สติอันเป็นอุเบกขา เป็นเหตุปัจจัยเข้าสู่กลไกแห่ง อริยสัจ

สติอันเป็นอุเบกขา เป็นเหตุปัจจัยเข้าสู่กลไกแห่ง อริยสัจ

928
0
แบ่งปัน

เมื่อวานได้คุยเรื่องระลึกชาติกัน ก็จะมาต่อกันอีกหน่อยถึงเรื่องการทำสมาธิ

เรื่องการทำสมาธินี่ พอถึงจุดหนึ่ง มันก็เข้าใจละ ว่ามันก็เป็นอาการหนึ่งของจิต

ที่มันหดตัวเข้าๆๆๆๆ มันหดตัวเข้าไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่สติลอยเด่นอยู่อย่างชัดเจน

ความรู้สึกทางกายใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ต่างๆนี่ ไม่มี

พูดง่ายๆว่า หากฟ้าจะผ่า หรือใครมายิงปืนใกล้ๆหูนี่ คงไม่ได้ยิน

สติยังคงชัดแจ้งอยู่ แต่ผัสสะทางอายตนะไม่ทำงาน วิญญานรู้แห่งนามขันธ์มันไม่ทำงาน มันหาตัวเองไม่เจอ

เข้าใจว่า แม้แต่จะมีใครเอามีดมาเถือเนื้อ มันก็คงไม่รู้สึกอะไร

เพราะมันไม่มีรูปให้รู้สึกในสิ่งที่จะมาผัสสะ แม้รูปเราจะนั่งอยู่ตรงนั้นก็ตาม

ความอัศจรรย์ใจย่อมเกิดแก่เจ้าของล่ะ ไม่ว่าใครก็เกิดความอัศจรรย์ใจ

ตรงนี้ท่านเรียกว่ารูปฌาน สี่

คนที่จะเข้าถึงรูปฌานสี่ มีสติเป็นอุเบกขาวางลอยเด่นอยู่นี่

ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง

ความสงัด เช่น ถ้ำ โคนไม้ ป่า เขา ลำเนาไพร อยู่นานๆจนจิตมันเคยชิน และกระทำจิตอยู่เนืองๆอย่างไม่เกียจคร้าน

ภาวะการหดแห่งจิตจะมีกำลัง ที่สุดแห่งรูปฌานก็จะมาสิ้นสุดตรง อุเบกขาแห่งสตินี่แหละทุกคน สำหรับผู้ที่ปฏบัติเข้าถึง

แต่นักปฏิบัติ พันคนจะถึงซักคน หายากที่จะก้าวถึงฌานแห่งอุเบกขา

แม้จะเข้าถึงฌานแห่งอุเบกขา ก็ต้องหมั่นทำอยู่เนืองๆ เพราะใช่ว่า จิตมันจะมีกำลังเข้าได้ทุกครั้งไป

ขาดการต่อเนื่อง การรวมจิตมันก็จะลดลงมาเรื่อยๆ นี่เป็นธรรมดา

ยิ่งออกจากป่า มาสู่ความพลุกพล่านแห่งผู้คน การรวมจิตยิ่งยากที่จะถึงจุดที่สุดแห่งอุเบกขา

แต่ความเคยชิน ก็จะทำให้จิตเกิดความสงบได้เร็วและสูง แต่ต้องอยู่อย่างสันโดดเป็นเหตุปัจจัย

ข้าเองนี่ ทำสมาธิมาอย่างยาวนาน เดี๋ยวนี้ก็แค่เกิดความสงบเป็นการพักจิตพอแค่อยู่ได้เท่านั้น

ไม่ได้มุ่งมั่นอะไรมากมายเหมือนแต่ก่อน ที่ตายเป็นตายกันไปข้าง

ตอนเกิดเวทนาหนักๆนี่ เคยทนกับความร้าวรานของอาการจนตัวสั่นเทิ้ม กัดฟันสู้จนร้อนไปทั้งร่างกาย

ความรู้สึกดุจดังกระดูกมันจะทะลุออกมานอกเนื้อทีเดียว

เหงื่อนี่มันชะโลมกายแทบจะกลายเป็นยางเหนียว

ตรงนี่แหละมั้ง ที่เขาเรียกกันว่ายางตาย ข้านี่ไม่ยอมกับมันเลยเชียวล่ะ

บทเอาขึ้นมาล่ะก็ ตายเป็นตาย ใจเหมือนใครอื่นเขาที่ไหน

นั่งสั่นกับไฟเวทนาที่มันเผารน ให้มันเกรียมกันไปข้าง เผากิเลสฝืนกิเลส เราก็ต้องไหม้เกรียมแผดเผาไปด้วย

แต่ส่วนใหญ่จะแพ้ แพ้แล้วฟัดกันใหม่ แพ้บ่อยๆเข้า ใจมันไม่ได้ยอมแพ้มันนี่ แค่พักยกแค่นั้น ยังไม่นับได้ว่าแพ้

ที่สุด ข้าก็ชนะ ไฟเวทนามันเผาระอุจนถึงที่สุด กายมันก็ระเบิดแตกละเอียดเลย

มันหากายไม่เจอ เมื่อไม่มีกาย ความรู้สึกทั้งหลายก็ไม่มี เมื่อกายไม่มี ความเจ็บปวดที่เป็นไฟแผดเผา มันก็ไม่มี

นี่..จิตมันทะลุผ่านเข้าไปสู่โปรแกรมสุข สุขนี่ ปลอดจากอาการแห่งปิติจิต

ปิตินี่ มันเป็นอาการทางจิตที่เป็นเวทนาทั้งหลาย ที่มันปรุงขึ้นมา

ทางกายก็มี ทางกลิ่นก็มี ทางเสียง ทางผ้สสะ ทางมโน อะไรๆก็มี

นี่ ตราบใดที่ยังเกิดภาวะการปรุงแต่ง ในเวทนาทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า ปิติ

ปิติเป็นาการของจิต ที่มันปรุงแต่งไปตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเอง

แค่มันเสือกมีเราเข้าไปเป็นเจ้าของเท่านั้น

ทีนี่ เมื่อผ่านปิติได้ ความสงบที่ไร้การปรุงแต่งใดๆมันก็เกิด ตรงนี้นี่ ถึงยาก แต่สำคัญเลยเชียว

เพราะตรงนี้ มันเป็นสุขแห่งจิตอันละเอียด มันสงบอย่างไร้การปรุงแต่งแห่งปิติ เป็นภาวะจิตที่ว่างเปล่าจากสุขหรือทุกข์ทั้งหลาย ที่เป็นเวทนาอันหยาบๆ

การวางอุเบกขาทางภาวะสุขอันละเอียดนี่ ต้องใช้เวลา หากแช่หรือเข้าถึงบ่อยๆมันก็จะเป็นการย้อมให้เคยชินอีก มันก็จะติดภาวะเช่นนี้ ตลอดชีวิต เรียกว่าติดความสงบ

สตินี่ตัวสำคัญ สำหรับผู้มีปัญญา ให้โยนิโสเข้าไป เมื่อจิตคลายตัวออกมา

เพ่งกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เคยชิน จนมันวางตัวเป็นอุเบกขา นี่..สุขนี้ก็จะหยาบและผ่านพ้นไปได้ด้วยการโยนิโสบ่อยๆ

การวางตัวอุเบกขาแห่งสุขมันก็จะเกิด นี่..อุเบกขาเกิดเพราะเสริมด้วยปัญญาอันเกิดจากสติ

สตินี้ เป็นสติแห่งอุเบกขา ที่ลอยตัวเด่นดุจเกาะใหญ่ที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางทะเลกว้างเลยทีเดียว

ความอัศจรรย์ใจแห่งเจ้าของผลงาน ในความสว่างไสวแห่งจิต มันจะบังเกิดขึ้นในจิตอย่างไม่รู้เลือน มันหลุดพ้นไปจากสุขทุกข์ทั้งหลายที่เป็นอาการหยาบๆ

จิตจะเสวยผลอยู่นาน โดยไม่มีเราเข้าไปเป็นเจ้าของ มันมีแต่สติอันระลึกรู้และเสวยนามอย่างสงบนิ่งเฉย

เมื่อจิตคลายตัวออกมา ความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาการแห่งสมาธิจิต มันก็ชัดแจ้ง อธิบายได้ มันเข้าใจ แจ้งตลอดสาย

มันแยกได้ด้วยปัญญา ว่า นี่วิตก นี่วิจารณ์ นี่ปิติ นี่สุข นี่เอกัตคตารมณ์ ตามคำสมมุติที่เขาเรียกเขาขานกันมาทางบาลี ตามตำราที่เขาร้อยเรียงกันมา

มันไม่สงสัยจำนนต่อความไม่รู้อีกต่อไป มันรู้จักกันเลยล่ะ อธิบายได้กันเลยละ

เดี๋ยวว่างแล้วจะมาอธิบายว่า เพราะเหตุแห่งการเข้าถึง สติอันเป็นอุเบกขาแก่จิตนี่แหละ

เป็นเหตุปัจจัยให้ได้ บุพเพนิวาสากันยังไง และเหตุแห่งบุพเพนิวาสานี่แหละ

สำหรับผู้มีปัญญา มันจะเห็นชัดถึงกลไกแห่ง “อริยสัจ”

อริยสัจเป็นสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจได้ยังไง ข้าจะขยายธรรมแห่งกลไกให้ฟัง

วันนี้ ขอพอแค่นี้ ขอความสวัสดีมีชัยในดวงตาเห็นธรรมพึงมีพึงเกิดกับทุกคน