อุเบกขา…ธรรมแห่งความไม่รู้ไม่ชี้หรือ

อุเบกขา…ธรรมแห่งความไม่รู้ไม่ชี้หรือ

1075
0
แบ่งปัน

>> ลูกศิษย์ : กราบพระคุณเจ้าช่วยขยายความของตัวอุเบกขาทั้งแนวกว้าง และแนวลึกให้กระจ่างเพิ่มเติมด้วยครับ…

และตัวอย่างในการที่เราจะนำเอามากำหนดเป็นอารมย์…ครับผม..

<< พระอาจารย์ : ตอบ Meena Mana 

เรื่องอุเบกขา เป็นเรื่องที่เป็นธรรมผ่านเข้าปัญญา หากอธิบายนี่ มันต้องสาเหตุลึกกันลงไปเยอ

อุเบกขานี่ ไม่ใช่การวางเฉยตามความหมายอย่างที่เราเข้าใจนะครับ

อุเบกขาที่ว่าเฉยๆ นี้ เป็นเฉยที่เข้าใจไปตามเหตุและปัจจัย จากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ตามกำลังแห่งปัญญา

ว่ามันมีเหตุและผลเป็นอย่างนี้ และมันเป็นของมันเช่นนี้ มันจึงจะเป็นอุเบกขา พอที่จะไม่สะดุ้งสะเทือนต่อผลที่เกิด

อุเบกขา ใช่ว่า ความว่าง หรือฉันไม่เอา ฉันวาง อะไรเช่นนี้ ตัวนี้ ไม่ใช่อุเบกขาในความหมาย

อุเบกขานี้ หมายถึงที่สุด แล้ว ยอมรับกับมันได้ ว่ามันเป็นของมันเช่นนี้

พูดง่ายๆ ก็คือ อุเบกขา เป็นทางสายกลาง ที่ใจมันยอมรับ ว่ามันเป็นของมันเช่นนั่นเอ

ผู้ไม่ยอมรับ อุเบกขาไม่ลง มันโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ยอมรับดะ การยอมรับอย่างไม่ผ่านการพิจารณา และหาหนทางแก้ไขให้ถึงที่สุด  แต่ดันไปยอมรับซะแล้ว

นี่ไม่ใช่อุเบกขา มันเป็นอาการของคนขี้แพ้ ขี้เกียจ ขี้รำคาญ เป็นพวกขี้ข้าอารมณ์ ไม่ใช่เป็นการยอมรับ เพราะเป็นอุเบกขา

อุเบกขา เริ่มจากใจที่เป็นพรหมวิหารก่อน ตัวแรกคือ ความมีเมตตา

คนมีเมตตา ย่อมเป็นผู้ที่ให้ความรัก ความอาดรูต่อเพื่อนร่วมโลกทั้งหลาย คนมีใจเมตตา ย่อมเป็นผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ในเมตตาย่อมเจือด้วยความกรุณา ที่น่ายกย่อง บุรุษเช่นนี้ ย่อมไม่ตระหนี่ในการที่จะเป็นผู้ให้ เรียกว่า เป็นผู้ที่มีใจบุญสุนทาน

ผู้ให้ ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับ ส่วนผู้ที่รับย่อมเป็นผู้ที่ต้องตอบแทน ผู้ที่ให้ผู้อื่นได้ ย่อมมีกำลังใจแห่งทาน เรียกว่า เป็นผู้มีทานบารมี

ผู้มีทานบารมี ย่อมเป็นผู้ที่ไม่กล้าทำชั่ว ย่อมมีความละอายต่อบาปอกุศลทั้งหลายสูง เป็นผู้มีกำลังใจมาทางศีลสูง เรียกว่า เป็นผู้มีศีลบารมี

ผู้มีเนกขัมมะบารมี ย่อมเป็นผู้มีกำลังใจมากด้วยความมีปัญญา ที่จะออกจากกาม เรียกว่า เป็นผู้มีปัญญาบารมี

ผู้มีปัญญาบารมี ย่อมเป็นผู้ที่มีกำลังใจความเพียรในการทำความดี เรียกว่า เป็นผู้มีวิริยะบารมี

ผู้มีวิริยะบารมี ย่อมมีความความอดกลั้นในผัสสะที่กระทบ ไม่ให้ใจไหลไปตามกระแสได้ดี เรียกว่า เป็นผู้มีขันติบารมี

ผู้มีขันติบารมีได้ ย่อมเป็นผู้มีความข่มใจ ไม่กล้าทำชั่ว เรียกว่า เป็นผู้มีกำลังใจในด้านสัจจะบารมี

ผู้มีสัจจะบารมี ทำอะไรที่ตั้งความหวังไว้ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ ย่อมสำเร็จได้ด้วยดี เรียกกำลังในเช่นนี้ว่า เป็นผู้มีอธิฐานบารมี

ผู้ที่มีอธิฐานบารมี ย่อมเป็นผู้มีกำลังมาจากใจที่เป็นศีลที่มาจากทานเป็นเบื้องต้น ย่อมมีกำลังใจในความมีเมตตา เรียกว่า เป็นผู้มีเมตตาบารมี

ผู้ที่มีเมตตาบารมี ย่อมประกอบด้วยกำลังแห่งบารมีทั้งแปด คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฐาน จึงจะเป็นผู้มีเมตตาเต็มกำลัง

เราเรียกบุรุษเช่นนี้ว่า เป็นผู้มี อุเบกขาบารมี

ผู้มีอุเบกขาบารมี เป็นผู้ที่มีบารมีครบทั้ง 10 ทัศน์ แบ่งเป็น บารมีต้น อุปบารมี และปรมัตถ์บารมี

