มานะ…แห่งทิฐิ

มานะ…แห่งทิฐิ

974
0
แบ่งปัน

วันนี้ เรามาคุยกันเรื่องอะไรดี วันก่อนโน่น เห็นเถียงกันเรื่องอะไรหนอ

“เอาเรื่องจิตครับ”
“กราบนมัสการ พอจเจ้าค่ะ”

เรื่องจิตนะมันกว้าง พูดเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง มันมีกาลซ้อนเยอะ คราวก่อนคุยไปเรื่องทิฐิ มาต่อด้วยเรื่อง มานะ ก็แล้วกัน
จะได้มามองย้อนเราว่าอะไรคือทิฐิ อะไรคือมานะ ดีไหม..

อันทิฐินั้น คือความเห็นที่เรามันยึด ไม่ปล่อย ไม่ฟังใคร จะเอาตนเองเป็นที่ตั้งในการตัดสินถูกผิด

คือชอบตัดสินจากผลที่ตัวเองคิดว่าใช่ คิดว่าถูก ที่สำคัญ ไม่ยอมรับเหตุผลของผู้อื่นด้วย

แต่การยอมรับ ไม่ใช่ยอมรับทุกอย่างแล้วไม่เป็นทิฐิก็หาไม่ มันก็เป็นทิฐิอยู่ดี คืออาจตัดความรำคาญ หรือยอมรับเพราะเราไม่รู้ก็มีอีก

คนที่อยู่เหนือทิฐิได้ คือเป็นคนฟังเหตุฟังผล ไม่ตัดสินถูกผิดด้วยผล ที่เห็น หากมีผู้มาแก้ต่างก็เป็นผู้พร้อมที่จะรับฟัง หากเขามีเหตุแห่งผลที่รองรับและดีกว่า ก็ยอมรับ นี่..คนเช่นนี้ อยู่เหนือทิฐิ

แต่มันยังมีทิฐิที่เหนือกว่านั้น เพียงแต่มันยังไม่แสดงตัว เราจึงคิดว่า เราไม่มีทิฐิแล้ว

เพียงแต่ใจเรามันมีความต้านทานกระแสได้ เพราะมีสติเป็นเหตุ มันยังไปไม่ถึงทิฐิที่มันละเอียดกว่า
นี่ย้อนไปเรื่องทิฐิ

คราวนี้ เมื่อมีทิฐิ มานะมันก็มีตาม หรือเราอาจอยู่เหนือทิฐิ แต่มานะมันดันมาเป็นเราโดยไม่รู้ตัวอีก ตรงนี้มันละเอียดซ้อนเข้าไปอีก

ทิฐิคือยึดในความเห็น มานะก็คือ การอวด ชอบอวด..ในสิ่งที่ยึดและไม่ยึด
พวกชอบโชว์ ว่าข้าเจ๋ง ข้าเก่ง อวดดี อะไรทั้งหลาย นี้เป็นมานะ ทำท่าว่าไม่อวด ไม่โชว์ เฉยๆไม่ใส่ใจ ทำเป็นคนดี นี่ก็เป็นมานะ อะไรที่ทำขึ้นมาแล้วทำให้คนอื่นเห็นว่า… เป็นมานะทั้งนั้น

การกระทำตัวตามกฏ ตามตำรา ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ เพื่อให้ใครเขารู้ แม้ไม่ยุ่งหรือว่ากล่าวถึงใคร นี่ก็เป็น มานะ

ต้องอย่างนั้นซิ ต้องอย่างนี้ซิ เรียกว่าอวดความเห็น จะผิดหรือถูก ก็เป็น มานะ
การไม่ยอมรับความจริง หรือยอมรับความจริงแต่ยึดตามนั้น นี่ก็เป็นมานะ

มานะนี้ ยึดในสิ่งที่มีแล้วอยากโชว์ เพื่อให้คนอื่นรู้ว่า ฉันมีดี ฉันทำตามโลกเขาว่า นี่คือคนดี และฉันก็เห็นว่าดี นี่เป็นมานะ ที่สำคัญ ทำแล้วมันไม่ค่อยเชื่อฟังใค

มันอยู่เคียงคู่กับทิฐิ แยกกันแทบไม่ออก อยู่ที่ตัวไหน มันจะมีแรงมากกว่ากันเท่านั้น

ทั้งคู่อาศัย กิเลสตัวหนึ่งเป็นแดนเกิดเป็นแดนกำเนิด นั้นก็คือ ตัณหา
สามตัวนี้ อยู่คู่โลกมายาวนาน เรียกว่าไอ้สามเกลอทีเดียว

ตัณหา มานะ ทิฐิ ทำงานร่วมกัน มีหน้าที่เป็นโปรแกรมสร้างรูป ให้นามได้อาศัย
หากไร้สามตัวนี้ ความเป็นเราก็จะไม่มี

เพราะความเป็นเราและรูป ต้องอาศัยโปรแกรมนี้สร้างเสบียง ในการเดินทางในวัฏฏะ

หากเราสามารถลดความเชี่ยวกราก แห่งกระแสความแรงในสามตัวนี้ได้ เรามีโอกาสนิพพานในอัตภาพนี้ หรือเหลือภพชาติอีกไม่มาก

วิธิง่ายๆในการลดความเชี่ยวกรากของสามตัวนี้ก็คือ การมีสติ ลด ละ เลิก ใจที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จบให้ได้ นี่คือวิธีที่จะกำราบสามตัวนี่

เมื่อไหร่ที่เราพึงมีสติ พิจารณา การผัสสะแห่งกาย ได้อย่างชำนาญ
เราจะมองเห็นความจริงแห่งเหตุทุกเรื่องว่า มาจากตัณหา

คือความอยากที่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จักจบนี่แหละ เป็นเหตุก่อความเดือดร้อนทั้งปวง

นี่คือตัวสมุทัย ที่อยู่ใน อริยสัจ ผลของมันเป็นตัวก่อทุกข์ ทุกข์ทั้งที่เป็นอยู่ในอัตภาพนี้ และอัตภาพต่อไป โดยไม่มีที่สิ้นสุด
อาศัยเหตุแห่งตัณหาทั้งสิ้น.

การ ลด ละ เลิก ในความอยากที่เป็นตัณหา ใช้สติ ใคร่ครวญพิจารณา สาวผลไปหาเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายที่เราจะเผชิญ

เป็นการเจริญทางเดินแห่งมรรค ครบองค์ประกอบทั้งแปด โดยไม่ต้องมานั่งแยกเป็นข้อ

ลด ละ เลิก ความอยากที่เชี่ยวกรากทั้งหลายให้มันพอ ทุเลา เบาบาง เจือจางลงมาแค่พอรับได้ ว่าควรหรือไม่ควร กับภาชนะที่เรามี

หากเราพอมีปัญญา ยอมรับได้โดยสติเช่นนี้ เรามีหวังพ้นออกจากทุกข์ ในอัตภาพนี้ เพราะนี่คือ หลัก อริยสัจ ทางเดินแห่งมรรค ผลก็คือ นิโรธ

ตัณหา มานะ ทิฐิ เราเจือจางมันได้ ด้วยการฝึกสติ

เบื้องต้นหัดยอมรับอะไรให้ได้ซะก่อน แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ
เริ่มตั้งแต่การมีศีล สมาธิ ปัญญา ทำเท่าที่กำลังของเรามี แค่ไหนแค่นั้น

ตรงนี้ทำให้เรามีสภาวะจิตที่เกิดขึ้นมา หากดำเนิน การลด ละ เลิกโดยมีสติพิจารณาประคอง นั้นก็คือ การเป็นผู้มีศีล เราเรียกว่า มนุษยธรรม

มนุษย์ธรรมก็คือมนุษย์ที่จะไม่กลับมาเกิดเป็นสัตว์ อสูรกาย เปรต และนรกภูมิอีกต่อไป

ท่านเรียกมนุษย์พวกนี้ว่า พระโสดาบัน กลับมาเกิดอีกไม่เกิน 7 ครั้ง แล้วพ้นทุกข์

นี่เป็นผลมาจาก การเริ่ม ลด ละ เลิก ความอยากอันเป็นตัณหาที่ผุดขึ้นมาจากใจไม่รู้จบ เรียกว่าเป็นผู้มีศีล คือเป็นผู้มีสติ

เมื่อตัณหาลด มานะก็ลด มานะลด ทิฐิก็ลดตัวใดตัวหนึ่งลด ที่เหลือ ลดหมด
หากตัวใดตัวหนึ่งดับ ที่เหลือ ดับหมดเช่นกัน

เพราะทั้งสามตัวนี้ คือกิเลส ที่ต้องขจัดด้วยหลัก อริยสัจ เมื่อเข้าถึงอริยสัจ ก็เข้าถึง อิทัปปัจจยตา เข้าถึงอิทัปปัจจยตา ก็เข้าถึง ปฏิจจสมุปบาท เข้าถึงปฏิจจสมุปบาท ก็เข้าถึงตัวอวิชา เพราะอวิชาเป็นที่มาแห่งเหตุทั้งปวง

คืนนี้ขอลาแค่นี้ สวัสดี..