สมาธิแห่งสัมมา

สมาธิแห่งสัมมา

347
0
แบ่งปัน

******* “สมาธิแห่งสัมมา” *******

ต่อจากวันก่อนเลยนะ…

ในการทำสมาธินั้น เมื่อจิตหดลงมาจนวิตกวิจารณ์จางคลายหายไป

หรือมันหยาบเกินไปที่ ใจจะไปใส่ใจในรายละเอียด

ใจมันจะเพ่งไปที่อาการแห่งปิติ

ปิตินี่เป็นอาการของจิต ที่ปรุงแต่งออกมาตามธรรมชาติของมัน ที่มีเหตุปัจจัย

ในการทำสมาธินั้น เรามีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะตามรู้ด้วยความตั้งมั่น จนเกิดความเคยชิน

ความเคยชินนี้เรียกว่าฌาน

คนทรงฌานก็คือ ใจอยู่กับความเคยชินนั้นๆจนเป็นปกติ

สมัยแรกๆที่พวกเราทำสมาธิกัน แล้วเกิดความไม่สงบ นั่งแล้วฟุ้งซ่าน คิดนั่นคิดนี่

เราก็อยากให้มันสงบ ไม่คิดนั่นไม่คิดนี่

นี่เป็นเพราะเราขาดปัญญาความเข้าใจ ในอาการแห่งจิต

เราแค่อยากให้ได้ดั่งใจ นั่งสมาธิแล้วเกิดความสงบตามที่ฟังที่จำกันมา

โดยธรรมชาติ ใจที่ยังไม่ได้รับการอบรมเพียงพอ มันก็ฟุ้งก็ปรุงของมันเป็นปกติ

เมื่อมาจรดจ่อเพ่งอยู่กับที่ด้วยความตั้งมั่น

ความรู้สึกเราก็จะเห็นอาการปรุงของมัน เราจะเห็นมันปรุงนั่นปรุงนี่ไปเรื่อยแหละ

แต่เพราะความไม่รู้ เราจึงทำตัวเข้าไปเป็นเจ้าของในอาการที่เห็นซะนี่

ว่าใจนี้ไม่สงบ มันนึกมันคิด มันฟุ้งซ่าน นั่งสมาธิไม่ได้เลย

นี่เป็นความหลงที่ขาดผู้ชี้ที่ถูกต้อง

หากเป็นสำนักปฎิบัติสมาธิ ครูผู้ชี้ ที่แค่จำแค่ฟังแค่อ่านมาจากตำรา

จะไม่มีใครมีปัญญาแก้ไขอาการจิตพวกนี้ได้

ต่างก็ออกกลอุบายต่างๆ เพื่อให้ใจมันสงบขึ้นมา แต่ไม่นานมันก็ฟุ้งขึ้นมาอีก

อาการฟุ้งเหล่านี้ แก้โดยวิธิการไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของจิต

มันเป็นธรรมชาติและหน้าที่ธรรมดาของมัน

แต่เราแก้ด้วยปัญญาของเราได้ ไม่ใช่แก้ด้วยวิธีการอะไร

ปัญญาในที่นี้แก้ได้โดยความเข้าใจความเป็นจริงก่อน ว่าธรรมชาติของมันใจเรา มันมีปกติเช่นนี้

เข้าใจตรงตามความเป็นจริง ว่ามันเป็นของมันอย่างนี้

การเอาตัวตนเอาอัตตาเข้าไปแก้ เข้าไปเป็น สมาธิจะไม่เป็นสัมมาไม่เข้ามรรคผลในหนทางพุทธะ

ความเสื่อมแห่งสมาธิย่อมเสื่อมและตันเมื่อถึงที่สุดแห่งความพยายาม

หากไม่มีผู้ชี้และเข้าใจ นักสมาธิส่วนใหญ่ ก็จะไปตันตรงอาการปิติ

นักปฏิบัติบางคน มีความตั้งมั่นมาก กระทำบ่อยๆจนใจมันหดลงมา ข้ามวิตกวิจารณ์ไปได้

วิสัยนี้ คนทั่วไปทั้งหลายยังคงพอกระทำได้อยู่ ไม่ใช่เรื่องแปลก

พุทธวิสัยป็นวิสัยแห่งปัญญา ไม่ใช่วิสัยแห่งความงมงายในการกระทำ

สมัยก่อน ผู้คนติดอรูปฌาน

นั่นก็หมายความว่า นักตบะบำเพ็ญเพียร เอาความไม่รู้ไม่ชี้ต่อสิ่งใดมาเป็นอารมณ์

แต่ในหนทางแห่งพุทธ พระพุทธองค์ทรงทราบชัดด้วยพระปัญญาแล้วว่า

การตั้งมั่นด้วยสติ เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์

ในที่นี้เอาลมหายใจมาเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์

การไม่ใหลจมลงไปในภวังค์จิต ด้วยความดำมืดมิดก็จะไม่บังเกิดขึ้น

เมื่อมีสติสัมปชัญญะในการทำสมาธิ แทนการบำเพ็ญโดยไม่รู้ไม่ชี้

ความรู้สึกทั้งหลายที่มันตื่นอยู่ มันก็เห็นอาการแห่งปิติ

ปิติก็คืออาการแห่งจิตที่มันปรุงขึ้นมาให้ใจได้รับรู้

ความฟุ้งซ่านทั้งหลาย ที่เราทำสมาธิแล้วรู้สึกและเป็นอยู่

อาการพวกนี้ก็เป็นปิติ

ปิตินี่รู้ได้ด้วยสัมปชัญญะ สัมปชัญญะรู้ได้ด้วยสติ

สติรู้ได้ด้วยการโยนิโส โยนิโสรู้ได้ด้วยการเห็นจริงที่เรียกว่าศรัทธา

ศรัทธารู้ได้ด้วยการฟังธรรมจากสัตบุรุษ

การฟังธรรมจากสัตบุรุษ รู้ได้ด้วยการน้อมตัวตนลดอัตตาตนเข้าไปฟัง

นี่..ร่องธรรมมันมาของมันเป็นอย่างนี้

การทำสมาธิอย่างพุทธะ เป็นการทำสมาธิด้วยอำนาจแห่งปัญญา

ที่เจ้าของมีสติสัมปชัญญะ ลงไปสอดส่องอาการที่มันปรุง

ไม่ใช่เป็นการแช่เฉย แล้วตกลงไปในภวังค์อาการปรุงว่ากูเป็น

เมื่อเรามีปัญญารู้ชัดว่า ธรรมชาติแห่งใจเรามันชอบปรุงแต่ง

เราก็ดึงมันกลับมาตั้งต้นใหม่ที่วิตก

เราตั้งวิตกยังไง เราก็กลับไปเริ่มใหม่ตรงวิตกนั้นที่เราตั้ง

เช่นตั้งพุทโธ เมื่อเกิดสติรู้ว่าหลุดไปจากการประคองพุทโธแล้ว

เราก็วกกลับไปตั้งมั่นพุทโธของเราใหม่ แล้วประคองมันไป

การประคองนี่เรียกว่าวิจารณ์

การเริ่มทำสมาธินี่ มันมีของมันแค่นี้ ตั้งวิตก วิจารณ์ วิตก วิจารณ์ ไปเรื่อย

แต่ต้องมีปัญญารู้จักอาการของมัน ที่ปรุงแต่งออกมาว่าเป็นธรรมดาของมัน

เมื่อรู้จัก เราก็อย่าไปใส่ใจ หน้าที่เรา มุ่งประคองรูปนั่นไว้

ในที่นี้คือตัวพุทโธ หรืออะไรก็ได้ ที่ตั้งขึ้นมาเป็นวิตก

ความฟุ้งซ่าน ที่ปรุงขึ้นมานู่น นั่น นี่ ที่เราเข้าไปเห็นเข้าไปเป็นเจ้าของนั้น

มันเป็นอาการปิติทางจิตอย่างหนึ่งในวิถีจิต

เป็นแต่เรานี่แหละ ไปรำคาญมัน

ที่รำคาญเพราะเราไม่รู้จักมัน เราจึงเอาอาการปรุงของมันที่เรียกว่าปิติ มาเป็นเราเป็น

ความรำคาญในการทำสมาธิก็เลยเกิด ยังผลให้เป็นคนทำสมาธิไม่ได้

เราขาดกำลังแห่งปัญญา เอาอาการปรุงแต่งมาเป็นกูเป็น

เมื่อเข้าใจตรงตามความเป็นจริง

เมื่อเราเห็นอาการปรุงแต่งจิตที่เป็นธรรมดาของมัน

นั่นแสดงว่าเราเป็นสมาธิ

เพราะมีสมาธิ เราจึงได้มองเห็นอาการปรุงแต่งอันเป็นธรรมดาของใจมัน

เราก็พึงตั้งใจไปที่วิตก และประคองมันไป

ตั้งมั่นไม่เท่าใหร่ เห็นการปรุงแต่งอีก หากระลึกได้ ก็ให้หวลกลับไปตั้งวิตกใหม่อีก

ทำเช่นนี้เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านครั้ง

นี่เป็นความเพียรที่ย้อมให้ใจดวงนี้ มีความสงบลงมาจากปิติในวิถีจิต

เมื่อสงบลงมาในวิถีจิต ความตั้งมั่นในสมาธิก็จะเกิด

ความสงบลงมาในวิถีจิต เราเรียกว่า ปฐมฌาน

ปฐมฌานนี้ มันมีองค์ประกอบด้วย วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข และเอกคตารมณ์

รายละเอียดอธิบายนอกเหนือจากนี้ ก็ต้องมาคุยกันซึ่งๆหน้า

วิถีจิตนี่ก็หมายความว่า จิตวิถีที่ปรุงแต่งทางอายตนะ ประสาทกล้ามเนื้อเส้นเอ็น ในขณะที่เรากำลังตื่นอยู่

นี่..ใจมันก็ปรุงของมันไปตามเหตุแห่งวิถีปัจจัย เราไปห้ามมันไม่ได้

แต่เราย้อมให้มันหันมาอยู่กับสิ่งที่เพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ด้วยอำนาจแห่งสติและสัมปชัญญะ

ทีนี้เมื่อเต็มองค์ปฐามฌาน ใจมีความเคยชิน

ปิติทางภวังค์จิต มันก็จะเกิดอีก

ไอ้ปิติทางภวังค์จิตตัวนี้แหละ ที่ทำให้ผู้คนนักปฏิบัติ เป็นบ้า และหลงในอาการของมันมามากต่อมาก

ปิติในภวังค์จิตนี่ เราบังคับมันไม่ได้เลย มันปรุงแต่งของมันไปตามเหตุปัจจัยแห่งวาสนาภูมิ

ปิติในวิถีจิต หากเราเข้าไปเป็นเจ้าของ บาลีเรียกว่านิวรณ์

เมื่อเกิดปัญญาเข้าใจอาการที่มันปรุง การยึดมั่นในอาการว่าเราเป็น มันก็จะจางคลายหายไป

เมื่อนิวรณ์จางคลาย มันก็จะเกิดเป็นปฐมฌาน

ปฐมฌานก็คือ สมาธิเบื้องต้นอันเป็นอารมณ์เดียว ในวิถีจิต ที่ไม่รำคาญต่อการปรุงแต่ง

ผู้ได้ปฐมฌาน และประคองอารมณ์จนเกิดความเคยชิน

ใจก็จะตกหดเข้าไปสู่ภวังค์จิต

แต่เป็นภวังจิตที่มีสติสัมปชัญญะ เข้าไปหล่อเลี้ยงในภวังค์

จากระดับนี้ไป จิตมันก็จะเอาปิติที่เข้าไปปรุงมาเป็นวิตกแทนเราในวิถีจิต

วิตกวิจารณ์ในวิถีจิต ที่มีเราตั้งขึ้นมาเป็นอารมณ์ มันจะจางคลายหายไป

ใจมันจะไปเพ่งอยู่ที่ปิติแทน

ปิตินี่เป็นวิตกตัวหนึ่งของมัน ที่มันยกขึ้นมาปรุง

การปรุงของมัน ที่เรามีสติและสัมปชัญญะเข้าไปสอดส่งรู้เห็น

ผู้ที่ไร้ปัญญาและขาดการอบรม ก็จะเหมาเอาอีกว่า สิ่งที่ปรากฏนั้น ” กูเป็นอีก ”

ความหลงในอาการปรุงแต่งในปิติทางภวังค์จิต มันก็จะหาทางออกไม่ได้

และมันก็จะหลงเช่นนี้ไปจนตาย มรรคผลแห่งวิถีพุทธ ที่จะเกิดกับการทำสมาธิ เพื่อเกิดปัญญาญาน เพื่อก้าวไปสู่ความหลุดพ้น มันก็จะไม่มี

ที่มี ก็จะเป็นอุปกิเลส อันเป็นหนทางแห่งไสยะ ไม่เป็นพุทธะตามเจตนาจิตที่เราเฝ้าฝึกปฏิบัติกัน

ผู้ที่ผ่านปฐมฌานได้ แน่นอนว่า จิตจะต้องหดตัวเข้าสู่ภวังค์จิต

ใจที่เป็นอารมณ์เดียว ความตั้งมั่นในอารมณ์ย่อมมีสูง

การสอดส่งลงไปในการปรุงแต่งทั้งหลาย ก็ย่อมชัดเจนไปตามความเคยชินแห่งอารมณ์

ภวังค์จิตนี่มันปรุงแต่งได้หลายทาง เช่น

ทางจักษุวิญญาน โสตวิญญาน กายวิญญาน มโนวิญาน ฆานวิญญาน และชิวหาวิญญาน

นี่..ที่พวกเราไม่รู้กัน

ปิติที่เกิดขนลุกขนพอง ตัวหมุน ร้องให้ น้ำตาใหล เป็นนู่นเป็นนี่ ที่เราเคยรู้ๆกัน

นั่นเรียกว่า ปิติทางกายวิญญาน

มันยังมีทาง โสตวิญญาน มโนวิญญาน อะไรอีกเยอะแยะ

ไอ้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้นั่นรู้นี่อะไรที่เราเชื่อๆกัน และโดนพวกพ่อค้าคนกลางทางมโนจิตมันหลอกเอา

มันก็มาจากอาการปรุงแต่งพวกนี้แหละ

วันนี้คุยมามากหลายแล้ว พรุ่งนี้ค่อยมาว่าทางปิติในภวังค์จิตต่อ

ไปว่ากันถึงอาการต่างๆที่พวกเราเป็นๆกัน แล้วเกิดความวิตกกังวลกันไปต่างๆนานา

มีคนส่งข้อความเข้ามาถามข้าเยอะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยอธิบายกัน

อยากรู้วิถีสมาธิแห่งสัมมา ก็ต้องมีบุญได้มาอ่าน ข้อความที่ออกจากจิตโดยตรงนี่แหละ

เสียดายที่คนตายและคนโง่ไม่ได้อ่าน

พวกที่ได้อ่านนี่เป็นพวกผู้ที่มีบุญ ขอให้จงภูมิใจในกำลังแห่งบารมีของเราเอง

สวัสดี เช้านี้ขอให้มีแต่ความสุขความเจริญ…

พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง

ณ พุทธอุทยานบุญญพลัง จ.กาญจนบุรี วันที่ 25 กรกฎาคม 2560