รู้จักสมาธิเบื้องต้น

รู้จักสมาธิเบื้องต้น

380
0
แบ่งปัน

***** “รู้จักสมาธิเบื้องต้น” *****

เช้าๆตื่นขึ้นมา เราอาราธนาคุณแห่งพระรัตนตรัย สถิตย์เหนือเศียรเกล้าเรา

นั่งสงบหลับตามุมใดมุมหนึ่ง วางใจสงบๆอยู่กับอะไรซักอย่าง ที่เราใช้เป็นเครื่องยึด

คำบริกรรมก็ได้ ร่างเราก็ได้ ส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวเราก็ได้

ลมหายใจก็ได้ นึกถึงบุญกุศลก็ได้ นึกถึงความดีก็ได้

พวกชอบนิมิต ระลึกถึงสิ่งที่ตนเคยเพ่งอะไรก็ได้ เช่นเปลวเทียน ดิน น้ำ ลม หรืออะไรก็ได้

ให้ใจเราสงบอยู่กับอารมณ์เดียว สิ่งเดียว

เช้าๆนั้น กายเราได้พักผ่อนเต็มที่มาแล้ว เมื่อเรานั่งทำสมาธิ จิตใจเราจะสงบและเป็นอารมณ์เดียวได้ง่าย

หากนั่งแล้ว คิดนั่นคิดนู่น คิดนี่ รู้สึกชัด เห็นชัด ว่าใจเรานี่ไม่สงบ

นี่ก็เป็นสมาธิระดับหนึ่งแล้ว ที่มองเห็นธรรมชาติแห่งใจของเราเอง ว่ามันมีธรรมชาติอย่างไร

เมื่อเข้าใจธรรมชาติของมัน ก็พึงรู้จักมันไว้ ว่าใจเราทั้งหลายนี่ มันมีธรรมชาติของมันเช่นนี้แหละ

เมื่อรู้จักมันดีแล้ว เข้าใจแล้ว เราจะไปรำคาญภาวะมันกันทำไม

ที่รำคาญ นั่นเป็นเพราะเราไม่เข้าใจมัน ว่าธรรมชาติของใจมันเป็นของมันอย่างนั้น

คือคิดนั่นคิดนี่คิดนู่น ไปของมันเรื่อย

ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาสู่พื้น เราเห็นเราก็เก็บกวาด

หากไม่กวาด ก็ปล่อยให้มันกลายเป็นปุ๋ยไป

ตราบใดที่ยังมีต้นไม้ ใบไม้ก็ร่วงหล่นลงมาเป็นธรรมดา

ถ้าเราหงุดหงิดกับใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมา

ชีวิตนี้ทั้งชีวิต เราจะไม่มีความสุขอะไรเลยตราบเท่าที่พื้นดินนั้น ยังมีต้นไม้ใหญ่

ความฟุ้งซ่านคิดนั่นคิดนี่ เป็นธรรมดาของมันเช่นกัน ดุจใบไม้ที่ร่วงหล่น

นั่นแหละธรรมชาติแห่งจิต มันปรุงของมันไปเรื่อย

ถ้ารำคาญ ก็แสดงว่า กำลังใจของเรานี่มันอ่อนแอ

กระทบกับสิ่งใดไม่ค่อยได้ ใจมักไหลไปตามกระแส

เช่นนี้ เรียกว่าใจเราหนักมาทางสมุทัย ผลแห่งทุกข์มาเยือนใจเราเสมอ

เพราะความอ่อนแอ เป็นอาหารแห่งใจที่ไหลไปทางสมุทัย

หากเราได้พิจารณาเห็นว่า นี่เป็นธรรมชาติของใจ

เราเห็นได้ชัดว่ามันเป็นของมันเช่นนี้

เราพึงมีสติ ตั้งสมมุติขึ้นมาซักอย่าง อะไรก็ได้ เช่นคำบริกรรม นิมิตหมาย ลมหายใจ หรือกสิณใดๆ

ตั้งขึ้นมาแล้วเอาใจจับสมมุตินั้น

หากตั้งบริกรรมเช่น พุทโธ ก็ให้เอาใจจับอยู่กับคำว่าพุทโธนั้นๆ อย่าให้ตกไปจากพุทโธ

นี่เป็นวิตกตัวหนึ่ง ทางภาษาบาลีที่เขาใช้เรียกกัน

ประคองการเพ่งนั่น ให้ใจอยู่กับพุทโธ นี่เรียกว่าวิจารณ์

วิจารณ์นี่เป็นการประคองใจในสิ่งที่ตั้งเป็นวิตกขึ้นมา

เช้าๆเราฝึกการตั้งมั่นด้วยอารมณ์เราแค่นี้ ไม่ยากเลยใช่ไหม

เช้าขึ้นมาเราทำทุกๆวัน สิ่งที่กระทำทุกๆวัน มันก็จะเกิดความเคยชิน

ความเคยชินที่ตั้งมั่นนี่แหละ มันจะทำให้ใจเราสงบลงไปเรื่อยๆ

เราจะเห็นว่า ความฟุ้งซ่าน คิดนั้นคิดนี่ อันเป็นธรรมชาติของมันนั้น

มันปรุงแต่งความคิดน้อยลงๆๆๆ

ที่จริงมันก็ปรุงแต่งความคิดของมันอยู่นั่นแหละ

แต่ความตั้งมั่นของสติและสัมปชัญญะ มันมีกำลังมากขึ้น

ความเจือจางแห่งอาการคิดนั่นคิดนี่ มันก็เลยเจือจางเบาบางลง

ไม่นานอารมณ์ใจมันก็ไปจับอยู่กับคำบริกรรม

นี่..เมื่อเกิดอารมณ์เช่นนี้ขึ้นมาเมื่อใหร่ เราเริ่มมีกำลังทางจิตของเราแล้วล่ะ

ชีวิตเรานั่น การทำสมาธิ จะช่วยให้เราเห็นตัวเราและความเป็นเรา ที่หลงยึดกันได้เด่นชัดขึ้น

อย่างแรกเลยก็คือ เราไม่เคยรู้เลย ว่าใจเรานั่นเป็นโรคฟุ้งซ่าน

ชอบคิดนั่นคิดนี่ คิดนู่นไม่มีวันรู้จบ ตราบใดที่ยังมีสังขารกายครอง

การทำสมาธิ จะทำให้เรามองเห็นใจตัวเราชัดขึ้น

คนไม่รู้ไม่มีคนอบรม มันก็จะรำคาญใจ เมื่อยามเราทำสมาธิ

ปัญหาของผู้ฝึกสอนที่ยังไม่เข้าใจสมาธิ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา ที่ทำให้คนมองไม่เห็นธรรมชาติใจตนเอง

ผู้สอนผู้ชี้มักชี้ไปสู่ความสงบ ไม่อาจอธิบายให้ผู้ฝึก ได้เข้าใจได้รู้ว่า

อาการฟุ้งซ่านต่างๆ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา

เราเห็นได้ด้วยตัวของเราเอง และนั่นแหละ เรามองเห็นใจเราอยู่

ว่าธรรมชาติจริงๆแล้ว ใจเรามันเป็นของมันอย่างนี้

นี่..เป็นเพราะเรามีสมาธิเบื้องต้นแล้ว เราสงบลงแล้ว เราจึงได้พบเห็นธรรมชาติแห่งอาการของใจเรา

ข้านี่ชี้ให้คนรู้จักใจเรา รู้จักธรรมชาติแห่งใจตัวเรา

เมื่อรู้จัก เราก็อยู่กับมันได้โดยไม่รำคาญใจ

ถ้าไม่รู้จัก มันก็จะผลักใส นี่เป็นธรรมชาติของมันที่เป็นอารมณ์

การได้เห็นอารมณ์ที่มันค้าง ฟุ้งซ่านเมื่อยามนั่งสงบๆยามเช้า

นั่นคือเหตุแห่งภพที่เราจะต้องเสวย

บางคนเมื่อนั่งลงยามเช้า มันจะระลึกถึงความเครียดแค้นในสิ่งที่ตนไม่พออกพอใจ

ในเหตุแห่งวันวานที่ผ่านมาที่ตนเองนั่นต้องประสพ

ถ้าไม่นั่งสมาธิก็จะไม่เห็นใจตนเอง ว่าใจตนเองฟุ้งซ่านและเครียดแค้น

เรื่องราวในอดีต เรื่องราวในอนาคต ที่ใจตนวิตก หวาดกลัว ผลักใส อยากแก้ตัว

อยากสั่งสอนใครๆที่ตนไม่ถูกใจทั้งหวังดีและไม่หวังดี

มันจะผุดขึ้นมาให้เจ้าของเห็นมากมาย ด้วยภาวะแห่งการนั่งสมาธิ

นั่นแหละๆ คือธรรมชาติแห่งใจเราล่ะ

ถ้าเราทนไม่ได้ อ่อนแอ เราก็จะรู้สึกว่าเรานั่งไม่ได้

มันเป็นอาการนิวรณ์เข้าควบคุมใจเรา ทำให้เราทนไม่ได้ เพราะรู้สึกฟุ้งซ่าน

จึงเลือกไปทางไม่นั่งซะดีกว่า

นี่..เป็นพวกใจที่มีภาวะอ่อนแอ ไหลไปในกระแสใดๆได้ง่าย

ไม่มีกำลังใจ ไม่มีตบะ ไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะฝืนรักษาใจ

ชนเช่นนี้ วันที่ต้องตายกายแตก กำลังแห่งปัญญาที่จะประคับประคองใจ

ให้ดำเนินไปในฟากแห่งกุศลนี่ ทำได้ยาก หากไม่ฝึกกำลังไว้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

เพราะความตายนั้น มันเป็นข้าศึกกับโปรแกรมรักษารูป

ความทุรนทุรายมันจะเข้าเกาะกุม ความหลงในกระแสพราก

มันจะทำให้เรามุ่งออกไปเกิดเป็นสัตว์ ตามภาวะวิบากที่เราไม่ได้ อบรมสั่งสอน

ถ้าทำบุญมามาก ก็จะไปเป็นสัตว์ที่มีบุญ มีที่อยู่ผู้เลี้ยงดูดี

ถ้าทำบุญมาน้อย ก็ไปเป็นสัตว์อนาถาโดนรังแก

การที่เราเข้าใจอาการธรรมชาติแห่งใจตัวเรา

จะทำให้เราเกิดกำลังทางปัญญา

ปัญญานี่ อาศัยกำลังจากสมาธิ

คนไม่มีสมาธิ ปัญญาญานนี่ เกิดไม่ได้

ใจมันจะไหลไปทางกระแสแห่งตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ

วัฏฏะของแต่ละคน อาศัยสิ่งเหล่านี้ อันเรียกว่าสมุทัยเป็นอาหาร

เราหล่อเลี้ยงอาหารให้แก่สมุทัยจนเติบโตอ้วนใหญ่

ที่สุด เราก็กลายเป็นอาหารของมันที่จะต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ

เริ่มตั่งแต่วันนี้ ในวันที่ข้ายังมีชีวิตอยู่ มีอะไรก็รีบเดินทางเข้ามาถาม

อย่างน้อย เรายังพอได้อบรมใจของเราได้ อย่างถูกทิศถูกทาง

อย่าทิ้งขว้างชีวิตเราไป ด้วยการอยู่ๆกันไปเพื่อรอวันตายอย่างเดียว

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 30 พฤษภาคม 2560