จิตเป็นเหตุ…ใจจึงมี

จิตเป็นเหตุ…ใจจึงมี

1069
0
แบ่งปัน
หวัดดียามเที่ยง พอจะว่างจากงานนิดหน่อย ตอนนี้กำลังขัดไม้กันอยู่ มีคำถามจากท่านมหา จะว่าถามก็ไม่เชิง คือท่านปรารภขึ้นมาว่า ข้าเคยกล่าวชี้มานานแล้วว่าจิตเป็นเหตุ...ใจจึงมี ..
” สิ่งใดที่ผัสสะแล้ว ใจไม่สะดุ้งสะเทือน นี่เป็นอาการที่เรียกว่า จิต

ส่วนสิ่งใดที่ผัสสะแล้วสะดุ้งสะเทือน เป็นอาการของใจ ”

ทีนี้ จิตกับใจนี้ มันก็เป็นกล้วยเคลือเดียวกัน มันก็แยกเคลือแยกกล้วยแยกหวีกันลำบาก เคลือก็คือกล้วย ทั้งหมด หวีก็คือกล้วยที่อยู่ในเคลือ พูดง่ายๆ เคลือก็คือจิต หวีก็คือใจ

>> หากเคลือเป็น ใจ

<< ต้นกล้วยก็คือ จิต

>> หากต้นกล้วยเป็น ใจ

<< ดินที่ให้ผลเป็นต้นกล้วยก็คือ จิต

>> หากดินเป็น ใจ

<< โลกนี้ก็เป็น จิต

นี่..มันอาศัยกันมาอย่างนี้ สิ่งหนึ่งมี สิ่งหนึ่งก็มี แต่ในมี มันอาศัยเหตุและปัจจัยเป็นองค์ประกอบ

ทะเลที่มีคลื่นซาดซัด เกิดจากเหตุปัจจัย คือลมและแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดิน ลมก็มีเหตุปัจจัยของความร้อนเย็น คือเตโช

เตโชนี้ก็คือ อุณหภูมิ ไม่ใช่กองไฟที่เราเห็น ความร้อนจากกองไฟนั้น เรียกว่าเตโช คือ อุณหภูมิ

ส่วนกองไฟหรือไฟที่ใช้ตาเห็น เรียกว่า อาโล เป็นแสงสว่าง ในธาตุทั้งหลายนี้ มันก็อาศัยเหตุปัจจัยเกิด ใช่ว่าจู่ๆ มันจะเกิดจะมีกันขึ้นมา

ทีนี้คำว่าใจนี้ มันอาศัยผัสสะเกิด ผัสสะเมื่อไหร่ ใจเกิดเมื่อนั้น หากเทียบให้เห็นอย่างง่ายๆ รูปนี้ก็คือ จิต

ส่วนการเกิดผัสสะแล้วเป็นเวทนา เวทนานี้คือ ใจ คือมันเริ่มก่อเป็นใจมาแต่โดนผัสสะ

โดนปุ๊บ เจตสิกเกิด เจตสิกนี้ คือ จิตสังขาร ที่ปรุงแต่งมาจากอวิชชาเรียบร้อยแล้ว

ปรุงแต่งจบกระบวนการแห่งเจตสิก ก็เป็นเวทนา

เวทนานี้ก็คือ วิญญาณ ที่รู้อาการจากเจตสิกที่แสดงผลออกมา คือรู้ผลการปรุงจากจิตสังขา

เมื่อรู้แล้ว ก็สร้างสมมุติ ตรงนี้คือ นามและรูป ที่เกิดจากผัสสะ

นามรูปเหล่านี้ คือรู้แล้ว ว่าอะไร ในรู้แล้วว่าอะไรนี้ แยกออกเป็น มีสมมุติชื่อบัญญัติและไม่มีสมมุติชื่อบัญญัติอีก

นี่..ตรงนี้เราจะมาคุยขยายความกัน เพราะมันละเอียดอ่อนเกินพวกเราจะตามรู้กันได้ หากไม่มีผู้ชี้แนะ

เวทนาตัวนี้ ที่รู้แล้ว มันเป็นสภาพแห่งจิต ที่มีบันทึกสัญญาจากใจหล่อเลี้ยงอยู่แล้ว ใจจึงไม่เกิดมาให้จิตเกิดการกระเพื่อมหวั่นไหว อะไรมากมายในสิ่งที่ผัสสะ

ดุจกับน้ำก็คือ น้ำที่ปรุงแต่งเป็นน้ำอยู่เช่นนั้น หากไม่มีลมหรือแรงสะเทือนมาผัสสะ คลื่นแห่งน้ำที่สั่นไหว ย่อมไม่มี

จะยกตัวอย่างใฟ้ฟัง เณรน้อย เขานอนที่ชายน้ำคนเดียว เขาไม่กลัว หากถามว่าเขาไม่กลัวหรือ ก็ต้องตอบว่าเขากลัว ความกลัวและไม่กลัวนี้ ยังหยาบอยู่

แต่ที่นอนได้คนเดียว ก็ต้องเรียกว่าไม่กลัว ถ้ากลัว ก็คงไม่กล้านอน นี่..มันปรุงมาแล้วหนักไปทางไม่กลัว

ความไม่กลัวและกล้านอนคนเดียวนี้ เป็นเรื่องของจิต

จิตได้รับการอบรมจากใจแล้ว ว่ารอบตัว มันไม่มีอันตราย ใจจึงวางและคลายความกลัว จิตนั้น มันไม่มีความกลัว ความกลัวเป็นเรื่องของใจ ที่ย้อมลงไปในจิต

สภาพนี้ของเณร เรียกว่า ใจมันวางเพราะรู้แล้ว ว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัว เกินกว่าใจจะต้านทานได้ เณรจึงนอนหลับสบาย เพราะใจคลายจากความกลัว เณรถึงนอนอยู่ได้

สภาพอาการแบบนี้ เรียกว่าใจว่าง จากสิ่งทั้งหลาย ความว่างจากสิ่งทั้งหลายนี้ เรียกว่า จิต

ว่างอย่างนี้ เป็นการว่าง และวาง เพราะไม่มีอะไรมาผัสสะให้ถึงทิฏฐิ

เป็นความว่างและวาง อย่างที่โลกเขาสอนๆ กัน คือ ฉันไม่เอาอะไรแล้ว ว่างอยู่แล้ว วางอยู่แล้ว นิพพานอยู่แล้ว ว่างอย่างนี้ นี่แหละ คืออาการของเณรที่เป็นอยู่

เขาเรียกว่า ใจมันว่างและวาง เพราะยังไม่รู้ ใจมันอาศัยอวิชชา เป็นเครื่องอยู่ของความว่าง และวาง มันมีตัวตนเป็นเจ้าของการว่างและวาง ด้วยอำนาจแห่งใจที่ปรุง

ใจมันยังไม่ได้ซักฟอกตรงตามความเป็นจริงอะไรเลย เรียกว่า ใจมันว่างและวาง เพราะความไม่รู้ คืออวิชชาเป็นเหตุ

ถ้าวันใด เณรรู้ว่า ข้าไม่อยู่ ท่านมหาไม่อยู่ ความว่างแห่งใจที่มันวางและว่างจากความกลัว มันก็จะก่อรูปขึ้นมา ให้เณรได้วิ่งกันน้ำบาน

หากเณรไม่รู้ว่าข้าไม่อยู่ เณรก็จะนอนหลับอย่างอุ่นใจ เพราะความไม่รู้เป็นเหตุ

แต่ถ้ารู้ขึ้นมา ว่าข้าไม่อยู่ ใจก็จะก่ออาการให้เป็นเหตุกระเพื่อมจิต ให้เณรนอนต่อไปคนเดียว ในแพริมน้ำไม่ได้

นี่..ว่างและวาง เพราะมันไม่ถึงซึ่งทิฏฐิ ว่างและวาง เพราะอวิชชา คือความไม่รู้เป็นเหตุ จึงมีเจ้าของและตัวตนในความว่างและวางนั้น ด้วยความมั่นอกมั่นใจ จึงกลายเป็นจิตที่โดนปกคลุมและย้อม เข้าใจว่าเจ้าของ เป็นผู้วางและว่างแล้ว

เณรนอนหลับสบายได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีข้าและมหาอยู่ใกล้ๆ นี่..เพราะความไม่รู้ อยู่ได้เพราะมั่นใจ ไม่กลัวอะไร อาศัยใจที่ปรุงและย้อมจิตมาทางไม่กลัว

แต่หากรู้ว่าไม่อยู่ เณรอยู่คนเดียว เณรก็อยู่ไม่ได้ ใจเณรกลัว อะไรรอบๆ ตัว ทั้งๆ ที่ไม่เคยกลัว อะไรรอบๆ ตัว ตอนรู้ว่ามีข้า

นี่..อำนาจแห่งอวิชชา ไม่กลัว เพราะความไม่รู้ และเณรกลัว เพราะความรู้ในสิ่งที่ไม่กลัว

ความกลัวนี้ คือ ใจ ที่เป็นอาการของจิต ใจนี้ อยู่คู่กับเราตลอดไปจนวันตาย ขาดใจเมื่อไหร่ ก็เหลือเพียงจิต ที่บันทึกสิ่งโง่ๆ ที่ใจมันยัดเยียดให้

จิตดวงนั้น ก็ต้องวนเวียนมาหาใจ เพื่อเกิดการแสวงหาผัสสะใหม่ๆ โดยไม่รู้จบ นี่..เพราะความโง่แห่งใจที่ไม่ได้รับการอบรมเป็นเหตุ มันก็เลยว่าไปตามอำเภอใจ

แต่ใจโง่ มันก็ย้อมให้จิตโง่ด้วยเช่นกัน ความโง่นี้ เกิดจากใจที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรตรงตามความเป็นจริง เป็นเหตุ เรียกว่า เป็นผู้ยังไม่รู้จัก อริยสัจ

นี่ ถ้าเณรได้รับการซักฟอกใจ ว่าสรรพสิ่งรอบๆ กาย มันก็เป็นของมันเช่นนั้นเอง มันอาศัยเหตุปัจจัยเกิด และเหตุปัจจัยนั้น มีแต่ใจเจ้าของนี้นี่แหละ ที่ชอบเข้าไปเสือก

เณรก็จะมีใจที่เข้าใจโลก และยอมรับความจริงได้ ว่าจะมีใครหรือไม่มีใคร ใจดวงนี้ ก็ต้องเผชิญโลกอยู่เช่นนี้ อย่าได้ไปหวังพึ่งใครเขาอีกเลย การพึ่งพามันเป็นโปรแกรมหลอกให้มีความหวัง กับสิ่งที่ยัง….ไม่แน่นอน

ความหวังทั้งหลาย เกิดจากใจที่ยังไม่เข้าใจ ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายที่เราหวัง ไม่มีอะไรได้ดั่งใจ ไม่มีอะไรแน่นอน มันเป็นของมันเช่นนี้ ยอมรับมันซะ อย่าไปเสือกฝืนกับโลกมัน

คำว่า อัตตาหิ อัตโนนาโถ มันเกิดขึ้นเฉพาะใจ ที่ไม่จำเป็นต้องหวังไปพึ่งใครแล้วเท่านั้น ตราบใดที่ยังหวังพึ่งนั้นพึ่งนี่ นี่เป็นใจที่ต้องแสวงหากันต่อไป โดยไม่รู้จบ

เที่ยงนี้หวัดดีหลายๆ ฝนกำลังมา หวัดดีสายฝนอันเย็นทรวงท่ามกลางป่าและผืนน้ำ..

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง