คุยกันหลากหลาย

คุยกันหลากหลาย

282
0
แบ่งปัน

****** “คุยกันหลากหลาย” *******

>> ลูกศิษย์ : พระไม่จับเงิน เป็นทางส่งเสริมให้ท่านละจากกิเลสได้มากขึ้น เร็วขึ้น เสียหายตรงไหน

<< พระอาจารย์ : มองมุมเดียว มันก็ไม่เสียหาย เพราะมองอย่างไม่เข้าใจ ความหมายมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อ่านทำความเข้าใจให้ดีๆซิ

การจับ ท่านห้ามใจโน่น จับ จับคือยึด ไม่จับแต่ใช้เงินจับจ่ายให้กับสังขาร มันจึงแย้งกัน กับคำกล่าว

ไม่ใช่ว่าจับหรือไม่จับ เป็นเรื่องเสียหายอะไร แต่..มันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อกระทำขึ้น ไว้หลอกตัวเองและชาวบ้าน

โดยเอาข้ออ้าง แห่งธรรมวินัย มารองรับ เพื่อแสวงหาศรัทธา

นี่..เรากล่าวในนัยยะนี้ เพราะกุลบุตรแท้ ย่อมไม่จับเงินอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่โดนเงิน โดนมือโดนกายอะไรไม่ได้เลยอย่างนี้

นี่..มันตีธรรมอย่างโง่ๆ แล้ว ตีธรรมแบบ เงินเป็นวัตถุจัญไรไปโดนจับต้องแตะอะไรไม่ได้

ผลมันก็แสดงตัวของมันอยู่ ว่าบางรูปอ้างธรรมวินัย ไม่จับเงิน แต่มีอุปกรณ์ ทุกอย่าง อย่างที่โลกเขามี ท่านเสกขึ้นมารึไง

>> ลูกศิษย์ : ทำไมเขาต้องไล่ด้วยขอรับ ทั้งท่านปฎิบัติอยู่ สาธุ

<< พระอาจารย์ : การที่เขาไล่ เราจะมาบอกว่า เรากำลังปฏิบัติ นี่..เราเข้าใจผิด

เราเข้าใจเอาฝ่ายเดียว แสดงว่า หากเราทำอะไร ทุกคนทุกที่ ต้องเห็นด้วย

นี่..เรากำลังคิดเข้าข้างตนเอง

แม้พระพุทธองค์เจ้า ท่านก็โดนไล่เช่นกัน มารบอกว่า ที่ตรงนั้น เป็นที่ของมัน ให้ถอยออกไป

เราอย่าไปคิดว่า การที่เราเรียกว่าการปฏิบัตินี่ ทุกคนมันจะเห็นด้วย

ไม่งั้น โจรก็คงไม่ปล้นพระ ปล้นวัดกันหรอก ที่เราคิดว่า เรากำลังทำความดีนั้น เป็นทางเลือกของเราหรอก

แต่เขาอาจจะดูว่า เป็นการขวางหูขวางตาเขาก็ได้

ความดีที่เราคิด มันอาจเป็นเลวในสายตาคนอื่นเขาก็ได้ มันยังสรุปให้ได้ตามใจเรานั้น คงไม่ถูก

เขากำลังจัดปาร์ตี้เฮฮากัน เราดันไปนั่งสวดมนต์ และเจริญสมาธิ

เราจะบอกว่า ทำไมทุกคนถึงไม่เห็นด้วยกับตนที่กำลังทำความดี คุคุคุ ไม่โดนกระทืบก็บุญแล้ว…

>> ลูกศิษย์ : นั่งสมาธิแล้วหายไปเฉยๆ นี่ใช่อาการนั่งสมาธิหลับหรือเปล่าค่ะอาจารย์ เป็นประจำเลยค่ะ

<< พระอาจารย์ : นั่งแล้วหายไปเฉยๆ เกิดจากกำลังแห่งสติ ไม่มีกำลังเพียงพอ

พอถึงจุดสุดกำลังของมัน จิตก็ไหลเข้าสู่ภวังค์ ตามความเคยชินของมัน เรียกว่าหลับ และอาจฝันเห็นนั่นเห็นนี่ เพราะมันกำลังเคลิ้มๆ

บางทีก็เข้าสู่ ภาวะว่าง หายไปเลย เป็นสมาธิหัวตอ แบบฤษีอีก จิตนี่..มีหลากหลายสภาวะ อยู่ที่เราทำมาเช่นไร ในแต่เก่าก่อน และปัจจุบัน กับความเคยชินเป็นเหตุ

>> ลูกศิษย์ : จะตั้งสติใหม่ค่ะ ถ้าเห็นป่าเขียวๆ จะชอบส่งจิตตามไปดูจนลืมทุกที คิคิ

<< พระอาจารย์ : การตามดู ด้วยสติ มันก็โอเค ถูกต้อง หากเราต้องการ จะเป็นป่า เป็นอะไรก็ตาม เอาสติจรดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ผลก็ได้อีกอย่างหนึ่ง คือได้มาทางด้าน มโนมยิทธิ

หากทำจนชำนาญ แต่ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านนะ หากเราไม่ต้องการรู้เห็น ก็หวดอยู่กับคำบริกรรมไป

พอจิตมันไหล เราก็ดึงกลับ ทำจนชำนาญ ผลมันก็ได้มาทาง ความสงบและความเชื่องแห่งภาวะโปรแกรมจิต ทำให้จิตมีกำลังมาก

>> ลูกศิษย์ : ขอกราบนมัสการพระผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบตามหลักธรรมคำสั่งสอน ผมฝึกเจริญสติสมาธิรู้ลมหายใจเข้าออกจิตคิดอะไรรู้แล้วก็พิจารณาถึงเหตุและผลของมันตลอด

แต่บางครั้งจิตมันก็ออกนอกหลู่นอกทางพอตามมันทันก็ดึงกลับมาใหม่และตลอดทั้งวันที่ทำงาน

ขับรถผมจะสวดมนต์ตลอดแต่ผมก็อยากขอคำชี้แนะจากท่านผู้ที่ฝึกและปฎิบัติจนรู้แจ้งชี้ทางให้ลูกหลานที่หลงทางด้วยครับ

<< พระอาจารย์ : เวลาทำงาน ก็ทำงานไปซิ จะมาสวดมนต์ทำไม

ขับรถ ก็ให้มีสติกับการขับ ไม่ใช่ขับรถไป ท่องพุทธโธไปบ้าง ดูลมหายใจไปบ้าง อย่างที่พระมั่วๆ เขาว่า เดี๋ยวรถก็ชนกันตายชัก

ที่เขาบอกให้อยู่กับพุทธโธ ท่านหมายถึง ให้มีสติ มีสมาธิจรดจ่อกับงานที่ทำ ไม่ใช่มาบ่นท่องพุทธโธ

พุทธโธ เป็นคำบริกรรม นำมาใช้ เป็นเครื่องผูกจิต เวลา เดินจงกลม หรือทำสมาธิโน่น

ไม่ใช่ กำลังทำงานอยู่ แล้วบอกให้ท่องพุทธโธ หรือให้อยู่กับลมหายใจ อย่างงี้มันชี้แบบโง่ๆ แล้ว

แต่เราไม่มีผู้ชี้ เราก็นึกว่า เวลาทำอะไร ให้ท่องแต่พุทธโธ โห…เราคิดกันไม่เป็น มัวท่องแต่พุทโธ

ไม่มีสติพอกับการขับรถ เหมือนเอาถุงยางอนามัย สวมใส่หัวแม่มือตามหมอบอก

ใส่ยังไง ใส่แค่ไหน ถึงเวลา มันก็ท้อง เพราะมันเข้าใจความหมายผิด แล้วจะไปโทษใครดี …

>> ลูกศิษย์ : ผียึดติดอย่างนี้ถึงไม่ได้ไปเกิดสร้างบารมีเพื่อจะหลุดพ้นใช่ไหม พอจ.

แล้วไม่แก้ขมากรรมซึ่งกันและกันกับวิญญาณเพื่อที่จะได้หลุดพ้น

ตัวนี้ละครับ มันทำได้หรือเปล่าครับที่ผมว่ามานี้

>> พระอาจารย์ : การยึดติดของผี มันเป็นธรรมชาติ แห่งความทรงจำเขา แต่การไปเกิด หรือไม่ไปเกิด มันเป็นเรื่องแห่งผลวิบาก

เหมือนเรา ไม่ชอบใครที่เขาทำอะไรแย่ๆ คนแบบนั้น น่าจะตายๆ ไปซะ แต่การที่เขาทำอะไรแย่ มันเป็นธรรมชาติของเขา เรามันไปเสือกเอง

และความตายของเขา ก็ไม่ได้เกิดจากการที่เขา ทำอะไรแย่ๆ ถ้าไม่โดยกระทืบด้วยข้อหาหมั่นใส้ โดยเจตนา

ความตายของเขาเป็นเรื่องแห่งวิบากกรรม ที่เขามีเวลา ได้ทำอะไรแย่ๆ ในสายตาเรา มีเพียงแค่นั้น

การไปเกิดของผีก็เช่นกัน การที่เขาจะได้ไปเกิด ไม่ได้เกิดจากการยึดหรือไม่ยึดของผี แต่มันเกิดจากสันดานผี ที่ทรงจำมาอย่างนั้น

เมื่อถึงเวลา เขาก็ตายจากความเป็นผี ไปเกิดใหม่ตามเหตุตามปัจจัยแห่งกรรม ไม่ได้ไปเกิดใหม่ เพราะเหตุแห่งใจ ที่ยึด หรือไม่ยึด….พอเข้าใจไหม… !!

>> ลูกศิษย์ : ผมว่ามีเหตุปัจจัยครับเพราะการจะไปเกิดก็ยึดไม่เกิดแบบอริยะเจ้าจะยึดเอาอะไรอีกหละครับท่านพระอาจารย์

>> พระอาจารย์ : การยึด มันเป็นธรรมชาติแห่งจิต ลุงสิ้นคิด แต่การเกิด นี่ มันเป็นวิบากจิต จะยึดหรือไม่ยึด มันเป็นอาการของจิต

หากจิตมันเข้าใจแบบพระอริยเจ้า หรือไม่เข้าใจแบบพระอริยเจ้า มันก็ยังเกิดไปตามวิบากแห่งผลมัน

เพราะพระอริยเจ้า ท่านก็มีหลายระดับแห่งกำลังใจที่ปัญญาจะสอดส่งเข้าไปเห็นได้

พระอริยเจ้าขั้น โสดาบัน ก็ต้องมาเกิดอีกหลายครั้ง ขั้นสกิทาคามี ก็มาเกิดอีกครั้ง ขั้นอนาคามี ก็เหลือภพจิต อยู่อีกภพ

แม้ขั้นอรหันต์ บางท่านสิ้นแค่รูป แต่พลังงาน ก็ยังคงรูปอยู่ ด้วยเหตุแห่งอะไรไม่ทราบ แต่ท่านเข้าถึงธรรมไปแล้ว

เราจะเอาความรู้แห่งเราไปเข้าใจ เรื่องจิตนี่…ผิดเกือบหมด แต่ถ้าเอาเหตุปัจจัยเข้าไปเข้าใจ มันก็สามารถสาวผล ลึกลงไปได้เรื่อยๆ ตามกำลังแห่งภูมิปัญญาที่มี

ความเป็นจริงจะปรากฏชัดแก่ภูมิจิตเรา นี่..ที่เขาเรียกกันว่า เป็นปัจจัตตัง ผู้ได้ปัจจัตตัง ย่อมแสดงผลนั้น ออกมาขยาย ให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้ ไม่รู้ ให้รู้ และเข้าใจในปัจจัตตังนั้นได้

นั่นแหละ เมื่อผู้ไม่รู้สามารถรู้ตามได้ ท่านกล่าวว่า นี่…เป็นปฏิหาริย์แห่งธรรม..!!

>> ลูกศิษย์ : อ่านแล้วยังงงๆ ต้องอ่านใหม่ครับ เหมือนมันมีอะไรติดค้าง สาธุ สาธุ สาธุ

<< พระอาจารย์ : อ่านซ๊ำๆ มากๆ นั่นแหละปราชญ์ กินซ้ำๆ จนเต็มภาชนะ มันจึงจะอิ่ม ธรรมเหล่านี้ เป็นธรรมแสดงสดๆ เป็นธรรมออกจากใจ ย่อมได้ใจ

หากภาชนะใจน้อย จะมีผลรองรับได้ไม่มาก หากใจมีภาชนะใหญ่ ก็ใส่ก็รับธรรมแห่งมุตโตทัยได้เยอะ

เราสามารถหยั่งลงไปในความลึกแห่งธรรม เท่าที่เรามีกำลังจะหยั่งได้

หากยังไม่เข้าใจ เราก็พิจารณา ทวนไปซ้ำๆ ยิ่งทวน เราก็จะเห็นความหมายแห่งธรรมที่ลึก และเป็นจริงตามปัญญาที่เรามีกำลัง

เพราะนี่ …เป็นธรรมออกจากใจ เป็นธรรมแห่งมุตโตทัย เจริญและดำเนินมาทางดับล้วนๆ

ธรรมนี้ ไม่อิงสมมุติแห่งตำรา ธรรมนี้อิงความเข้าใจ แล้วถ่ายทอดออกมา ก่อนที่เราจะจากกันอย่างถาวร

เราอย่าได้พึงสงสัยเลย ผลแห่งธรรมที่สาธยายออกไปมากมาย มันแสดงผลในตัวของมันเองอยู่ ว่าการดำเนินการชี้เหตุและผลแห่งธรรม

มันแหวกและแหกออกไปจากที่เราๆ ทั่วไป ยึดธรรมตามตำรากัน เราก็พึงหาข้อที่ไม่จริงในธรรมที่แสดงออกมาซิ แล้วเราจะเข้าใจ ว่าทำไม จึงเรียกว่า ธรรมจากใจ จึงเป็นธรรมแห่ง….มุตโตทัย..!!

พระธรรมเทศนา วันที่ 16 มีนาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง