พระโสดาบัน…ใครบ้างที่ได้ชื่อว่าเป็น ท่อน 1

พระโสดาบัน…ใครบ้างที่ได้ชื่อว่าเป็น ท่อน 1

1120
0
แบ่งปัน

10320494วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่อง พระโสดาบัน เมื่อวานพวกเราถามและให้ความเห็นกันมา มาซิข้าจะอธิบายกันให้ฟังกันสดๆ

คำว่าพระโสดาบันนี่ มันดูมีความหมายสูงส่ง สำหรับชาวพุทธเรา เพราะเราเข้าใจกันว่า การเป็นพระอริยะเจ้านั้น กระทำได้ยาก

มันยากสำหรับผู้ที่คิดว่ายาก แต่ผู้ที่คิดว่าไม่ยาก มันก็ไม่ยากอะไรหรอก หากเราอ่านตำรา เราก็จะเห็นว่า ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ นี่..มันจึงดูเป็นศาสนาที่พิเศษ และแปลงร่างได้ เป็นขั้นๆ ทิฏฐิมานะของผู้ที่ได้เข้ามาบวช มันจึงแรงเพราะมันหลงตัวเอง

ข้าเองในฐานะ ผู้เจริญรอยมาตามแนวทางแห่งพระพุทธองค์เจ้า และได้ประจักษ์ชัดยืนยันได้ ด้วยปัญญาที่รู้เห็น และเข้าใจ ข้าจะอธิบายตามภูมิให้ฟังอย่างปัญญาและภาษาอย่างป่าๆ

การได้ฟังสดๆ ก็จะเป็นกุศลแก่ใจเจ้าของ ข้าเองรู้จักนายช่างซะแล้ว จึงพอเข้าใจได้ว่า เรือนหลังนี้ จะถอดจะสร้างจะประกอบด้วยเหตุปัจจัยอะไร

การที่ท่านเรียกว่าพระโสดาบันนี่ เป็นชาวบ้านที่เข้าใจธรรมชาติเบื้องต้น อย่างตรงตามความเป็นจริง

เข้าใจถึงความจริงที่มันอาศัยเหตุปัจจัยเกิด และความเข้าใจเข้าถึงของแต่ละคน มันก็ไม่เท่าและเหมือนกันอีก คำว่าพระโสดาบันนี้ คือชาวบ้านผู้มีศีล

คำว่าศีลนี้ เป็นผู้มีศีลอันเป็นอริยะศีล เรียกว่า เป็นศีลอันเป็นวิมุตศีล

คำว่าวิมุติศีลหมายถึง เข้าใจตรงตามความเป็นจริง ในเหตุและผล ของเหตุปัจจัย ศีลในที่นี้ เป็นศีลภายในใจ ที่มีสติพิจารณาถึงความละอายใจ ต่อบาปทั้งปวงด้วยเหตุและผลของปัญญา

ไม่ใช่ศีลเป็นข้อๆ ศีลเป็นข้อๆ เป็นเรื่องสมมุติศีล เพื่อใช้เป็นคอกกั้น ยามอยู่ร่วมกับสังคม

พระโสดาบัน เป็นมนุษย์ขั้นศีล เป็นมนุษย์ผู้เริ่มต้น ที่จะเบรคกระแสแห่งตัณหา ที่ผุดขึ้นมาจากใจอันไม่รู้จบนี้

ให้มันพอทุเลา เบาบาง จางคลายลงมา ไม่ให้เดือดร้อนนัก ผู้ที่เข้ากระแสแห่งศีล เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม ที่เกิดจากการได้ฟังธรรม แห่งความเป็นจริงจากสัตบุรุ

ผู้ได้ฟังธรรมจากสัตบุรุษ ย่อมได้เห็นความจริงอย่างที่ตนเอง ไม่เคยรู้เห็นมาก่อน ทั้งๆ ที่ความจริงทั้งหลาย มันก็ก่อเกิดกำเนิดอยู่เบื้องหน้าเราแท้ๆ เป็นแต่เรามองมันไม่เห็น

สัตบุรุษได้เปิดของที่มันคว่ำอยู่ ให้หงายขึ้นมาให้เรามองเห็นสิ่งที่เรามองเห็น ทำให้ใจมันเกิดศรัทธาในธรรม ธรรมในที่นี้คือ ธรรมดาที่เป็นธรรมชาติของมัน อันเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เมื่อรู้ผลตามเหตุปัจจัย ใจมันก็ไม่หลงงมงาย ในสิ่งที่ปรากฏทางเวทนาที่อาศัยผัสสะทางอายตนะ มันเข้าใจและไม่หลงงมงาย ไม่สงสัย ในสรรพสิ่ง ว่ามันเป็นของมันเช่นนั้นเอง ตามเหตุปัจจัย

ไม่ได้มีใครมาดลบันดาลให้มันมีให้มันเป็น นี่ เรียกว่า ใจมันวางเครื่องร้อยรัดใจ ที่เรียกว่า สังโยชน์ ได้สามประการ ได้แก่

  1. ตัวตน
  2. ความสงสัยในธรรม
  3. และความหลงงมงาย

นี่ ท่านเหล่านี้ เมื่อได้ฟังธรรมจากสัตบุรุษ คือผู้เข้าใจในธรรมตามธรรมดาธรรมชาติที่มันมี ที่มันเป็น ก็จะได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้

สิ่งที่มองเห็นจะเข้าใจและเข้าถึงความเป็นจริง ที่ตนไม่เคยรู้มาก่อน ถึงรู้มาก่อนจากตำราแต่มันก็ไม่ประจักษ์ชัด เท่ากับฟังด้วยวาทะแห่งกาล จากสัตบุรุษ ในการวางใจ

เมื่อใจเห็นความเป็นจริง ศรัทธาก็ย่อมเกิด เมื่อศรัทธาเกิด เจ้าของย่อมเกิดการพิจารณา ในเหตุในปัจจัยที่มากระทบ

โดยธรรมชาติของคน ย่อมไม่พิจารณา สาวผลไปหาเหตุ

เรามักจมอยู่แต่ผล ไม่สอดส่องลงไปถึงเหตุที่มา ว่าความจริงมันเป็นเช่นไร ผู้มีดวงตาเห็นธรรมจะเกิดปัญญา พิจารณาถึงผลที่เจ้าของผัสส

การพิจารณานี้ ทำให้เจ้าของ เกิดสติและสัมปชัญญะ ผู้ที่มีสติและสัมปชัญญะ ย่อมเป็นผู้สำรวม ทางกาย วาจา ใจ

คำว่าสำรวมนี้ ไม่ใช่เรียบร้อย แต่เป็นผู้ที่มีสติ ในความละอายต่อความชั่วทั้งหลาย คนที่ละอายต่อความชั่วทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้มีศีล อันเป็นอริยะศีล

อริยะศีลเป็นศีลที่มาจากใจที่สอดส่งด้วยปัญญา ที่มีสติต่อความละอายต่อบาปทั้งหลาย คนที่มีศีลย่อมมีเหตุมาจากการสำรวม กาย วาจา ใจ ที่ไม่เป็นอกุศล

ใจที่มีความสำรวม อาศัยเหตุจากการมีสติ

การมีสติอาศัยเหตุ จากการได้พิจารณา

การพิจารณาอาศัยเหตุจาก ความศรัทธาที่เจ้าของประจักษ์ใจ

ความศรัทธาอาศัยเหตุมาจาก การได้ยินได้ฟังธรรม จากปากแห่งผู้รู้ธรรมที่เรียกกันว่า สัตบุรุษ

ผู้ได้ฟังธรรมจากสัตบุรุษ ย่อมบางเบาจากอาการแห่ง อวิชชา

เพราะอวิชชา อาศัยนิวรณ์ห้า คือ กาม ความพอใจไม่พอใจ อาการการแสดงออกแห่งจิต สงสัย และฟุ้งซ่าน เป็นอาหาร

นิวรณ์ห้า อาศัย ความทุศีล คือการไม่สำรวม กาย วาจา ใจ เป็นอาหาร

ความไม่สำรวมใจ อาศัยการไม่มีสติเป็นอาหาร

การไม่มีสติ อาศัยการไม่พิจารณาเป็นอาหา

การไม่พิจารณา อาศัยการไม่มีศรัทธา ที่เกิดจากการประจักษ์ใจเป็นอาหาร

การไม่มีศรัทธา อาศัยการไม่ได้รับฟังธรรมจากสัตบุรุษ เป็นอาหาร

การไม่ได้รับการฟังธรรมจากสัตบุรุษเป็นอาหาร อาศัยความมีตัวตนเหลือล้นเป็นอาหาร

คนมีตัวตน ย่อมไม่ฟังใคร แต่อยากให้ใครๆ มารับฟังตน

นี่ ทิฏฐิแห่งใจอันเป็นปุถุชน มันอาศัยการเป็นมาตามเหตุปัจจัยคล้องจองกันมากันไปเป็นแบบนี้

ผู้มีดวงตาเห็นธรรม เรียกว่า ชาวบ้านชั้นดี

ชาวบ้านชั้นดี คือใจที่ปลงและลงตามกระแสธารแห่งความเป็นผู้มีศีล

ความเป็นผู้มีศีล เป็นใจที่อาศัย หิริโอตัปปะ เป็นเรื่องอยู่อันเป็นวิหารใจ

ใจที่มีศีลอย่างอ่อน เรียกว่า พวก สัตตักขัตตุง กลับมาเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ

ใจที่มีศีลอย่างกลาง เรียกว่า พวก โกลังโกละ กลับมาเกิดอีกไม่เกิน 3 ชาติ

ใจที่มีศีลอย่างละเอียด คือมีปัญญาและสติที่หนาแน่น เรียกว่าพวก เอกพิชี กลับมาเกิดกำเนิดอีกเพียงแค่ครั้งเดียว

นี่ คือพวกมนุษย์ขั้นศีล นี่เป็นศีลที่เป็นอริยะชน คือเกิดปัญญาความเข้าใจในกระแส เหตุและผลธรรมดาเบื้องต้น ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน

พระโสดาบัน เป็นมนุษย์ขั้นศีล ที่มีความละอายต่อบาป เป็นที่ตั้งแห่งใจ ไม่งมงายต่อสิ่งใดๆ ง่ายๆ ไม่สงสัยในธรรมแห่งสัตบุรุษ และมั่นใจว่า กายแตกเมื่อไหร่ ใจดวงนี้ ไปสว่างแน่ๆ

นี่ อารมณ์พระโสดาบัน

พรุ่งนี้ค่อยมาโม้ต่อ ว่า พระโสดาบัน อาศัยอะไร จึงทำให้ในดวงนี้ กลายเป็น พระผู้มีศีลขึ้นมาได้ พระอย่างนี้มีเมียได้ พระอย่างข้ามีเมื่อไหร่ เจ๊ง

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2557 โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง