ปิดวาจา

ปิดวาจา

271
0
แบ่งปัน

*** “ปิดวาจา” ***

สมัยหนึ่งได้เจอพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านกำลังเดินจงกรมและปิดวาจา

ข้าถามว่า ท่านมาอยู่นานรึยัง..

พระท่านชี้ไปที่ปาก ทำนองว่า ปิดวาจา ไม่เอื้อนเอ่ยต่อสิ่งใด แล้วเดินจงกรมไป

ข้าจึงขึ้นไปรื้อหลังคาจาก ที่มุงกุฏิของท่านไปแถบหนึ่ง พระที่นั่นพากันงง

พระที่เดินจงกรม เดินเข้ามาหาด้วยสีหน้าโกรธเคือง พร้อมถามว่า ” ท่านมารื้อหลังคากุฏิผมทำไม ”

ข้าตอบว่า ” ท่านปิดวาจาอยู่ พูดออกมาทำไม ”

ท่านถอนใจ จุ๊..ปากหงุดหงิด คงอยากกระโดดเตะข้า

ข้าจึงบอกว่า ท่านน่ะปฏิบัติตึงไป พอถึงทิฏฐิ เขื่อนกั้นท่านก็พัง

คนเรานั้น หย่อนไปมันก็ไม่ดี ตึงไปมันก็ไม่ดี

การปิดวาจานั้น หมายถึงการมีสติ ระมัดระวังไม่ให้ เราแสดงสื่อสารออกมาด้วยใจอกุศลน่ะ

ไม่ใช่ไม่พูดไม่จา

ถ้าพูดจา ก็ให้พูดจาด้วยสติและสัมปชัญญะ

การปิดปากไม่พูดไม่จา แต่ยังเขียนลงบนกระดาษสื่อสารกัน นั่นมันก็พูดเหมือนกัน

ทุกวันนี้ เขาก็ไม่พูดกัน เขาพิมพ์ไลน์ส่งกันแม้จะนั่งข้างๆกัน

เคยได้ยินคำว่า กาย วาจา ใจ ใหม..

สามตัวนี่ มันเป็นตัวแสดงออกในการสร้างภพ

ภพก็คือเหตุ ที่จะไปเป็นผล

ใจนั้น เราห้ามภพไม่ได้ เพราะมันมีเหตุแห่งรูปนามอยู่ มันมีอายตนะอยู่ มีผัสสะอยู่ มีการปรุงแต่งอยู่

แต่เราห้ามภพวาจาได้

วาจาก็คือการสื่อออกมาจากเรานี่แหละ เรียกว่าวาจา

ส่วนคำพูดนี่ เป็นวาจาทางวลี เป็นการสื่อออกมาทางเสียง

การสื่อทางอารมณ์ ก็เป็นวาจา สื่อทางตา ทางกระทำทางกาย ก็เป็นวาจา

ถ้าท่านปิดวาจาตามความเข้าใจท่าน ว่าไม่พูด ท่านก็ต้องปิด ทางการกระทำ และอารมณ์ของท่านด้วย

เรือมันมีรูรั่วหลายรู ท่านปิดแต่รูเสียงของท่านรูเดียว

ตอนนี้รูรั่วทางอารมณ์ และรูอื่นๆ น้ำกำลังทะลักจมเรือท่านอยู่น่ะ

อีกทางคือกาย

เราห้ามภพกายได้ เราห้ามการกระทำต่างๆทางกายเราได้ ไม่ให้มันกระทำชั่ว

วิบากนั้น อาศัยภพเกิด

ภพนั้น อาศัย กาย วาจา ใจ เกิด

ใจห้ามไม่ได้ แต่เราห้าม วาจากับกายได้

เมื่อห้ามได้ องค์ประกอบภพก็เกิดไม่ครบ

เมื่อไม่ครบ วิบากที่จะย้อนกลับมาสนองก็ไม่มี
ถึงมีเราก็พอต้านได้

การปิดวาจา ท่านต้องเข้าใจเรื่องของภพ ที่อาศัย กาย วาจา ใจ ก่อน

ท่านปฏิบัติด้วยความพากเพียรมันดี แต่ปฏิบัติโดยคิดเองมันโง่น่ะ

มันได้วิริยะและขันติ แต่ขาดปัญญาที่จะก้าวไปสู่มรรคผล

ผู้คนเห็นการปฏิบัติของท่าน เขาก็จะศรัทธา และที่สุดท่านก็จะหลงในลาภสักการะแห่งศรัทธา

มันน่าเสียดายความพากเพียร และวิริยะของท่าน ที่แสวงหามรรคผล

ปฏิบัติก็ควรปฏิบัติด้วยความเข้าใจและเดินทางถูก

ปฏิบัติดีปฏิบัติมากแต่เดินไม่ถูก มันก็จะออกทะเลไปเรื่อยแหละ

และเรื่องเหล่านี้ ตำรามันไม่ได้เขียนบอกไว้ซะด้วย

เชิญท่านมาช่วยรื้อหลังคา มอดมันกินไม้ไผ่หมดแล้ว จะได้เปลี่ยนก่อนที่มันจะพังเหมือนการปฏิบัติของท่าน..

พระธรรมเทศนาวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2562

โดยพระอาจารย์ ธรรมกะ บุญญพลัง