ที่มาที่บิดเบือน เจตนาย่อมบิดเบือน

ที่มาที่บิดเบือน เจตนาย่อมบิดเบือน

778
0
แบ่งปัน

ที่กล่าวกันถึงเรื่องนี้ เพราะเหตุแห่งการถกถามกันมาของพระภิกษุ ที่ท่านยึดอัตตา ในคำแห่งพุทธวจนะ ท่านยึดและได้แย้งกะข้า แต่ที่สุดท่านก็ยอมฟังและเห็นตาม

จึงยกมาพอประมาณ ในเรื่องราวที่คุยกัน ว่าความจริงมันเป็นแนวทางมาแบบนี้

การถกเถียงกันในเรื่องใครผิดถูกนั้น มันเถียงกันไม่จบ หากยังดึงดันและโต่งความคิดว่านั้นนี่ ใช่ และตรงที่สุด โดยไม่สาวผลไปหาเหตุ

พระไตรปิฏกนี่ เป็นงานแปลที่ยิ่งใหญ่ เฉพาะของไทยเรานี่ ก็กว่า สองหมื่นกว่าหน้าที่ขยายแปลๆ กันออกมา ถึงกระนั้น ก็ยังไม่สมบรูณ์ ยังคงต้องค้นคว้าและเทียบเคียงกันต่อไป

คำแห่งบาลีนี่ ดั้งเดิมก็นำมาจากภาษาขอม เป็นบาลีภาษาขอม ที่ขอมแปลจากบาลีมคธ จากยุคไหนก็ไม่รู้อีก ลงมาสู่ใบลาน

ไทยเราเพิ่งมารวบรวมเป็นบาลีไทยเมื่อ รัชกาลที่ 5 นี่แหละมั้ง ข้าเองก็ไม่ค่อยชัดเจน เรื่องประวัติศาสตร์

ไทยสมัยกรุงศรีอยุธา คำภีร์ต่างๆก็โดนกวาดล้างเผาผลาญไปเกือบหมด ภาษาที่ใช้ในใบลานก็เป็นอักขระขอม

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงเก็บรวบรวมนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อสืบทอด พระพุทธศาสนา

พระองค์ได้ทรงประกาสไว้ก้องฟ้าว่า ผืนแผ่นดินนี้ ขอถวายเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อเป็นแผ่นดินของพุทธศาสนาสืบไป

มาในรัชกาลแห่งรัตนโกสินทร์ การสังคายนาในรัชกาลที่ 1 ก็คือการเก็บรวบรวม เรียบเรียงขึ้นมาใหม่ สังคายนานี่ น่าจะหมายถึงการเก็บรวบรวมจากที่ต่างๆ เกี่ยวกับคำสอน

ไม่ใช่หมายถึง มาตรวจสอบหรือวินิจฉัยใหม่ดั่งเราเข้าใจ เราเก็บรวบรวมพระธรรมวินัย พระสูตร พระอภิธรรม เรียกว่า รวบรวมกันมาเป็นเล่มเกวียนกันเลยทีเดียว

ทีนี่ การรวบรวม มันก็ย่อมตกหล่น นี่เป็นธรรมดา

ความหมายแห่งภาษาที่เรานำมาจากอักษรขอม ก็ต้องมาขยายมาปรับแต่งกันใหม่ ในความชำรุดและขาดหาย รวมไปถึงตัวอักษร

ยิ่งทางขอม อารยธรรมชุ่มฉ่ำไปด้วยกลิ่นอายแห่งพราหมณ์ การแทรกด้วยความเชื่อในกลิ่นอายและคำชี้ ย่อมเจือความหมายลงไปในภาษา ที่แปลบาลี ออกมาเป็นภาษาขอม
และแทรกคำแห่งขอม มาเป็นบาลี

ที่สำคัญ เราไม่รู้ว่าอักษรขอมทับศัพย์บาลี หรือเป็นภาษาขอมอธิบายบาลี ออกมาเป็นภาษาขอม

เพราะบาลีนั้น เป็นอักขระและคำโบราณ ผ่านกาลมาเป็นพันๆ ปี ตัวอักษรและภาษา ย่อมบิดผิดเพี้ยนไป นี่เป็นธรรมดา

การรวบรวม เพื่อสังคายนา ก็กระทำกันมาซ้อนๆ และเปลี่ยนแปลง ไม่รู้กี่สิบครั้ง

และการสังคายนาในแต่ละประเทศ ก็มีการสังคายนาซ้ำๆ กันหลายครั้ง เพื่อมุ่งไปสู่จุดเปลี่ยนแปลง ที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด นี่…การตีความย่อมต้องอาศัยอรรถกถาจารย์

ฉะนั้น พระไตรปิฏก ทุกๆ เล่ม ที่ได้นำออกมาใช้ ท่านนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อแสวงหาผู้รู้ยิ่ง ที่ได้ดำเนินตามแนวทาง ที่ดำเนินมาในทิศทางที่ใกล้เคียง

เมื่อปฏิบัติตนดีแล้วตามภูมิวิสัยปัญญา ท่านก็จะเข้าใจตรงตามความเป็นจริงด้วยตนเอง โดยเทียบเคียงจากอักษรภาษาธรรม เป็นร่องและเป็นแนวทาง ว่าไม่ผิดเพี้ยนออกนอกทาง

แม้หนังสือพระไตรปิฏกจะเป็นแนวทางที่ยังไม่สมบรูณ์ แต่จะรอให้แปลออกมาอย่างสมบรูณ์ ชั่วชีวิตคน ก็ทำขึ้นมาไม่ได้ เพราะนี่เป็นการแปลความ ไม่ใช่ความจริงอันเป็นสัจธรรม

แต่กระนั้น ก็พอเป็นแนวทาง ที่ผู้เจริญรอยตาม สามารถเดินตามร่องตามแนว แห่งวิถีพุทธ อย่างไม่ออกนอกทางไปมากนัก เรานำมาใช้มาเผยแพร่กันก่อนได้ แล้วค่อยค้นคว้าเทียบเคียง ในส่วนที่ต้องขยายกันต่อไป

เราจึงไม่สมควรมาทึกทัก ตัดสินยัดเยียดว่า ของกูถูก ของมึงผิดอะไรอย่างนี้ อย่างที่สำนักพุทธวจนะว่า

เพราะที่ว่ากูถูกผิด มันก็ยังไม่ชัดเจนสมบรูณ์ นี่ว่าอย่างกลางๆ ตามความเป็นจริง

การดึงพระพุทธวจนะออกมาเผยแพร่ เป็นสิ่งที่ดีงาม ควรค่าแก่การสรรเสริญ

แต่โบราณ ท่านทั้งหลายต่างก็เก็บมาเรียบเรียง เพื่อให้ง่ายต่อการเทียบเคียงธรรม ทำกันหลายประเทศและหลายภาษา

ของไทยเรานี่ ท่านพระพุทธทาสได้แปลและเรียบเรียงเอาไว้ ในประเทศศรีลังกา ภิกษุชาวเยอรมัน ก็ได้เลือกเก็บ คำแห่งพุทธพจน์มาเรียบเรียงไว้

ตั้งชื่อว่า The Word of the Buddha ในปีประมาณ 2449 นี่แหละ

ที่ประเทศอังกฤษก็มี ในปีประมาณ 2482 ก็มีการจัดเก็บทำเป็นหนังสือ ตั้งชื่อว่า Some Sayings of the Buddha

นี่ ท่านเหล่านี้ ท่านก็เอามาจากพระไตรปิฏกบาลี แต่ละท่านต่างก็เป็นผู้แตกฉาน รู้ภาษาบาลี อ่านบาลีได้ด้วยตนเอง และมีทีมค้นคว้า

” ทุกท่านทำขึ้นมาเพื่อเกื้อกูล พระพุทธศาสนา ” ไม่ใช่แปลกันออกมา เพื่อเป็นอัตตา ว่าของกูถูก แปลออกมาว่า คนอื่นผิดเชื่อไม่ได้

นี่..เขาแปลกันออกมาก่อนเจ้าสำนักพุทธวจนะเกิดมาซะอีก แต่เขาทำเพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าไปค้นคว้าง่าย ไม่ได้แปลขึ้นมา เพื่อจะสร้างพระไตรปิฏกขึ้นมาใหม่ เพื่อแทนของเดิม ที่ตนเข้าใจ ว่าไม่ใช่ไม่ถูก ต้องของกูถูกอย่างเดียว

ยิ่งพุทธวจนะ ไปอ้างอิงเรื่องเสาหินอโศกนี่ มันเป็นเรื่องที่บ้าไปกันใหญ่

นี่เป็นเรื่องโกหกที่เลวร้ายและอับเฉาเบาปัญญาของผู้เผยแพร่กันเลยทีเดียวเชียวละ

อ้างกาลลึกๆ เพื่อประโคมความยิ่งใหญ่แห่งคำพุทธวจนะ ด้วยคิดว่าผู้อื่นไม่รู้อะไรเลย นี่มันเหมือนผู้ใหญ่หลอกเด็ก คือพร่ำไปเรื่อยโดยไม่มีสติตรึกตรอง

พระเจ้าอโศกนี่ เริ่มครองราชประมาณปี พ.ศ . 218 – 260

หลังจากพิชิตแคว้น กลิงคะได้แล้ว ก็เริ่มหันมาสนพระทัยต่อพุทธศาสนา และได้ ทำการสังคายนาพุทธศาสนา เป็นครั้งที่ 3

พระเจ้าอโศกได้สร้างศิลาจารึก กระจายไปทั่วจักรวรรดิ อันยิ่งใหญ่ไพศาลในยุคของพระองค์

การจารึกนั้น เป็นเรื่อง พระราชกรณียกิจ หลักธรรมมาภิบาลแห่งการปกครองของพระองค์ พระราชจริยาวัตร ความเป็นไปในลักษณะรูปแบบของยุคนั้น ลงบนแผ่นภูผา และหินเสา

ส่วนเรื่องคำจารึกพุทธวจนะที่นำมากล่าวอ้างกัน ไม่มีซักพระสูตร ที่จะไปเอ่ยจารึกกันลงไป

แม้จะมีหลายเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพราะพระองค์ทรงประกาศอุปถัมภ์

ก็ทรงจารึกไว้แค่เล่าเรื่องว่า พระองค์ได้ทรงเป็น อุบาสก ได้เสด็จไปนั้นนี่เกี่ยวกับสถานที่ ในพุทธประวัติ

ที่ใกล้เคียงพุทธวจนะที่สุด ก็แค่บอกกล่าวให้แก่เหล่าพระภิกษุสงฆ์ พึงสดับและพิจารณา ใคร่ครวญธรรม ของพระพุทธองค์อยู่เนืองๆ

นี่..ไม่ใช่พระองค์จะนำเอาคำแห่งพุทธวจนะมาแสดง แกะจารึกไว้ที่เสาหินอโศก อย่างที่พากันแอบอ้างมา

ความยิ่งใหญ่ในแผ่นดินยุคพระเจ้าอโศก มันยิ่งใหญ่และกว้างใหญ่กว่าอินเดียในปัจจุบันมาก

แต่ละเมืองก็ย่อมแยกแตกต่างไปทางด้านภาษา การแกะสลักเสาหินก็เป็นการปักอาณาเขตแดน สัญญลักษณ์อาณาจักรในเขตแดนแห่งจักรกวรรดิ์

ภาษาก็เป็นภาษาถิ่นที่แตกแยกกันออกไป เป็นภาษากรีกบ้าง ภาษาอาเรเมี่ยนบ้าง ที่มากก็จะเป็น อักษรพราหมี รองลงมาก็คือ อักษร ขโรษฐี

ภาษาบาลี ที่ใช้จารึกรักษาคำแห่งพุทธวจนะนี่ ไม่มี นี่ว่ากันถึงคำแปลทั้ง 28 ฉบับท่าน ป.ประยุทธ ท่านแปลเอาไว้ ข้าเคยอ่านพบเมื่อปี 18,19

นี่ว่ากันพอคร่าวๆ เพื่อให้เห็นเป็นแนวทาง ว่าความจริงร่องมันมีมาอย่างนี่

ฉะนั้น หากรู้แค่หอยหมี อย่าเพิ่งไปตะโกนกู่ร้องว่ากูถูก มันจะประจานตน และมันจะอายเอา

ในรัชกาลที่ 5 นั้น พระองค์ได้โปรดให้พิมพ์พระไตรปิฏกด้วยอักษรไทย เป็นหนังสือ ในใบลาน ข้าก็เคยอ่านเป็นตัวพิมพ์ สมัยเป็นเณร เป็นใบลานแต่ใช้ตัวพิมพ์

แต่พระทั่วประเทศก็ยังใช้ใบลาน จารอักษรขอมมาร่ำเรียนกัน แม้ในการเรียนการสอนบาลี ของพระเณร

พระไทยเราก็ยังสอบยังเขียนด้วยอักษรขอมกันไม่เปลี่ยนแปลง นี่เพิ่งมาเลิกใช้เมื่อไม่นานมานี่เอง สมัยข้าเด็กๆ เขาก็ยังใช้ภาษาขอมเขียนอักขระกันอยู่แม้ทุกวันนี้ก็ยังใช้

เพียงแต่ผู้ใช้จำเขามา แปลเองน่ะไม่รู้เรื่อง เพราะถ้าแปลรู้เรื่อง มันก็จะไม่ขลัง หลอกหากินกะชาวบ้านไม่ได้ อักขระต่างๆที่พากันสักยันต์น่ะ ภาษาขอมทั้งนั้น

อย่างยันต์ห้าแถวที่ฮิตๆกัน ก็เป็นพระนามพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ภาษาขอม นี่ถ้าเราเขียนเป็น พระกกุสันโธ พระโกนาคม อะไรนี่ มันก็จะไม่ขลัง

อย่างยันต์มหาเสน่ห์มหามนต์นางกวัก เมื่อแปลออกมาได้ความว่า สวัสดีค่ะ มานี่ มานี

นี่ถ้าเขียนคำแปลแบบนี้ มันจะไม่ขลัง มันต้องใช้ภาษาขอมที่อ่านไม่ออก มันจะได้ขลังๆ

คนเราพอรู้แล้วมันฉลาดขึ้นแหละ แต่ถ้าไม่รู้นี่ ก็งมงายกันต่อไปละ

วันนี้พอแค่นี้ก่อน ต้องขึ้นเขาไปทำงานแล้ว อยู่แต่หน้าโทรศัพท์ ก็ไม่ต้องได้ทำงาน

นี่พอว่าง เป็นการพัก ก็เลยมาขยายความให้ฟังกันเล็กน้อย

ขอสวัสดีมีชัยพึงบังเกิดกับทุกๆคน

พระธรรมเทศนาจากบทธรรม เรื่อง ** โต่งด้วยคำแห่ง พุทธวจนะ ** ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง