รู้มากแต่โง่ก็เยอะแยะ

รู้มากแต่โง่ก็เยอะแยะ

556
0
แบ่งปัน

เรื่องการสักยันต์ ทำให้ขลัง เพื่อเรียกศรัทธานี่ เป็นเรื่องของความหลง ด้วยหรือเปล่า ครับ

พระอาจารย์ : มันเป็นความเชื่อน่ะครับ มันมีหลายเหตุปัจจัย

สักแล้ว ยิงฟันแทงไม่เข้านี่ก็มี แต่คงไม่แน่นอน มันเป็นเรื่องของอำนาจจิตส่วนหนึ่ง

ถ้ามันแน่นอน อยุธยาเราคงไม่เสียกรุงถึงสองครั้ง

เพราะทหารออกรบแต่ละคน สักยันต์เต็มตัวกันทุกคน ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์

กราบพระอาจารย์ในปัญญาที่กว้างและลึกครับ

ผมแอบศึกษาอยู่ห่างๆ ก็ตรงกับที่พระอาจารย์กล่าวไว้ทุกประการ ไม่มีผิด ความโต่งที่เป็นอัตตา มันก็คือมิจฉาดีๆนี่เอง หากสำนักนั้น แสวงหาธรรมจริงๆ ก็ควรละวางอัตตานั้นเสีย…

พระอาจารย์ : นี่ถ้าทางสำนักนี้ ค้นคว้าเพื่อมาเกื้อกูลแก่ผู้ศึกษา เพื่อให้ได้เห็นให้อ่าน ธรรมแห่งพุทธวจนะ

โดยไม่เอาทิฏฐิที่เพ่งโทษ กูถูมึงผิดใส่ในธารที่ไหลหลั่งกันออกมา

สำนักนี้ก็จะเป็นคุณที่ยิ่งใหญ่ต่อชาวพุทธศาสนา

เพราะธรรมแห่งพุทธวจนนั้น ในอดีตท่านก็ค้นออกมาเผยแพร่ เพื่อเกื้อกูล เพื่อค้นคว้า เพื่อศึกษา แต่ท่าน วางของเก่าไว้ด้วยความเคารพ

มีเป็นหนังสือหลายเล่มทั่วโลก แต่ไม่ดังเท่าสำนักนี้ ที่ออกมาตีปี๊บประโคมข่าวสร้างกระแส ให้คนได้หันมาอ่านพุทธวจนะเลย

นี่..ตรงนี้ๆๆๆ มันน่าเสียดาย เสือกเอาความดีที่สร้างไว้ ไปเพ่งโทษผู้อื่นซะนี่

นี่เรียกว่า เอาของดีมาทำให้อัปปรีย์เพื่อเป็นพิษปลิดชีพตน และคนรอบข้างไปด้วย

พุทธนี่ ใช้บาลีมาเป็นหลักในการแปล หากรู้บาลี เข้าใจบาลี ท่านก็แปลตรงมาจากบาลี มันนอกแนวมาจากที่ไหน ถ้าคนอื่นนอกแนว สำนักนี้ก็นอกแนวเหมือนกัน

เพราะตำราทั้งหลายนี่ ต่างแปลมาจากบาลี ไม่ว่าเล่มไหนฉบับไหน ก็แปลมาจากบาลี

ไม่ใช่จู่ๆ จะมานึกคิดกันเอาเอง หลักดั้งเดิมที่ยึดมันมีอยู่ ทีนี้มันก็เป็นเรื่องภูมิคนแปลกันละ

แต่ถ้าแปลแล้วคิดว่าของตนเองถูก ของคนอื่นผิดเช่นนี้ นี่มันเป็นความคิดโต่งและจัญไรหลายๆ

พวกสำนักพุทธวจนะน่ะ ไปลอกของเขามาทำตัวเป็นเจ้าของพระสูตรการแปลซะเอง

ในภาษาที่แปลนั้น ท่านก็บอกอยู่แล้ว ว่า ให้ไต่ถามกัน ทวนถามกัน หาความหมายกัน ความสงสัยก็จะได้บรรเทาลง

นี่เพราะอาศัย แปลและถอดจากบาลีดั้งเดิมมาเป็นเหตุ การแปลคำต่างๆ ก็ให้ความหมายแบบพจนานุกรม

มหาบัญฑิตที่ไหน มันจะแตกธรรมขึ้นมาเองได้ ถ้าไม่ใช้บาลีดั้งเดิม

แต่นี่ เกิดจากทิฏฐิตัวตนของเจ้าสำนัก ที่ย้อมจิตสาวกที่หัวอ่อนๆ ปัญญาอ่อนๆ ให้เห็นตามว่า ไม่เอาคำของสาวก เพราะสาวกไม่ใช่พระพุทธเจ้า

นี่..มันเป็นทิฏฐิห่วยแตก ฉบับสยามรัฐน่ะ มันเป็น อักษรไทยบาลีทั้งดุ้น

ภาษาไทยที่แปลออกมาน่ะไม่มี ที่เอามาอวดๆ กันนี่ เกิดจากปราชญ์อันเป็นสาวกแปลกันออกมาทั้งนั้น และแปลมาแค่เทียบเคียงกันด้วย

มันจะตรงความหมายได้ไง ในเมื่อแปลมาแบบแปลตัวตรงๆ แบบพจนานุกรม

โง่แล้วอย่าอวดเลยท่านเอ๋ย มันจะอายเด็กๆ เอา….

ธรรมในพุทธวจนะนี้ หากค้นคว้ามาเพื่อเกื้อกูล เพื่อความเป็นประโยชน์ในการค้นหาและเรียบเรียง

จะเป็นคุณต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

แต่หากค้นคว้ามาเพื่อ ความเห็นตนและเพ่งโทษผู้อื่น ว่าผิดไปจากที่ตนได้ค้นคว้า

เช่นนี้ จะทำลายและเกิดการแตกแยกเป็นนิกาย เป็นลัทธิกูถูกมึงผิดออกไปอีก

ค้นคว้ามาเพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์กันซิ เหมือนอย่างที่ชาวโลกที่เขาศรัทธาพระพุทธศาสนา เขาทำกัน

ไม่ใช่มาเที่ยวโทษเพ่งเล็ง ว่านี่ไม่ใช่ นั่นไม่ถูก ต้องฟังแต่ของกูอย่างเดียว อะไรอย่างนี้

ที่ทำๆ มาน่ะดีอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนแนวคิดในทิฏฐิและอัตตาตัวตนที่ดื้อรั้นไม่ฟังคน ลงอีกหน่อย

พุทธวจนะก็เป็นที่เผยแพร่และหอมหวลไปไกล ใครๆ ก็นิยมเชิดชูเพราะความเกื้อกูลธรรม คำแห่งพุทธวจนะ

พระอาจารย์ ผมขอแสดงความคิดเห็น เผื่อมีประโยชน์บ้าง “พระไตรปิฏก” หรือเรียกในภาษาบาลีว่า “ติปิฎก” หรือ “เตปิฎก” เป็นคัมภีร์หรือตำราทาง พระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับ “ไตรเวท” เป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์

“พระไตยปิฎก” มีการชำระและจารึก กับการพิมพ์พระไตยปิฎก ในประเทศไทยมี ๔. สมัย ”

สมัยที่ ๑. ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณพ.ศ.๒๐๒๐.

สมัยที่ ๒. ลงในใบลานที่กรุงเทพ สมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่๑. พ.ศ.๒๓๓๑.

สมัยที่ ๓. ชำระและได้เปลี่ยนมาเป็นการพิมพ์ เป็นเล่ม ที่กรุงเทพสมัยพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่๕. พ.ศ.๒๓๓๑. ถึง๒๔๓๖.

สมัยที่ ๔. ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม ที่กรุงเทพสมัยปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๗. พ.ศ. ๒๔๖๘.ถึง ๒๔๗๓. ตัดมาที่สมัยที่๒.ในปี พ.ศ.๒๓๓๑. รัชกาลที่๑.

ฉบับพระไตรปิฎก และอรรถกถาฎีกาที่มีอยู่ ผิดเพี้ยนวิปลาสเป็นอันมาก ผู้ที่รู้พระไตรปิฎกก็มีน้อยท่านควรจะได้หาทางชำระให้ถูกต้อง

จึงทรงอาราธนา”พระสังฆราช, พระราชาคณะ,ฐานานุกรมเปรียญ. มาไตร่ถามพระไตรปิฎกผิดพลาด มากน้อยเพียงใด

พระสังฆราช,พระราชาคณะ, ได้ถวายพรให้ทราบว่า มีความผิดพลาดมาก เห็นได้ว่ามีการผิดพลาด มาตั้งแต่สมัยยังเป็นใบลาน.

สมัยที่๓. รัชกาลที่๕. ที่กรุงเทพได้กระทำและคัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทย แล้วชำระแก้ไขและพิมพ์ เป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙.เล่ม(เดิมกะว่าจะถึง๔๐เล่ม)

และได้ชำระตรวจสอบ จารึกหรือจัดพิมพ์เสียใหม่ ให้ดำรงอยู่เพื่อเป็นหลักฐานและเป็นหลักแห่งการศึกษา และปฏิบัติตลอดไป และครั้งที่๔. รัชกาลที่๗. ที่กรุงเทพเช่นกันครับ.

ต้องขอสรุป..ไว้ตรงนี้จะเห็นได้ว่ามีการสังคายนาการตรวจสอบ ความผิดพลาด,ผิดเพี้ยนมานานแล้ว เพราะฉะนั้นควรตรึกตรองให้ดีนะครับ(ผิดถูกขออภัยไว้นะที่นี้ด้วยครับ) สาธุธรรมครับ

พระอาจารย์ : ที่ผิดนี่ เป็นในส่วนของอักษรขอม ต้องแยกขอมกับบาลีออกมาอีก

เมื่อเรียบเรียงอักษรใหม่ ก็เป็นบาลีขอมที่ใกล้เคียงการอ่านอักขระบาลีได้ถูกต้องขึ้น

ภายหลังจึงมาเปลี่ยนเป็นอักษรไทย อ่านเป็นบาลี

ในฉบับสยามรัฐนี่ คือหนังสือบาลีภาษาไทย ที่คนไทยสามารถอ่าน สวดมนต์ได้ โดยไม่ต้องไปเรียนอักษรขอมอีก

การแปลบาลีออกมา จึงยึดเอาคำบาลีดั้งเดิมนี้ ออกมาเป็นหลัก ไม่ใช่ว่า เราจะแปลออกมาจากความหมายแห่งภาษาขอม

ภาษาขอมนี่ เป็นคำอ่าน อย่างเช่น นะโมตัสสะ นี่เราเขียนเป็นอักษรไทย

อักษรขอมก็ออกเสียงเป็น นะโมตัสสะ เพียงแต่เป็นภาษาขอมอักษรขอม

ฉะนั้น บาลีก็ยังดั้งเดิมอยู่

ที่ไม่ดั้งเดิม ก็อีตอนที่กลับไปเป็นภาษาท้องถิ่น ด้วยเหตุปัจจัย ร่ำเรียนวินิจฉัย จนแต่งคำบาลีได้ แล้วนำไปพอกพูน เติมแต่งตามยุคสมัยของตน

แล้วแปลกลับมาเป็น บาลีมคธ อีกนี่แหละ การแปลกลับไปกลับมานี่แหละ คือตัวปัญหา

เพราะจะให้ใช้อักษร บาลีมคธ เป็นบรรทัดฐานทั่วไปก็ไม่ได้ ต่างถิ่นต่างภาษามันมีอยู่

เพราะสงคราม เพราะเหตุปัจจัย จึงทำให้แยกย่อย แตกแยกและบิดเบือนกันไป

แต่ขึ้นชื่อว่าปราชญ์ ย่อมอุบัติขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย

ท่านย่อมแกะเปลือกที่ห่อหุ้มออกมาได้ ให้ชนทั้งหลายได้ลิ้มชิมรสเนื้อเยื่อ ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน อันหวานหอมกล่อมลิ้น ได้อยู่แล้ว

ปัญหาคือ หากเป็นยุคแห่งเปรตฟูเฟื่องนี่ซิ เสียงแห่งปราชญ์ มันแหบแห้ง ป่วยการที่จะร้องตะโกนบอก..

ธรรมนี่ เราค่อยๆ ชำระไปเถิดครับ ไม่ต้องรีบเร่ง

การอ่านมาก ฟังมาก ย่อมรู้เห็นมาก การตรึกตรองมองเห็น ก็ย่อมชัดแจ้งตามภูมิวิสัย

ปัญหาคือ เราขาดสติตรึกตรองใจตน ขาดการอบรมใจตน

เมื่อรู้ธรรมมาก มันดันกลายเป็นผู้มากรู้และวางในสิ่งที่รู้มากนั้นไม่เป็น

ปัญหาก็เลยเป็นของหนักเมื่อรู้ธรรมมาก

แทนที่จะมาก และไม่ยึดกับความมากรู้นั้นซะบ้าง

รู้มาก ฟังมาก อ่านมาก มันก็จะเป็นคุณให้พ้นทุกข์คลายจากหน้าที่แบกความมากรู้ลงได้ หากวางมันลงซะได้ โดยไม่ต้องไปยึดมัน

พระธรรมเทศนาจากบทธรรม เรื่อง ** ที่มาที่บิดเบือน เจตนาย่อมบิดเบือน ** ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง