ธรรมทั้งหลาย อาศัยใจที่ตกกระแส

ธรรมทั้งหลาย อาศัยใจที่ตกกระแส

1348
0
แบ่งปัน

ลูกศิษย์ : กราบนมัสการ พระคุณเจ้า ตกกระแสธรรม หมายถึงอย่างไรบ้าง เจ้าคะ

พระอาจารย์ : การตกกระแสธรรม เป็นจิตที่เกิดศรัทธาต่อธรรม ผัสสะต่อธรรมใด ใจก็จะอิ่มเอิบและกระหาย ใคร่จะตามกระแส แห่งธรรมนั้น..

มันอาศัยศรัทธา ที่เรียกว่า ต้องธรรม.. หรือโดนธรรม หรือ หลงไหลในธรรม อย่างที่เขาเรียกว่า ต้องมนต์..

ใจที่เกิดอาการตกในกระแสนี้ อาศัยเหตุแห่งศรัทธา ต่อผู้แสดงธรรมเป็นเหตุ และอาศัยเหตุแห่งธรรมที่แสดง เข้าไปสู่ผู้แสดงธรรม

เมื่อประจบกันอย่างพอเหมาะ ก็ยิ่งวนเข้าไปสู่กระแส อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ผู้ที่ถอนตัวไม่ขึ้น หากไหลหลงเข้าไปลึกๆ นี่…หมายถึงยึดธรรม ก็จะขาดปัญญา นี่เป็นผลไปอีกด้านหนึ่ง ในกระแส

หากมีการใตร่ตรอง พิจารณาไปตามกระแสแห่งธรรม ใจก็จะเกิดปัญญา และเข้าถึงธรรมตามความเป็นจริง หากธรรมนั้น เป็นธรรมอันเกิดมาจากมูลธรรมแห่งมุตโตทัย

นี่..มันก็จะมีผลไปอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน การฟังธรรม อ่านธรรม หากใจตกในกระแสได้นี่… เป็นเรื่องดี เพราะเป็นใจที่เกิดแรงศรัทธาธรรม

แต่นี่..เป็นการยืนได้ของทารกน้อย ที่จะก้าวเดินไปเบื้องหน้าเท่านั้น ยังไม่ไช่เป็นผู้ใหญ่ ที่มีกำลังในการก้าวเดิน แต่ย่อมดีกว่า ทารกน้อย ที่ยังลุกขึ้นก็ยังไม่ไหว ติดนอนรออาหารอยู่กับที่

แต่เมื่อเดินแล้ว แต่ละก้าว ทารกย่อมมีกำลัง และเติบใหญ่ขึ้น แม้จะเดินอยู่ในร่องธรรม แต่เพราะความเป็นทารก เรายังไม่รู้จักทางแยก

อันทางแยกนี้ สำหรับทารก ย่อมตัดสินใจไม่ถูก เพราะความสูงแห่งกำลังที่สะสมยังมีไม่พอ จึงตัดสินใจไปตามความรู้สึกของตนเอง ว่าทางนี้ น่าจะใช่ เพราะยังไง เราก็เดินอยู่ในร่องธรรม

ทางแยกนี้แหละ ตัวสำคัญ เพราะในทางธรรม ก็มีทางแยกอยู่หลากหลาย มันอาจเป็นแยกที่ทำให้เสียเวลาเดิน อย่างไม่รู้ตัวก็มี อาจเสียเวลาไปทั้งชีวิต เพราะหลงอยู่ในทางแห่งธรรม ก็มี และมีกันเยอะแยะ

ธรรมนี้ เจือไปด้วยทั้งผิดและถูก และทั้งผิดและถูก ไม่ได้เกิดจากธรรม แต่ธรรมทั้งหลายที่ผิดถูก เกิดจาก ใจเจ้าของ

หากถูกใจ ธรรมนั้นๆ ก็จะชอบใจไปซะหมด อยากเรียกร้องให้ใครๆ เข้ามาดูเข้ามาชม เข้ามาดอมดม กลิ่นอันโสภาแห่งธรรม

แต่หากเจ้าของดันไม่ถูกใจ แม้ธรรมนั้น จะดีเลิศ ประเสริฐศรีแค่ไหน มันก็เป็นแค่จัญไรธรรม ที่ไม่ถูกไม่ควรแก่ใจใครเลย

นี่…ธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดจากใจเจ้าของเป็นหลัก หากเจ้าของยังมีใจนอบน้อม มูลแห่งธรรมนั้น จะก่อเกิดความปลื้มปิติใจ และแสวงหาด้วยความโหยหาธรรมนั้น มาจรรโลงใจ

แต่หากเป็นใจที่หมักหมมเจือปนไปด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ ธรรมอันเลิศประเสริฐศรีแค่ไหน ใจมันก็จะถอยร่อนออกมา ไร้กำลังที่จะแสวงหา ทั้งๆ ที่เป็นผู้แสวงหาธรรม นี่..เจ้าของใจมันแย้งกัน ผลนี้ เจ้าของมักมองไม่เห็น

ธรรมที่เรามีใจอันตกกระแสแล้ว ขอให้เราตรองและพิจารณา ด้วยกำลังแห่งสติเท่าที่เรามี มันจะเกิดปัญญา ธรรมแสนอร่อย ในเนื้อธรรม ย่อมมีกากเดนธรรม ซุกซ่อนและคลุกเคล้ารวมตัวอยู่ด้วยกันเสมอ

หากใจที่มีกำลังสติดี ใจเจ้าของก็เลือกเฟ้นเอาแต่เนื้อเยื่อธรรมมาจรรโลงใจ หากเป็นใจที่ยึดหมั่นในตัวตน ใจก็จะเลือกเอาธรรม ตรงที่มันถูกใจ ธรรมนั้นจะกลายเป็นธรรมที่คับแคบ

ฉะนั้น ธรรมทั้งหลาย เป็นแค่เครื่องแสดง ในการผัสสะแห่งเจ้าของ ให้เข้าใจ ว่าอะไรเป็นอะไรตามเหตุปัจจัย

หากเจ้าของยังไม่ได้รับการอบรมใจเพียงพอ ธรรมทั้งหลายก็จะมีสภาพ ถูกใจก็จะชอบไปซะหมด ไม่ถูกใจก็ไม่ชอบไปซะหมดเหมือนกัน

นี่..เรียกว่า เป็นทิฏฐิแห่งธรรม เมื่อมาเจอกับทางแยก ท่านจึงให้เดินตามทางธรรม แต่อย่าไปยึดธรรม เพราะธรรมทั้งหลาย เป็นแค่เพียง สมมุติ เพื่อให้ใจเจ้าของรู้จัก ว่าอะไรเป็นอะไร

ใครยึดสมมุติ ว่ามันเป็นความจริง ตามที่ธรรมมันแสดงตัว นี่…เราหลงธรรม แต่หากเจ้าของมีปัญญา เดินไปตามครรลองแห่งธรรม อาศัยสมมุติแห่งธรรม หล่อเลี้ยงใจ

ที่สุด ทางแห่งสมมุตินี้ จะนำพาใจเจ้าของ ให้วนไหลออกไปจากทางแห่งทุกข์ทั้งปวง และเจ้าของ จะทิ้งแม้แต่ธรรมทั้งหลาย โดยไม่สนใจยินดีในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น อีกต่อไป

ที่สุด…แม้ธรรมอันน่าจรรโลงใจแก่เจ้าของ เราก็ต้องทิ้ง… เช้านี้..ขอสวัสดีทุกท่านครับ….สวัสดี

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง อารมณ์…สมาธิ ท่อนที่ 2 ณ วันที่ 9 เมษายน 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง