การถือเนสัชชิก

การถือเนสัชชิก

564
0
แบ่งปัน

***** “การถือเนสัชชิก” *****

เรื่องนี้มีผู้ถามมาในห้องไลน์ ข้าได้ตอบไปสดๆ จึงนำมาลงเฟสธรรมะให้ได้ฟังกัน

ข้าเองนี้ เคยเนสัคชิกมาหลายครั้ง

แต่ทุกครั้ง ที่คิดว่าใช่ มันใช่แค่ส่วนเดียว เมื่อมันใช่แค่ส่วนเดียว ก็แสดงว่า มันไม่ใช่

สมัยก่อน เมื่อถึงฤดูกาลเข้าพรรษาข้าเองนี้จะตามรุ่นพี่ ถือเนสัชชิก ทุกวันพระ

นี่… ถอยหลังกลับไปตอนที่ยังไม่บวช อาศัยที่ฝึกกรรมฐานมาหลายปี การเนสัชชิก ก็ต้องทำกันมาหลายปี

เพราะเรานั่งกรรมฐานกันทุกวัน ที่ป่าช้าวัดประดู่ทรงธรรมในยุคนู่นน่ะ

สมัยนั้น ยังน่ากลัว รุ่นพี่ที่ฝึกกรรมฐาน เขาจะชวนเราสวดมนต์ ทำวัตรใหม่อีกครั้ง หลังจากออกมาจากการทำกรรมฐานแล้ว

เราก็ไปนั่งสวดมนต์ สวดแล้วก็ทำกรรมฐานต่อตรงหลังวิหาร

เมื่อถอนจิตออกมา รุ่นพี่ก็บอกว่า เราจะอยู่ เนสัชชิกกัน

นี่…แรกๆ ที่ได้ยินคำนี้ การอยู่เนสัชชิก ก็หมายความว่า คืนนั้น ห้ามเอนหลังนอน

เรากำลังหนุ่ม แรงดี เราก็ไม่นอน นั่งกรรมฐานจากคืนยันเช้า นี่..เราอยู่เนสัชชิก ห้ามเอาหลังเตะพื้น

เดินจงกรมก็ได้ นั่งสมาธิก็ได้ ยืนสมาธิก็ได้ บริกรรมไม่มีขาดทุกอิริยาบถรุ่นพี่ว่างั้น เราก็ทำกัน

เมื่อตะวันขึ้น เป็นอันว่า จบสัจจะที่ได้วางไว้ นี่… เราเข้าใจกันอย่างนี้

แรกๆ ทำกัน รุ่นพี่ก็อวดรุ่นน้อง ฝ่ายน้องก็อยากให้รุ่นพี่ชม ต่างฝ่ายจึงต่างมีกำลัง แห่งการถือเนสัชชิก กันอย่างมั่นคง

ง่วงเมื่อไหร่ ออกไปเดินจงกรม ที่ป่าช้า เจอบรรยากาศน่าขนลุก เดี๋ยวเดียว ก็หายง่วง

แต่เมื่อรู้ใส้รู้พุงกันมากขึ้น คบกันนานมากขึ้น เรื่องโม้ทั้งหลายๆ ชักหมดไป

พอหลังเที่ยงคืนไปแล้ว ต่างพากันเงียบ รุ่นพี่เริ่มมีการนั่งเอนหลัง คือพิงผนังและง่วงคล้อยหลับ

เรียกว่า หลับกรนครอกๆๆ เพียงแต่เป็นการนั่งพิงหลับ ดูเหมือนนั่งสมาธิ แต่ท่านพี่แกหลับชัวร์

พอเราถาม รุ่นพี่ก็บอกว่า นั่งมีสติอยู่ การพิงหลัง ไม่ถือว่าผิด

แต่เรานี่..เริ่มแคลงใจ เพราะแรกๆ รุ่นพี่ไม่ได้ว่าอย่างนี้ และแข็งขันจนเราชื่นชม และขอเจริญรอยตาม และเห็นด้วยกับการปฏิบัติ เนสัชชิก

นับจากนั้นเป็นต้นมา ใจที่เห็นว่า ผู้ปฏิบัติ ที่เราเดินตาม ชักจะพูดอย่าง ทำอย่าง

แต่เพราะความไม่รู้ เราก็ไม่กล้าถามมากไปกว่านั้น กลัวจะผิดใจกัน

แต่เราซิ..เสือกทำจนชินซะแล้ว เขาก็หาว่า เคร่งไปมากไป ไม่ต้องถึงขนาดนั้น

ทั้งๆที่การอยู่เนสัชชิก รุ่นพี่ทั้งหลายนั่นแหละบอก ว่าให้ทำอย่างไร

เมื่อทำมากปีเข้า ก็เริ่มเห็นว่า การเนสัชชิก เป็นการกระทำของบางคนที่ทำกันเพื่ออวด

อวดว่า เป็นผู้อยู่เนสัชชิก แล้วให้ผู้อื่น มาโมทนาสรรเสริญ ในความเป็นนักปฏิบัติ

มันมักจะออกมาในรูปนี้ เมื่อมาเจอพระ ที่อยู่เนสัชชิก ตลอดพรรษา สามเดือน

คือกลางคืน ไม่นอนเลย นั่งพิงผนังหลับ แทน และมานอนพักเอา ตอนกลางวัน

นี่…มันเนสัชชิกแบบไหน คำถามก็เลยเกิด เพราะการไม่เอนหลังเตะพื้น แล้วไปนอนพักกลางวันแทน เราทนทำลำบากไปเพื่ออะไร

ในเมื่อ พวกทำงานกลางคืน เขาก็ไม่นอนกันทั้งคืน ก็มีกันเยอะแยะ มันแตกต่างกันตรงไหน

การไม่นอนกลางคืน แต่ใช้วิธี นั่งหลับเอา นี่ไม่เรียกว่า การอยู่เนสัชชิก

การอยู่เนสัชชิก ถือเป็นธุดงค์อย่างหนึ่ง เราปวารณาตัว ตั้งสัจจะ ที่จะไม่เห็นแก่การหลังเอน หลับนอน

การถือเนสัชชิก ผู้กระทำ พึงทำด้วยสติ คือมีสติอยู่ตลอดเวลา ตลอดกาลแห่งการถือการครอง

เนสัชชิก ที่เขาไม่นอน เพราะการนอน ทำให้ใจมันเผลอสติได้ง่าย

ท่านจึงไม่เอาอิริยาบถนอน ท่านจะเดิน ยืน นั่ง ใคร่ครวญธรรม หรือเข้าสมาธิเพื่อความสงบ เป็นช่วงๆ

พูดง่ายๆ ว่า การถือเนสัชชิก ก็คือการเจริญสติ อยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ไหลลงไปในภวังค์

ไม่ใช่ การอดนอน หรือการไม่นอน จะมาบอกว่า นี่เป็นการถือเนสัชชิก การถือเนสัชชิก ควรถือขั้นต่ำ 3 วัน เมื่อเจริญสติ คืนยันเช้า

หากพูดถึงภิกษุ ท่านก็ออกไปบิณฑบาตรเลย เมื่อกลับมา ก็ทำกิจธุระต่างๆให้จบตามหน้าที่ จึงแสวงทางจงกรมต่อ

ออกจากทางจงกรม จึงจะมาพักทำสมาธิ หากมีความโงกง่วง ท่านก็จะใช้การเดินจงกรมแก้ ท่านจะไม่ยอมแพ้ แก่การโงกง่วง

กลางคืนท่านก็เจริญ สมาธิจิต ไปยันเช้า และลุกขึ้นไปบิณฑบาตร วนเวียนอยู่เช่นนี้ การพักของท่าน ก็คือการนั่งทำสมาธิ

แต่หากกายเมื่อยล้ามากๆ ท่านก็สามารถพักโดยการ เอนนอนตะแครงข้าง ที่เราเรียกว่า การไสยาสน์

การไสยาสน์ เป็นการพักจิตในอิริยาบถ การราบไปกับพื้น มือขวาตั้งศอกค้ำศรีษะไว้ ไม่ใช่หลับ แต่เป็นการเจริญสติ ในอิริยาบถนอน

กายราบ แต่ไม่ใช่นอนแล้วหลับอย่างเราๆ ท่านถือไว้ ในการทำสติเมื่อร่างกายอ่อนล้ามากๆ หากเกิดการเผลอสติ จะเข้าภวังค์

ท่านจะลุกออกเดินทันที ไม่มีการตกเป็นทาส ของนิวรณ์ คือความโงกง่วง

เมื่อครบกำหนด ท่านจึงถอนคำปวารณาและกลับมาพักร่างกาย ซักระยะ

แล้วถือเนสัชชิกใหม่ๆ ทำสลับกันอยู่เช่นนี้

นี่… ถึงจะเป็นกุศลมาก ต้องกระทำเนสัชชิก ด้วยอำนาจแห่งปัญญา ไม่ใช่ แค่ไม่นอนตอนกลางคืน

ผลที่กระทำเป็นประจำ จะทำให้ผู้ปฏิบัติ ไม่ค่อยจะมีอาการโงกง่วง สลึมสลือ

เมื่อถือปฏิบัติจนชิน การเจริญสมาธิ ก็จะมีการเจริญรุดหน้า เป็นมหาสติได้ไม่ยาก

หากกระทำอย่างอุกฤษฏ์ คือ..นอกจากไม่นอนแล้ว ยังงดอาหารด้วย

หากทำอย่างผู้มีภูมิปัญญา เอาจริงเอาจัง ผลที่ได้ ก็อาจเข้าสู่ภาวะ เจโตวิมุตติ

เพราะท่านผู้เฒ่า เคยเข้าถึงเจโตวิมุตติ มาแล้ว ด้วยวิธีนี้

การเข้าถึงเจโตวิมุติ คือ จิตมันมีเหตุปัจจัยให้ระลึกของมันขึ้นมาได้เอง เมื่อถึงจุดพอดีของมัน

โดยไม่ได้มีการ พิจารณาหรือทำการวิปัสสนาใดๆ ทั้งสิ้น

ถึงจุดหนึ่ง มันเข้าใจสว่างโล่งเลย มันเข้าใจถึงความเป็นจริงแห่งกาย แห่งเวทนา และผู้รู้โปรแกรม ซึ่งเป็นผู้ดู จิตมันสามารถย้อนดูรู้เห็น ตัวมันเอง

เพราะอำนาจแห่งโปรแกรมจิตทั้งหลาย ที่เข้าใจว่าเป็นตัวตนของเรา มันรวน

อาการรวนแห่งโปรแกรมจิต ที่แสดงออก มันจะมีอีกตัวหนึ่ง ตื่นขึ้นมารับรู้

ว่าอาการทั้งหลายที่มี ที่เป็น เช่น หิว ร้อน อ่อน แข็ง เจ็บ ป่วย หรือใดๆ ที่เกิดกับกาย

ล้วนมาจากโปรแกรมจิตทั้งสิ้น กายไม่รู้เรื่องอะไรเลย

กายเป็นแค่เครื่องมือ ให้โปรแกรมมันได้ส่งสัญญาณให้วิญญาณ ที่อยู่รอบๆ กายมันรู้ ก็เท่านั้น

มันปรุงของมันไปตามโปรแกรมแห่ง กระบวนนามขันธ์

ไม่มี เรา เขา เธอ อยู่ในนั้นเลย มันเป็นของมันที่เป็นธรรมชาติ อยู่อย่างนั้น

ส่วนเจ้าของผู้รู้อาการทั้งหลาย นี่เป็น ตัวเสือกไปกับโปรแกรม

มันเสือกไปเป็นเจ้าของอาการทั้งหลาย นี่…มันรู้อยู่อย่างนี้ มันเห็นชัดอยู่อย่างนี้

นี่..เป็นเจโตวิมุติ เป็นธรรมที่ได้มา ก่อนจะเข้ามาบวช

ใครๆ ก็เป็นก็ทำกันได้ ไม่จำเป็นต้องถากหัวห่มฝาด

เพียงแต่ หากกำลังบารมีไม่มากพอ มันตีอวิชาไม่แตก

การตีอวิชาแตก มันต้องเข้าถึง ปัญญาวิมุตติ

นั่น…จึงจะเข้าถึงธรรมอย่างหมดจรดและสิ้นสงสัย

เจโตวิมุตติ สำรอกได้แค่ราคะ ที่เกิดขึ้นมากับจิต

เพราะมันเข้าใจแล้วประจักษ์ใจแล้วว่า ทั้งหลายทั้งมวลที่ก่อเกิดกับกาย

เป็นแค่สมมุติแห่งอาการจิตทั้งนั้น ไม่มีเราเข้าไปเป็นความจริงด้วยหรอก

มันจึงไม่ยึดมั่นในราคะต่างๆ ที่กระทบ

ราคะ..คือความอยากทื่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จบนั่นแหละ

นี่..การเข้าถึงเจโตวิมุตติ มันเป็นใจที่เข้าถึงความเป็น อริยสัจ

แต่อริยสัจ เป็นหลักเหตุหลักผล มันเป็นเรื่องของโลก มันตีอวิชาไม่แตก

เจโตวิมุตติ ตีอวิชาไม่แตก ที่จะตีอวิชาได้แตก คือ ปัญญาวิมุตติ

หากจะอธิบาย ปัญญาวิมุตติอีก มันก็จะยาว

นี่คือผล แห่งการปฏิบัติ อยู่เนสัชชิก ไม่กิน ไม่นอน เจริญสติ โดยการสวดธรรมจักร 108 จบ เดินจงกรม และนั่งสมาธิ

แต่มาเข้าถึง เจโตวิมุตติ ตอนหลวงตาจักร บอกว่า ให้ลองพักโดยการ ไสยาสน์…

นี่คือ..ประสบการณ์ ของการอยู่ เนสัชชิก ลองไปหาอ่านเอา เคยเล่าไว้เหมือนกัน

การเอาจริง อยู่จริง ทำจริง และตรง คือการเจริญสติ ไม่มีการหลับ ย่อมได้ผลกันไปตามภูมิ ไม่ มากก็น้อย

การถือเนสัชชิก ไม่ใช่เป็นการอดนอน

การอดนอน ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร

เนสัชชิก เป็นการเจริญสติ ในอิริยาบถ สี่ คือ เจริญ ในการ เดิน ยืน นั่ง และ ไสยาสน์

นี่คือ สติปัฏฐานสี่ อย่างที่ท่านอธิบายกล่าวมา

แต่การถือ เนสัชชิก เป็นการเจริญสติปัฏฐานสี่ ที่เข้มข้นและอุกฤษฏ์ เอาจริงเอาจัง อย่างแรงกล้า

พระมหากัสสปะ เจริญเนสัชชิก ตลอดพรรษาแห่งการครองร่างบวช คือ 120 พรรษา

พระสารีบุตร และพระโมคลานะ เจริญเนสัชชิก ตลอดจนนิพพาน 25 พรรษา

พระราหุล เจริญเนสัชชิก ตลอดจนเข้านิพพาน 12 พรรษา

พระอานนท์เจริญเนสัชชิก 17 พรรษา เท่ากับพระอุบาลี

และยังมีท่านอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เจริญ เนสัชชิก ตลอดอายุขัย

นี่..คือเนสัชชิก เนสัชชิก ไม่ใช่แค่การ….อดนอน อย่างที่ใครๆ เขาเข้าใจกัน คืนนี้ สวัสดี.

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง