คุยธรรมกับผี 3

คุยธรรมกับผี 3

323
0
แบ่งปัน

*** “คุยธรรมกับผี 3” ***

ตรัยบันทายถามข้าว่า

เขาเองปฏิบัติอยู่กับความว่าง

เขาไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น

ความว่าง ทำให้เขาไม่เบียดเบียน

ไม่ขโมย ไม่โกหก ไม่เป็นชู้ ไม่เสพ ไม่ติดข้องกับอะไรทั้งปวง

ยุคของเขาผู้คนต่างก็ปฏิบัติกันมาอย่างนี้

อะไรเป็นความผิดในการปฏิบัติเล่า

ข้าบอกว่า ไม่ได้บอกว่าผิด

การปฏิบัติของบันทายนั่นเยี่ยมยอด

แต่ผลที่บันทายปฏิบัติ ที่เยี่ยมยอดนั้น

ทำไมถึงไม่ไปสู่สุคติภูมิอย่างที่คาดหวังจากการปฏิบัติเล่า

บันทายยังอยู่ในร่างของคนอยู่เลย

วิญญาณบันทาย ยังโดนคนมีวิชาเล็กน้อย ดึงมาใช้ประโยชน์ล่อลวงผู้คนให้ลุ่มหลงอยู่เลย

ก็ผลนั้นมันแสดงอยู่นี่ไง

บันทายจะว่าอย่างไร

บันทายนิ่งเงียบในคำถาม..

บันทายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เว้นจากอกุศลทั้งหลาย

นั่งสมาธิจนตัวตายในท่านั่งสมาธิ โดยไม่รู้ว่าตนตายแล้ว

แต่วิญญาณยังต้องมาเร่ร่อนให้คนมีวิชาเอามาใช้งาน

ฉะนั้น สิ่งที่เราเรียนรู้อยู่ทุกวันนี้ ที่เราทึกทักคิดนึกกันเองว่ามันถูกต้อง ต่างทำตามๆกันมา

บางที มันคนละเรื่องกับความเป็นจริงที่มันปรากฏและแสดงออกอยู่

เรื่องเช่นนี้พวกที่ชอบเอาแต่คิดเอา พวกธรรมะโลกสวย พวกรู้มาก พวกมากท่า พวกจอมบรรลุทั้งหลายจะว่าไง..

บันทายถามว่า แล้วสมาธิของท่านนั้น มันเป็นสมาธิเช่นไร

เขาอยากรู้

เขานั้นทำสมาธิจนเป็นหนึ่งเดียว มีความสว่างเห็นเป็นดวงแก้วใสตราตรึงอยู่ตรงหน้า

เช่นนี้ สมาธิเขาเป็นอย่างไร

เรื่องนี้ข้าไม่ได้ตอบเขาหรอก ในเรื่องลูกแก้วและความสว่างไสวที่เกิดจากสมาธิจิต

แต่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นธรรมดา มันเป็นสมาธิขั้นเด็กน้อย มันเป็นอาการปิติทางจักษุ

มันยังมีปิติการทางโสตตะ ทางฆานะ ทางกาย ทางมโนอะไรอีกมากมาย

เมื่อยึดว่าเราเป็น มันก็เป็นอุปกิเลส

จริงๆจะมีเราหรือไม่มีเรา มันก็เป็นอาการของมันเช่นนั้นแหละ ตามวาสนาภูมิที่ตนมี

เขาถามว่า แล้วสมาธิทางพุทธศาสนาเขาดำเนินมาอย่างไร..!!

ข้าอธิบายหลักสมาธิของพุทธะให้เขาฟัง

สรุปรวมๆก็คือ การมีรูปเข้าไปเป็นที่ตั้งในการยึดเกาะ

ส่วนบันทายนั้นเอาความว่างในการยึดเกาะ

ที่จริงมันก็ยึดเหมือนกัน คือมีรูปกับไม่มีรูป

เมื่อไม่มีรูป ก็จะยึดความว่างเปล่า

เมื่อมีรูป ก็จะมีที่ตั้งแห่งสติ นี่ มันแตกต่างกันเล็กน้อยแค่นี้

แต่ผลนั้นผิดกันไกล

เรื่องเช่นนี้ อธิบายกันยาวต้องมานั่งฟัง

เพราะต้องยกตัวอย่างเปรียบเทียบ

แต่บันทายนั้นพอเข้าใจ เพราะผลที่เขาปฏิบัติและมีความเพียรนั้น มันกำลังแสดงตัวในผลของมันอยู่

จิตที่ย้อมมาทางว่าง จิตสำนึกก็จะอยู่กับความว่าง ไปไหนไม่ได้

พุทธศาสนานั้น มีที่ตั้งแห่งใจ ประกอบด้วยเหตุปัจจัย

มันเป็นธรรมชาติแห่งกฎ อิทัปปัจจยตา

พุทธศาสนานั้น เริ่มที่ทาน ทานนั้นจะดำเนินไปในร่องแห่งศีล

ศีลนั้นจะทำให้เกิดสมาธิและปัญญา ตามครรลองไป

บันทายเขาก็มีทาน แต่เป็นทานที่ว่างจากความ เมตตา กรุณา มุฑิตาและอุเบกขา

ทำทานแบบไม่หวังผลอะไร ทำด้วยความว่าง

และเป็นความว่าง ที่ไม่คิดจะเอาจะทำอะไรที่เป็นกรรมขึ้นมาด้วย

มันเป็นทานที่เกิดจากการขาดเหตุปัจจัย

การทำทานที่ไม่มุ่งหวังสิ่งใด จริงๆมันเป็นทานที่ให้ผลสูง

แต่ของบันทาย มันเป็นทานที่ขาดเหตุปัจจัยแห่งปัญญา

และเพราะผลแห่งทานนั้นเช่นกัน

ทำให้เขาได้มีโอกาสมาพบเจอข้า

และได้ฟังธรรม อันเกิดจากความเป็นจริง ที่ตัวเขาเองก็แย้งไม่ได้ แต่เขาเข้าใจได้ลูบคลำได้

นี่เป็นผลแห่งทาน ที่ไม่ปรารถนาผลอะไร สำหรับตรัยบันทาย

เรื่องกรรมนิยามนั้น ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆดั่งที่เราใช้สมมุติในการสื่อสารกัน

ยิ่งเรื่องจิตนิยาม ยิ่งเป็นเรื่องลึกลับ ซับซ้อน ยากแก่การตามรู้

บันทายเป็นวิญญาณ ฟังข้าอธิบายเรื่องสมาธิในวิถีพุทธด้วยความสงบ

เขาถามว่า เขาไม่มีรูป เขาจะพิจารณาอย่างไร

ข้าก็ให้แนวทางในการพิจารณารูปนอก ที่ปรากฏทางตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ

ชี้ให้เห็นต้นไม้ และถามว่าไหนต้นไม้

ใบ กิ่ง ก้าน เปลือก กระพี้ แก่น ตรงไหนที่เรียกว่าต้นไม้

บันทายเข้าใจ ว่าต้นไม้ไม่มี ที่มีเกิดจากสมมุติของทั้งหมด

เมื่อเข้าใจ ข้าจึงให้น้อมมาพิจารณากายใน

คือตัวตน รูปแห่งตน ว่าตัวตนเราที่ยึดมั่นแตะต้องไม่ได้นั้น มันอยู่ตรงไหน

บันทายนิ่งอึ้ง ไม่เคยได้ฟังธรรมตามครรลองนี้

น่าเสียดาย ที่เขาไม่มีเครื่องมือบันทึก เขาได้แค่ฟัง

แต่เป็นการฟัง ที่เขาเห็นชัดว่า ผู้ที่ยังมีรูปบันทึกได้ เสียดาย ที่ไม่ได้ฟัง

ถ้าเขาได้ฟังตอนที่เขามีรูป เขาจะเข้าใจและเห็นตามความเป็นจริง

ว่าสิ่งที่ข้าชี้ มันเป็นความจริง ที่ลูบคลำได้ด้วยปัญญา

เจาบอกว่าเขาเสียดาย เสียดายที่ไม่มีรูป อีก หกเจ็ดปี เขาจะได้ไปเกิด

ตอนนั้น ก็คงไม่ทันข้า แต่เขารับปากว่า ไม่ว่าข้าอยู่ที่ไหนเขาจะติดตามไป…


ผู้แสดงความคิดเห็น 1 >>> เราเกิดมาเพื่อ
แสวงหาความเป็นจริง

ไม่ใช่เกิดมาเพื่อ
แสวงหาความถูกต้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น 2 >>> ลองยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ สักเรื่อง สาธุ

พระอาจารย์ตอบ <<< ข้าจะยกให้ฟังเอง

เลข 9 ตรงหน้าเรา นี่คือความถูกต้องของเรา

แต่อีกฟากมันคือ เลข 6

หากเรานึกว่าเราถูกต้อง

เช่นนี้ เราไม่อยู่กับความเป็นจริง

มันเป็นแค่ความถูกต้องที่เราเห็นเท่านั้น

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2561

โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง

ณ พุทธอุทยานบุญญพลัง จ.กาญจนบุรี