ทิฐิ…แห่งความบอด

ทิฐิ…แห่งความบอด

1057
0
แบ่งปัน

>> ลูกศิษย์ : หลวงตา มีคนถามปอว่า โกรธ มีข้อดี ไหม อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น มีข้อดีข้อเสียยังไง ขบวนการเป็นยังไงค่ะ เราถกเถียงกันในเรื่องธรรม เขาว่า ของเขาถูก ซึ่งเราก็เห็นๆอยู่ ว่ามันผิด เราจะแก้เขายังไงคะ ให้เขาเห็นว่า ยังไม่ถูก..!!

<< พระอาจารย์ : แกแก้ที่ตัวเองก่อน หากต้องการให้ถูก แกยอมรับว่าแกผิดก่อน ให้เขาถูกไป ถ้าแกยังยืนยันว่าของแกถูก แกรู้ได้ไง ว่าแกถูก..!! เมื่อต่างคนต่างถูก มันก็ย่อมจะถกเถียง เป็นที่มาแห่งอารมณ์โกรธ.

ทุกอย่างมีดีมีเสีย ถ้าใจฟิตมาทางเสียมันก็เสีย ถ้าใจฟิตมาทางไม่เสีย ก็ไม่มีอะไรจะเสีย แม้จะเป็นโกรธตัวโตแค่ไหนก็ตาม มันอยู่ที่ ทิฐิ.

โกรธเป็นอาการเรียกสมมุติอย่างหนึ่ง ที่แสดงอาการไม่พอใจ แต่เราไม่รู้จักมัน เขาชี้ให้เห็นให้รู้จัก ไม่ใช่ให้ไปยึดไปเป็นผู้โกรธ เพราะความไม่ได้ดั่งใจ

ขบวนการแห่งธรรม ที่รู้ ที่เรียน ที่ยึด มันขาดกาลเวลา จึงถกเถียงธรรมกัน รู้ธรรมแค่ไหนก็จำมา มันเป็นของแห้ง รู้แบบแห้งๆ ไร้กาลเข้าไปเป็นเหตุปัจจัย

เอาลายแทงธรรม แบบแผน ภาษาสมมุติเป็นเครื่องยึด และยึดไม่ยอมปล่อย หากผิดไปจากที่จำ ก็จะเกิดการโต้แย้ง มันเถียงกันด้วยวาทะแห่งคนตาบอด ตาบอดคลำช้าง ต่างก็ถกเถียงกันเรื่องช้าง

ตาบอดคนหนึ่งอยากรู้เรี่องช้าง ก็จ้างให้คนตาดีๆพาไปหาช้าง อยากรู้ว่าช้างนั้น รูปร่างหน้าตาเป็นไง
ไปถึงก็เจอช้างนอน เอามือไปจับๆลูบๆดู ที่สุดก็รู้ว่ามันเหมือนกับผนังห้องนี่เอง ก็กลับมาโม้ว่า ตัวเองรู้จักช้าง

ตาบอดอีกคนก็อยากรู้จักช้างมั่ง จ้างคนตาดีไปหาช้างอีก ช้างมันยืน ไปจับโดนขา จึงรู้จักช้างตรงตามความเป็นจริงว่า ช้างตัวเหมือนเสา

ตาบอดอื่นๆรู้เข้า ก็อยากรู้มั่ง จึงจ้างคนตาดีไปหาช้าง ต่างคนต่างจับ ต่างคนต่างรู้ เมื่อมาเจอกัน ต่างคนก็ต่างอวด และถกเถียงในภูมิที่ตัวเองรู้มา เพราะไม่มีใครยอมใคร ต่างคนก็ต่างมั่นใจ คิดว่าตัวเองนั่น เป็นผู้รู้จริง เป็นผู้ที่ศึกษารู้เห็นประจักษ์ใจด้วยตัวเอง

