กสิณแห่งอานาปาน

กสิณแห่งอานาปาน

359
0
แบ่งปัน

*** “กสิณแห่งอานาปาน” ***

” ขอพระอาจารย์อธิบายขยายเรื่องอานาปาน ให้ฟังหน่อยครับ

ผมเข้าใจว่า อานาปานก็คือกสิณอย่างหนึ่ง

แต่ฟังผู้รู้ท่านว่า การเพ่งกสิณจะเป็นโทษ ให้เจริญวิปัสนาแทน

การเพ่งลมหายใจที่เรียกว่าอานาปานสติ เป็นกสิณหรือไม่ครับ

ดูมันแย้งๆกัน พระอาจารย์โปรดช่วยชี้แนะครับ ”

มีคนสงสัยเรื่องการทำสมาธิ

จริงๆเรื่องสมาธินี่ เรารู้จักกันทุกคนนะ

แต่เราไม่ค่อยจะเข้าใจกันว่า อะไรคือสมาธิ

ถ้าอธิบายนี้ก็กว้างน่ะ

อย่างเช่น อานาปานสติ เช่นนี้ เป็นกสิณหรือพิจารณา

นี่พูดถึงเรื่องอานาปานสติซักหน่อย ข้ามาตอบในเม้นท์ของเฟสนะ

การเพ่งนี่ มันเป็นกสิณน่ะ จะเพ่งอะไรเราก็เรียกว่ากสิณ

จะเพ่งตับไตไส้พุง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เป็นกสิณ

จริงๆเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า

คำว่ากสิณนั้น ความหมายก็คือ #การเพ่ง

การเพ่งนี่ มันสมถะ มันอาศัยจุดใดจุดหนึ่ง เป็นที่ตั้งแห่งใจ

คำว่า วิปัสสนานี่ มันแยกออกเป็นสองส่วนน่ะ

คือ เพ่ง และคิด

ไอ้เพ่งนี่ มันเป็นสมถะ ส่วนไอ้คิดนี่มันเป็นการพิจารณา

ไอ้เพ่งนี่ มันมีหนทางไปสู่เจโตวิมุติ

ส่วนไอ้คิดนี่ มันมีหนทางไปสู่ปัญญาวิมุติ

ก็ต้องไปอธิบายเรื่องเจโตกับปัญญาอีก มันก็จะยาว

แต่เราต้องเข้าใจเรื่องคำสมมุติเหล่านี้ก่อน

เข้าใจให้ตรง ให้ชัดเจน ไม่ใช่จำเขามาแล้วยึดว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

เช่นคิดว่า สมถะเป็นเรื่องนิ่งเฉยโง่ งี่เง่าอะไรอย่างนั่นไม่ใช่

หรือวิปัสสนา ทำให้ฉลาดบรรลุได้ อะไรอย่างนั้น มันไม่ใช่น่ะ

วิปัสสนาน่ะ มันแยกออกเป็น เพ่ง กับ คิด

เพ่งก็คือสมถะ คิดก็คือ พิจารณา ทั้งสองตัวนี้แหละ

#เรียกว่าการวิปัสสนา

#วิปัสสนาก็คือการภาวนา

เราต้องเข้าใจกันก่อนให้มันตรงและถูกต้อง จะได้ไม่รังเกียจการเพ่ง

สมาธินั้น ต้องอาศัยการเพ่งก่อนมาทำการคิด

ถ้าคิดเลยนี่ มันไม่คม สติมันไม่แรงกล้า

ไอ้ที่พวกเราพิจารณาๆกันน่ะ เขาเรียกว่าท่องจำเอา

เช่นนั่งท่องเดินท่อง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรอย่างนี้

จะเป็นบาลีแบบ เกศา โลมา นขา อะไรก็เหมือนกัน

มันเพ่งไปที่คำท่อง เรียกว่ากสิณตัวหนึ่ง เอาโสต เอาเสียงมาเป็นอารมณ์

การท่องมนต์ บทสวด อาขยายอะไรก็ตาม

เหล่านี้เป็นกสิณ เป็นการรวบรวมจิตให้เป็นอารมณ์เดียว

ส่วนการคิดนี่ เป็นการพิจารณา

อาศัยการเพ่งและขยายลงไป

เพื่อความแยบคาย เพื่อความเข้าใจ

พิจารณานี่มันเป็นการสาวผลไปหาเหตุ และคลี่คลายด้วยความแยบคายในสิ่งที่เป็น

ทีนี้ เราจะพูดถึงการเพ่งลมหายใจ

การเพ่งลมหายใจนี่ มันเป็นการเพ่งความรู้สึก

เราทำความรู้สึก ลมที่มากระทบผ่านจมูก

จะในโพรงจมูกหรือปลายจมูก อะไรก็ได้

ลมนี่เราใช้ความรู้สึกผ่านกายะวิญญาณในการปรุงแต่งออกมาเป็นเวทนา

เวทนานี้ก็คือความรู้สึก ที่ผัสสะแล้วปรุงแต่งออกมารู้ว่าอะไรเป็นอะไร

หลายคนคงไม่รู้ว่า การเพ่งลมนั้น เอากายวิญญาณเข้าไปเพ่ง

ไม่ใช่เอาตาเข้าไปเพ่ง ใบไม้ไหว หรือธงสะบัดอะไรอย่างที่เข้าใจ

ลมนี่ ใช้ความรู้สึกเพ่ง ไม่ใช่ใช้ตาเพ่ง

ตานี่ ใช้เพ่งรูป มันเพ่งลมไม่เห็นน่ะ

อย่างเสียงนี่ ใช้หูเพ่ง กลิ่นก็ใช้จมูกเพ่ง

ทีนี้เมื่อเข้าใจการเพ่ง เราก็เอาความรู้สึกที่ลมมากระทบจมูกเป็นอารมณ์

ไม่ต้องไปตามลมอะไรอย่างที่เขาว่ากันหรอก

มันเป็นความรู้สึกและจินตนาการ ไม่ใช่ลมจริงๆที่เข้าไปสู่ท้อง

ลมจริงๆน่ะ มันเข้าไปทางช่องเพดานด้านบนแล้วแผ่ไปตามร่างนู่น

ไม่ใช่ทางหลอดลมหลอดอาหารอะไรนั่น หลอดนั่นมันทางลมออก

ทีนี้เมื่อเข้าใจในการเพ่ง เราจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้

จะเดิน จะนั่ง จะยืน จะนอน ทำได้หมด อานาปานไม่ใช่จำกัดอยู่แค่การนั่งเท่านั้น

ข้าเองเดินจงกรม ตีนก็เดินไป แต่ใจมาจับแค่ความรู้สึกเข้าออกของลมเป็นวันๆ

ไม่เห็นว่าจะต้องไปตามรู้อะไร

แต่ถ้าเราจะดูการเคลื่อนของกาย

เราก็ไปทำความรู้สึกกับการเคลื่อนไหวแทน ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน เรียกว่าการเพ่งรูปเคลื่อนไหว

การเพ่งรูปเคลื่อนไหว ก็จะเกิดผลทางเจโตขึ้นมา

คือไม่ต้องพิจารณาอะไรมันก็เข้าใจสว่างแจ้งขึ้นมาได้เช่นกัน

เมื่อได้เจโต จึงเอาการพิจารณาเข้าไปสอดส่องหาเหตุหาผล

ก็จะเกิดปัญญาวิมุติขึ้นมาได้ รวมเป็นบุพโตวิมุติ

คือถึงทั้งสองส่วนในอัตภาพเดียวกัน ทั้งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ

อาการที่เข้าถึงสองส่วน ก็จะเรียกว่า เข้าถึงความเป็นปฏิสัมภิทาญาณ

ว่าถึงเรื่องสมาธิ เรื่อยออกไปสู่สัมภิทาญาณซะแล้ว

การทำสมาธิด้วยอานาปานนั้น เป็นกสิณอย่างหนึ่ง

สำคัญคือสัมปชัญญะ ตามรู้

หากหลุดจากสัมปชัญญะ มันก็ไปเรื่อยของมันแหละ

ระลึกได้เมื่อไหร่นู่นแหละ ถึงจะเรียกว่าสติ

เมื่อได้สติ ก็ให้กลับมาตั้งความรู้สึกใหม่

การตั้งความรู้สึกต่อลมนี่ เรียกว่าวิตก

การประคองความรู้สึกแห่งลมกระทบนี่ เรียกว่าวิจารณ์

มันก็วิตกวิจารณ์อยู่อย่างนี้แหละ จนรวมเป็นหนึ่งด้วยการรวม ปิติ สุข เป็นอารมณ์เดียว

ปิติกะสุขนี่ก็ต้องไปอธิบายอีกยาวแหละ

การทำสมาธิด้วยการเพ่งลมหายใจ มันก็อยู่ในแนวทางเช่นนี้แหละ ไม่มีอะไรมาก

ตั้งวิตก วิจารณ์ไปเรื่อย จนเกิดปิติ เกิดสุข เกิดอารมณ์เป็นหนึ่งขึ้นมา

ก็ลองๆว่ากันดู วันนี้ก็ขอสาธุคุณสวัสดี

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2561

โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง