กายานุปัสนาสติกรรมฐาน…. อธิบายตามธรรมป่าๆ

กายานุปัสนาสติกรรมฐาน…. อธิบายตามธรรมป่าๆ

1224
0
แบ่งปัน

หวัดดียามเช้านะครับ ที่นี่ลมและอากาศพัดเย็นสบาย ท่ามกลางแผ่นน้ำและป่าเขา เมื่อวานได้โม้ไปในเฟสเกี่ยวกับเรื่อง กายคตานุสติกรรมฐาน เมื่อคืนก็ได้รวบรวมลงแชร์ไปทางเฟสแล้ว เอาไว้อ่านเล่นๆ กันยามค่ำ 

กายานุปัสนาสติกรรมฐาน.... อธิบายตามธรรมป่าๆ เช้านี้ ก็เลยเอาคำตอบในเฟสที่เมนท์ไว้ตอนเช้าเมื่อวาน มาลงให้ฟังใหม่ หากมีเวลาอย่างเช่นเช้าๆ แบบนี้ ไม่มีงานหรือผู้คนเข้ามาเยี่ยมเยือน ก็จะโม้ธรรมสดๆ กันฟัง ธรรมที่หลั่งไหลออกจากใจ ย่อมเป็นกุศลสูง สำหรับผู้ฟัง

ธรรมดาจะโม้อยู่ในห้องธรรมทางไลน์ ของกลุ่มน้องๆ เมื่อวานได้ค้างการโม้ เรื่อง กายานุปัสนาสติปัสฐาน วันนี้ก็ถือโอกาสโม้เอาซะเล

คำบาลีเหล่านี้ สำหรับเราทั้งหลาย ออกจะงงๆ และไม่เข้าใจ และสงฆ์มากมายทั้งหลาย ก็ใช่จะเข้าใจ

หากเรียนรู้มาก จำมาก ก็ยึดมาก ใจก็จะยิ่งห่างธรรม แห่งความเป็นจริงมากขึ้น เข้าถึงความเป็นพุทธยากขึ้น เพราะมันเต็มไปด้วยอุปาทาน แห่งการยึดสมมุติ ไม่ปลดปล่อยในความรู้นั้นๆ  เป็นเหตุ เพราะนี่ เป็นลักษณะของภาวะจิต

ฉะนั้น เราจึงควร อ่าน ฟังแบบสบายๆ อย่าได้ไปเป็นเจ้าของ ความหมายที่อ่านที่ฟังมาเลย มันจะเครียดและเศร้าเปล่าๆ ธรรมะนั้น เมื่อสบายๆ กับมัน มันจะค่อยๆ ซึมซับไปเอง

อย่าไปคิดว่าต้องจำให้ได้ ทำให้ได้ มันจะกลายเป็นตัวตนทั้งแท่ง ผลไม้ที่แก่จัด นำมาบ่มไม่นาน ย่อมสุกหวานหอม แต่ผลไม้ที่ยังอ่อนจัด บ่มนานแค่ไหน ผิวสวยน่ากินอย่างไร มันก็ไม่ หวานหอม แม้ดูว่ามันเหมือนจะสุก

เมื่อวาน ตู่เขาได้ถามมาว่า กายานุปัสสนาสติปัสฐาน กับกายคตานุสติกรรมฐาน แตกต่างกันอย่างไร คำบาลีเหล่านี้ เขาก็ปรุงแต่งไปตามอักขระบาลี เป็นสมมุติเรียกทางภาษา แต่จะแยกธรรมอย่างป่าๆ ออกมาให้เห็น เพื่อความเข้าใจ

กายคตานุสติกรรมฐานนั้น ใช้เป็นชื่อเรียก ของอนุสติ ทั้ง 10 ในกองการทำกรรมฐาน 40 กอง ที่ท่านแยกย่อยออกมา ตามแต่จริตของบุคคล

ส่วนกายานุปัสสนาสติปัสฐาน เป็นการสอดส่องเฝ้าดูการเคลื่อนไหวกาย อย่างมีสติ ในอิริยาบททั้งสี่ คือ ยืน เดิน นอน นั่ง กายคตานุสติ เป็นกรรมฐานที่รวม สมถะและพิจารณา เป็นวิปัสสนาญาณของขั้นภูมิอนาคามี

เริ่มจาก สกิทาคามีมรรค คือผู้ที่มีศีลอันเป็นวิมุติ เกิดประจำใจแล้ว และใช้เป็นเองกรรมฐาน สำหรับพวกราคะจริต และพุทธจริต

ที่จริงถึงภูมินี้ ทุกจริต มันก็ใช้กันทั้งนั้นแหละ แต่หากยังไม่เต็มภูมิ ก็เหมาะกับพวก พุทธจริต คือพวกมีปัญญา และพวกราคะจริต คือพวก ชอบของสวยของงาม

ส่วนกายานุปัสสนาสติปัสฐาน เป็นการเจริญสติ ในอิริยาบท เช่น จะเดิน จะเหลียว จะเคี้ยว จะขี้ จะเยี่ยว จะทำอะไรๆๆ ก็ฝึกเฝ้าตามรู้อาการทางกาย

นี่..เป็นการใช้เรียกชื่อ กายานุปัสสนาสติปัสฐาน ไม่ได้เป็นการพิจารณากาย อย่างกายคตานุสติกรรมฐาน เพื่อถอดถอนว่าเป็นสิ่งโสโครก

กายคตานุสติกรรมฐาน เป็นกองกรรมฐานวิปัสสนาญาณ ใช้ถอดถอนอุปาทาน ที่เราต่างยึดมั่นในรูปกายนี้ ว่าดี ว่าสวย ว่างาม น่าปลื้มน่าหลงไหล

มองไม่เห็นความโสโครก ที่มันซ่อนอยู่ในกายอันน่าหลงไหลนี้ และยังมีการปลงอสุภะอีก 10 กอง ในกองกรรมฐาน 40 ที่ใช้สำหรับ พวกราคะจริต

นั่นก็แยกออกไปแตกต่างจาก กายคตานุสติกรรมฐานอีก อสุภะนั้น เป็นการพิจารณาซากศพ ว่า เจ้าของการพิจารณา ก็ไม่พ้นไปจากซากอสุภะนี้

ไม่ได้พิจารณาเพื่อ ลดตัณหา ในการที่จะสมสู่อย่างที่เข้าใจและชี้ๆ กัน ซากศพ มันไม่มีใครอยากเอาหำเอาปิ๊เข้าไปสอดใส่อยู่แล้ว

โน่น ไอ้ที่ขาวๆ อวบๆ ดิ้นได้โน่น มันจะปี๊ไอ้ขาวๆ โน่น ถ้าจะปลง ต้องไปปลงไอ้ขาวๆ อวบๆ ดิ้นได้โน่น

นั่นแหละ เรียก กายคตานุสติ ไม่ใช่เรียกการปลงอสุภะ โดยการจ้องรูปศพให้หำหด

การชี้ธรรม ชี้ไม่ตรง มันก็แก้จิตให้ตรงจริตไม่ได้  หากไม่เข้าใจ ยิ่งแก้ก็ยิ่งกลุ้ม เอาเหตุผลและคิดว่าเอาเองแก้  ธรรมทั้งหลายเลยกลายเป็นธรรมปรุงแต่ง โดยความคิดไปนู่น

กายานุปัสสนาสติปัสฐาน เป็นการเฝ้าดู กายเมื่อแรกเริ่ม แล้วย้อนเข้ามาพิจารณา มีกายนอก กายใน และกายในกาย

กายนอกเป็นไฉน.. กายนอกคือรูปทั้งหลาย ในที่นี้เราหมายถึงคนที่เราเห็น ที่แสดงออกทาง กาย วาจา ใจ

กายในเป็นไฉน… กายในคือตัวเจ้าของ ที่แสดงออก ทาง กาย วาจา ใจ กับสิ่งกระทบกับกายนอก

กายในกายเป็นไฉน… กายในกาย คือการตามรู้ เฝ้าดูกายเจ้าของในทุกอริยาบท เดิน ยืน นอน นั่ง หากตามระลึกตามดูกาย

ก็จะเห็น เวทนา ก็จะแยกออกเป็น เวทนาใน เวทนานอก เวทนาในเวทนาอีก ถ้าโม้ก็จะยาวขยายออกไปด้วยรายละเอียด

เวทนาทั้งหลาย มันซ่อนอยู่ในกาย เมื่อเฝ้าดูกาย ย่อมเห็นเวทนา เมื่อเข้าสู่เวทนา เห็นเวทนาบ่อยๆ ก็จะเห็นจิต เพราะจิต มันซ่อนอยู่ในเวทนา

เมื่อเห็นจิตอยู่บ่อยๆ ก็จะเห็นธรรม คือความเป็นธรรมดา ที่มันเป็นธรรมชาติอยู่เช่นนี้ เรียกว่า เห็นธรรมในธรรม ซึ่งก็มี ธรรมนอก ธรรมใน อีก

ธรรมชาติแต่ละอย่างแห่งกายานุปัสสนาสติปัสฐาน มันซ่อนตัวอยู่ในอาการซึ่งกันและกัน การจะตามรู้และมองเห็นได้ ต้องตามเข้าไปเฝ้าดู กาย เพราะธรรมทั้งหลาย เกิดจากกายนี้

เราเฝ้ามองกาย เราก็จะเห็นเวทนา

เราเฝ้ามองเวทนา เราก็จะเห็นจิต

เราเฝ้ามองจิต เราก็จะเห็นธรรม

นี่..มันอาศัยเหตุและปัจจัยร้อยเรียงกันมาเช่นนี้

จะอธิบายแยกย่อยลงไปอีก อย่างเช่น กายนอก กายใน และกายในกาย

กายนอก..เช่น พฤติกรรมของคนทั้งหลาย ที่แสดงออก เมื่อเกิดการกระทบ ทำให้เจ้าของ ไม่พอใจ

ความไม่พอใจของเจ้าของนี้ เรียกว่า กายใน เจ้าของกระทบแล้ว ถูกใจ ก็ชอบไปซะหมด ไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบไปซะหมด ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง นี่..เป็นอาการ ทางกาย วาจา ใจ ของภายใน

เขาทำให้เราโกรธ หรือเกิดจากเราที่มันโกรธ ที่เขาทำ นี่..หากไม่เกิดปัญญาการพิจารณาตามเฝ้าดู มันจะไม่รู้เหตุ

ใจก็จะไหลไปตามกระแส แห่งตัณหาที่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ ยามโดนกระทบ เรียกว่า สมุทัย เมื่อกระทบแล้วไหล เรียกว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น

หากเกิดการพิจารณาโดยสติ ว่าธรรมทั้งหลาย เกิดจากกายนี้ ให้มาเบรคให้มาชะลอที่กายนี้ ลด ละ เลิกมันให้เบาบางลงในกระแสแห่งทิฏฐิ

นี่..เป็นการพิจารณากายใน ไม่ไหลตกลงไปในธารแห่งกระแสมากนัก เรียกว่าเดินทางมรรค กระทบแล้ว มีสติพิจารณา เป็นใจที่มีสัมมา

เขาทำให้เราโกรธ หรือ เกิดจากเราโกรธเขา เมื่อมีสติ ก็ให้มาพิจารณาว่า หากเขาทำให้เราโกรธ คนข้างๆ เรา ต่างพากันโกรธเขาด้วยหรือเปล่า หรือเป็นแค่เรา ที่ดันไปโกรธเขา

หากพิจารณาเช่นนี้ จะเห็นว่า การโกรธ เกิดจากเราที่ไปโกรธเขา ไม่ใช่เขา ทำให้เราโกรธ ที่เราโกรธ เพราะตัวตน และทิฏฐิ มานะ อุปาทาน ที่เรายึดไว้ แล้วเขากระทำ ไม่ตรงกับความยึดมั่นแห่งอุปาทานของเราเป็นเหตุ พูดง่ายๆ ว่า มันไม่ได้อย่างใจกูนั่นแหละ

เมื่อไม่ได้อย่างใจกู มันก็เลยมีตัวกูให้โกรธ นี่..เรียกว่ายึดในทิฏฐิ ไหลลงไปในกระแสที่กระทบ ไม่เข้าร่องแห่งตัวกู ความโกรธ ก็เลยมี

เมื่อพิจารณาลึกลงไปอีก หากจะดับ เจ้าตัวกูจะไปดับที่เขา ไม่ได้เลย เขาก็เป็นของเขาเช่นนั้น ดับไม่ได้ ไม่ใช่กองไฟที่จะมาสุมใจเรา

การดับ ให้มาดับที่ใจกู ทำความเข้าใจว่า โลกทั้งหลาย มันเป็นของมันเช่นนี้ ให้ไอ้ตัวกูนี่ หยุดเสือก กายนอกเขาซะบ้าง อย่าไปเสนอหน้าการเสือกแม่งทุกเรื่องนัก เบาๆ หน่อย กับการเสือกในเรื่องของเขา

นี่..เมื่อเห็นกายนอก เราก็จะเห็นกายใน มันมีเวทนา จิต ธรรม ซ่อนอยู่ใน กายนอกและกายในเสมอ เพียงแต่เจ้าของ มองมันไม่เห็น

คราวนี้ เราก็มาพิจารณากายในกาย ว่าที่ไอ้เดือดร้อน เต้นเร่าๆ เคลื่อนไหวไปมาอยู่นี่ มันตัวเรา เราหรือ

เมื่อพิจารณากาย ตามดูการเคลื่อนไหวจนชำนาญ จะเห็นว่า มันเป็นแค่อาการหนึ่ง เมื่อโดนกระทบ ทางตา หู ลิ้น จมูก กาย และใจนี้ กายมันสะดุ้งไปแสดงไป นี่เรียกว่า เวทนา

เวทนามันอาศัย การผัสสะ จากช่องทางที่เรียกว่า อายตนะ คือ ตา หู ลิ้นฯ อะไรนี่แหละ เวทนามันจึงได้เกิด แต่ก็มีไอ้เจ้าตัวกูนี่ เข้าไปเป็นเจ้าของเวทนาอีก

มันก็เลย เกิดความ ถูกใจ ไม่ถูกใจขึ้นมาภายใน ทำให้ใจไหลไปในกระแส จนกลายเป็นตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติเกิดอะไรต่อมิอะไรไปโน่นอีก นี่ ขาดการพิจารณา เวทนานอก เวทนาใน และเวทนาในเวทนา

กำลังใจที่ขาดสติ และปัญญา ย่อมมองไม่เห็นว่า เวทนาทั้งหลาย เป็นแค่อาการหนึ่งของจิต แต่มันโดนปิดบัง เพราะความมีตัวกู เข้าไปเป็นเจ้าของ ในเวทนาเหล่านั้น เราเข้าใจว่า เวทนา คืออาการเจ็บ.. นี่ยังโง่หลาย

เวทนาคือ ทุกๆ อาการที่เกิดการกระทบแล้วรู้สึก นั่นแหละ เวทนา กระทบแล้วถูกใจ ก็เวทนา ไม่ถูกใจ ก็เวทนา เจ็บก็เวทนา ไม่เจ็บก็เวทนา เฉยๆ ก็เวทนา เห็นรูปก็เป็นเวทนา ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รู้รส ร้อน อ่อน แข็ง ชอบใจ ไม่ชอบใจ ทั้งหลายนี้แหละ เรียกว่า เวทนา

เฮ่อ…ขี้เกียจจิ้มแล้วว่ะ ยังมีจิต กับธรรมอีก จะย่อๆ ให้ว่า เวทนาทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นอาการของจิตทั้งนั้น เจ้าตัวกู มันเสือกเข้าไปเป็นเจ้าของเอง และจิตทั้งหลายที่เป็นอาการของเวทนา มันก็เป็นธรรมชาติ ที่อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งจากอวิชชาทั้งนั้น

ว่างๆ แล้วจะมาร้อยเรียงธรรมอย่างป่าๆ ให้ฟังอีก ในเรื่องจิต กับธรรม อันเป็นหลักแห่ง สติปัสฐานสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นทางเอก เป็นทางที่จะมุ่งเข้าสู่ รูประตูนิพพาน ไอ้ที่ท่องๆ จำๆ กันมานั้น มันเป็นแค่ความรู้เด้อ ไม่ใช่ความจริง

ส่วนไอ้ที่โม้ๆ มาว่านี่คือธรรม เป็นความจริง เป็นปรมัตถ์ธรรม ไอ้ห่าเอ๊ย …มันก็กลายมาเป็นแค่สมมุติอีก ความจริงทั้งหลาย ที่สุดของมันแล้วคือสมมุติ ท่าน..

อย่าไปอะไรมากมายกับมันเลย อยู่กับมันไป ถึงเวลาเมื่อไหร่ ทิ้ง..

เช้านี้ สวัสดี กับธรรมะสดๆ ในยามเช้า ขอความสุขความเจริญ พึงมีพึงเกิดกับทุกท่าน ให้มีดวงตาเห็นธรรม ….ขอสาธุคุณ

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง เนกขัมมะกรรมฐาน….บอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง