ตามกระแสกับทวนกระแส ผลย่อมแตกต่างกัน

ตามกระแสกับทวนกระแส ผลย่อมแตกต่างกัน

593
0
แบ่งปัน

***** ตามกระแสกับทวนกระแส ผลย่อมแตกต่างกัน ****

ลูกศิษย์ >> ผมว่าการทรมานกาย เป็นการกระทำตนให้ลำบาก ไม่ช่วยให้บรรลุมรรคผลอะไร พระพุทธเจ้าก็ทรงห้าม ฉะนั้นการปฏิบัติโดยการอดน้ำอดข้าว อดนอนนี่ ไม่ถูก..

พระอาจารย์ <<… การทรมานกาย มันขึ้นอยู่กับจริตนะครับ หากอยู่สบายเกินไป ผลมันก็คือ สิ่งที่เราเห็นๆกันในปัจจุบันเข้าถึงธรรมไม่ได้เลยเช่นกัน

เราเข้าใจผิดกับคำว่า อัตถกิลถานุโยโค ที่แปลมาว่า เป็นการทรมานกาย

คำๆนี้หากให้แปลอย่างป่าๆตามภูมิปัญญาละก็ หมายถึงการกระทำให้เกิดทุกข์อย่างโง่ๆ

ทุกข์เพราะความถูกใจและไม่ถูกใจ

ถ้าถูกใจก็เป็น กามสุขัลนุโยโค ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นอัตถกิลมถานุโยโค อันเป็นธรรมของชาวบ้านทั้งหลาย

การทรมานกายด้วยปัญญา มันย่อมเห็นเวทนา จิต ธรรม ตรงตามความเป็นจริง

หากทรมานกายด้วยความโง่ ตามโลกเขาว่า และตัวเองว่า มันก็ไม่เข้าถึงธรรมอีกนั่นแหละ ตรงนี้ ที่เรียกว่า อัตถกิลถานุโยโค

แต่หากมีผู้ทรงคุณชี้ การทรมานกาย เจ้าตัวจะมองเห็นความเป็นจริงที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ทั้งนี้…ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาด้วยว่า เราทรมานไปเพื่ออะไร และใครเป็นผู้ทรมาน

หากมีการโยนิโสแบบนี้ การทรมานกายเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริง เป็นสิ่งประเสริฐ

แต่หากการทรมานกาย เพราะฟังเขาว่า ไอ้นี่…โง่หลายครับ

ทรมานกายไปเปล่าๆโดยไม่ได้มรรคผล แถมชิงชังและเคียดแค้นการปฏิบัติไปซะอีก

และจะไปโพทะนาให้คนอื่นฟังว่า การทรมานกายไม่สามารถบรรลุมรรคผล

สมัยหนึ่ง เมื่่อพระพุทธองค์ทรงทรมานกายจนผอมแห้ง

ถึงที่สุดแล้วเห็นว่า การทรมานร่างกาย แม้เจียนตายก็ไม่มีผล

ที่พระพุทธองค์ ทรมานกาย นั่นเพราะ…เป็นการปรารภโลก เพราะโลกเขาว่าการทำเช่นนี้ มันดี มันเป็นการแสวงหา การบรรลุโมกขธรรม

และพระพุทธองค์ก็ทรงปรารภตนเอง คือ เห็นด้วยกับที่โลกเขาว่า จึงฝึกทรมานกายเป็นเวลานาน

ที่สุด…เมื่อตระหนักได้ว่า การทำเช่นนี้ ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้นจึงเลิกกระทำเสีย

วันที่ถาดหลุดมือลอยไปตามน้ำ และจมลงไปในกระแส กุศโลบายทางจิตก็เลยเกิด

มันเป็นอุบายจิตของผู้ที่ฝึกจนถึงที่สุดแห่งทาง ย่อมเกิดปัญญาญาณ

เมื่อเห็นความจมจริงของถาดที่จมหายไปในแม่น้ำเนรัญชลาว่า…

สิ่งใดๆก็แล้วแต่ ที่ล่องลอยและไหลไปตามกระแส ผลก็คือ การจมหายสลายลงไปในกระแส ไร้เรี่ยวแรงที่จะต้านไหว

ดังเช่นถาดน้อยใบนี้ ที่ไหลไปตามกระแสย่อมจมหายไปในกระแส

นี่คือ…ผลแห่งความเป็นธรรมดาแห่งธรรมชาติในสรรพสิ่ง

แต่หากถาดนี้ มีกำลังสามารถลอยทวนกระแส ผล…ย่อมไม่จมหายไปในกระแสธารแน่

ปลาตาย หรือปลาไร้เรี่ยวแรงอ่อนกำลัง ย่อมไหลพัดไปตามกระแสธาร…เช่นไร

ปลาผู้มีกำลัง ย่อมว่ายทวนกระแส มันจึงจะเข้าไปถึงต้นน้ำที่ใสสะอาด

นี่…อุบายจิตย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ เมื่อจิตมันสุกงอมเต็มที่แล้ว

ท่านจึงรำพันออกมาว่า ที่แท้…เราเป็นผู้ปรารภโลก และปรารภตนเอง ย่อมไม่บรรลุมรรคผลที่ยังไม่รู้ได้เลย เหตุเพราะไหลไปตามกระแสโลก

ตราบใดที่เรายังปรารภโลก ความสว่างแห่งมรรคาย่อมไม่สว่างจ้าดุจถาดที่จมหายไปในความมืดมิดแห่กระแส

เราต้อง…ปรารภธรรม ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ที่จะรู้เห็นตรงตามความเป็นจริงได้ ต้องทวนผลที่แสดงนี้เข้าไปหาเหตุ

ดุจถาดที่ไหลทวนกระแส ถาดที่ไหลทวนกระแส ย่อมไม่จมหายไปในกระแส นี่เป็นธรรมดาของโลก ที่มนุษย์ทั้งหลายได้มองข้ามไป

ไม่ใช่ว่าตามผลที่เป็นกระแสโลก และตามกระแสของความคิดตนเอง แล้วจับอกว่านี่ใช่นี่ถูก กระแสเช่นนี้เป็นกระแสแห่งกิเลส ไม่ใช่กระแสแก่งปัญญา

เมื่อได้อุบายอันแยบคายเช่นนี้แล้ว พระพุทธองค์จึงทุ่มเทด้วยชีวิตอีกครั้ง

โดยตั้งสัจจะไว้เป็นวิหารธรรมว่า…

แม้เลือดจะเหือด เนื้อหนังจะแห้ง หากเราไม่สามารถบรรลุมรรคผลแห่งโมกขธรรมได้ เรา…จะไม่ยอมลุกออกมาจากบัลลังก์นี้อีกต่อไป

นี่…เพราะเห็นช่องทางแล้ว นั่นก็คือ การสาวผลไปหาเหตุ

เหตุที่เกิดมา แก่ เจ็บ ตาย มันมีเหตุมาจากอะไร

ปฐมกาลพระพุทธองค์ จึงเห็นสัจธรรมแห่งการเกิดดับของพระองค์องค์เอง นี่เรียกว่า บุพเพนิวาสา เป็นวิชาแรก

ได้ เจโตปริยญาณ ในมัชฌิมากาล รู้เห็นการเกิดดับเหล่าสัตว์อื่น

และเมื่อนำมาพิจารณาตามที่เห็นและประจักษ์ใจจริง จิตเกิดความเบื่อหน่ายในวัฏฏะแห่งการเกิดดับ

การสิ้นไปแห่งอาสวะ จิตถอดถอนอุปาทานในยามใกล้รุ่ง เข้าสู่ความเป็น…วิมุตติ

นี่…การอธิษฐานจิตก่อนการบรรลุที่ว่า แม้เนื้อจะเหือด เลือดจะแห้ง กายจะแตกแยกสลายก็จะไม่ยอมลุก

นี่ก็เป็น…การทรมานกายวิธีหนึ่งเช่นกัน

แต่เป็นการทรมานกายด้วยอำนาจของ…ปัญญา

คุยกันหนุกๆยามค่ำกับความมืดมิดแห่งราวป่าที่ไร้ผู้คน มีแต่เสียงป่าและหัวใจที่ส่งมายังน้องๆ สวัสดีครับ

มีโอกาส ผมจะโม้ตอนที่นางสุชาดาถวายข้าว และไล่ไปถึงการบรรลุธรรม และการเสวยวิมุตติ รวมไปถึงการสาวผลแห่งเหตุและผลที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ที่ฮิตๆกัน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557