เส้นทางสู่บารมีทั้ง 30 ทัศน์

เส้นทางสู่บารมีทั้ง 30 ทัศน์

313
0
แบ่งปัน

*** “เส้นทางสู่บารมีทั้ง 30 ทัศน์” ***

มาว่าถึงผ้าจีวรที่ต่างขอๆกันไป

ทุกคนได้ผ้าแล้ว ผ้านี่ ก็เป็นสังฆานุสติ คนที่ไม่ศรัทธา ก็คือคนที่กำลังใจศรัทธาหดหายไป ประคองใจไม่ได้ ก็ปาราชิกไป ไม่เป็นสังฆานุสติ

ผ้านั้นก็ไม่มีความหมาย เป็นแค่ผ้าธรรมดา แต่คนที่ศรัทธา กำลังใจเขาแรง แค่ได้เห็นได้ห่ม เขาก็ชื่นใจและไปสว่าง ก็เหมือนจีวร

ผู้ที่ห่มจีวร หากตราบใดยังภูมิใจที่ได้ห่ม ย่อมไปสู่ สุคติ ยิ่งได้ผ่านมือผู้ที่เราศรัทธา เรายิ่งภูมิใจ ทั้งหมดคือแรงบันดาลใจให้เกิดกำลัง

คือ บารมี ใจที่มีบารมี คือ ใจที่มีศีล ศีลนี้เกิดจากศรัทธาที่มาจากทาน คนเราเกิดศรัทธาก็พร้อมที่จะให้ การให้นั่นก็คือทาน

ผู้ให้ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับ คือ ได้รับการนอบน้อม เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา

ส่วนผู้รับ เป็นผู้ที่ต้องตอบแทน ต้องตอบแทนคุณต่อผู้ที่ให้

นี่ เป็นกำลังแห่งทาน นี่ จัดว่าเป็นการใช้กำลังใจอย่างสูง ทานจึงจะเกิด นั่นคือการเป็นผู้ให้ เรียกว่าเป็นผู้มีบารมีแห่งทาน

เป็นบารมีตัวแรก เรียกว่า ทานบารมี บารมีก็คือ กำลังใจ คนที่มีทานบารมี ย่อมเป็นใจที่มีกำลังเข้มแข็ง ใจที่มีกำลังเข้มแข็ง

จัดเป็นผู้ที่มีความเป็นปกติแห่งใจที่มีกำลังใจ เรียกว่า เป็นใจที่มีศีล

นี่ เมื่อมีทานบารมี ก็ย่อมเป็นผู้มีศีลบารมี ผู้มีศีลบารมี

ย่อมเป็นใจที่มีกำลังแรงกล้าในการที่จะกระทำความดี ละชั่วกลัวบาป

นี่..เป็นกำลังใจแห่งผู้ที่ดำเนินทางออกจากเส้นทางแห่งวัฏฏะ

เรียกว่าเป็นใจที่ออกบวช มุ่งดำเนินไปสู่ความดีเป็นที่หมาย เรียกกำลังใจเช่นนี้ว่า เนกขัมบารมี การมี

กำลังใจที่เป็นเนกขัมมะได้ ก็ย่อมเป็นกำลังใจที่มี ปัญญาญาณ

มีความรู้ความเห็น ตรงตามความเป็นจริง ในทางที่จะออกจากทุกข์เป็นเครื่องดำเนิน

นี่เรียกว่า เป็นผู้มีปัญญาบารมี มีใจที่มีกำลังประกอบด้วยปัญญาญาณแจ่มใส

ผู้ที่มีปัญญาญาณแจ่มใส ย่อมประกอบไปด้วยคุณสมบัติที่ไม่เกียจคร้าน

เพราะปัญญามันสอดส่องมองเห็นความเป็นจริงอยู่

เรียกว่า เป็นผู้มีกำลังใจขยันอดทนต่อการเจริญธรรม เพื่อดำเนินไปในทิศทางแห่งความหลุดพ้น

ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความเพียร คือ วิริยะบารมี

เป็นกำลังใจที่มีความเพียรพยายามในหนทาง กระทำแต่ความดีสูง

ผู้ที่มีกำลังทางวิริยะบารมี ย่อมมีกำลังใจสูงที่จะอดกลั้น อดทนต่อสิ่งมากระทบ มาทำลายใจให้สั่นคลอน

นั่นก็คือกำลังใจแห่งความอดกลั้น เป็นกำลังใจแห่งการมี ขันติบารมี ไม่แตกกระเซ็นร้าวฉานไปตามกระแสอะไรง่ายๆ

ผู้ที่มีขันติบารมี ย่อมมีกำลังใจที่ตั้งมั่นในการกระทำต่อสิ่งใดๆ ด้วยหัวใจที่ไม่ย้อท้อ

ย่อมเป็นผู้ ข่มใจให้กำลังใจดำเนินไปในทิศทางที่วางไว้

แม้ตัวตายก็ยอม แต่จะไม่ยอมเสียกำลังใจทำลายใจที่ตั้งไว้อย่างมั่นคง

การข่มใจได้ ย่อมเกิดกำลังแห่งใจที่เรียกว่า สัจจะบารมี

ผู้มีความข่มใจย่อมมีกำลังใจแห่ง สัจจะบารมี ผู้มีสัจจะบารมี ย่อมทำอะไรประสงค์สิ่งใด ได้สำเร็จสมดั่งความปรารถนา นั้นคือกำลังใจที่ตั้งไว้

กระทำสิ่งใดก็มุ่งมั่นให้สำเร็จได้ตามนั้น เป็นผู้ที่มีชื่อเรียกว่า เป็นผู้มี อธิฐานบารมี ผู้มีกำลังใจแห่งอธิฐานบารมี

ย่อมเป็นผู้ที่มีความอ่อนโยนควรค่าแก่การงานแห่งธรรม ไม่เอาเปรียบไม่รังแกผู้ใด เป็นกำลังใจที่เพียบพร้อมไปด้วย

>> ทานบารมี

>> ศีลบารมี

>> เนกขัมบารมี

>> ปัญญาบารมี

>> วิริยะบารมี

>> ขันติบารมี

>> สัจจะบารมี

>> อธิฐานบารมี

นี่…จึงได้เกิดกำเนิดเป็นผู้ที่มี เมตตาบารมี ต่อสรรพสิ่งโดยไม่คิดรังแกและเอาเปรียบ

ผู้ที่มีกำลังใจเต็มถึงขนาดนี้ ย่อมเข้าใจโลกถึงความเป็นจริง

ผู้เข้าใจโลกถึงความเป็นจริง ย่อมไม่สะดุ้งสะเทือนหวั่นไหว ไปตามกระแสโลก

เป็นผู้ที่มีกำลังใจตั้งมั่น ด้วยกำลังแห่งสติปัญญาที่ได้รับการฟอกใจ ตรงตามความเป็นจริง

บุคคลเช่นนี้ จึงเป็นผู้ที่คงทน ตั่งมั่นและวางเฉยกับสรรพสิ่ง

ว่า มันเป็นธรรมดาของมันเช่นนั้นเอง นี่คือผู้ที่มีกำลังใจที่เป็น อุเบกขาบารมี

นี่คือบารมีทั้ง 10 ผู้ที่มีบารมีทั้ง 10 ย่อมเป็นผู้มีความตั้งมั่นในการดำเนิน สู่ทางแห่งมรรคผลได้

บารมีทั้ง 10 ก็ยังแบ่งเป็น บารมีต้น

บารมีต้นก็คือ ผู้ที่มีกำลังแห่งบารมีทั้ง 10 ครบ แต่ยังไม่ปรารถนานิพพาน

ยังคงอยากเวียนว่ายตายเกิดไปก่อนเพื่ออยู่รอเป็นผู้รื้อขนสัตว์ เป็นพวกปรารถนาพุทธภูมิ

ส่วนพวกที่มีกำลังสูงกว่านั้น คือพวกบารมีกลาง หรือพวกอุปบารมี

พวกนี้ มีกำลังบารมีเต็มทั้ง 10 แล้ว ปรารถนานิพพาน

แต่ขาดปัญญามัวไปยึดมั่นอยู่กับความรู้ และการปฏิบัติ ที่ตนเองมี

ยังเป็นผู้หลงอยู่อีกเล็กน้อย ส่วนพวกสุดท้าย เป็นพวกปรมัตถ์บารมี

พวกนี้ บารมีเต็มทั้ง 10 และครบรอบทั้งสาม เรียกว่า พวกมีบารมีทั้ง 30 ทัศน์

กำลังใจพวกนี้ จะเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี สาวกภูมิก็ดี

ผู้เจริญรอยตามมรรคาปฏิปทาก็ดี นิพพานหมดในอัตภาพนี้

เป็นผู้ที่มี ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญพอดี เท่าที่ตนจะมีภาชนะบารมีรองรับ

บารมีน้อย ก็นิพพาน บารมีมาก ก็นิพพาน

ที่นิพพาน เพราะบารมีทั้ง 10 มันสุกงอมเจริญเต็มทั้ง 30 ทัศน์

คือ บารมีต้น บารมีกลาง และ ปรมัตถ์บารมี เต็มที่เต็มกำลัง

เป็นผู้นิพพานในอัตภาพนั้นๆ ตามวิบากผล แห่งทศบารมี

วันนี้ โม้เรื่องบารมีกัน เรื่องนรกขุมที่ 7 ก็ต้องพักไป วันนี้ ขอโม้แต่เพียงแค่นี้ หวัดดี น้องๆ ผู้มีทศบารมีอันเป็นที่รัก

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2556 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง