ศิษย์ถามพระอาจารย์ตอบ (เรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม)

ศิษย์ถามพระอาจารย์ตอบ (เรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม)

414
0
แบ่งปัน

**** “ศิษย์ถามพระอาจารย์ตอบ (เรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม)” ****

เรื่องธรรมะนี่ หากไม่เข้าใจและชัดเจนด้วยปัญญาญานประสบการณ์ การตอบคำถาม จะไม่ลึกซึ้งและเข้าถึงความเป็นจริง

บางคำถามภาชนะของผู้ถามมีไม่พอที่จะรองรับคำตอบ ตอบไป ผู้รับก็จะไม่เข้าใจ แม้จะเป็นคำง่ายๆไม่ซับซ้อนอะไรก็ตาม

มันมีเรื่องคำถามเกี่ยวกับ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่มีหลายท่านถามมา

เรื่องกายนั้น เรายังพอตามรู้ได้ มันแบ่งออกเป็น กายนอก กายใน กายในกาย

ซึ่งก็พอที่จะอธิบายไปบ้างแล้ว ทั้งเรื่องกายและเวทนา

แต่เรื่องจิตนี่ อธิบายออกไปไม่มากนัก วันนี้มีคนถามเรื่องจิต จึงขออธิบายกันพอสังเขป

>> ลูกศิษย์ : จิตนอกจิตในคืออะไรคะ ท่านพระอาจารย์

<< พระอาจารย์ : ขวัญดาว…เขาถามมา ก็ขอตอบซักเล็กน้อย..

เรื่องจิตนอกจิตในนี้ มันเป็นอาการแสดงออกแห่งใจที่เป็นอาการของจิต ที่เจ้าของเข้าใจว่าเราเป็น

อาการต่างๆ ที่เจ้าของได้รับผัสสะมาทาง ตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ เป็นเหตุปัจจัยที่เป็นอาการของจิต

แต่หากไม่มีผู้ชี้ เจ้าของก็จะไม่รู้ไม่เห็น ว่าอาการเหล่านี้ เป็นอาการของจิต ที่แสดงออกมาเป็นเวทนาผ่านกาย

เจ้าของก็จะมองและหลงอาการไปว่า เขาเป็น และเราเป็น

ที่เจ้าของดูว่า “เขาเป็น” เป็นการหลงจิตนอก เป็นกายวิปลาสตัวหนึ่ง

และที่เจ้าของคิดว่า ” เราเป็น” นี่ก็หลงในอากาแห่งจิตใน เป็นมโนวิปลาสตัวหนึ่ง

ทั้งจิตในจิตนอก ยังจำแนกแยกย่อยไปตามผัสสะแห่งอายตนะเจ้าของอีก

ความคิดที่ส่งออก การตัดสินใจในผัสสะ ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์

ที่หลงตัดสิน ในเขา และความเป็นเรา นี่เป็นเรื่องของจิตใน จิตนอก

พูดง่ายๆ ว่า หลงอาการที่ผัสสะ ว่าเราเป็น เขาเป็น

ขาดการพิจารณา ในสิ่งที่เราเป็นและเขาเป็น ว่าเป็นอาการของจิต ที่แสดงออกมา

ที่มองไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะขาดการพิจารณา

เริ่มจากขาดการพิจารณา กายนอก กายใน กายในกาย

ย่อมไม่เห็นตรงตามความเป็นจริงแห่ง กายนอก กายใน กายในกาย

ขาดการเห็น กายนอก กายใน กายในกาย ย่อมไม่เห็น เวทนา

เมื่อไม่เห็นเวทนา ย่อมมองไม่เห็น เวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา

เมื่อไม่เห็นอาการแห่งเวทนา ก็ย่อมมองไม่เห็นจิต

เมื่อมองไม่เห็นจิต ย่อมมองไม่เห็น จิตนอก จิตใน จิตในจิต

เมื่อมองไม่เห็นจิต ก็ย่อมมองไม่เห็นธรรม

เมื่อมองไม่เห็นธรรม ย่อมมองไม่เห็น ธรรมนอก ธรรมใน ธรรมในธรรม

นี่..ภาวะทั้งหลายมันอาศัยกันเกิด

การเกิดนี้ อาศัยภพ

ภพอาศัย อุปาทาน

อุปาทานอาศัย ตัณหา

ตัณหาอาศัย เวทนา

เวทนาอาศัย ผัสสะ

ผัสสะอาศัย อายตนะ

อายตนะอาศัย นามรูป

นามรูปอาศัย สติสัมปชัญญะที่เกิดแต่วิญญาน เพ่งเฝ้าดูกาย

วิญญาณที่เพ่งเฝ้าดูกาย ย่อมเห็น กายใน กายนอก กายในกาย

พิจารณากาย ย่อมเห็น เวทนา

วิญญาณที่เพ่งเวทนา ย่อมเห็น เวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา

พิจารณาเวทนา ย่อมเห็น จิต

วิญญาณที่เพ่งจิต ย่อมเห็นจิตนอก จิตใน จิตในจิต

พิจาณาจิต ย่อมเห็น ธรรม

วิญญาณที่เพ่งธรรม ย่อมเห็น ธรรมนอก ธรรมใน ธรรมในธรรม

นี่..การพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม มันเรียงร้อยกันมาเช่นนี้

อาศัยสติหล่อเลี้ยง ปัญญา ศรัทธา ความเพียร และสมาธิ ในการเพ่งและพิจารณา

วิปัสสนาคือการ เพ่งและพิจารณา

เพ่งเป็นสมาธิจุดใดจุดหนึ่ง

พิจารณาเป็นสมาธิไม่ฟุ้งออกนอกเรื่อง กระทำ พูด คิดอยู่เรื่องใด ก็จรดจ่ออยู่แต่เรื่องนั้น

นี่เรียกว่า วิปัสสนา ในการภาวนาสติปัสฐานสี่ ในอิริยาบท

เดิน ยืน นอน นั่ง ด้วยอำนาจของ สติ ของผู้ที่มีใจเป็น ศีล สมาธิและปัญญาได้รอบ

ถามมาเล็กน้อย แต่อธิบายซะไกล

สรุปสั้นๆ คือ

จิตนอก เป็นอาการทั้งหลายที่เจ้าของผัสสะ แล้วเข้าใจว่าเขาเป็น หลงยึดเป็นเขา

จิตใน เป็นอาการทั้งหลายที่เจ้าของผัสสะ แล้วเข้าใจว่า เราเป็น หลงยึดเป็นเรา

จิตในจิต เป็นอาการที่แสดงออกมาจากใจ แห่งกองขันธ์ ที่เจ้าของไม่รู้ว่านี่เป็นอาการของจิต ไม่ใช่เจ้าของเป็น ไม่ใช่เราและไม่ใช่เขาที่หลงยึด

มันเป็นอาการแห่งความเป็นธรรมดา ของอวิชาที่เจ้าของหลงในอาการแห่งตัวตน

โดยเข้าใจว่าตนเป็น มองไม่เห็นความเป็นธรรมดาแห่งกระแสธรรม ว่ามันก็เป็นของมันเช่นนั้นเอง เป็นไปตามเหตุและปัจจัย..

ขวัญดาว เขาถามมาน่ะ

พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง วันที่ 30 สิงหาคม 2560