เรื่องของนิกายมหายาน..ต่อ

เรื่องของนิกายมหายาน..ต่อ

313
0
แบ่งปัน

***** “เรื่องของนิกายมหายาน..ต่อ” *****

เมื่อสองวันก่อน ข้าได้คุยเรื่องการแตกแยกของพุทธศาสนา ที่แบ่งออกมาเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ คือ มหายานกับเถรวาท

มหายานนี่ ยังแบ่งความเห็นหลักๆออกเป็น 4 นิกาย ชื่ออะไรบ้างก็ต้องไปค้นเอาจากสองวันก่อน

เรามาว่ากันถึงมหายานที่แพร่เข้าไปในประเทศจีนกันหน่อย เพราะประเทศจีน มีการสืบทอดพุทธทางมหายาน อย่างกว้างขวางและยาวนาน

ข้าเองก็ระลึกได้ว่า เคยเกิดอยู่ในแผ่นดินแถบนี้มาหลายยุคหลายสมัย และเคยเป็นหนึ่งในคณะผู้นำเอาศาสตร์แห่งพุทธะ มาสู่ผืนแผ่นดินจีน

มหานิกายนี่ ในอินเดียเองมีการแตกแยกแตกแขนงออกไปมากมายตามตรรกะความคิดในแต่ละกาล

แม้ในประทศจีนเอง เมื่อมหานิกายเผยแพร่เข้ามา การแตกแยกนิกายในมหายาน ก็แตกแขนงนิกายออกไปอีกมากมาย เช่นกัน หลักๆดั่งเช่น

นิกายสัทธรรมปุณทริก

นิกายเซน

นิกายอวตังสกะ

นิกายสุขาวดี

นิกายตรีศาสตร์

นิกายธรรมลักษณะ

นิกายวินัย

นิกายมนตรยาน

และนิกายที่แยกย่อยแตกซ้อนออกไปจากนิกายเหล่านี้ อีกมากมายตามความคิดเห็นอันเป็นตรรกะเฉพาะตัว

แต่หลักใหญ่ที่ทุกๆนิกายในมหายานใช้เป็นหลักก็คือ

หลักมหาปัญญา หลักมหากรุณา หลักมหาอุบาย

ในไทยเอง นับจากราวปี พ.ศ 200 เป็นต้นมา ความเด่นชัดทางพุทธศาสนาเริ่มปรากฏขึ้น ซึ่งเราเรียกยุคนั้นว่า สุวรรณภูมิ มีขอม มอญ ละโว้ และไทย

ในสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงได้รับเอาพุทธศาสนาเถรวาท มาสู่ไทย เรียกว่า พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์

แต่ทั้งเถรวาทและมหายานในไทยเรา ต่างก็เจริญรุ่งเรืองกันมาไม่หนีห่างกัน เพราะวัดทางมหายานก็มี วัดทางเถรวาทก็มี

แต่ยุคปัจจุบันนี้ ไทยเรานับเอานิกายเถรวาทมาเป็นนิกายประจำชาติชาวพุทธในไทย

และแม้แต่นิกายเถรวาทเอง ต่างก็แยกออกมาเป็น มหานิกายกับธรรมยุตินิกายอีก

นี่..แม้แต่ความคิดเห็นทางพุทธ มันก็แยกแตกกันมาในไทยเราแต่โบราณมานู่นแล้ว

มหายานในไทยนี่ มีแยกอยู่สองนิกาย คือ

อานัมนิกายพวกญวณและจีนนิกาย

พวกจีนนิกายนี่ ถือหลักปฏิบัติในหลักนิกายลุกจงหรือนิกายวินัย นิกายเซน และแตกแยกแขนง ออกไปในหลัก วัชระยานทิเบต เรียกว่ามิกจง หรือมนตรยาน กุชักงงแล้ววุ้ย..!!

นิกายมหายานที่คนไทยเราคุ้นเคยและได้ยินเข้าหูบ่อยๆก็คือ นิกายเซน

นิกายนี้ในอินเดียมีปรมาจารย์ตกทอดกันต่อๆมาถึง 28 องค์ ถือเอาพระมหากัสปะเป็น ปฐมแห่งองค์ปรมาจารย์

จนกาลผ่านไปราว พุทธศตวรรษที่ 10 ท่านโพธิธรรม หรือหนังจีนกำลังภายในเรียกว่าท่านปรมาจารย์ ตั๊กม้อ โจวซือ

ได้นำเอานิกายนี้เข้าสู่ประเทศจีน และนิกายเซนแห่งมหายานได้ปฐมปรมาจารย์องค์แรกคือ ปรมาจารย์ตั๊กม้อนี่แหละ

ส่วนผู้ที่เลื่องลือที่สุดในนิกายแห่งเซน และนำความเจริญมาสู่นิกายเซนก็คือ

ปรมาจารย์องค์ที่ 6 ของเซนที่ชื่อว่า ฮุ่ยเล้ง หรือเวยหล่างในยุคราชวงค์ถัง

นิกายเซนนี่ เขาไม่จ่ายสดๆกัน เอ..ไม่ใช่นี่หว่า..

นิกายเซนนี่เขาชี้ว่า สรรพสัตว์ต่างมีพุทธภาวะธรรมกายเรืองรองอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว

คำพูดหรือตัวหนังสือ หาได้เพียงพอที่จะรองรับหรืออธิบายสัจจะภาวะนั้นได้ไม่

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติจำเป็นจะต้องอาศัยปริสนาธรรมและคำพูดที่แทงเข้าไปสู่หัวใจโดยตรง

เพื่อหาทางออกและเปิดพุทธภาวะนั่นให้กระจ่างใสออกมา

นอกจากปริศนาธรรมแล้ว การปฏิบัติศึกษาค้นคว้าก็ต้องกระทำควบคู่ไปด้วย

เพราะภูมิบารมีในแต่ละคนมีไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องอาศัยพระธรรมและการปฏิบัติควบคู่กันไป เพื่อเสริมสร้างและรอเวลา การส่องประกายออกของจิตที่ประภัสสร

ดั่งปรมาจารย์ท่านหนึ่งได้กว่าว่า

เมื่อถึงเวลา ดอกไม้ก็จะบาน ฉะนั้นก่อนถึงเวลาดอกไม้บาน การบำรุงรักษาต้นไม้เพื่อรอดอก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกระทำ

ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งอ่อนล้าเฉาตาย ดอกไม้จะออกดอกบานมาแต่ไหน…

ว่าจะคุยขยายกว้างออกไป แต่ขอพักก่อน มีพระมาเยี่ยมเยือนเดี๋ยวค่อยว่ากันใหม่…

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 โดยพระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง