เราเป็นผู้กำหนดวิบากกรรม ไม่ใช่พระเจ้า

เราเป็นผู้กำหนดวิบากกรรม ไม่ใช่พระเจ้า

304
0
แบ่งปัน

**** “เราเป็นผู้กำหนดวิบากกรรม ไม่ใช่พระเจ้า” ****

>> ลูกศิษย์ : พระอาจารย์ครับ ทำไมเราต้องชนะตัวเองด้วยครับ

เมื่อชนะตัวเองได้เเล้ว จะเกิดผลอะไรตามมาครับ

<< พระอาจารย์ : หากเราชนะตัวเองได้ หมายถึง ชนะใจตัวเอง นะคุณใต้หล้า

คุณชนะสงครามทุกอย่างได้ทั้งโลก เพราะคุณสามารถชนะ สงครามที่ชนะได้ยากยิ่งมาแล้ว

นั้นก็คือ ใจ

ทุกอย่างในโลกย่อมเป็นเรื่อง สิวๆ ทุกข์ทั้งหลาย เกิดจากใจเป็นเหตุ

หากชนะใจตนเอง ก็ย่อมเป็นผู้อยู่เหนือทุกข์

ความหมายในอักษร มันเป็นเพียงแนวทางโครงร่างคร่าวๆ มันไม่ใช่การก่อสร้างจริงๆ

หากเรายังไม่ลงมือทำ มันก็เป็นได้เพียงแค่แบบแปลน

ที่ไร้ประโยชน์ในการที่จะเป็นที่ที่อยู่อาศัยของเราได้

>> ลูกศิษย์ : ขอบคุณครับพระอาจารย์ พระอาจารย์ครับ ขอถามอีกครับ

คำว่าฟ้าลิขิตมาเเล้ว เราจะต้องเดินตามลิขิตใช่มั้ยครับ

ถ้าเราลิขิตเองจะขัดเเย้งกัน เราควรทำอย่างไรดีครับ

<< พระอาจารย์ : คำว่าฟ้าลิขิตนี่ มันเป็นวลีของ ขงเบ้ง นิยายจีนเขานำมาขยาย เป็นคำของคนงมงายน่ะ ใต้หล้า

พุทธศาสนา ไม่ใด้ชี้ว่า โชคชะตาชีวิต ฟ้าเป็นผู้ลิขิต

อย่างนี้เป็นความเชื่อของ พราหมณ์และพวกต่างศาสนา

เป็นพวกที่ไม่มีทางขัดขืนอารยธรรมแห่งความครอบงำ

ต้องเป็นไปตามทางแบบแปลนที่ฟ้าวางไว้

อย่างนี้….ก็เป็นการฝืนกฏ อนัตตา คือ เรามีชีวิตอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของอะไรซักอย่างหนึ่ง

นิยามนี้ พวกนอกศาสนาพุทธ เขาถือกันว่า พระเจ้าเป็นผู้บันดาล

ฟ้านี่หมายถึง พระผู้เป็นเจ้า หากจะว่ากันให้ตรง เราพึงกล่าวว่า

สรรพสิ่งล้วนมีเหตุ เหตุนี้คือกรรมที่ได้กระทำไว้

ผลที่จะพึงได้รับอาศัยเหตุเป็นเครื่องปรุง และเหตุนั้น

เรา…เป็นผู้กระทำขึ้นมาเอง ไม่มีใครมาบันดาล มันมีเหตุปัจจัยของมันในการให้ผล

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เป็นนิยามแห่ง
อิทัปปัจจยตา

มันไร้กาลเวลา ที่จะมาระบุว่ามันเกิดดับเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อไหร่

มันอาศัยเหตุคือกรรมที่อยู่ในรูปนั้นๆ เป็นตัวปรุงแต่ง

เหตุที่ปรุงแต่งไว้แล้วนี้ รอวันออกผล ฉะนั้น ผลนี้ไม่มีใครมาลิขิต

เพราะเราเองนั่นแหละ ลิขิตเหตุเอาไว้ก่อน

แล้วเราจะทำอย่างไรกับมัน คือวิบากผลที่เราจำต้องรับ..?

คำตอบคือ ยอมรับมันก่อนเป็นประการแรก ด้วยสติและปัญญา

ทุกอย่างที่เราผัสสะทาง ตา หู ลิ้น จมูก กาย และอารมณ์ใจ

พึงมีสติปัญญายอมรับมันโดยการตรองและพิจารณา ที่มาแห่งเหตุ

เหตุนั้นคือ ใจที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จบ นั่นแหละคือตัวสมุทัย

เราต้องไปแก้ที่เหตุนั้น นั่นคือการ ลด ละ เลิก ใจที่มีตัณหาผุดขึ้นมาไม่รู้จบนั่น

นี่เป็นทางเดินแห่งมรรค มรรคทั้งแปด ที่เดินนั่นก็คือ สติ

สติทำให้เกิดศีล ศีลนี้ก็คือการสำรวม กาย วาจา ใจ นี่เรียกว่าตัวศีล

มรรคมีองค์แปด โดยย่อก็คือ การสำรวมกาย วาจา ใจ อย่างผู้มีสติ

ผู้มีศีลก็คือ ผู้ที่มีความสำรวมเป็นทางดำเนิน

ผู้ที่สำรวม ก็มีสติเป็นทางดำเนิน

ผู้ที่มีสติ ก็มีการพิจารณาเป็นการดำเนิน

ผู้มีการพิจารณา ก็มีความศรัทธาเป็นการดำเนิน

ผู้มีศรัทธา ก็มีการได้รับฟังธรรมแห่งมุตโตทัย เป็นเครื่องชี้ส่ง

ผลทั้งหลายนี้ เป็นหนทางแห่งมรรค ผลที่ได้รับก็คือ นิโรธะ คือสงบใจ มาทางดับ

เป็นหนทางที่เรียกว่า เป็นองค์แห่งสัมมา อาศัย
สติที่มีมรรคเป็นหนทางเดิน

หากเราปล่อยให้ใจไหลไปตามกระแส ที่ผุดขึ้นมาด้วยเหตุแห่งตัณหาไม่รู้จบ

เรียกว่า สมุทัย ผลของมันก็คือทุกข์

นี่เป็นหนทางแห่งมิจฉาทิฏฐิ อาศัยสมุทัยเป็นเหตุก่อเกิด

เหมือนเรามีส้มอยู่ถุงหนึ่ง เราคั้นน้ำส้มเก็บใส่ขวดไว้

เรานำไปแช่ตู้เย็นไว้กินตอนเย็นๆ หลังเลิกงาน

เมื่อเราทำงานจนถึงที่สุด ตอนเย็นเราไปเปิดตู้เย็น หมายที่จะกินน้ำส้มที่ได้เก็บไว้

แต่ปรากฏว่า มีคนขโมยกินไปแล้ว มันหายไปครึ่งขวด

เราย่อมที่จะโกรธแค้น ก่นด่าคนที่มาขโมยกิน และเราอาจระเบิดอารมณ์

โดยการขว้างปาขวดน้ำส้มที่เหลือนั้น จนแตกกระจาย

นี่ด้วยอำนาจแห่งโทสะ อดกินน้ำส้มที่เหลือ และอาจทะเลาะจนฆ่ากันตายได้

เหตุเพราะน้ำส้มแค่ครึ่งขวด นี่กรรมมันมาให้ผล

และเราเลือกที่จะก่อ ผลก็คือ ทุกข์ใจ เครียดแค้น พยาบาท

เป็นที่มาแห่งการสะสมเนื้อจิต เพื่อหนักไปทางอบาย

อย่างนี้…เราจะเรียกว่าฟ้าลิขิตไหม

กลับกัน มาเริ่มต้นใหม่ กับเรื่องเดิมๆ

คือน้ำส้มหนึ่งขวดที่เราแช่เย็นไว้

เมื่อเราเปิดตู้เย็นออกมา เห็นน้ำส้มที่เราเก็บแช่ไว้เหลือครึ่งขวด

เรื่องราวเหมือนเดิมทุกอย่าง เราพึงมีสติและพิจารณาว่า

เขาคงอยากกิน และคงหิวเหมือนเรา ก็ยังดี ที่ยังเหลือแบ่งเก็บไว้ให้เราได้พอกินอีกครึ่งขวด

ขอบใจโว๊ยยย ที่ไม่แดกของกูหมด

เราก็กินน้ำส้มที่เหลือ กลับเข้าบ้านอาบน้ำดูทีวีและนอนไป

ไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรกับใคร และใจตัวเอง

นี่..เห็นไหม กรรมที่มาหาเราเป็นเรื่องเดียวกัน

จะมีใครลิขิตก็ช่าง จะเป็นกรรมที่เราเคยก่อก็ช่าง จะเป็นฟ้าบันดาลก็ช่าง

เราแค่ยอมรับผลที่มากระทบกับเรา เราหนีกรรมไม่ได้

แต่เรา เป็นผู้ตัดสิน ว่าเรา จะเป็นผู้ที่จะก่อ หรือจะเป็นผู้ที่จะดับ

หากเลือกที่จะก่อ ก็เป็นสมุทัย ผลคือทุกข์ ทั้งเราและเขาทั้งหลาย

ที่สำคัญ มันส่งผลย้อนสะท้อนไปมาไม่รู้จบซะด้วย

หากเราเลือกที่จะดับ แน่นอน ต้องยอมเสีย โดยการยอมรับ

ผลของมันก็คือ จบ สงบดับไป ทุกข์ไม่ขังไว้ในใจอีก

เราจะเห็นว่า กรรมเรื่องเดียวกัน

เราเท่านั้น จะเป็นผู้เลือกและตัดสินว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุต่อ หรือจะเป็นผู้ดับเหตุ

หากเลือกที่จะก่อ ก็เป็นสมุทัย นี่คือ มิจฉาทิฏฐิ ผลก็คือ ทุกข์

หากเลือกที่จะดับ ก็คือมรรค นี่คือ สัมมาทิฏฐิ ผลก็คือ ดับหรือนิโรธะ

นี่คือหลักแห่งอริยสัจ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศชี้แนะ มันคือหลักเหตุหลักผล

เหตุนอกเป็นสมุทัย เหตุในเป็นมรรค

มรรคที่มีองค์แปด ก็คือ องค์ประกอบของใจที่มีสติ ทาง กาย วาจา ใจ มันรวมอยู่ที่สติตัวเดียว

และต้องเป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เกิดจากการพิจารณาที่มาจากศรัทธาเมื่อได้รับฟังธรรมจากสัตบุรุษ

นี่….จึงจะเป็นตัวมรรคที่เป็นสัมมาทั้งแท่ง

ของพวกเรา มันมักจะเดินทาง มัก… คือมักง่ายกับมักมาก

ไม่ค่อยเดินตามทาง มรรคแปด เรื่องสัมมากับมิจฉาทิฏฐิ ตีกันผิดเยอะ

เอาความถูกใจและเห็นด้วยกับทิฏฐิ เป็นสัมมา

เอาความไม่ถูกใจและไม่ใช่ไม่เห็นด้วย ไปด่าว่าคนอื่นว่าเป็น มิจฉาทิฏฐิ

นี่..ไอ้พวกนักธรรมหัวดอ…!!

นี่…ที่อธิบายมานี้ เป็นเรื่อง อริยสัจแท้ๆ เพียงแต่ขวางโลกขวางตำราเขา

แต่ช่วยไม่ได้ ข้าเห็นประจักษ์ใจของข้าอย่างนี้ และนี่คือ หลักอริยสัจที่เกิดขึ้นท่ามกลางในป่า

ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากตำรา ครูบาอาจารย์ท่านมาสอนไว้ มันจึงกล้าที่จะบันลือได้

โดยไม่กลัวหมาที่ไหนจะมากัด กล่าวโดยธรรม และเป็นธรรมแท้ๆ ที่พูดจากันรู้เรื่อง

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 12 มีนาคม 2561

โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง