นิกายมหายาน..แห่งเซน ท่อนสอง

นิกายมหายาน..แห่งเซน ท่อนสอง

311
0
แบ่งปัน

**** “นิกายมหายาน..แห่งเซน ท่อนสอง” ****

เรามาว่ากันต่อในเรื่องย่อแห่งนิกายเซ็น ซึ่งทิ้งเรื่องไว้แต่เมื่อเช้า

จริงๆเรื่องเหล่านี้ พวกเราเองก็ไม่ได้สนใจอะไรหรอก ข้าก็เล่าฆ่าเวลาไปงั้นๆ

เรามาว่าถึงนิกายเซนแห่งพุทธมหายานกันต่อ

นิกายนี้ ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “เสี่ยมจง” นี่ถ้าว่ากันเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว

แต่คนไทยเราเรียกชื่อนิกายนี้ตามภาษาญี่ปุ่นมาว่า “เซน” เซนนี้มาจากฌาน ความหมายแห่งมูลมันมาอย่างนั้น เราจึงเรียกเซน ตามพี่ญี่ปุ่นไปด้วย

นิกายนี้เป็นนิกายที่สำคัญยิ่งนิกายหนึ่งเริ่มมาจากจีน มีความแพร่หลายกันออกไปสู่ประเทศต่างๆ ซึ่งมีความเจริญแพร่หลายอยู่ทุกยุคทุกสมัยทีเดียว

คำว่า “เซน” มาจากศัพท์คำว่า “ธฺยาน” หรือ “ฌาน” หมายถึงนิกายที่ปฎิบัติทางวิปัสสนา

ตามประวัติเล่าคร่าวๆกันว่า ในสมัยพุทธกาล ณ ท่ามกลางประชุมบริษัท 4 พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ได้ทรงชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่ง มิได้ตรัสว่าอย่างไร ที่ประชุมก็ไม่มีผู้ใดเข้าใจความหมาย

นอกจากพระมหากัสสปเถระรูปเดียวเท่านั้น ที่ยิ้มน้อยๆอยู่ นี่..เซ็นเขาเล่ามาว่างั้น

พระศาสดาจึงตรัสว่า “ดูก่อน กัสสปะ ตถาคตมีธรรมจักษุครรภ์อันถูกต้องและนิพพานจิต ลักษณะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะได้มอบไว้ให้แก่เธอแล้ว”

ดูมันแปลมาเป็นภาษาไทย ทำเอากุปวดหัวอีก แปลเป็นไทยแล้วก็ยังปวดหัว

ข้าแปลให้ฟังดีกว่า

ความว่า ” นี่ท่านกัสปะ เราเองมีความแจ้งแห่งธรรมและจิตที่ล่วงพ้น สิ่งทั้งปวงที่เราเห็นเธอย่อมเห็นเช่นเดียวกับเรา ”

เพราะฉะนั้น นิกายนี้จึงนับถือพระมหากัสสปเถระ ว่าเป็นปฐมปรามาจารย์ปรินายกองค์แรก

โดยที่พระมหากัสปะเองก็ไม่ได้รู้ตัวอะไร พวกเขายัดเยียดให้ แค่ดูดอกไม้ที่พระพุทธองค์ชู ก็เป็นอันว่าเข้าใจ

แต่ไม่มีใครถามว่า พระมหากัสปะท่านเข้าใจอะไร พวกเซนเขาเอาโศลกมาตีความ และถือว่าเป็นนิกายวิปัสสนาโดยเฉพาะ

ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ ไม่อยู่ในกรอบแห่งคำพูดใดๆ ไม่ต้องอธิบายให้มากความ

แต่ชี้ตรงไปยังจุดของจิตใจ ดุจใบไม้ที่พริ้วไหวใจก็รู้ธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องรู้แต่ภายในกรอบของคัมภีร์ให้เสียเวลา

เพราะฉะนั้น บางทีจึงมีนามเรียกว่า “การเผยแผ่นอกคำสอน” ไม่จำเป็นต้องอิงพระไตรปิฏกตรงตามบัญญัติ

ซึ่งจะทำให้คับแคบอึดอัดและเข้าไม่ถึงสูญญตาธรรมอันตรงตามความเป็นจริง

นิกายเซน นับตั้งแต่พระมหากัสสปเถระเป็นปฐมปรามาจารย์ ได้มีเกจิอาจารย์สืบทอดต่อมาอีก 28 องค์

จนถึงสมัยท่านโพธิธรรม เราเรียกท่านว่า ปรามาจารย์ ตั้กมอโจวซือ ซึ่งท่านเป็นคนอินเดียลูกเจ้าเมือง อลูมีไร คือเมืองอะไรไม่รู้จำไม่ได้

ท่านได้หนีการช่วงชิงอำนาจระหว่างตระกูลไปอาศัยต่างแดนออกไปคือประเทศจีนนู่น

ไปหลบอยู่บนภูเขาเหลียงซานซะหลายปี มีผู้คนและชาวบ้านติดตามพอสมควรไม่โด่งดังอะไรตามหนังจีนเล่าขานมากมายนัก

ด้วยความที่ท่านถือคติพุทธนิกายมหายาน ท่านจึงได้นำคติของนิกายนี้มาสั่งสอนในประเทศจีน ในสมัยพระเจ้าเหลียงบูเต้ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหลียง

นับจากนั้น ในประเทศจีน นิกายแห่งเซน ต่อแต่นั้นมาก็มีคณาจารย์จีนสืบทอดมาอีก 5 องค์

จึงนับว่าท่านโพธิธรรมผู้จาริกมาสู่ประเทศจีนในราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นปฐมอาจารย์แห่งนิกายเซนในประเทศจีน

ท่านได้มอบไตรจีวรและบาตรต่อให้ลูกศิษยชาวจีนชื่อว่า ฮุ่ยค้อเป็นปรินายกองค์ที่ 2

ท่านฮุ่ยค้อได้มอบธรรมให้แก่ปรินายกเจ็งชั้ง เป็นองค์ที่ 3

และท่านเจ็งชั้งได้มอบให้แก่ปรินายกเต้าสิ่งเป็นองค์ที่ 4

ท่านเต้าสิ่งได้มอบต่อให้ปรินายกฮ่งยิ่ม ซึ่งเราอ่านติดปากว่า หงเหย่น

ในยุคของพระอาจารย์หงเหย่นนี่ นิกายเซนแบ่งออกเป็น 2 สำนัก

คือสำนักของคณาจารย์หงเหย่นเรียกว่า “สำนักอึ้งบ้วย” ซึ่งถือกันว่าเป็นสำนักที่สืบเนืองมาโดยตรง จากปรมาจารย์เต้าสิ่ง

และสำนักของคณาจารย์ฮวบย้ง เรียกชื่อว่า “สำนักงู้เท้า” ซึ่งเป็นสำนักแฝง อันเป็นศิษยเอกร่วมสำนักมาก่อน แต่มีความเห็นแตกออกไป

นิกายเซนสำนักอึ้งบ้วยได้แตกออกเป็น 2 สำนักอีก สำนักแรกถือว่าเป็นสำนักที่สืบต่อจากท่านปรมาจารย์หงเหย่นโดยตรง

ผู้เป็นปรินายกคือ ฮุ่ยเล้งหรือท่านเว่ยหล่าง นับเป็นปรินายกองค์ที่ 6

ท่านได้ตั้งสำนักอยู่ทางตอนใต้ของจีน และได้แพร่หลายไปทั่วจีนตอนใต้

ประวัติของท่านฮุ่ยเล้งนั้นสำคัญมากและเป็นที่แพร่หลายมาก

ท่านเกิดในยุคราชวงศ์ถัง เป็นชาวนำเฮี้ยง ขณะที่ท่านเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ท่านหงเหย่น ท่านหงเหย่น มีศิษย์เอกอยู่ท่านหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว

ซึ่งเป็นที่คาดหมายจากหมู่ศิษย์ทั้งปวงว่าท่านจะ ต้องเป็นผู้ได้รับมอบธรรมและต่ำแหน่งปรินายกต่อจากท่านหงเหย่น

ศิษยท่านนี้ ท่านมีชื่อว่า “สิ่งซิ่ว”

วันหนึ่งเมื่อคราวที่คณาจารย์หงเหย่นให้ศิษย์ทั้งปวง แข่งกันแต่งโศลกหรือบทกลอน เพื่อต้องการดูภาวะจิตของศิษย์แต่ละคน

ปรากฏว่าท่านหงเหยิ่น เลื่อมใสในโศลกของท่านฮุ่ยเล้ง ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาใหม่อีกทั้งยังไม่รู้หนังสือด้วย

การเขียนโศลกที่ตนแต่งขึ้นก็ต้องอาศัยผู้อื่นเขียนให้ ท่านหงเหย่นจึงได้มอบบาตรและผ้ากาสาวพัสตร์ประจำตำแหน่งปรินายกองค์ที่ 6 ให้ฮุ่ยเล้ง

และให้ท่านหนีออกไปกลางดึก ไปตั้งสำนักของตนทางตอนใต้

ต่อมาท่าน สิ่งซิ่วได้ตั้งสำนักขึ้นใหม่อยู่ทางตอนเหนือ มีกษัตรย์ราชวงค์เป็นผู้สนับสนุน

และต่อจากนั้นมา นิกายใต้ของฮุ่ยเล้ง ยังแตกออกอีก 5 สำนักคือ สำนักฮุ่นมึ้ง สำนักนิ่มชี้ สำนักเช่าตั่ง สำนักอุ้ยเอี้ยง สำนักฮวบงั้ง

ในจำนวนนี้นับว่า สำนักนิ่มชี้แพร่หลายที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน

อนึ่งด้วยทัศนะของคณาจารย์ฮุ่ยเล้งและคณาจารย์สิ่งซิ่วต่างกัน วิธีการปฏิบัติจึงพลอยต่างกันออกไปด้วย

สำนักเหนือมีวิธีปฏิบัติที่ค่อยเป็นค่อยไปโดยลำดับ ส่วนสำนักใต้ปฏิบัติอย่างฉับพลัน จนมีชื่อเรียกว่า “น่ำตุ้งปักเจี๋ยม” แปลว่าใต้เร็วเหนือลำดับ

นิกายเซน เผยแผ่การปฏิบัติด้วยวิธีใจสู่ใจ ไม่อาศัยตัวหนังสือหรือการอธิบายมากความ

แต่เนื่องด้วยอินทรีย์ของสัตว์มีสูงต่ำ นิกายนี้จึงจำต้องอาศัยหนังสือและคำพูดเป็นส่วนประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นเพียงอุบายวิธีเท่านั้น

ฉะนั้น คัมภีร์ของนิกายนี้จึงมีมากไม่แพ้นิกายอื่น

หลักธรรมของนิกายเซน

นิกายนี้ถือว่าสัจจภาวะนั้น ย่อมอยู่เหนือการพูดการคิด เราจะค้นสัจธรรมในหนังสือพระไตรปิฎกย่อมไม่พบ สัจธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ

การปฏิบัติ นอกจากอ่านคัมภีร์หรือฟังธรรมแล้ว เราจะต้องหันมาบำเพ็ญดูจิตใจของตนเอง

เพราะความจริงเราจะหาได้ภายในตัวเรานี้เอง จะไปค้นหาภายนอกไม่ได้

จึงมีคำขวัญประจำนิกายนี้ว่า “ปุกลิบบุ่งยี่ ติกจี้นั่งซิม เกียงแส่งเซ่งฮุก” แปลว่า

ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือ แต่ชี้ตรงไปยังจิตใจของคน ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริง แล้วบรรลุความเป็นพุทธะ

ดังนั้น นิกายนี้จึงสอนว่า “สรรพสัตว์มีพุทธภาวะหรือธรรมกายรุ่งเรืองสุกใสอยู่ด้วยกันทุกๆคน

คำพูดหรือตัวหนังสือหาเพียงพอที่จะอธิบายถึงสัจจะภาวะอันนี้ไม่

เพราะฉะนั้น บางคราวจำเป็นต้องอาศัยปริศนาธรรมและคำพูดที่เสียดแทงเข้าไปถึงหัวใจ ช่วยพาไปให้รู้จัก ดั่งที่โม้ไว้แต่เมื่อเช้า

วิธีนี้นิกายเซนเรียกว่า “โกอาน” ซึ่งแปลว่าปริศนาธรรม สำหรับมอบให้ศิษย์นำไปขบคิด

ผู้ใดขบคิดปัญหาโกอานแตกผู้นั้นก็ดวงตาเห็นธรรมได้

ปริศนาเหล่านี้ เช่น สะพานไหลน้ำไม่ไหล, ก่อนพ่อแม่ให้กำเนิดเรา หน้าตาดั้งเดิมของเราเป็นอย่างไร, สิ่งทั้งหลายรวมไปที่หนึ่ง หนึ่งนั้นคืออะไร ฯลฯ

นอกจากนี้นิกายเซนกล่าวว่า การปฏิบัติธรรม โดยผ่านตามลำดับขั้นแห่งไตรสิกขานั้น เป็นการเนิ่นนานล่าช้า สู้วิธีการของเซนไม่ได้

วิธีการของเซนเข้าโดยปัญญาอย่างเดียว เมื่อมีปัญญารู้แจ้งแล้ว ศีลสมาธิก็ย่อมปรากฎเอง

คณาจารย์เซนอธิบายถึงลักษณะของพุทธภาวะว่า คือจิตเดิมแท้ของแต่ละบุคคลนั่นเอง

ดังวาทะหนึ่งซึ่งว่า “มหึมาหนอ เจ้าจิต ฟ้าที่สูงไม่อาจประมาณได้ ถึงสุดยอดแล้ว แต่จิตก็อยู่สูงเหนือฟ้านั้นขึ้นไป แผ่นดินที่หนาไม่อาจวัดได้

แต่จิตก็อยู่พ้นแผ่นดินนั้นลงไปแสงสว่างของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่อาจข้ามได้

แต่จิตก็อยู่พ้นแสงสว่างของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นไปอีก โลกธาตุทั้งปวงมีปริมาณดุจเมล็ดทรายไม่มีที่สิ้นสุด

แต่จิตก็อยู่นอกเหนือจักรวาลทั้งหลายดังกล่าวไปอีก จะว่าเป็นอากาศหรือ จะว่าเป็นธาตุสภาวะหรือ จิตก็ครอบงำอากาศ ทรงไว้ซึ่งธาตุภาวะเดิม

อาศัยตัวของเราฟ้าจึงครอบจักรวาล และดินจึงรับรองจักรวาล อาศัยตัวเราดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จึงหมุนเวียนไป

อาศัยตัวของเราฤดูทั้ง4 จึงมีการเปลี่ยนแปลง อาศัยตัวของเราสรรพสิ่งจึงอุบัติขึ้น ใหญ่โตจริงหนา

เจ้าจิตนี่ข้าให้นามแก่เจ้าละว่า ปรมัตถสัจจะและอนุตตรสัมโพธิ หรือศูรางคมสมาธิและสัมมาธรรมจักษุครรภ์ หรือนิพพานจิต”

โอย..ฟังแล้วชักออกงิ้ว นี่ว่าตามลัทธิเขาน่ะ

นอกจากนี้ วิธีขบปริศนาโกอาน หรือที่เรียกว่าปริศนาธรรมนั้นมีวิธีการแปลกๆเช่น

ครั้งหนึ่งในฤดูหนาว มีหลวงจีนรูปหนึ่งชื่อ ตังเฮี้ยเดินทางมาขออาศัญพักแรมในวัดแห่งหนึ่ง

เมื่อหิมะตกจัด หลวงจีนรูปนั้นจึงเข้าในโบสถ์ แล้วนำเอาพระพุทธรูปออกมา ทำฟืนเผาไฟ บังเอิญสมภารวัดเดินผ่านมาพบเข้า จึงทักท้วงการกระทำเช่นนั้น

หลวงจีนตังเฮี้ยกล่าวว่า ที่เผาพระพุทธรูปก็เพราะต้องการหาพระบรมธาตุ

สมภารแย้งว่า พระพุทธรูปไม้จะเอาพระบรมธาตุมาแต่ไหน

หลวงจีนตังเฮี้ย จึงย้อนเอาว่า เมื่อไม้จะเอาพระบรมธาตุมาแต่ไหน หลวงจีนตังเฮี้ย จึงย้อนเอาว่า เมื่อหาพระบรมธาตุไม่ได้ ก็ขอเอาพระพุทธรูปมาเผาอีกสัก 2-3 องค์

สมภารเมื่อได้ฟังดังนั้น ก็มีดวงตาเห็นธรรมทันที ก็ไม่รู้ว่าอาเจ๊กแกไปเห็นรูไหนเหมือนกัน

คงคล้ายๆกับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะไม่มีความหมาย เป็นแต่เราเองที่แสวงหาและไขว่คว้าในสิ่งที่ไม่มี..

โกอานอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า คราวหนึ่งมีขุนนางไจ๊เสี่ยง เดินทางไปถามปัญหาธรรมกับพระกัมมัฎฐานรูปหนึ่งว่า

พระนิพพานมีลักษณะอย่างไร พุทธภาวะมีลักษณะ อย่างไร พระรูปนั้นตอบว่า เชิญท่านไจ๊เสี่ยงไปนั่งเก้าอี้ดื่มน้ำชาก่อน

ขุนนางตอบไปว่า ผมมาในที่นี้ เพราะอยากถามเรื่องนิพพานกับพุทธภาวะ ท่านโปรดอธิบายให้ฟังก่อน

พระรูปนั้นตอบว่า อากาศข้างนอกเย็นสบายดีจริง ขุนนางไม่พอใจ แสดงกิริยาเคืองออกมาให้เห็นพร้อมกับกล่าวว่า

ผมไม่ต้องการฟังคำพูดอย่างนั้น ผมอยากรู้เรื่องพระพุทธภาวะและพระนิพพานเท่านั้น

พระรูปนั้นจึงว่า ไม่มีภาษา ไม่มีบัญญัติ ไม่มีโวหาร สิ่งๆนั้นมีอยู่ในตัวของท่านเอง

นี่..คำตอบแบบเซน

ปรัชญาของเซนกล่าวว่า พุทธภาวะที่ไม่เกิดแก่เจ็บตายอันมีอยู่ทั่วไปและมีอยู่แก่สรรพสัตว์ทั้งสิ้น และเป็นภาวะบริสุทธิ์มาแต่ดั้งเดิม

แต่ปุถุชนถูกอวิชชากำบัง เข้าใจว่าคนนั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นความหลงผิดนั้น ต้องกำจัดอวิชชานี้ออกไปเสียด้วยวิธีทำซาเซน

ซึ่งภาษาจีนว่า “ซัมเซี้ยม” คือทำฌานให้เกิด

นิกายเซนกล่าวว่า ปัญญากับฌานจะแยกกันมิได้ ฌานที่ไร้ปัญญาก็มิใช่ฌานชนิดโลกุตตระ

นิกายเซนมีวิธีเรียกว่า “ชัมกงอั่ว” หรือภาษาญี่ปุ่นว่า “โกอาน” ซึ่งแปลว่า การขบปริศนาธรรม

อาจารย์เซนจะมอบปริศนาธรรม เช่นว่าสุนัขมีพุทธภาวะหรือไม่ ผู้ใดเป็นผู้สวดมนต์ภาวนาอยู่นี้

ศิษย์จะนำไปขบคิดจนกระทั่งขบแตก ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกแห่งปัญญา ที่จะนำตนให้พ้นวัฏฏสงสารทีเดียว

ภูมิธรรม การบรรลุธรรมของนิกายเซนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

1 ระยะแรกเรียกว่า “ชอกวง” หรือ “ปุนชัม” ได้แก่การขบปริศนาธรรมแตก เกิดปัญญาความรู้แจ่มจ้า เห็นภาวะดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ปราศจากกิเลศของตนเอง

2 ระยะกลางเรียกว่า “เต้งกวง” คือการใช้ปัญญาพละ และในระยะนั้นเอง ก็กำหราบสรรพกิเลสให้อยู่นิ่งเป็นตะกอนน้ำนอนก้นถังอยู่

3 ระยะหลังเรียกว่า “หมวกเอ้ากวง” คือการทำลายกิเลสที่เป็นตะกอนนอนก้นนั้นให้หมดสิ้นไป

นิกายเซนมีอิทธิพลครอบงำความคิดความอ่านของชนชั้นนักศึกษาจีนและญี่ปุ่น นับเป็นพันๆปี จนถึงปัจจุบัน

ในไทยเรา ก็มีคนศึกษานิกายเซนมากมายเช่นเดียวกัน

แต่ในทัศนะข้า…ตราบใดที่ยังเห็นว่าตนถูกและผิด ธรรมนั้นล้วนเป็นอัตตาธรรมทั้งดุ้น

พุทธภาวะนั้นไม่มีนิกาย ความเห็นต่างนั้นมีได้เป็นธรรมดา เพราะความเห็นต่างนี่แหละ จึงได้ชื่อว่าพุทธศาสนา

พุทธะนั้นคือปัญญา การหาหนทางด้วยณานปัญญา คือหนทางเข้าถึงความเป็นพุทธะ…

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 โดยพระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง