง เป็นจิตที่เต็มกำลัง เกิดความเอิบอาบไร้ความรำคาญ แห่งอาการปีติ

นี่… เรียกว่า “..สุข..”

คำว่า “สุข” นี้ เป็นภาวะว่างจากอาการผัสสะจากอายตนะและมโนจิตทั้งหลาย ใจมันไปเพ่งภาวะว่าง ปราศจากการปรุงแต่งใดๆ แห่งอาการจิต

นี่…. คนที่กำลังจิตมันหดตัวมาอยู่ภาวะนี้ ท่านให้นิยามว่าเป็น ..ฌานสาม..

“ฌานสาม” นี้ หากผู้มีกำลังเข้าถึง และประคองสภาวะแห่งอาการจิตนี้ไว้ได้อย่างชำนาญ เมื่อออกจากสภาวะนี้ อันเป็นความว่างจากการปรุงแต่งแห่งอาการจิต

ปัญญาจะมีความแหลมคมเอามากๆ พระอริยเจ้าท่านสรรเสริญนักปฏิบัติที่เข้ามาถึงกำลังจิตแห่งจุดนี้
เพราะกำลังสมาธิในระดับนี้ ปัญญามีธรรมผุดขึ้นมาให้ขยายและตีแตกออกไปมากมาย

นี่..เป็นฌานสามที่ท่านให้นิยามไว้ เป็นกำลังแห่งฌานที่พระอริยะเจ้าสรรญเสริญ

กำลังฌานแห่งขั้นนี้ มันอาศัยการเข้าใจและถอดถอนอาการแห่งปีติได้ อย่างหมดจรด

หลวงปู่มั่น ท่านหนีอาการแห่งปีติจิต มาเดินจงกลมแทนการนั่งเพ่ง หากยังนั่งทำกรรมฐาน จิตก็จะไหลไปตามอาการแห่งปีติ ที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ จิตมันปรุงแต่งไม่รู้จักจบ

และตรงนี้ ไม่ใช่อาการที่เรียกกันว่า บุพเพนิวาสานุสติญานซะด้วย กำลังจิตขั้นนี้ เข้าบุพเพนิวาสาไม่ได้

ที่เห็นนั่นเห็นนี่ และคิดว่าย้อนอดีตได้ เป็นอาการจิตปรุงแต่งขึ้นมาเองแห่งมโนปิติจิตทั้งสิ้น เพียงแต่ในการปรุงแต่ง มันมีมูลเหตุมาจากอดีตแห่งบุพเพนิวาสาเล็กน้อยเช่นกัน

แต่ไม่ใช่วิชาแรก ที่เรียกกันว่า ..บุพเพนิวาสา..

นี่..เมื่อจิตมันหดตัวเข้าสู่ฌานสาม อาการแห่งปีติที่เกิดจากจิต มันก็จางหายไป เหมือนเหรียญสองเหรียญที่เรามองตามที่เคยยกตัวอย่าง

ใจมันจะละจากปีติที่เป็นของหยาบไป ปีตินี้ เป็นเสี้ยนหนามของฌานสาม

หากเราเกิดระลึกรู้ขึ้นมาว่า นี่คือความว่างที่เป็นฌานสาม

โปรดจงจำไว้ว่า สติระลึกขึ้นมาเมื่อไหร่ จิตมันตกลงมาสู่ปฐมฌานแล้ว และจะตกถอยออกไป จนกลับไปสู่วิตก ไม่ใช่ว่าใจมันระลึกได้ว่านี่คือฌานสาม

“วิตก” คือตัวที่เราตั้งต้นเพื่อที่จะเป็นฐานในการเข้าสมาธิ

นี่..แม้ภาวะจิตจะอยู่ฌานสาม ยามจิตตก มันตกพรวดลงมาสู่วิตกแห่งปฐมฌานเลย

แต่หากยังเป็นอารมณ์เดียว ยังไม่เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญหรือนิวรณ์ห้าแทรกซ้อน กำลังจิตก็ยังคงเป็นอารมณ์เดียวอยู่ในปฐมฌาน

หากประคองใจไว้ได้ ปีติก็จะเกิดเล็กน้อย แล้วความเคยชินก็จะกลับไปสู่ความเอิบอาบและว่างจากสิ่งทั้งปวงอีกครั้ง

นี่… เป็นฌานสาม ระลึกได้เมื่อไหร่ว่านี่มันว่างเป็นฌานสาม นี่ปิติเป็นฌานสอง จิตมันตกลงมาแล้ว มันกลับมาสู่วิตกแห่งปฐมฌานแล้ว

หากทำจนชำนาญ จะเป็นสมาธิแห่งกำลังปัญญาให้มีธรรมผุดออกมาจากใจ

พูดง่ายๆ เมื่อใจมันว่างจากการปรุงแต่งใดๆ ความสงสัยในธรรมที่ได้เกิดการวินิจฉัย มันก็สว่างไสวกระจ่างใจขึ้นมาอย่างแยบยล

นี่..หากเอากำลังแห่งสมาธิขั้นนี้ มาพิจารณาวิปัสสนาญาณ ธรรมทั้งหลายจะกระจ่างเห็นสัจธรรมได้ชัด ไม่สงสัย

ในขั้นปีตินี่ ยังสงสัยในสุข

ปฐมฌานนี่ สงสัยในปีติ

เริ่มทำสมาธินี่ สงสัยในปฐมฌาน

ความรำคาญเป็นเสี้ยนหนามแห่งปฐมฌาน

วิตก วิจารณ์ เป็นเสี้ยนหนามแห่ง ปีติ

ปีติเป็นเสี้ยนหนามแห่งสุข

สุขเป็นเสี้ยนหนามแห่งอุเบกขา

อุเบกขาเป็นเสี้ยนหนามแห่งปัญญา

นี่..เป็นสิ่งที่พวกเราไม่ค่อยจะรู้กัน หากอธิบายนัยยะธรรม มันก็จะขยายแตกแยกออกไปอีก

เมื่อจิตมันเต็มกำลังแห่งสุข

สุขนี้ก็จะหยาบขึ้นมาอีก

ใจมันจะไปเพ่งที่อุเบกขา

นี่..ตรงนี้ น้อยคนที่จะเข้าไปถึงกำลังฌานแห่งอุเบกขาได้

นักปฏิบัติ พันคนหมื่นคน อาจจะเข้าถึงกำลังฌานแห่งอุเบกขาได้ซักคน มันไม่ได้ง่ายอย่างที่อ่านที่ฟังกันมาน้อ

นี่…. มันเป็นเรื่องของกำลังแห่งจิตล้วนๆ ไม่ใช่เป็นตัวตนของเราคิดเอา ว่านี่ฌานนั้น นี่ฌานนี้

กำลังแห่งจิตที่เข้าสู่ความเป็นอุเบกขานี่ เป็นฌานสี่ หรือเราเรียกว่า ..ฌานสี่แห่งรูปฌาน..

ภาวะนี่ มันจะเกิดมหัศจรรย์ใจแก่เจ้าของเป็นอย่างมาก มันเป็นสติที่พร้อมมูลแห่งสัมปชัญญะลอยเด่นอยู่

ความรู้สึกแห่งอารมณ์ฌาน เหมือนเกาะน้อยๆ ที่ผุดลอยขึ้นมาลอยเด่นท่านกลางความกว้างไร้ขอบเขตจากทะเลใหญ่ สติระลึกได้ ลอยเด่นกระจ่างใจ

ทุกอย่างวางตัวเป็นอุเบกขาไม่ขึ้นต่ออาการและสิ่งใดๆ ทั้งปวง ไร้รูป ไร้เสียง ไร้กลิ่น ไร้รส และเรือนร่าง

ความมหัศจรรย์ใจแห่งจิต มันเกิดกำเนิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ให้แก่เจ้าของ

นี่…เป็นภาวะที่สุดแห่งจิต ที่ปลดภาระวางตัวเป็นอุเบกขา จากสรรพสิ่งทั้งปวง

ภาวะนี้ ต่อให้ใครมายิงปืนใหญ่ใกล้ๆ หู มันก็ไม่ได้ยิน

ฌานสี่นี่ มันวางสัญญาแห่งรูปขันธ์ผัสสะทางอายตนะทั้งปวง ไม่ใช่ความว่าง แต่เป็นภาวะวางอย่างอุเบกขา

หากเกิดความชำนาญในการเข้าออก เอาสติตามรู้เฝ้าดูอาการที่ปรากฏ มันจะรู้ชัด ว่าจิตมันถอยออกจาก อุเบกขา ลงมาสู่ความว่างที่อิ่มเอิบ

จากความว่างที่อิ่มเอิบ มันจะถอยกำลังลงมาปรุงแต่งผัสสะที่ก่อตัวขึ้นจากมโนจิต

อาการตรงนี่เรียกว่า ..ปีติมันเกิด..

ที่จริงมันเกิดอยู่แล้ว เพียงแต่สติมันดันไปเฝ้าดูระลึกรู้อาการที่มันเหมือนก่อขึ้นมาเท่านั้น

จากปีติ มันก็จะถอยกลับลงมารู้ตัวทั่วพร้อมแห่งปฐมฌาน จากปฐมฌาน มันจะถอยกลับลงมาเหลือแค่วิตก

นี่..เมื่อทำบ่อยๆ เข้าออกบ่อยๆ สอดส่งสติลงไป มันจะเกิดความรู้เช่นนี้ขึ้นมา เรียกว่า “..สติโพชฌงค์..

เมื่อเอากำลังแห่งสมาธิที่ได้มา มาวินิจฉัยธรรม ในขั้นนี้ การเจริญธรรมทางวิปัสสนาจะคล่องตัวและชัดแจ้ง

หากถอยย้อนลงมาอยู่ระดับ ปฐมฌาน และใส่เจตนาลงไป ในเรื่องราวที่ผ่านมา จิตที่ทรงกำลังฌานเช่นนี้ จะสามารถย้อนหลังระลึกอดีตที่บันทึกไว้ในภวังค์ได้

นี่.ตรงนี้ เรียกว่า “..บุพเพนิวาสานุสติญาน..” เป็นวิชาแรกในพระพุทธศาสนา

แต่ศาสนาอื่นก็ทำกันได้เช่นเดียวกัน ผู้มีกำลังทางสมาธิจิตมากๆ สามารถย้อนหลังระลึกได้เป็นล้านๆ ชาติเลยทีเดียว

สิ่งที่ระลึกได้ สำหรับผู้มีปัญญา จะเข้าใจถึงเหตุและผลแห่งวิบาก

ตรงนี้ที่ทำให้พระพุทธองค์เจ้า เข้าใจแจ่มแจ้งแทงลงสู่ความเป็น “..อริยสัจ..

ซึ่งก็ต้องไปอธิบายกันอีก ว่าแทงลงแจ่มแจ้งแห่งอริยสัจยังไง

เมื่อไหร่ที่เกิดปัญญาแทงลวสู่อริยสัจ นี่เข้าสู่ร่องแห่งความเป็น สัมมาสมาธิ

บุพเพนิวาสานี่ เป็นการย้อนดูอดีตแห่งเหตุของวัฏฏะตนเอง ส่วนการย้อนไปดูเหตุของภายนอก เช่น บุคคล สัตว์ ในสรรพสิ่งทั้งหลาย

นี่เรียกว่า “..เจโตปริยญาณ..” เป็นวิชาสองในพระพุทธศาสนา ศาสนาอื่นก็ทำได้เช่นกัน สองวิชานี้หากไม่เกิดปัญญาแทงลงอริยสัจ ยังไม่เรียกว่า สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิเป็นจิตที่เกิดปัญญามาทางกุศลจิต การระลึกได้นี่ เหล่าพราหมณ์ เหล่าเดียรถีย์ก็ระลึกได้ เพราะมันเป็นฌานแห่งสาธารณจิต เป็นแผ่นดินให้ปลูกเมล็ดพันธ์แห่งปัญญา

ผู้มีปัญญา และเป็นท่านแรกที่เข้าถึงและแทงลงอริยสัจด้วยกำลังบารมีแห่งปัญญาได้คนแรก ในยุค สองพันห้าร้อยกว่าปีมานี้

คือ “..พระบรมครูของเรา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า..

เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ผู้บรรลุคุณสัมโพธิญาณ เตวิชโช หรือวิชาสาม

นี่..อาศัยการเจริญฌานในรูปฌาน ที่เรียกว่า ฌานสี่มาก่อน กำลังแห่งฌานสี่นี้ เป็นกำลังแห่งรูปฌาน

กำลังแห่งฌานสี่ ซึ่งเรียกว่า อรูปฌานก็ยังมีอีก แต่ค่อยคุยกันในวันหน้า

วันนี้ดึกมากแล้วต้องขอลา ขอสวัสดีมีชัยที่ทนๆ ฟังกันและข้าเองก็เหนื่อยหน่ายใจที่จะอธิบาย เพราะเดี๋ยวต้องไปทะเลาะกับพวกมากรู้ สัมภเวสีสัญจรแห่งหน้าเฟสอีก

พวกบ้าตำรามันเข้ามาไม่ถึงภูมิแห่งนัยยะนี้ มันมักแทรกเข้ามาด้วยความคิดที่เป็นอากาศ และมันก็ไม่กลัวเกรงบาปกรรม ที่เกิดจากมานะของมันซะด้วย…!!

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 28 มกราคม 2558 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง