แนวธรรมแห่ง มรรคแปด..

แนวธรรมแห่ง มรรคแปด..

1771
0
แบ่งปัน

ถาม – ตอบ…  ปัญหาธรรม…

>> ลูกศิษย์ : ขอน้อมนมัสการ พระอาจารย์…  นโม พุทธะ บุญญพลัง…ธรรมะแห่งมุตโตทัย เช้านี้..ลึกซึ้งดีแท้ อ่านและพิจารณา คิดตามไป เป็นปิติสุขให้  ปราถนาการเข้าถึงธรรม

แม้จะแค่เบื้องต้น แต่ก็สามารถต่อยอดถึงเบื้องกลางและปลายได้ ตามกำลัง ของปัญญาแห่งตน…แต่การประคองสติ..ใจ..จิต ให้เท่าทัน ปัจจุบันกาลนั้น จะต้องใช้องค์ประกอบใด เพื่อการเข้าถึงธรรมนั้นๆ ขอเมตตาธรรมในพระอาจารย์ด้วย ขอนมัสการครับ

<< พระอาจารย์ : ขอสาธุคุณ Chaiyapitch Khoosirirat

การประคองใจมีองค์ประกอบ หากว่ากันถึงบาลี ก็คือ การตั้งสติ เจริญจิตดำเนินมาทางมรรค มีองค์แปด แต่คำว่ามรรคมีองค์แปด เนื้อหาที่เป็นเนื้อเยื้อ ที่เราพอจะกินได้นั้น เราไม่ค่อยรู้จัก

เรารู้จักกันแต่เปลือก ที่ว่ากันเป็นข้อๆ และตีความหมายแยกองค์ประกอบเป็นข้อๆ มันจึงรู้แบบเปลือกๆ แค่ชิมเปลือก แล้วแกล้งทำความเข้าใจ ว่าอิ่มแล้ว รู้จักมรรคแล้ว แปดตัวรู้จักละเอียดหมดแล้ว

เราจะพึงปฏิบัติตามนั้น การรู้เช่นนี้ เป็นการรู้แบบเปลือกๆ มรรคแปดที่รู้ จึงกลายเป็น มักมาก และมักง่ายในธรรมที่รู้นั่นๆ ไป

การประคองใจท่านให้ดำเนินใจไปตามแนวทางแห่งมรรค หมายความว่า อย่าได้ไปดำเนินแนวทางแห่ง สมุทัย

สมุทัย เป็นเหตุ ผลเป็นทุกข์

มรรค เป็นเหตุ ผลเป็น นิโรธะ

นี่..เป็นหลักอริยสัจ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวตรัสมา ในปฐมเทศนา เรียกชื่อว่า.. ธรรมจักร กัปปวัฒนสูตร

คราวนี้ การแปลความหมายแห่งธรรมบทนี้ เราเข้าใจกันไม่แตก เราแปลกันตรงตัวเกินไป ทำให้เกิดความเข้าใจ และปฏิบัติยาก

คำว่า มรรคแปดนี้ เป็นทางแห่งองค์ประกอบในการประคองใจ ท่านให้ความหมายมาในแง่ของ สัมมา คือถูกต้อง ชอบแล้ว ดีแล้ว

เรียกว่า เป็นหนทางการดำเนินทางมาทางมรรค มรรคก็หมายถึงหนทาง ในที่นี้ คือหนทางแห่งการดำเนินในทางที่ถูกที่ควร

องค์ประกอบแห่งมรรคนี้ มีแปดอย่าง คือ

สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ

สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ พูดชอบ

สัมมากัมมันตะ คือ ประพฤติชอบ

สัมมาอาชีวะ คือ อาชีพชอบ

สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ

สัมมาสติ คือ สติชอบ สัมมา

สมาธิ คือ สมาธิชอบ

นี่..คือองค์ประกอบแห่งมรรค องค์ประกอบแห่งมรรคนี้ ขอให้อ่านหนังสือออก แม้แต่โจร มันก็รู้ได้ นี่..มันเป็นแค่ความหมายแห่งเปลือก

เราไม่มีปัญญาจริงในความหมายแห่งคำว่า “มรรค” เราเอาความหมายแห่งองค์ เข้าไปตีตัวมรรค มันก็เลยพากันหลงมรรค กลายเป็นธรรมแห่งความมักมากและมักง่ายไปซะ

คำว่ามรรคนั้น เสมือนก๋วยเตี๋ยวชามเดียว แม้ไม่รู้จักองค์ประกอบว่า นี่เส้น นี่น้ำ นี่หมู นี่ถั่วงอก นี่น้ำปลา นี่อะไร ต่อมิอะไร ก๋วยเตี๋ยวชามนั้น มันก็ให้ความอิ่มหนำแก่ผู้คนที่ได้กินมัน เหมือนกันทุกคน

ก๋วยเตี๋ยวมันไม่ได้แยกแยะ ว่านี่ คือ โจร นี่คือ พระ หากหิวขึ้นมา จะรู้จักองค์ประกอบแห่งก๋วยเตี๋ยวหรือไม่รู้จัก ทุกคนก็สามารถ อิ่มได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องมานั่งแยกย่อยอยู่ก็ได้ หรือจะมานั่งแยกย่อย ให้มันเสียเวลาก็ได้ เพราะผู้ที่แยกย่อย ก็ใช่ว่า จะแยกย่อยถูก แยกผิดเกือบทุกตัวแห่งความเป็นองค์ประกอบมรรค

อย่างเช่น สัมมา อาชีโว หรืออาชีวะ ท่านผู้รู้ก็จะแปลไปในทางการประกอบอาชีพที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย แก่คนทั้งหลาย เช่น ไม่ขายเหล้า ไม่ขายอาวุธ ไม่ขายยาพิษ ไม่ขายอะไร ที่เป็นไปเพื่อ ความผิดในการผิดต่อศีลห้า จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น

นั่นมันเป็นเรื่องของโลก ใครจะค้าขายอะไร หากเป็นการสุจริต มันก็สัมมาทั้งนั้น มันไม่เกี่ยวกับการค้าขาย

สัมมาอาชีโวนี้  แค่เรายกมือขึ้นไหว้พระด้วยหัวใจที่มีสติน้อบน้อม นี่…เป็นสัมมา อาชีโวแล้ว ไม่ได้ไปค้าขายอะไร อย่างที่ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านแปลๆ กัน

แค่การยกมือขึ้นไหว้ นี่เป็นอาชีพ ในการดำเนินใจ มาทางมรรคแห่งสัมมาแล้ว เป็นใจที่ดำเนินทางอาชีพมาทางกุศลกรรมแล้ว

มันเป็นเรื่องของใจ ที่ดำเนิน มาทางจิตที่เป็น กุศล เราเรียกว่า สัมมา สัมมาวาจา ก็เช่นกัน ไม่ใช่จะเป็นความหมายว่าพูดดี พูดเพราะ อย่างที่เราเข้าใจกันในฟากเดียว เพราะโจรมันก็พูดเพราะได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นพระ

ฉะนั้น สัมมาวาจา จึงใช้กับความหมายแห่งคำพูดอย่างเดียวไม่ได้ สัมมาวาจาในความหมายแห่งทางมรรคก็คือ การแสดงออก ทาง กาย วาจา และใจ ที่ดำเนินมาทาง กุศล

การยกมือไหว้ด้วยใจที่นอบน้อม นั่นแหละ เป็นสัมมาวาจาเช่นกัน เพราะเป็นการแสดงออก ถึงท่าทางแห่งใจที่พร้อมด้วยกุศล

สัมมาสมาธิ ก็นี่แหละ แม้การยกมือไหว้ด้วยใจที่นอบน้อมที่เป็นกุศลนี้ ก็เป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่ต้องเป็นการนั่ง เข้าฌานนั้นฌานนี้ อย่างที่เข้าใจกัน

สัมมาสมาธิ คือใจที่ตั้งมั่น ในการกระทำความดี ที่เป็นใจกุศล ในขณะที่กระทำนั้น มีสมาธิใจในการที่จะยกมือไหว้ด้วยความนอบน้อม

นี่..ใจที่ดำเนินทางมาในหนทางแห่งทางมรรค เปรียบเหมือน กระดุม ทั้งแปดเม็ด ติดเม็ดแรกถูก ที่เหลือถูกหมด หากเม็ดแรกผิด ที่เหลือผิดหมดเช่นกัน

ฉะนั้น องค์ประกอบแห่งมรรค ไม่ได้แยกย่อยกันทำอย่างที่ผู้ทรงธรรมท่านแยกๆ กันมา

มันเป็นเหมือนส้มแค่ผลเดียว  ท่านชี้ว่า นี่เปลือก นี่ใย นี่กาบ นี่น้ำ นี่เมล็ด นี่เนื้อเยื้อ แต่ทั้งหมดนั้น นั่นแหละคือผลส้ม

ทั้งหมดเป็นแค่องค์ประกอบ เป็นส่วนหนึ่งของผลส้ม จะเรียกว่าส้ม ก็ยังไม่ถูก เพราะนั่นคือองค์ประกอบ

นี่…มรรคมันเป็นเช่นนี้ ท่านให้ดำเนินมาทางมรรค การดำเนินมาทางมรรค ท่านก็ต้องไปรู้เหตุแห่งมรรคซะก่อน

เหตุแห่งมรรคก็คือ ใจที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จักจบนี้นี่แหละ คือเหตุแห่งมรรค หากไม่มีสติประคองใจ มันก็ไหลไปตามกระแส ที่เชี่ยวกราดนั้น เรียกว่า สมุทัย ผลก็ดำเนินไป ในแนวทางแห่งทุกข์

หากเหตุนั้น เมื่อผุดขึ้นมาแล้ว เจ้าของมีสติ โยนิโสพิจารณา ไปตามแนวเหตุแนวผล นี่…เรียกว่า ดำเนินมาทางมรรค ผลก็คือ ความสงบ ความเย็น ไม่เร่าร้อนไปตามธารแห่งกระแส ตรงนี้เรียกว่า นิโรธะ

การดำเนินมันเป็นอย่างนี้ ท่านเรียกว่า เป็นหลักอริยสัจ เหตุนอกเป็นสมุทัย เหตุในเป็นมรรค ใจที่ไหลไปตามกระแส เรียกว่าใจที่ปรารภโลก และปรารภตนเอง ผลก็คือ ไม่สงบเย็นพ้นทุกข์ไปได้

ใจที่มีสติตื่นขึ้นมาเห็นธารความแรงแห่งกระแส ค่อยๆ พิจารณา เบรคความร้อนแรงและเร่าร้อนแห่งกระแสนั้น ตามภูมิปัญญาเท่าที่มี นี่…เป็นทางเดินแห่งกระแส ที่เรียกว่า สัมมา หรือหนทางแห่งมรรค

ส่วนใจที่ต้านกระแสไม่ไหว ขาดสติพิจารณา นี่เป็นใจที่ไหลไปในธารแห่ง มิจฉา เป็นสมุทัย เป็นเหตุที่มีกลไกก้าวเข้าไป สู่ความเป็นทุกข์

นี่แหละ เรื่องมรรคแปด มันตรงกันข้ามกับโลกธรรมแปด

มรรคแปด ไหลไปทาง นิโรธ

โลกธรรมแปด ไหลไปทาง ทุกข์

มรรคแปด เดินด้วยใจ แห่งสัมมา

โลกธรรมแปด เดินด้วยใจ แห่งมิจฉา

โลกเรานี้ มี สองแปด อยู่ที่เรา จะประคองใจให้ไปตามธารแห่งกระแสแปดไหน

เรา..เป็นผู้ลิขิตในเส้นทางที่เดิน ทางเดินนี้ คือทางสายกลาง

ทางสายกลางคือ การยอมรับ พึงยอมรับ และน้อมให้ได้ว่า สรรพสิ่งใดๆ บนโลกใบนี้ มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง

เรา…อย่าไปเสือกกับมันให้มากนัก เรา..ประคองใจไว้แค่นี้ ใจเราก็จะทุเลาเบาบางจางคลายในเรื่องราวแห่งทุกข์ ได้มากโข

เที่ยงนี้ขอสวัสดี ที่ได้มีโอกาส เข้ามาโม้กันให้ฟังพอหนุกๆ สวัสดีครับ …!!

ถาม – ตอบ ปัญหาธรรม จากบทธรรม เรื่อง แนวแห่งปฏิจสมุปบาท.. ณ วันที่ 16 เมษายน 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง