แหกวงล้อวัฏฏะด้วยปัญญา

แหกวงล้อวัฏฏะด้วยปัญญา

415
0
แบ่งปัน

****** แหกวงล้อวัฏฏะด้วยปัญญา ******

อันว่าธรรมนั้น มันสาวลึกลงไปเท่าไหร่ ดูเหมือนจะลึกซ้อนลงไปไม่รู้จบ

หากเราใช้กำลังสมาธิ พิจารณาลึกลงไป ลึกลงไปสาวผลนั้นลงไปเรื่อยๆ มันจะหาความเป็นเรานี่ ไม่เจอ

คำว่าผู้รู้นี่ มันเป็นดุจความสว่างของไฟฉาย

ส่องลงไปตรงไหน มันก็รู้แจ้งเห็นแจ้งเท่าที่ฉายไฟเห็น

แต่เจ้าของเห็นและรู้เฉพาะสิ่งที่ตนเองฉายลงไป

เจ้าของที่เป็นผู้ดูสิ่งที่เห็นที่รู้ มันไม่เคยมองเห็นตัวเจ้าของที่เป็นผู้ฉายแสงออกไปเลย

นี่..รู้เช่นนี้ ไม่ว่าสาดส่องลงไปลึกแค่ไหน ล้วนเป็นภพ

ภพนี้ เป็นที่เกิดแก่ผู้รู้ทั้งหลาย ให้มีเจ้าของรู้ที่ฉายสอดส่งลงไปเห็น

รู้นี้เหมือนกระจกเงา ผู้เห็นเงาคือผู้แสดง

แต่ผู้แสดง ไม่เห็นตัวตนเองที่มันแสดง มันเอาการแสดงที่สะท้อนในกระจกเงา เป็นการแสดงของตัวตน

และที่สำคัญ เจ้าของไม่รู้ว่า เงาที่ตนยึดว่าตนนั้นเป็นผู้แสดง มันเป็นเงาแห่งสมมุติที่ไม่มีอะไรเป็นความจริง

เงาก็คือเงา มันเป็นมายาแห่งความจริงที่โดนสมมุติขึ้น จากเหตุและปัจจัย ไม่ใช่ตัวเจ้าของ ที่ไปเป็นเจ้าของ

กระจกเงาที่สะท้อนรู้นี้คือตัว ภพ

ภพ มีได้เพราะอุปาทาน ที่เป็นตัณหาอันเกิดมาจาก อวิชา

การทำลายภพ เจ้าของต้องหันมามองความเป็นจริง ว่า

สรรพสิ่งทั้งหลาย ล้วนสมมุติ สมมุตินี้ เป็นอัตตาที่สร้างเป็นสมมุติขึ้นมา

อัตตานี้ ที่มองเห็น มันเป็นเหมือนกระจกเงา

เงาที่แสดง และเจ้าของยึดมั่นถือมั่นนั้น จริงๆแล้วไม่มี

ที่มี เป็นอัตตาสมมุติที่เกิดจากเงาของผู้แสดง

การจะเข้าใจเช่นนี้ได้ เจ้าของต้องพิจารณาสาวผลที่แสดงลงไปหาเหตุที่มี

เหตุเป็นตัวแสดงผลที่เป็นเงา และสาวเหตุนั้น อันเป็นผลที่ลึกลงไป สาวลงไปหาเหตุ ที่เป็นผลที่ลึกลงไปอีก

การสาวลึงลงไปเช่นนี้ มันจะมีวัฏฏะของกาล ที่มันแสดงผลในแต่ละรอบ

รอบกาลเหล่านี้ ท่านเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท เป็นรอบกาลแห่งวัฏฏะ ที่เป็นวงกลมในแต่ละรอบ ที่มันซ้อนๆกันอยู่

อาศัยปัจจัย เพราะสิ่งหนึ่งมี สิ่งหนึ่งจึงมี ที่เรียกว่า อิธทัปปัจจยตา วนจนครบกาล

หากผู้มีปัญญาแยกวงแห่งปฏิจจสมุปบาท ที่มันวนอยู่ในกาลแห่ง อิธทัปปัจจยตา ออก

การสาวผลลงไปหาเหตุ ก็จะแจ้งขึ้นมา ในปัญญาของความหมายแห่งธรรมทั้งปวง

เจ้าของจะรู้ว่า กาลนี้ มีไม่ที่สิ้นสุดด้วยกฏ อิธทัปปัจจยตา

แต่มันมีรอบแห่งความสิ่นสุดที่ซ้อนอยู่ในกาลแห่งอิธทัปปัจยตา คือ ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นที่มาของธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า หยั่งยากรู้ยาก กว้างไม่มีที่สิ้นสุด

เข้าถึงได้ตามกำลังที่ตนพึงมี กำลังนี้ คือตัวปัญญา ที่สาวลึกลงไป ตามเหตุและปัจจัย ของกำลังแห่งปัญญา ที่ตนได้สร้างวิสัยภูมิวาสนามา

หากว่ากันตามนัยยะนี้ จะเห็นว่า ผู้รู้ ย่อมมีอยู่ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะธรรมแห่ง อิธทัปปัจจยตา มันดำเนินอยู่

แต่หากมีปัญญาเข้าใจรอบวงล้อแห่งกาลได้ เจ้าของก็อาศัยความเข้าใจแห่งกาลนี้ ฉีกออกจากเส้นทาง ที่เรียกว่า อิธทัปปัจยตา

ด้วยความเข้าใจในกาลเรียกวงล้อนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาท

ผู้ที่มีความเข้าใจในวงล้อแห่งปฏิจจสมุปบาท เป็นจิตที่พ้นแล้วซึ่งการเวียนวนแห่งวัฏฏะ ที่จะวนเวียนมาสู่การกำเนิดอีก ด้วยอำนาจแห่งอวิชา

แต่การเข้าใจนี่ ไม่ใช่เข้าใจเพราะท่องจำปฏิจจสมุปบาทได้

มันเข้าใจเพราะเข้าใจเหตุของกฏอิธทัปปัจจยตา ว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย มันอาศัยเหตุปัจจัยเกิด ไม่ได้เกิดกำเนิดจากตัวกู ที่เป็นผู้รู้

เมื่อเข้าใจเหตุปัจจัยดี มันก็จะเห็นความไม่มีกู ไม่มีผู้รู้ ไม่มีผู้ดู ไม่มีผู้วาง

ที่มันมี เป็นเพราะเหตุปัจจัยมี และเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มีนี้ ต่างล้วนแล้วเป็นสมมุติ

สมมุตินี้คืออัตตาที่เกิดมาจากอำนาจแห่ง อวิชา

อวิชาเป็นที่มาแห่งเหตุของตัณหาทั้งปวง..!!

ฟังกันมึนๆเล่นๆยามบ่าย ร่ายไปเรื่อยรอน้องๆมันขนหิน..

28 ส.ค. 58