ว่าถึงเรื่องภิกษุณีอีกตอน

ว่าถึงเรื่องภิกษุณีอีกตอน

314
0
แบ่งปัน

******* “ว่าถึงเรื่องภิกษุณีอีกตอน” *****

หวัดดีๆ ยามค่ำ

ได้เขียนเรื่องภิกษุณีไปนานมากแล้ว มีน้องๆมาท้วงติงอยากฟังต่อ

ที่จริงถ้าว่ากันมันก็ยาว เดี๋ยวจะคิดเอาว่าพวกอยู่ป่าอย่างข้ามันรู้มากอีก

ข้าจะเล่าพอสังเขปเท่าที่นึกเอาได้

หลังพระพุทธปรินิพพาน ได้เกิดการสังคายนาเกิดขึ้น

สังคายนาเป็นการรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงให้โอวาทไว้ในสถานที่ต่างๆ

โดยให้พระอานนท์ที่ได้ติดตามพระพุทธองค์เจ้า เป็นผู้ตรวจสอบและเล่าเรื่องที่ได้รับทีได้ฟังมา

ในช่วงที่ได้ทรงรับใช้ใกล้ชิด

แบ่งออกเป็น พระธรรมวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม โดยหลักๆ

แต่ก็มีธรรมที่ได้แสดงในยุคแรกๆ ที่พระอานนท์ยังไม่ได้เข้ามารับใช้อีกมากมาย ที่กล่าวถึง วัตถุ บุคคล

ซึ่งก็ได้รับการร้อยเรียงจากผู้ทรงคุณ ที่ยังมีอายุ และการบอกเล่าสืบๆ กันมา

การสังคายนา จึงเป็นการรวบรวมพระธรรมต่างๆ จากหลากบุคคล เข้ามารวมเป็นคัมภีร์กลายมาเป็นพระไตรปิฏก

บ้านเมืองที่ผ่านกาลเวลามาเป็นพันๆ ปี

เกิดสงคราม การรุกราน ทั้งทางศาสนาและเผ่าพันธ์

ทำให้ธรรมแห่งการสังคายนาครั้งแรก

อันเป็นปฐมสังคายนา มีการบิดเบือนและแต่งเติมลงไปเยอะ

ที่สำคัญ การแบ่งแยกนิกายต่างๆ ออกไปอีกมากมายตามความคิดเห็นของภิกษุสงฆ์

ทำให้พระไตรปิฏก เกิดการบิดเบี้ยวในแนวทางและความคิดไป

ต่างก็รวบรวมแต่งเติมเข้าไปใหม่

ส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องเล่าและนิทาน

สำหรับภิกษุณี เริ่มเลือนลางและไม่ได้กล่าวถึงเมื่อผ่านมาถึงยุคพระเจ้าอโศก

สมัยนั้นความแตกแยกทางศาสนามีมากขึ้น จนเกิดมีการฆ่าและจับสึกพระทั่วแผ่นดินเป็นหมื่นๆ รูป

คงไว้แต่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาสืบไป

ภิกษุณีหายขาดจากไปในยุคแห่งการแบ่งแยกนิกาย

จะเห็นว่า แต่ละนิกายจะไม่มีหัวหน้านิกายเป็นภิกษุณีเลย

โดยธรรมชาติ นับแต่โบราณ เพศมาตุคามเป็นเพศอยู่เบื้องหลังเสมอ

ภิกษุณีมีคุรุธรรมแปดประการเป็นกฏบัญญัติ

และมีข้อศีลมากถึง 311 ข้อ มากกว่าเพศภิกษุ

ข้อศีลต่างๆ ที่มากมาย เกิดจากข้อผิดพลาดในการดำรงชีพอยู่ในเพศภิกษุ

เกิดการติเตียนว่าไม่ควรอย่างนั้น ไม่ควรอย่างนี้ จากผู้เพ่งโทษ ที่ไม่เห็นสมควร

ข้อศีลแห่งภิกษุณี จึงมีข้อห้ามเกิดภิกษุไปอีกมากมาย

ศีล 227 ข้อของพระภิกษุนี่ ไม่ใช่เป็นข้อศีลของพระ

แต่เป็นข้อห้ามที่ไม่ควรกระทำ ที่เหล่าเดียร์ถีย์นอกศาสนาเข้ามาบวช เข้ามาอาศัยในศาสนาพุทธ

เมื่อเกิดการกระทำที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น

จึงมีกลุ่มผู้เพ่งโทษ ว่าเช่นนั้นเช่นนี้ไม่สมควร

การกระทำอันนำมาเพื่อความเสื่อมเสีย ไม่สวยงามแก่พุทธบริษัท

ทำให้โดนเพ่งโทษจากเหล่านอกศาสนาเขาได้

ท่านจึงทรงห้ามเสีย เพื่อรักษาใจตน อันเป็นศีลธรรมการอยู่ร่วมกัน

ธรรมต่างๆ มีตั้งแต่อาบัติเล็กน้อยไปจนถึงอาบัติหนัก

ซึ่งทุกข้อแห่งพระธรรมวินัย สำหรับผู้มีใจเป็นพระ

ย่อมไม่มีข้อไหนทำให้ท่านต้องอยู่อย่างยากลำบากอยู่แล้ว

ผู้อยู่ยากลำบาก คือพวกนอกศาสนาที่แฝงเข้ามาบวชหากิน

ภิกษุณีก็ไม่มีข้อเว้นในธรรมชาติแห่งธรรม ของข้อนี้เช่นกัน

ความผิดพลาดของภิกษุณีมีมาก บทบัญญัติข้อห้ามก็มากตามถึงสามร้อยกว่าข้อ

เมื่อถึงสมัยกาลหนึ่ง ถึงยุคแห่งการกวาดล้างศาสนา ซึ่งมีอยู่หลายยุค

ภิกษุณีจะเป็นเพศที่โดนรังแก ภิกษุณีแก่ๆ ก็ช่วยตัวเองไม่ได้

ธรรมทั้งหลายก็ไม่ค่อยได้เจริญ เพราะขาดผู้ชี้

ที่สำคัญเป็นเหตุให้พระหนุ่มเกิดกำหนัดยินดี ที่ได้อยู่ร่วมกัน

หลายสถานที่จึงไม่มีการบวชให้แก่ภิกษุณี

เพราะเหตุแห่งภิกษุณี ต้องบวชโดยการรับรองฐานะของพระภิกษุ

ภิกษุณี ทำการบวชให้กันเองไม่ได้

ข้อจำกัดตรงนี้ จึงทำให้ การสูญหายแห่งภิกษุณี
จึงเกิดขึ้น

อีกเหตุที่เกิดการสูญหาย ก็คือการแปลความบาลี

เพราะเหตุแห่งภิกษุเข้าใจว่าท่อนประโยคบาลีว่า

การมีภิกษุณี ทำให้เกิดการหดหายอายุของพุทธศาสนา

ด้วยเหตุผลการแปลบาลีบทหนึ่งที่ยกขึ้นมาอ้างว่า…

” เพราะเหตุแห่งมาตุคามเข้ามาบวชในสัจธรรมที่ตถาคตได้ประกาศออกไป

ทำให้อายุแห่งศาสนาหายไปเหลือ 500 วัสสา จาก 1,000 วัสสา ”

นี่..การแปลและเล็งเห็นแค่ประโยคเดียวของเหล่าอรรถาจารย์

การโจมตีภิกษุณี จึงเกิดมีขึ้นด้วยเหตุแห่งพระพุทธองค์ทรงตรัส

แต่การตรัสนั้น มันเป็นการตรัสด้วยการแปลประโยคของผู้แปล ที่แปลมาไม่เอามาให้ครบถ้วน

นั่นก็หมายความว่า…

การกล่าวประโยคนี้เป็นพุทธประสงค์แสดงให้เห็นว่า

หากมีผู้หญิงเข้ามาบวชในศาสนาของพระพุทธองค์นี้

หากศาสนามีอายุ 1,000 ปี ก็จะเหลือ 500 ปี

แต่เมื่อพระพุทธองค์ ได้ทรงนำคุรุธรรมแปดประการมาสกัดกั้น

อายุแห่งศาสนาที่เหลือ 500 ปี ก็จะกลับไปสู่ 1,000 เช่นเดิม

นี่..ตรงนี้ ที่เหล่าอรรถกถาจารย์แปลออกมาไม่ครบ ในพุทธประสงค์

จึงเป็นที่มาของคำว่า ” นยัตถะ”

นยัตถะก็คือ คำที่ต้องอธิบายความตีความกัน

พวกเลยตีความกันออกทะเล เป็นพุทธศาสนามี 5,000 ปีไปโน่น

5,000 ปีแห่งพุทธศาสนาก็ตีความมาจากเรื่องภิกษุณีบวชนี่แหละ

ไม่มีเหตุอื่นอะไรที่ทรงตรัสทิ้งไว้ที่ไหนกับใครเลย

ข้าได้เขียนไว้เกี่ยวกับที่มาของพุทธศาสนา 5,000 ปีเอาไว้

นี่..ในการแปลบาลีและการตีความในพุทธประสงค์

การตีความผิด มันก็ออกทะเลไปเรื่อย

ท่านกล่าวอุปมาเทียบอายุจำนวนหนึ่งจะหายไปครึ่งหนึ่ง หากมาตุคามเข้ามาบวช

แต่พวกดันเอาจำนวน 1,000 ปีมาตีความกัน

จนเลยเถิดเกิดเป็นพุทธศาสนา 5,000 ปีไปโน่น

พอจะจัดงานกึ่งพุทธกาลใน พ.ศ 2500

รัฐบาลทางศรีลังกาต้นตำราทางพุทธ เขาเบรคซะหัวทิ่ม

ว่าพุทธศาสนาไม่ได้มีอายุ 5,000 ปีซักหน่อย ไปเอามาจากไหน

รัฐบาลจอมพล ป. จึงเปลี่ยนใหม่จาก กึ่งพุทธกาล เป็น 25 พุทธศตวรรต

นี่..ทางศรีลังกาที่นับถือพุทธมากมาย เขาก็ไม่ยอมรับ

ไอ้เรานี่ลอกเขามา แต่ตั้งตนเป็นเจ้าของศาสนาซะเอง

ในศรีลังกาเขาก็ยังมีการยอมรับภิกษุณีกันอยู่ มีการบวชกันอยู่

แต่เมืองไทย ไม่ยอมรับ

ภิกษุณีจึงต้องไปให้พระทางศรีลังกาเขาบวชให้

แต่เมืองไทยก็โวยวายอย่างนั้นอย่างนี้อีก ข้ออ้างกีดกันมันเยอะ

พระเมืองไทยไม่ยอมรับภิกษุณี

สงสัยภิกษุณีคงเป็นเสนียญจัญไรแก่ภิกษุรึไงไม่ทราบได้

แต่เวลาจัดพุทธศาสนาโลก พระผู้ใหญ่ดันไปต้อนรับภิกษุณีจากหลากหลายประเทศ

แต่ในประเทศ พี่แกไม่ยอมรับ

นี่..ภิกษุแห่งไทยแลนด์แดนสยาม เอาศาสนาพุทธมาเป็นเจ้าของ

เรื่องภิกษุณีนี่มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ

แต่รวมความแล้วก็คือ

เพศหญิงเป็นเพศที่ต่ำไม่สมควรแก่การอยู่ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์

โบสถ์บางแห่งไม่ให้ผู้หญิงเข้า ไม่ให้ผู้หญิงเหยียบ

นี่มันเป็นเรื่องกีดกันสิทธิมนุษยชน

แบบผู้หญิงไม่ใช่คน

เอาตำราและหลักการมากล่าวอ้าง และสร้างความงมงาย

ภิกษุณี มีอยู่ในหลายๆประเทศ

ประเทศไทย ก็ควรมีภิกษุณี ที่พระผู้ใหญ่ควรเป็นอุปฌาย์ให้

ข้อห้ามในความเป็นผู้หญิงนี่เยอะ เพราะเป็นเพศแห่งความอ่อนไหว

แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเคยอนุญาติ

ข้อบัญญัติต่างๆ ก็ยังคงมี

หากภิกษุณีต่อไปจะมี

ข้าก็สาธุอนุโมทนาที่เพศหญิงมีค่าขึ้นมา ด้วยการเข้ามาบวช..!!

ว่ามาซะยาว หวัดดีแค่นี้แหละ..!!

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 โดย พระอาจาาย์ธรรมกะ บุญญพลัง