ผลแห่งคำแช่ง… 

ผลแห่งคำแช่ง… 

1046
0
แบ่งปัน

>> คำถาม : ขอเรียนถามพระคุณเจ้าครับ....สรุปแล้วไม่ว่าการแช่งหรือการอวยพร…หรือการกล่าวอาฆาต..กล่าวจองเวร..

12799243_1787430528152070_288233691288507087_nเป็นพลังงานที่ออกจากทางวาจา…ระหว่างคนสองคนคือผู้รับและผู้ฟัง….ดังนั้นสิ่งที่พระคุณเจ้าได้แสดงไว้ข้างต้น

คือ...ผู้ฟังถ้าเราไม่รับเอามาใส่ใจ..คำพูดนั้นก็ไม่มีผลเพราะไม่มากระทบ..ถูกต้องไหมครับ?

แต่ผู้พูดที่มีใจเป็นอกุศล..ผลจะเกิดแก่ผู้พูดทันทีเพราะใจกระทบไปแล้ว….

อีกอย่าง…การจองเวรกันข้ามภพชาติดังเช่นพระเทวทัต…จองเวรพระพุทธเจ้าทุกชาติเท่ากับจำนวนเม็ดทรายในหนึ่งกำมือสมัยที่พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพ่อค้า….

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วถึงแม้ว่าอีกฝ่ายไม่รับรู้..หรือไม่รับในคำพูดอีกฝ่าย…แต่กรรมยังส่งผลให้ฝ่ายที่เขาจองเวรมากระทำกับอีกฝ่ายอยู่ดี

ผมใคร่ขอความกระจ่างตรงจุดนี้ด้วยครับ…ขอนมัสการพระคุณเจ้าครับ..

<< พระอาจารย์ : ขอตอบ Meena Mana นะครับ เพื่อความกระจ่าง เป็นธรรมยามเที่ยงๆ

การที่พระเทวทัตกล่าวคำอาฆาต จองเวรพระพุทธเจ้าด้วยความไม่พอใจ ผลนั้นตกอยู่กับพระเทวทัต ที่จะต้องเสวยทุกข์

แม้ผลนี้จะติดตามกันมา ก็เนื่องด้วยเจตนาเจ้าตัวเป็นเหตุ เหตุนี้เป็นวิบากที่สืบเนื่อง อาศัยความอาฆาตแค้นเป็นเสบียง ในการสืบต่อ

การจบต้องไปจบที่พระเทวทัต ไม่ใช่จบที่พระพุทธองค์เจ้า ผลนี้ เมื่อมีผู้เจตนาก่อเหตุ เหตุแห่งผลนั่น ต้องเสวย

นี่…เป็นธรรมชาติของมัน ที่พระพุทธองค์เจ้าต้องมาเสวยกรรมกับพระเทวทัต แม้จะไม่มีพระเทวทัต พระพุทธองค์เจ้า ท่านก็ต้องเสวยกรรมเช่นนี้อยู่เช่นกัน

ไม่มีกรรมกับพระเทวทัต พระบารมี ก็ย่อมไม่เต็มเช่นกัน มันส่งผลผลักดัน ตามเหตุและผลกันอยู่

เพราะกรรมที่พระพุทธองค์ท่านต้องเผชิญ กับพระเทวทัต ไม่ได้เป็นกรรมที่ต้องแย่งถาดกันไปแย่งถาดกันมา ในแต่ละชาตินี่

แต่เป็นกรรมที่ต้องเผชิญกัน และก่อเหตุกันไป ตามอารมณ์และวิถีปรุงแต่งในแต่ละอัตภาพ และไม่ใช่ทุกครั้งที่ต้องมาเกิดซะด้วย

นี่ท่านเรียกว่า วิบากกรรม ที่มีสัญญาต่อกัน อาศัยกระแสแห่งอวิชชาเป็นเหตุ เหตุนี้ มักเกิดเพราะ พระเทวทัตมี เพราะแต่ละชาติ ที่เป็นเหตุเกิด พระเทวทัตเป็นฝ่ายกระทำ

หากมันเป็นกรรมต่อกัน อีกชาติต่อมาหรืออีกต่อๆ มา พระเทวทัต ก็น่าที่จะโดนพระพุทธองค์ เอาคืนมั่ง ผลัดกันตามวิบาก เราฆ่าเขา พอเกิดมาแล้วเขาฆ่าเรา

นี่..ในห้าร้อยชาติ พระพุทธองค์ไม่เคยได้ทำลายพระเทวทัตซักชาติ มีแต่พระเทวทัต เข้ามาทำลาย และแพ้ภัยตนเองที่มาทำลายทั้งสิ้น

เรื่องชาดก ห้าร้อยชาติ เป็นเรื่องแต่ง ผู้ร้ายที่มาทำลายความดี ท่านไปลงที่พระเทวทัตทุกครั้ง ไม่ว่าใครผู้นั้นจะเป็นใคร คู่กรณีต้องเป็นต้องใช่ พระเทวทัต

นี่..พระพุทธองค์ไม่เคยก่อเวรสร้างกรรมกับใครไหนอื่นมั่งหรือไง พระเทวทัตจึงเป็นจำเลยแม่งทุกๆ  ชาติ นี่…เขาแต่งเอา แต่ให้เป็นพระเอกกับผู้ร้าย คือคนเดียวกันสืบเนื่องกัน

บางชาติ ผู้ร้ายต้องกรรมหนัก ไปเสวยในนรกนานกัปป์ หลุดจากนรก ต้องเสวยความเป็นเปรต อสูรกาย สัตว์ แล้วจึงมาเป็นมนุษย์

พอเป็นแล้ว ต้องมาสร้างกรรมกับพระพุทธองค์ต่ออย่างงี้ นี่ถ้าไม่ดันเกิดมาในยุคของพระเอก ผู้ร้ายอย่างเทวทัต ก็คงไม่ต้องลงนรกซินะ และไม่ต้องมาฟาดฟันให้ร้ายกันด้วย

การแช่งชักหักกระดูก ด้วยความอาฆาต ด้วยความโกรธ ผลก็คือ ผู้แช่งนั้นแหละ ต้องเป็นผู้เสวยโปรแกรมแห่งวิบากนั้น

หากแม้ในแต่ละชาติ วิบากผลักดันให้ผลนั้นมาเจอกัน ความทุกข์ยากของพระพุทธองค์ แม้ไม่มีพระเทวทัต ท่านก็ต้องทุกข์ยากกับคนอื่นอีกเช่นกัน

พระเทวทัต เป็นแค่ชื่อเรียกของบุคคลฝ่ายผู้ที่เป็นอกุศลต่อวิถีจิต ที่พระพุทธองค์ต้องเผชิญ ในแต่ละอัตภาพ

การแช่งนี้ ก็เหมือนกันกับคำอธิฐานจิต คือเกิดจากตัณหาที่ อยากให้อีกฝ่ายมันชิบหายไป ด้วยอารมณ์ แห่งอาฆาตและโทสะที่ระอุหรือฝังแน่นอยู่

หากใจที่ให้อภัยมันเกิดขึ้น คำแช่งเหล่านี้ ก็ยิ่งไม่มีผลอะไรใดๆ กับใคร แม้แต่ใจของเจ้าของ ที่เคยแช่งชักกันมาก่อน

มันจะกลายเป็นกรรม อันอโหสิ การที่พระเทวทัต สืบเนื่องความแค้นกันมา เมื่อเหตุเกิดจากความอาฆาตที่ไม่ได้สมหวังในถาดทอง  นั่นก็แสดงว่า เหตุครั้งนั้นมันเป็นผลของเหตุที่เก่าแก่กว่า มาให้ผลเช่นกัน

เมื่อวิบากแห่งเหตุมาให้ผล ใจที่ไม่ได้รับการอบรม ย่อมตกไปในกระแส คือความไม่พอใจ เหตุที่กล่าวแต่แรกนั้น ย่อมเป็นผลที่เป็นเหตุ ซ่อนลึกอยู่

เราต้องสาวผลนั้นลงไปหาเหตุอีก ว่าทำไมผลทั้งหลายจึงทำให้เกิดมาเป็นเช่นนั้น และความเป็นเช่นนั้น เป็นเหตุทำให้พระเทวทัตต้องมาฟาดฟันกันในทุกๆ ชาติ จนพระพุทธองค์บรรลุโพธิสมภารจริงหรือ

คำพูดทั้งหลายนี้ เป็นบัญญัติสมมุติ ไม่ได้ให้ร้ายหรือไปทำลายใครได้ ผู้ที่โดนทำลายและได้รับการให้ร้าย

เกิดจากใจเจ้าตัว ที่ไปเป็นเจ้าของบัญญัติสมมุติทั้งสิ้น หากเราถอยออกมาดู เราจะเห็นความจริงว่า คำแช่งชักทั้งหลาย มันเป็นแค่อากาศ ที่พ่นออกมาเป็นลม

คำแช่งทั้งหลาย ไม่ได้อยู่ที่ลมปาก หากเป็นกรรม ก็เป็นกรรมทางใจ สืบเนื่องด้วยเจตนาของเจ้าตัวนั่นแหละ และเจ้าตัวก็ต้องเป็นผู้เสวยกรรมการแช่งนั้น

ไม่ใช่ผู้โดนแช่ง เพราะเป็นกรรมทางวาจา ไม่ได้เลยเจตนาออกไปเป็นกรรมทางกายและกรรมทางใจ ซึ่งก็มีผลอีกอย่างหนึ่งอีก

หากแช่งแล้วกระโดดตื๊บด้วย นี่…ผู้แช่งต้องเสวยกรรมทาง วาจา ทางกาย และใจที่เครียดแค้นด้วย

เมื่อครบเช่นนี้ หากอีกฝ่ายไม่ยินยอม กรรมอันเป็นวิบาก ย่อมให้ผลวนเป็นวัฏฏะ สืบเนื่องกันต่อไป โดยไม่รู้จบ

กรรมนิยามนี่..มันกว้างหลายๆ เพราะมันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง จะบอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้เลย

เพราะมันมีธรรมชาติอีกสี่ตัว เป็นองค์ประกอบอยู่อีก คือ อุตุนิยาม พิชนิยาม จิตนิยาม และธรรมนิยาม

นี่ว่าตามธรรมที่เขาโม้ๆ กันมา มันมีเหตุปัจจัยอันหลากหลาย ในการที่จะก่อมาเป็นผล ที่โม้ๆ มานี้ ก็เป็นแค่แนวทางหนึ่ง ใน 359 เส้นทาง

ฉะนั้นมันถูกทางแค่หน่อยเดียว จะเอามาเป็นบรรทัดฐานว่าถูกผิดคงไม่ได้ มันยังมีที่ละเอียดกว่า ถูกกว่า รออยู่เสมอ เที่ยงนี้ ไงๆ ก็เจอกันแล้ว งั้นขอชี้หน้าแช่งแม่งเลย อีกครั้ง

– ขอให้ถูกหวยกันทุกคน ถูกแล้วถูกอีก ถูกให้หายอยากไปเลย

– ขอให้ทำมาค้าขายเจริญๆๆๆๆ ร่ำรวยโคตรๆ

– ขอให้เป็นที่รักของทุกๆ  คน

– ขอให้มีแต่คนอยากช่วยเหลือ

– ขอให้เป็นคนดี และโชคดี

– ขอให้ได้สมดั่งความปรารถนาในทุกอย่างที่อธิฐาน

เที่ยงนี้ ขอแช่งไว้แค่นี้ก่อน นึกได้เมื่อไหร่ ฮึ..จะมาแช่งต่อ หวัดดีจ้า

พระธรรมเทศนา จากบทธรรม เรื่อง โดนแช่ง….มีผลหรือไม่ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง