******* “แม่บายศรี” *******
คนเราพอบวชเข้าหน่อย มันก็วรรณะจัดขึ้นมาทันที
พุทธะนี่ มันเกิดมาทำลายวรรณะ
พวกบวชแล้วบ้าวรรณะ
มันก็จะบอกว่า อย่างนี้เป็นพุทธอย่างนี้เป็นพราหมณ์
ว่าจะคุยกันถึงเรื่องแม่บายศรีซักหน่อย…
เรื่องพานพุ่มบวงสรวงนี่ มีพลังงานดูแล เรียกว่า แม่บายศรี
แม่บายศรีนี่เป็นใครมาจากไหน ถึงได้มาเป็นแม่บายศรี
เรื่องพวกนี้ หลายคนคงไม่รู้ และไม่คิดว่ามันจะมี
แม่บายศรีนี่มี พอๆกับครูมโนราห์ หนังตะลุง หรือครูต่างๆ ที่เราเรียกว่าครู
ดูแลรักษาบายศรี จะเรียกว่า แม่ครูบายศรีก็ได้
อยากรู้ก็ต้องตีตั๋วรอ….
ในโลกมนุษย์เรานี่ สิ่งหนึ่งที่เรามองไม่เห็นก็คือ พลังงานที่มีการปรุงแต่ง
เมืองไทยเรานี่ นับถือผีมาก่อนนับถือพุทธ
แม้แต่พราหมณ์ทางอินเดียนี่ เขาก็นับถือผี เพียงแต่เขายกผีที่เขานับถือให้เป็นเทพ
พลังงานเหล่านี้ที่เขานับถือกันนี่ มันเกิดจากกาลเวลา มันบ่มเพาะขึ้นมา
อย่างเช่น การแสดงในศิลปแขนงต่างๆนี่ ทางเอเชียเรา มักจะนอบน้อมระลึกถึงครู
เรามีการไหว้ครู การไหว้ครูนี่เป็นการบวงสรวงเช่นกัน
หากย้อนไปสมัยแรกๆเลย ครูต่างๆนี่ มันก็ไม่มี
เมื่อไม่มีครู ก็ไม่ต้องทำพิธีนอบน้อมสักการะผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้
แต่เมื่อส่งผ่านมารุ่นต่อรุ่น ความเป็นครูก็ย่อมนิยามขึ้นมา เพื่อความนอบน้อม
ก่อนจะทำการแสดงในศาสตร์ที่ตนรับการถ่ายทอดกันมา
นี่ถือเป็นมงคลอย่างหนึ่งที่เป็นผู้รู้คุณ กตัญญูกตเวที
เหล่าสานุศิษย์ที่ดี ย่อมระลึกถึงบรมครูก่อนทำการแสดงเสมอ
แม้แต่พระภิกษุเองก็เช่นกัน ก่อนจะทำอะไร เราก็ระลึกถึงพระพุทธองค์อันเป็นบรมครูของเราเช่นเดียวกัน
ผู้นอบน้อมต่อครู ย่อมเป็นมงคลเป็นใจอันเรียกได้ว่าผู้มีแต่ความเจริญ
เมื่อมองมาเห็นเช่นนี้ตามความเป็นจริง
เราจะเห็นว่า ศาสตร์แห่งการบวงสรวงนี้ มันมีมาไม่แตกต่างกันในแต่ละแขนง ในแต่ละศาสนา
มันแตกต่างแค่เนื้อหาและสิ่งที่นำมาประกอบพิธี
ตรงนี้เราจึงไม่ควรแยกว่าพุทธดี พุทธไม่มีพิธีบวงสรวง
อย่าไปแหกปากอย่างนั้น มันอายเขา
พวกเรานี่ มันไม่มีแต่ปาก แต่การกระทำเต็มไปด้วยพิธีการ
และพิธีการต่างๆนี่แหละ มันเป็นรหัสที่สร้างขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์ในการนอบน้อม
แลกเปลี่ยน เป็นเครื่องอยู่ เป็นจารีตประเพณีสืบๆต่อๆกันมา
แตกต่างกรรมพิธีแยกย่อยออกมาไปตามเงื่อนไขที่ปรุงกันเข้าไป
กาลเวลาได้บ่มเพาะกลืนกินสิ่งเหล่านี้จนกลายมาเป็นประเพณี
ทีนี้ ครูทั้งหลายที่เจ้าของยกย่องนอบน้อม
เมื่อตายไป บางครูนี่ ยังไม่หมดอายุขัยแห่งวิญญาน คือ ยังไปเกิดไม่ได้
วิบากทางวิญญานมันยังส่งผลอยู่ ความทรงจำแห่งความเป็นครูนี่ก็ยังมี
เมื่อได้รับการน้อมถึง เซ่นไหว้ บวงสรวง พลังงานที่เป็นครูนี้ก็จะมา มาเพราะกระแสนอบน้อมต่อครูเป็นเหตุ
ก็เหมือนการตั้งศาลพระภูมินั่นแหละ
ไม่ตั้งนี่ไม่เป็นไร ตั้งแล้วไม่เซ่นไหว้บวงสรวงนี่ก็ไม่เป็นไร
แต่ถ้าเกิดการบวงสรวง และกระทำกันซ้ำๆ
ผีที่เชิญมาเป็นเจ้าของศาล เขาจะยึดศาลว่า นี่เป็นรูปเขา
เมื่อมีศาลขึ้นมาแล้วเราไปทำลาย ไปรื้อไปทุบ พลังงานย่อมไม่พอใจ
หากกำลังใจเรามีมากกว่าผีที่มันยึดศาล
พลังงานที่เป็นผีก็ทำอะไรเราไม่ได้
แต่หากกำลังใจเราอ่อนกว่า
แน่นอน พลังงานเหล่านี้ จะมายึดรูปเราไปแทน อุปาทานรูปที่เป็นศาลที่เราสมมุติให้เขาแทน
เรื่องเช่นนี้ ข้าเคยเจอ ไว้เล่าวันหลัง
ศาลที่มันเก่าแก่ เซ่นไหว้บวงสรวงมานาน พลังงานเหล่านี้นี่ มันจะแข็ง ให้คุณให้โทษได้
ส่วนศาลใหม่ๆ ไม่กี่ปีนี่ ไม่ค่อยมีกำลังเท่าไหร่ หรือแทบไม่มี
แต่ถ้าเป็นศาลเกี่ยวกับบรมวงศ์นี่ไม่ได้ บริวารวิญญานนี่มีเยอะ
เรื่องศาลพระภูมิเจ้าที่นี่ เล่าวันหลัง
ทางใต้นี่ ครูมโนราห์ ครูหนังตะลุงนี่ ของเขาแรง
ไปลบหลู่ดูแคลน เอาเศียรครูเขามาล้อเล่นนี่ไม่ได้
หากกำลังใจเราอ่อน เราจะป่วยเพ้อเลยทีเดียว
แต่หากมั่นใจว่ากำลังใจเราแข็งแรง นี่ก็ไม่เป็นไร อย่างมากก็นอนไม่หลับและฝันร้าย
นี่..ขึ้นกับกำลังใจเป็นหลักอยู่เหมือนกัน
ทีนี้นี่..การทำบายศรีบูชานี่ เขาก็มีแม่ครูของเขาเหมือนกัน
แม่บายศรีนี่ เป็นพลังงานที่เป็นครูที่ยังไม่หมดอายุขัยและมักจะเป็นแม่บายศรีสายใครสายมัน
แต่มีแม่บายศรีชนิดหนึ่ง คงเป็นแม่บายศรีที่เป็นมานาน
แม่คุณจะคุมทุกบายศรี ที่มีการทำพานพุ่มพิธีบวงสรวง
นี่..แม่บายศรีคนนี้นี่ แรง
แต่แรงเฉพาะผู้ที่มีกำลังใจอ่อนแอ
แม่นางจะดูแลและเทิดทูลบายศรี ถวายต่อพระบรมครู
บายศรีที่เจ้าเขาพูดถึงว่า กระแสที่ส่งออกไปด้วยความบริสุทธิ์
ทำให้บายศรีนี่ ไปขยายจัดพุ่มที่ดาวดึงส์ถวายต่อพระพุทธชินสีห์นั้น นี่..ที่เคยเล่า
แม่บายศรีนี่แหละ เป็นผู้นำเอากระแสแห่งกุศลขึ้นไปจัด
ครั้งหนึ่งที่บุญญพลังนี่ เมื่อเขาบวงสรวงกันเสร็จ มีบางคนไปดึงไปถอดบัวบายศรี
บายศรีนี่ ถ้าไม่มีเหตุอะไรที่ต้องเก็บ ก็ตั้งทิ้งไว้เลย 7 วัน ให้ครบรอบวัน เมื่อครบรอบแล้วค่อยบอกกล่าวขอไปเผาทิ้ง
แต่หากมีเหตุต้องเก็บก่อน ก็ต้องบอกกล่าว บอกปากเปล่าก็ได้ จุดธูปก็ได้ บอกกล่าวไปแล้วถึงเก็บทำลาย
คราวนั้นเด็กมันไม่รู้ พอเสร็จพิธี ต่างก็ช่วยกันแยกพุ่มบายศรีเอาไปทิ้ง
คงเพราะยังไม่ถึงเวลา แม่บายศรีจึงไม่พอใจทำให้ผู้ที่นอนในศาลา ต่างพากันนอนไม่ได้ เพราะมีผีมาแสดงตนในเวลากำลังเคลิ้ม
ที่จริงแม่บายศรีนี่มาฟ้องข้าก่อน แต่ข้าไม่สนใจ เพราะไม่ใช่เรื่องของข้า
แม่นางจึงงอนจ้องหน้าข้า ไปราวีคนนอนที่ศาลาร้อยก้อนโน่น
ภายหลังต้องตั้งบายศรีเพื่อขอขมา เรื่องทั้งหลายมันจึงได้สงบลง
นี่..คนไม่เคยเจอ มันก็จะบอกว่าไม่มี
แต่คนที่เคยเจอรู้ว่ามันมี และที่มันมีนี้ ปัญหาคือเราจะรู้จักนำมาเป็นประโยชน์แก่ใจเราได้ยังไง
มันถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาไม่ใช่ว่า งมงายกับสิ่งที่มี หรือไม่สนแม้จะมีหรือไม่มี กูก็ไม่สน
นี่..ผลต่อการอบรมจิตใจมันแตกต่างกัน ว่าไปตามใจเจ้าของ มันก็เป็นสมุทัย
ตรึกตรองและพิจารณาอย่างแยบคายในสิ่งที่มี มันก็เป็นมรรค
นี่..เราเป็นผู้เลือกทาง ไม่ใช่กระแสแห่งทาง มันมาเป็นเจ้าของใจเรา..!!
พระธรรมเทศนา วันที่ 27 พฤษภาคม 2559 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง