อยู่เหนือความครอบงำความคิดคน

อยู่เหนือความครอบงำความคิดคน

403
0
แบ่งปัน

*** “อยู่เหนือความครอบงำความคิดคน” ***

มีคำถามครับพระอาจารย์..

ขอกราบประทานโทษนะครับ ธรรมพระอาจารย์ปราณีต ลึกซึ้ง ตามรู้ได้ง่าย ไม่เคยได้ฟังเช่นนี้มาก่อน หมู่กระผมนำมาปฏิบัติกัน

สิ่งที่คาใจคือ คำพูด ท่าทาง กริยา การแต่งกาย ดูว่าหยาบ ไม่ปราณีตเหมือนธรรม มันจะสวนทางกันหรือไม่ครับ ขอโอกาสนะครับ หมู่กระผมสงสัย..

พระอาจารย์… หวัดดีๆท่านเจน

ท่านจะเอาธรรมหรือเอารูปแบบที่ท่านยึดในรูปแบบของท่าน

มนุษย์นั้นมีจริตกริยาแตกต่างกันออกไป
มันดำเนินไปตามวิสัยจริตไม่เหมือนกัน

ข้านั่นเห็นว่า การอยู่ในธรรมชาติที่เรามีที่เราเป็นนั้น อิสระที่สุด

หากเราต้องการศรัทธา สรรเสริญ หรือให้ผู้คนมานับถือ มันก็จะประพฤติอีกอย่าง เพื่อลาภสักการะนั้นๆ

ข้าบวชมาเพื่อหาความเป็นจริงด้วยปัญญา จึงไม่จำเป็นต้องว่าตามๆใคร ไม่ต้องให้ใครมานับถือ มาศรัทธา หรือเป็นอาจารย์ใคร

พวกเขาว่ากันเองตามคติความเชื่อของเขา ข้าอยู่ตามจริตที่เป็นธรรมดา มันก็แค่ไม่ถูกใจใคร

คนเรานั้น ธรรมดามักยึดอัตตาตน เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่าตนนั้นเป็นคนดี ด้วยท่าทาง คำพูด การกระทำ

พระพุทธองค์ได้ทรงแยกคนมีธรรมและไม่มีธรรม ออกเป็นสี่ประเภทให้ผู้คนได้พิจารณาดู

ท่านทรงตรัสว่า..

** ภิกษุแม้บรรลุธรรมแล้ว แต่นิสัยเดิมเป็นมาอย่างไร ท่านก็แสดงไปตามอุปนิสัยและวาสนาเดิมที่ท่านเป็นเช่นนั้น

พระองค์ยังได้เปรียบเทียบ อุปนิสัยของพระอริยเจ้า กับปุถุชนไว้ว่า

1 น้ำลึก-เงาลึก
2 น้ำลึก-เงาตื้น
3 น้ำตื้น-เงาลึก
4 น้ำตื้น-เงาตื้น

ทั้งสี่ข้อนี้ เปรียบเป็นเช่นไรให้เราเข้าใจ

** ข้อแรก คำว่า “น้ำลึก-เงาลึก” หมายความว่า

ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ภายในใจแล้ว
แจ้งแล้ว เกิดปัญญาญานแล้ว

ความเป็นอยู่ มีกิริยามารยาทการแสดงออกทางกายและวาจาที่สุขุมลุ่มลึก

เป็นอุปนิสัยเดิมของท่านที่น่ามอง น่านับถือ ท่วงท่า กาย วาจา สวยงาม นี่ประเภทหนึ่ง

** ข้อสอง คำว่า “น้ำลึก-เงาตื้น” หมายความว่า

ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ภายในใจแล้ว แจ้งแล้ว เกิดปัญญาแล้ว

แต่กิริยามารยาทการแสดงออกทางกายและวาจา
ไม่มีความสำรวมเลย

อยากแสดงตัวอย่างไร อยากพูดอย่างไร ก็เป็นไปอย่างไม่สำรวมทั้งสิ้น

บางอย่างก็ผิดในพระธรรมวินัย เพราะเป็นเพียงกิริยาที่แสดงออกมาตามนิสัยจริตเท่านั้น โลกย่อมไม่เข้าใจ

ถ้าหากไปพบเห็นผู้ที่มีอุปนิสัยอย่างนี้
ก็จะเดาไปทันทีว่า
ท่านผู้นี้ยังเป็นปุถุชน
เพราะมีนิสัยไม่น่าเคารพเชื่อถือได้เลย

** ข้อสาม คำว่า “น้ำตื้น-เงาลึก” หมายความว่า

ท่านผู้นั้นยังไม่มีคุณธรรมภายในใจ ไม่แจ้งในธรรม ไม่แจ้งทางปัญญา

แต่กิริยามารยาทการแสดงออกทางกายและวาจานั้น
มีความสุขุมลุ่มลึกมาก

การสำรวมทางกาย และวาจาน่าเลื่อมใส ใครได้พบเห็นแล้ว จะเกิดความเชื่อถือ เป็นอย่างมาก

ถ้าได้พบเห็นผู้ที่มีอุปนิสัยอย่างนี้ก็จะเดาไปว่าเป็นพระอริยเจ้าทันที

เป็นประเภทรู้ธรรมมาก ทำตัวแจ้งในธรรม ทำตัวเพื่อให้ตนเองและผู้อื่นเห็นว่า นี่คือผู้ทรงคุณ

** ข้อสี่ คำว่า “น้ำตื้น-เงาตื้น” หมายความว่า

ท่านผู้นั้นยังไม่มีคุณธรรมภายในใจ ไม่แจ้งธรรม ไม่มีปัญญาญาน

และกิริยามารยาทการแสดงออกทางกายและวาจาก็ไม่มีความสำรวมแต่อย่างใด

ทำไปพูดไปตามใจชอบ อ้างความว่าง อ้างว่าตนปล่อยวาง มีอิสระจากการครอบงำจากสังคม

ทั้งสี่ประเภทนี้ เราย้อนไปสรุปได้ตรงที่ธรรมอันที่ท่านได้แสดงตัวออกมา

ลีลาของผู้ทรงคุณทางธรรม ไม่ว่าจะปกปิดหรือเปิดเผยเช่นไร ธรรมที่หลั่งไหลออกมาย่อมยังความชื่นใจ และอิ่มเอมเมื่อได้สดับฟัง

มนุษย์นั้น มีปัญญากันทุกคน ธรรมแห่งผู้ทรงคุณ เมื่อได้สดับฟังแล้ว จะเกิดปัญญา หลอกกันไม่ได้

พุทธวิถีนั้น เจริญมาทางด้านปัญญา ไม่ใช่เป็นการเอาตัวเข้าไปเป็นในสิ่งที่ผู้อื่นต้องการให้เป็น

ข้านั้น ไม่ได้ใส่ใจเรื่องใครศรัทธาหรือไม่ เมื่อเข้าใจและเกิดปัญญาเห็นว่า

ธรรมทั้งหลายมันมีเหตุของมัน เราก็สาวผลไปหาเหตุ และเข้าใจเหตุด้วยปัญญา ผลก็จะเป็นธรรมดาของมันตามเหตุปัจจัย

ท่านเองเป็นน้ำแบบไหน ท่านก็ดูตัวท่านเอง อย่าไปสนใจใครจะเป็นน้ำแบบไหนอะไรเลย..

…ขอสาธุคุณครับพระอาจารย์ กระผมเข้าใจแล้วครับ…

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 26 กันยายน 2562

โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง