อารมณ์…สมาธิ ท่อนที่ 1

อารมณ์…สมาธิ ท่อนที่ 1

882
0
แบ่งปัน
553923นี่…เทศน์ไว้เมื่อสองวันก่อน เป็นเรื่องอารมณ์ทางสมาธิจิต จึงนำมาลงให้น้องอ่านกันแก้กลุ้ม ฟังกันหนุกๆ คึคึคึแค่พักจิต หลับตานั่งกรรมฐานลืมตามาอีกครั้ง มืดซะแล้ว วันนี้พระจันทร์ขึ้นช้าเด้อ
“กราบนมัสการ อนุโมทนาเจ้าค่ะ”
“กราบนมัสการครับ”
“กราบนมัสการครับ พอจ”
“นมัสการค๊าบ”วันนี้พระจันทร์ขึ้นช้าเด้อ ที่นี่ มืดสนิท เงียบและสงบ มันวังเวงสำหรับคนกลัวผี เพราะมันมีแต่ป่าและเขา ท่ามกลางน้ำใหญ่มาๆๆๆๆ วันนี้ข้าจะอธิบายเรื่องการทำสมาธิกันซักเล็กน้อย
การทำสมาธินี้ เรามุ่งกันแต่ทางอานาปาน คือทางลมหายใจ
ที่จริงการทำสมาธินี้ มันมีหลากหลาย

การนิ่งก็เป็นสมาธิ การเคลื่อนไหวก็เป็นสมาธิ สมาธิ มันเกิดที่ใจนู่น ไม่ได้เกิดที่กาย กายเรามันไม่รู้ไม่ชี้อะไร เพียงแต่เราเข้าไม่ถึงความเป็นจริงแห่งกาย เท่านั้นเอง

การพูด การคุย การทำงาน หรือจะทำอะไร ล้วนแล้วแต่เป็นสมาธิได้ทั้งนั้น

สมาธิ คือการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยความตั้งมั่นของสติที่ไม่ตกออกไปจากสิ่งที่จดจ่อ

แต่สมาธิอย่างอื่นเรากลับไม่เรียกว่า สมาธิ เรากลับนำความมุ่งหมายแห่งสมาธิ มาใช้กับการปฏิบัติ ทางอารมณ์สงบ คือความเฉยนิ่ง ตั้งท่านั่งนิ่งๆ

ความเฉยนิ่งอยู่นานๆ มันจะเกิดประโยชน์อันใดกับเรา เรายังไม่รู้เลย
เขาบอกว่าให้เรานั่งสมาธิ เราต่างก็พากันนั่งกัน
เราไม่รู้ว่านั่งเพื่ออะไร เขาบอกว่า นั่งไปจะรู้อะไรเอง

เมื่อโลกเขาว่า และเราก็ว่า การนั่งทำสมาธิก็เลยเกิด
ทีนี้เมื่อมันเกิด มันก็เกิดปัญหากับผู้ฝึกทำอีก เพราะมันเป็นเรื่องจิตล้วน ๆ เรามันไม่เคยเจอและไม่เคยชิน เมื่อเจออะไรแปลกๆเข้า ก็ทำอะไรไม่ถูก

จิตที่ปรุงแต่งทางมโนจิต นี้ เป็นเรื่องแปลกสำหรับเรา เวลามันเกิดมาแล้ว หากขาดผู้ชี้แนะ มันก็จะไปกันไม่ได้

บางคนฟุ้งจนบ้าไปเลยก็มี ท่านถึงให้เราคอยมีพี่เลี้ยงหรือครูบาอาจารย์ คอยชี้แนะ

การทำสมาธิ มันก็มีผลอีกอย่างหนึ่ง ดำเนินไปอีกทางหนึ่ง มันต่างผลกับการปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผล
แต่มันเอื้อซึ่งกันและกัน

การทำสมาธิจิตในความหมายที่เราต้องการ มันมีอยู่สองแบบคือ

  1. แบบเพ่ง
  2. แบบพิจารณา

ในกรรมฐานทั้ง 40 กอง แบ่งเป็นแบบเพ่ง คือกสิณซะ 11 กอง
ที่เหลือ อีก 29 กอง เป็นการพิจารณาล้วนๆ

อานาปานที่เราจะกล่าวถึงนี้ ก็เป็นแบบเพ่ง คือเป็นกสิณตัวหนึ่ง
กล่าวถึงการเพ่ง เราใช้ใจเพ่ง จะเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวหรืออยู่นิ่งๆ ก็เรียกว่า ใช้ใจเพ่ง ในที่นี้ เราจะกล่าวถึงการเพ่ง ลมหายใจ

การเพ่งลมหายใจ เป็นการทำสมาธิที่ยากที่สุด ของสมาธิทุกๆกอง
ต้องอาศัยกำลังจิตที่ตั้งมั่น และฝึกฝนกันยาวนาน จึงจะเข้าสู่ปฐมฌาณได้

ท่านจึงเลี่ยงออกมาใช้คำบริกรรมแทน อย่างเช่น เพ่งประคอง พุทโธ สัมมาพระอรหัง หรืออะไรก็ได้ ที่เราชอบ ได้ทั้งนั้น

มันเป็นแค่คำบริกรรมเพื่อรวมจิต เป็นที่ตั้งและเป็นหลักให้กับจิตได้มีที่ยึดเหนี่ยว
ตัวที่ตั้งขึ้นมาเรียกว่า วิตก การเอาใจเข้าไปประคองตัววิตก ท่านเรียกว่า วิจารย์

วิจารย์คือการประคอง คำวิตกที่เราตั้งขึ้นมาไว้ อย่าให้หลุดออกไป หน้าที่ของผู้ทำการฝึกสมาธิจิต มีเพียงแค่นี้

ตั้งวิตก และประคองไว้ นี่ เรียกว่าวิจารย์ หากมันเผลอมันหลุด จากวิตก ก็ต้องยกกลับขึ้นมาประคองใหม่ ทำอยู่เช่นนี้ให้ใจมันชิน

แต่มันชินตอนไหนนี่ ไม่รู้ เพราะแต่ละคน มันมีกำลังใจไม่เท่ากัน
หากตั้งวิตกแล้ว ประคองไม่อยู่ มันไหลหลุดเรื่อย
เราก็ต้องขยายพื้นที่ให้กับจิตมัน ให้ทิ้งคำบริกรรม แล้วไปเพ่งกายแทน

ขยายอาณาเขตตั้งมั่น ออกไปเป็นรูปกายเรา
ทำความรู้สึก ว่านี่หัวไหล่ นี่นิ้ว นี่ฝ่าเท้า นี่หน้าแข้ง นี่แหละให้มันวิ่งวุ่นวายอยู่ในกายเรา

ทำความรู้สึกไล่ไปเรื่อยๆ เมื่อสติคมชัดดีแล้ว ค่อยเลื่อนมามีสติประคองแค่คำบริกรรมอย่างเดียวต่อ

หากฟุ้งอีก จิตมันหนีไปปรุงนั้นปรุงนี่อีก เราก็ขยายกลับมาที่กายอีก
หากเราขยายกลับมาที่กายแล้ว มันยังฟุ้งอีก เอามันไม่อยู่

ก็ให้ขยายพื้นที่ให้มันกว้างๆออกไปอีก เอาห้องหรือสถานที่ ที่เรานั่งฝึกนั่นแหละ
ให้ใจเพ่งไปรอบๆ ว่า ประตูอยู่ตรงนั้น นี่หน้าต่าง ตรงนั้นแอร์ ตรงนู่นอีแก่ อะไรอย่างนี้ และตัวเรานั่งตรงนี้

หากจิตยังฟุ้งอีก ก็ขยายออกไปยังสถานที่รอบๆที่เราฝึกอยู่ ให้เพ่งไปว่าตรงนั้นเป็นอะไร ตรงนี้เป็นอะไร

หากยังฟุ้งอีก เลิก ไปนอนหรือไปทำอะไรหนุกๆดีกว่า
ไม่มีประโยชน์ที่จะไปฝืนทำ เพราะมันจะติดเป็นนิสัยจิต นั่งแล้วฟุ้งเรื่อย มันจะเคยชิน

หากขยายเขตออกไปแล้ว เราประคองอยู่ เราก็ค่อยๆหดกลับเข้ามาเรื่อยๆ จนมาอยู่กับกาย และคำบริกรรมที่เราตั้งขึ้น

ที่สุดหากประคองได้สงบดีแล้ว อาการแห่งจิตมันจะปรุงกายภายใน มันจะไม่ส่งออกนอก ท่านเรียกว่า เกิดอาการ ปีติ

บางท่าน จะรู้สึกขนลุกขนพอง บางท่านอาจรู้สึกตัวใหญ่ตัวโต
บางท่านก็เหมือนตัวเองหมุนติ๊วๆๆ

บางท่านก็น้ำตาไหล บ้างก็เหมือนตัวลอย บ้างก็ร่างแฟบ มันจะมีอาการแปลกๆ เกิดขึ้นกับใจเรา นี่เป็นอาการของจิต ท่านเรียกว่าอาการ ปีติ

หากเราวางเฉยเสียได้ อาการเหล่านี้ จะค่อยๆทุเลาเบาบางจางคลายลงมา จนถึงที่สุด ใจมันจะผ่อนสบายๆ

ใจมันจะตัดอาการแห่งความรำคาญทั้งหลายที่มาผัสสะกับกาย ใจมันวางหมด อย่างนี้เรียกว่า สุข

สุข มันอาศัยปีติเกิด ปีติ อาศัยวิจารย์เกิด วิจารย์อาศัยวิตกเกิด นี่มันอาศัยกันมาอย่างนี้

เมื่อใจไม่รำคาญกับสิ่งรอบด้าน มันเสวยอารมณ์เดียวโดยสติอยู่เช่นนั้น นี่ท่านเรียกว่า ปฐมฌาณ

มันมีสติรู้อาการต่างๆทั้งวิตก ทั้งวิจารย์ ทั้งปีติ ทั้งสุข และความไม่รำคาญใดๆที่กายมันผัสสะ

ลมหายใจจะละเอียดขึ้น คำบริกรรมจะหายไป เหลือแต่ลมหายใจที่ละเอียด

ที่จริงแล้วมันหยุดคำบริกรรม เพราะจิตมันหดเข้ามา คำบริกรรมมันเป็นส่วนที่หยาบไปซะแล้ว

ใจมันจะไม่ไปประคองคำบริกรรมและลมหายใจ แต่ใจมันไปเพ่งอาการแห่งจิตแทน ซึ่งมันก่อเหตุปรุงรุนแรงมากขึ้น นั้นก็คือ ปีติ

ปีติตัวนี้ มันก็เป็นปีติในปฐมฌาณนั้นแหละ เพียงแต่จิตมันหดเข้ามา ใจมันทิ้งวิตกวิจารย์ไป กลับมาเพ่งประคองปิติแทน

อาการเช่นนี้ ท่านแยกไว้ว่าเป็น ฌาณสอง หรือ ทุติยฌาณ
ใจมันจะตัดผัสสะภายนอกได้มากขึ้น หูจะได้ยินอะไรแบบไกลๆเแผ่วๆ และไม่รำคาญ ใจจะเพ่งไปที่อาการแห่งจิตที่ปรุงขึ้นมาแต่เพียงอย่างเดียว มีความสงบและสุขเกิดในปีติ ด้วยสติที่เป็นอารมณ์เดียว

อาการแห่งการโยกคลอน น้ำตาไหล ตัวหมุนขนลุกขนพอง ตัวโตขยายใหญ่ ร่างกายลอย หรืออะไรต่อมิอะไร จะเด่นชัดขึ้นด้วยใจที่เพ่ง โดยไม่มี วิตกวิจารย์เข้าไปกวน นี่ ฌาณ สอง สติรู้ชัดแห่งอาการปีติ สุข อุเบกขาเป็นอารมณ์เดียว

วันนี้โป้งไว้แค่ฌาณ สอง ดึกแล้ว ขอบายก่อนแค่นี้ คึคึคึคึ