รวมเป็นบารมีทั้ง 30 ทัศน์ 30 ทัศน์นี่ มาจากขั้นสะสมของความเชี่ยวกราดแห่งกำลังใจ

นี่..ตัวสุดท้ายของบารมี คือ อุเบกขา ฉะนั้น คำว่าอุเบกขา ไม่ใช่ความนิ่งเฉยหรือเราเป็น

แต่หมายถึงความมีปัญญาที่เรียงร้อยกันมา จนเห็นความจริงตามกำลังปัญญาว่า มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง

การมีอุเบกขาขึ้นมาได้ ก็ต้องเริ่มที่ความเมตตาก่อน เป็นความเมตตาอย่างสัตว์โลกทั่วไป คือ การให้

การให้นี้ ก็เริ่มจากการให้วัตถุ เป็นทาน ทานทุกชนิด เริ่มที่วัตถุทาน ทานสูงสุดแห่งวัตถุทานก็คือ วิหารทาน

วิหารทาน นี้ เป็นวัตถุที่เหล่าหมู่เหล่า ได้พึ่งพาอาศัยได้ โดยไม่ได้แบ่งแยก วรรณะชนชั้น เช่น วัด ศาลา โรงเรียน โบสถ์ สะพาน ส้วม เรือ องค์พระ

และอะไรอีกเยอะแยะ ที่ผู้คนทั้งหลายได้ร่วมใช้ นี่ เป็นทานขั้นวัตถุทาน ถือเป็นทาน แห่งผู้มีบารมีต้น

ที่สูงกว่าวัตถุทาน ก็คือ อภัยทาน นี่..ต้องใช้กำลังใจสูง เป็นทานที่เกิดกับใจใครแล้ว เรียกว่า เป็นผู้ปิดอบายภูมิ

เพราะเป็นทานในขั้นความเป็นผู้มีศีล ของอริยชน เบื้องต้น เรียกว่า พระโสดาบัน

เป็นกำลังใจขั้น อุปบารมี เรียกว่า เป็นผู้มีกำลังใจ 20 ทัศน์ สละได้ ให้อภัยได้ แม้แต่ศัตรู ที่จองเวรกัน เรียกว่า ดับลงด้วยดี

กำลังใจในทานขั้นอภัยนี้ มีกำลังไปถึง อนาคามีผล คือ นอกจากไม่ลงนรกหรืออบายภูมิแล้ว

ทานขั้นนี้ สามารถปิดวิบาก ไม่ให้กลับมาเกิดให้เป็นทุกข์ด้วยธาตุขันธ์อีกได้

นี่..เป็นผู้เหลือภพเดียว คือ ภพจิต

ที่สูงยิ่งกว่านั้น ก็คือ ธรรมทาน ธรรมทานนี้ เกิดจากกำลังใจแห่งอุเบกขา ที่เต็มบารมีทั้ง 30 ทัศน์ เรียกว่า เป็นบุรุษผู้เข้าถึง ปรมัตถ์บารมี

เริ่มตั้งแต่ธรรมแห่งกำลังปัญญาของพระอริยเจ้าหรืออริยะชน ขั้นโสดาปฏิมรรค เป็นต้นมา ตามกำลังแห่งปัญญา

ถึงปัญญาขั้นสูงสุดคือ อรหัตผล ธรรมทั้งหลายที่สอดส่องธรรม ด้วยปัญญาภาวนา ย่อมเป็นธรรมทาน ทั้งสิ้น

ธรรมทานเป็นทานที่ออกจากใจ ในกำลังแห่งปัญญาของแต่ละขั้น ที่เข้าไปถึง ด้วยกำลังของการมีดวงตาเห็นธรรม

นี่..ท่านทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้มีทานอันสูงสุดทั้งสิ้น เป็นผู้ที่มีธรรมออกมาจากใจ ตามกำลังที่รู้เห็นตรงตามความเป็นจริง แห่งกาลและปัญญาของตน

ท่านเหล่านี้ อาศัยกำลังแห่งสติ ปัญญา ที่เรียกว่า โพชฌงค์

โพชฌงค์ก็คือ องค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ธรรม

แต่ขี้คร้านอธิบายแล้วว่ะ ไล่ไปตั้งแต่ สติ วินิจฉัย ปิติ วิริยะ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา อะไรไปโน่นแหละ

อุเบกขาตัวนี้ ที่สุดแล้วก็คือตัวสุดท้ายแห่งโพชฌงค์ คือองค์แห่งการตรัสรูธรรม

ฉะนั้น หากให้อธิบายเรื่องอุเบกขา ข้าว่า สิ้นชีวิตนี้ มันก็ยังละเอียดไม่พอ เพราะมันมีหลากหลาย ไม่ใช่การมีอุเบกขาอย่างควายๆ ที่ทำไม่รู้ไม่ชี้ อย่างพวกเราคิดกัน

คืนนี้ โอเคนะ ที่จริงจะโม้ในไลน์ แต่เด็กๆ มันชอบกระโดดไปกระโดดมา มันชอบออกมาที่เฟสกัน

ก็เลยมาโม้สดๆ ในหน้าเพจนี่ซะเลย มันจะได้ไม่ต้องห่วงด้วยการกดไปกดมา คืนนี้ขอให้ทุกท่านมีแต่ความสุขความเจริญ สวัสดี ตามองไม่ค่อยจะเห็นแล้ว..!!

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง พรหมวิหารธรรม… ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง