ติดสุขในสมาธิกับสุขในสมาธิคนละตัวกัน

ติดสุขในสมาธิกับสุขในสมาธิคนละตัวกัน

343
0
แบ่งปัน

***** “ติดสุขในสมาธิกับสุขในสมาธิคนละตัวกัน” *****

เช้าๆฝนพรำวันนี้ เรามาว่ากันถึงฌานสาม ที่เรียกกันว่าสุขกัน

ข้านี่พล่ามการทำสมาธิมาหลายวันแล้ว เริ่มพล่ามมาตังแต่ เริ่มต้นจนมาถึงวันนี้ ก็เข้าสู่โหมดฌานสุข

ใครได้อ่านได้ติดตามกันมา ก็ถือว่าเป็นผู้มีบุญมีกุศล ที่หาฟังได้ยากยิ่ง

มันเป็นสมาธิแห่งประสพการณ์ ที่ชี้นำออกมาจากความเป็นจริงแห่งป่าดง

ไม่ใช่มานั่งมโนเขียนๆส่งเดชเอา เป็นสมาธิที่ผู้ฟังนำกลับไปสอบอารมณ์ใจของผู้ฝึกฝนได้

เราคงเคยได้ยินนักสมาธิพูดกันกับคำว่า ติดสุข

ติดสุขนี่มันคนละสุขกับฌานขั้นนี้ ที่เรียกว่าสุข

สุขในสมาธินี่ มันหมายถึงการไม่ปรุงแต่ง

ไม่ใช่สุขขีสโมสรในการทำสมาธิ สุขสงบอิ่มเอิบใจเบากายเบาใจ อะไรราวๆนั้น

ติดสุขนี่ก็หมายความว่า มีความสุขกับการอยู่ในฌาน คือความเคยชิน ในสิ่งที่มีที่เป็น

เช่นความสงบ อิ่มเอิบ ว่างเปล่า ไม่ทุกข์ไม่ร้อน สบายๆ

เป็นการหลบภัยร้ายๆแก่อารมณ์มาจมอยู่ในสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง จนไม่ถอดถอน

นี่..เขาเรียกว่าติดสุข เป็นอุปกิเลสขวางมรรคผลอารมณ์หนึ่ง

สุขในความหมาย ที่แปลจากบาลีนี่ คือการไม่ปรุงแต่ง

ปิตินี่ เป็นอาการแห่งการปรุงแต่งทางอารมณ์จิตในภวังค์

ส่วนสุข คืออาการไม่ปรุงแต่งทางอารมณ์จิตในภวังค์

ข้าจะอธิบายให้ฟัง..

ธรรมชาติของเรานั้น เมื่อจะทำสมาธิ เราก็จะเกิดอาการฟุ้งซ่านใช่ไหม

คือเราเห็นความฟุ้งซ่านไปในการปรุงแต่งแห่งจิต

ผู้มีสติและปัญญา เมื่อเข้าใจแล้วว่าจิตมีอาการเช่นนี้

ท่านก็ตั้งมั่นรักษาใจท่านให้มีหลักใจ

ในวิถีจิตเราจะเรียกว่าใจก็ได้ เพราะมันอาศัยผัสสะในการปรุงแต่ง

ทีนี้ เมื่อเข้าใจธรรมชาติของมัน เราก็ต้องมีความเพียรที่จะดึงมันกลับมาอยู่ในวิตก

วิตกนี่เป็นหลักให้ใจได้มีที่เกาะ

หากใจไม่มีที่เกาะ มันก็จะใหลไปเรื่อยตามหน้าที่ของมัน ดุจเรือที่ขาดหางเสือ

ความเพียรและตั้งมั่นจะช่วย ให้ใจมันหดตัวและสงบลง

ใจสงบ แต่มันก็ฟุ้งไปทางกายวิญญานอีก เช่น เมื่อย เหน็บ อึดอัด ร้อน เย็นอะไรไปโน่นอีก

นั่นก็คือการปรุงแต่ง ที่ฟุ้งซ่านทางกายวิญญาน

เสียง กลิ่น รส อะไรก็ได้ ที่มันจะปรุงขึ้นมา หากเราไม่เข้าใจ และรู้จักมัน

เราเอาใจเข้าไปเป็นเข้าไปยึด มันก็จะกลายเป็นนิวรณ์ เป็นอุปกิเลสตัวเอ้ที่จะขวางมรรคผล ในการทำสมาธิจิต

เมื่อความเพียรมาถึงจุดหนึ่ง มันก็จะเข้าสู่ปฐมฌาน

ปฐมฌานนี่ มันเป็นสมาธิในฟากวิถีจิต คือยังมีเราตื่นรู้อาการทั้งหลายอยู่ในอารมณ์เดียว

แต่ในขั้นปิตินั้น มันเป็นอารมณ์ที่เข้าสู่ภวังค์จิต

มันปรุงแต่งแสดงออกของมันเอง ไม่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของได้

การปรุงแต่งนั้น มันปรุงแต่งขึ้นมาได้หลายทาง ตามสัญญาอายตนะวิบาก

เช่น ทางกายวิญญาน โสตวิญญาน มโนวิญญาน ฯลฯ เยอะแยะ

ถ้าไม่มีผู้ชี้ที่ถูกต้อง การปฏิบัติทั้งหลาย มันก็จะตันอยู่แค่อาการปิตินี่

ที่เหลือคือ สุข ก็มโนไปเอง อุเบกขาและเอกคตารมณ์ก็มโนไปเอง

ปิตินี่ ผู้ที่มีปัญญาและรู้เท่าทันอาการ ว่ามันคือการปรุงแต่ง เป็นอาการฝันอย่างหนึ่ง

ที่มีสติเข้าไปหล่อเลี้ยงและมีสัมปชัญญะสอดส่งล่วงรู้อาการอยู่

ท่านก็จะดึงมาที่วิตก และตั้งต้นประคองใหม่ ปิติทั้งหลายมันก็จะจางคลายหายไป

เมื่อเผลอเข้าปิติ มีสติระลึกได้ ท่านก็ดึงกลับมาสู่วิตกอีก

ทำเช่นนี้ด้วยความเพียร จนจิตมีหลักใจ หดตัวเข้ามาเรื่อยๆ จนไปสู่การไม่ปรุงแต่งจิต

การเข้าสู่ฌานแห่งการไม่ปรุงแต่งจิต ท่านเรียกว่าสุข

สุขนี่ จะไม่มีอาการปรุงแต่งอะไรใดๆ มันเป็นอารมณ์ ที่มีแค่ การไม่ปรุงแต่งกับเอกคตารมณ์และสติเท่านั้น

ผู้ไม่รู้เมื่อถึงขั้นนี้ มันก็จะตันขึ้นมาอีก ไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไง

เพราะเป็นฌานขั้นดับการปรุงแต่งทางอายตนะ

คือ ตัวตนหายไป เสียงหายไป กลิ่นหายไป การปรุงแต่งอะไรใดๆหายไป

มันอยู่กับความว่างเปล่า และรวมเป็นอารมณ์เดียว ไม่มีการปรุงอะไรใดๆ

นักปฏิบัติที่มีความเพียร เมื่อถึงขั้นนี้ ก็มักเข้าใจว่าตนเองได้สมาธิขั้นสูงสุด

คือว่างเปล่าจากเครื่องร้อยรัดทั้งหลายทั้งปวง

ไร้ความคิดไร้การปรุงแต่ง ไร้วิตก วิจารณ์ ปิติ เข้ามา รบกวนจิต

และจะแช่จมอยู่เช่นนั้น จนเข้าไปสู่อัปนาสมาธิ ด้วยการย้อมจิตเช่นนั้นอยู่เนืองๆ

ทั้งชีวิตแห่งการปฏิบัติ ก็จะตันอยู่แค่ตรงนี้ คือตันอยู่กับความว่าง ที่ไม่ปรุงแต่ง อันเป็นชื่อเรียกว่าสุข

สุขนี่เป็นฌานสาม เป็นฌานแห่งความว่างเปล่าจากการปรุงแต่งจิต

ข้านี่อยู่กับอารมณ์เช่นนี้มาหลายปี ไม่มีคนชี้และไปไม่เป็น เข้าใจว่าถึงที่สุดแห่งสมาธิจิตแล้ว

สุขนี่เป็นตัวขวางมรรคผลแห่งอุเบกขา

ความว่างที่ไม่ปรุงแต่ง ไม่ใช่ตัวอุเบกขา

ตัวอุเบกขาเป็นฌานตัวที่สี่ที่สูงและละเอียดขึ้นไปอีก

ผู้มีปัญญาและได้รับการชี้แนะที่ถูกต้องเมื่อถึงอารมณ์เช่นนี้

สติระลึกได้ว่า จิตมันหดตัวจนไม่ปรุงแต่งอะไรออกมา

ผู้ปฏิบัติ อย่าพึงพอใจแช่อารมณ์ไม่ปรุง ที่ตันและไปไหนไม่ได้นี้ไปซะ

เมื่อสติระลึกได้ว่าจิตไร้การปรุงแต่งอะไรใดๆ ให้สตินำพาหวลกลับมาตั้งต้นที่วิตกใหม่

อย่าได้แช่อารมณ์ในสุขที่ไร้การปรุงแต่ง

” การไร้การปรุงแต่งแห่งจิต #มันเป็นอาการฟุ้งซ่านทางจิตชนิดหนึ่ง ที่อาศัยความว่างเป็นอารมณ์”

นี่ก็จัดว่าเป็นนิวรณ์ทางภวังค์จิต ที่เป็นตัวขวางมรรคผลไปสู่ฌานอันเป็นอุเบกขา

ผู้มีปัญญา มีสติระลึกได้ในอาการที่สอดส่งอยู่ ท่านก็จะดึงจิตไม่ให้จมลงไปในกระแสอารมณ์

ท่านจะดึงสติหวลกลับไปสู่วิตกขึ้นมาใหม่

ด้วยความที่เป็นฌาน เมื่อตั้งวิตกได้ไม่นาน มันก็จะหวลดึงกลับดิ่งเข้าไปสู่สุข คือการไม่ปรุงแต่งอีก

ความเพียรและสติสัมปชัญญะเท่านั้น ที่จะมีกำลังสู้ศึกแห่งฌานที่ไร้การปรุงแต่งนี้ได้

ฌานขั้นนี้หนักหนากว่าทุกฌาณ เพราะจิตมันจะติดสุขมากกว่า ปิติ วิจารณ์และวิตก

เราก็ต้องตั้งสติดึงกลับไปสู่วิตก ที่เราตั้งขึ้นมาเป็นหลักใจซ้ำๆด้วยความเพียร

วิตกนี่เป็นหลักใจให้อารมณ์ได้ยึดเกาะ มันเป็นอาวุธหลัก ที่จะเป็นหางเสือเพื่อบังคับจิตให้เข้าสู่หลักแห่งหนทาง

ศรัทธา ปัญญา วิรยะ สมาธิ และสติทีทตั้งมั่น

มันจะเป็นพละกำลังให้อารมณ์จิตเข้าไปสู่ความเป็น อุเบกขาญาน

นี่..อุเบกขาญานอาศัยพละห้าเป็นตัวผลักดันและขับเคลื่อน

ที่จริงมันก็ได้ใช้พละห้าทุกตัวนั่นแหละ เริ่มตั้งแต่ปฐมฌานโน่นแล้ว

เมื่อความเพียรถึงที่สุด จิตก็จะผ่อนคลายความไม่ปรุงแต่ง

มันจะคลายตัวเองเข้าไปสู่ความเป็นอุเบกขา คือวางจากการปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่ง

การปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่ง มันเป็นอาการธรรมชาติแห่งจิต ที่ยังอยู่เนื่องด้วยเครื่องร้อยรัด

จิตที่เกิดการหดตัวเข้าสู่อุเบกขา พร้อมสติที่ลอยเด่นอยู่เป็นอารมณ์เดียว

ภาวะนี้ท่านเรียกว่า จตุตถฌาน หรือที่เรียกว่า ฌานสี่

สุขนั้นท่านเรียกฌานสาม

ปิติ ท่านเรียกฌานสอง

ปฐมฌานท่านเรียกฌานหนึ่ง

นี่..วิถีการดำเนินสมาธิทางจิตแห่งวิถีพุทธะ

การหลุดไปจากฌานสุข ย่อมอาศัยความเพียรที่สูงกว่าทุกๆฌาน

ผู้ผ่านฌานนี้ไปได้ จิตจะวางตัวเป็นอุเบกขา

ทุกภาวะทางอายตนะดับหมด

จะเป็นเสียงฟ้าร้อง เสียงปืนใหญ่ ใจเจ้าของก็ไม่ได้ยิน

ใครจะเอามีดมากรีดเอาปืนมายิง เจ้าของก็ไม่มีกายให้รู้สึกตัวว่าโดนกระทำ

ฌานแห่งอุเบกขา ข้าค่อยมาเล่าให้ฟัง

วันนี้ครื้มฟ้าฝน เรามาฟังกันในขั้นสุขกันก็พอ

อะไรคือสุข และวิธีออกจากสุข ข้าได้อธิบายไปแล้ว

บุรุษผู้มีปัญญาและปฏิบัติจริง เมื่อได้รับฟัง

ท่านย่อมเข้าใจและเห็นหนทางแจ่มชัด

ส่วนผู้มืดมิดดำทึบ อ่านแต่ตำราและฟังแต่เขาว่าๆมา

ก็ย่อมไม่เข้าใจและปรามาสไปตามสันดานวิสัยให้เป็นกรรมเข้าไปอีก

ขอให้ทำสมาธิดำเนินไปอย่างถูกวิธี

มรรคผลคูณทวีก็จะมาบังเกิดในหัวจิตหัวใจเรา

หวัดดีทุกคนในเช้าวันพฤหัส ขอให้มีดวงตาเห็นธรรมกันทุกคน

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง

ณ พุทธอุทยานบุญญพลัง จ.กาญจนบุรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2560