คนตาดีผ่านมา ถามว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร คนตาบอดก็จะอวดพรรณาว่าช้างที่ศึกษามา ของตัวเองนั้นถูก
คนตาดีบอกว่า ช้างไม่ใช่ ไม่ได้เป็นแค่นั้น หรืออย่างนั้น ช้างจริงๆมันเป็นอย่างนี้ คนตาบอดจะแย้งทันที ช้างมันต้องอย่างนี้ อย่างนั้นไม่ใช่

คนตาดีกะคนตาบอดก็เถียงกันอีก เพราะคนตาดีก็รู้ว่าช้างเป็นอย่างนี้ คนตาบอด เขาก็รู้อย่างบอดๆว่าช้างเป็นอย่างนู้น
คนตาดีก็เห็นจริง แต่คนตาบอดก็เห็นจริงอย่างบอดๆเหมือนกัน เถียงกันซิ เถียงให้ตาย มันก็โง่ทั้งคู่

คนตาดีโง่เพราะ พยายามยืนยันให้คนตาบอดเห็นว่าไม่ใช่ อย่างทีคลำ คนตาบอดก็ยืนยัน ว่าไม่ใช่อย่างที่เห็น สองฝ่ายนี้ใครโง่กว่ากัน อยากถาม???

เขาไม่รู้ว่าอาการเช่นนี้ เถียงไปก็ไร้ประโยชน์ มันไม่ฟัง มันเอาสิ่งที่ตัวเองรู้ไปยันกัน ถึงตาดีแค่ไหน มันก็โง่ ไม่ต้องไปกล่าวโทษถึงคนตาบอด คนตาดีก็โง่เหมือนกัน เพราะยังยึดมั่นด้วยกันทั้งคู่

คนตาบอด ในสายตาของคนตาดี มันโง่อยู่แล้ว แต่คนตาดี
ที่พยายามชี้ให้คนตาบอดเห็นนี่ซิ มันน่าโง่กว่า

คนตาบอดโง่ด้วยอำนาจแห่งทิฐิ ไม่ยอมถอดถอน ไม่ยอมรับกับสิ่งใหม่ๆที่ตัวเองยึด ตัวเองรู้
ส่วนคนตาดีโง่ด้วยอำนาจแห่งมานะ ต้องการให้คนตาบอดรู้ว่า มันไม่ใช่เช่นนั้นจริงๆ

ชี้ไปสอนไป ถ้าเจอตาบอดดื้อตาใส ไม่ยอมรับอะไร แม้ความจริงแค่ไหน ปล่อยมันไป อย่าได้ไปชี้ มันไม่ฟัง พูดไม่รู้เรื่อง นอกจากตาบอดแล้ว “ใจ” มันยังบอดด้วย ปล่อยให้มันภูมิใจกับช้างใหญ่ๆ ที่มันคลำ ยอมโง่กับมันไปเลย เรื่องจะได้จบ ไม่งั้น จบไม่ลง

แต่ถ้าคนตาบอด แต่ใจไม่บอด เป็นผู้ยอมรับฟัง แม้ตัวเองจะรู้ดีมาแค่ไหน แต่มีใจที่จะรับฟัง ความจริงที่รู้ยิ่งขึ้นแบบใหม่ๆ หากเขายอมฟังเรา ก็ควรสอน ควรชี้เท่าที่เขาอยากมี ให้เขาได้รู้จริง คนตาดี ต้องค่อยๆชี้คนตาบอดให้เห็นจริง ให้ความจริงปรากฏแก่ใจ
ไม่ใช่ให้คนตาบอดจูงคนตาบอด ลงเหวหมดไม่เหลือรอด ฉนั้น คนตาบอดหาก ยอมรับว่ายังตาบอด ท่านไม่ใช่คนบอด คนตาไม่บอด ไม่ยอมรับว่ายังบอด มันก็คือคนตาบอดเหมือนๆกัน…

เมื่อไหร่เกิดอาการไม่ยอมรับ นั่นแหละคือโกรธมาเยือนแล้ว เริ่มเป็นคนตาบอด ไม่อยากเป็นคนตาบอด ทั้งๆที่ตาจริงๆก็ไม่ได้บอด ก็จงหัดยอมรับ