อย่ารู้ธรรมด้วยการเข้าข้างตนเอง

อย่ารู้ธรรมด้วยการเข้าข้างตนเอง

307
0
แบ่งปัน

**** “อย่ารู้ธรรมด้วยการเข้าข้างตนเอง” ****

ขอสาธุคุณยามเช้าให้มีแต่ความสุขความเจริญ

ทำไม ในคัมภีร์โบราณ จึงกล่าวกันว่า

ผู้คนเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว

ต่างได้บรรลุธรรมกันตรงนั้น ที่นั่น เดี๋ยวนั้น กันมากมาย

แล้วเดี๋ยวนี้ คนมันโง่จัง เรียนรู้กันมากมาย ปฏิบัติกันมากมาย

ทำไมจึงไม่บรรลุธรรมกันบ้างเลย

คนยุคนี้มันโง่นักรึ…?

ไม่เลยๆ คนยุคนี้ ฉลาดกว่าผู้คนยุคโบราณเยอะ

เพราะฉลาดนี่แหละ จึงเกิดความลังเลสงสัย ในสิ่งที่โดนถ่ายทอดสืบๆต่อๆกันมา

ยุคโบราณนี่ เมื่อสิ้นองค์ศาสดา

รุ่นต่อๆมา ก็เริ่มครอบงำ ด้วยตรรกะต่างๆ

เพื่อความเชื่อ เพื่อความยั่งยืน เพื่อความมั่นคงแห่งอายุพระศาสนา

ความคิดเห็นและความแตกแยกทางด้านความคิด

ที่ไม่มีใครมาสาธกอธิบายเหตุปัจจัย ได้อย่างหมดจด

ทำให้ผู้มาทีหลัง ต้องโดนจำกัดอยู่ในคอก ที่เขาต่างสร้างขึ้นมาล้อม เพื่อความหวังดี

จริงๆมันเป็นเหตุเป็นผลกัน

พุทธนั้น เป็นเรื่องของปัญญา

เพราะความอิสระแห่งปัญญานี่แหละ

มันจึงเกิดหลากนิกายขึ้นมาในแต่ละยุค ด้วยความเห็นแห่งตน

การตีธรรมไม่แตก จากตำราก็ดี

การแปลไม่ตรงประโยคธรรมก็ดี

การเข้าไม่ถึงความเป็นจริงก็ดี

เหล่านี้ ทำให้เกิดนิกายต่างๆมากมาย

ผู้ที่เข้าใจธรรมชาติจริงๆนั้น

ไม่มีนิกาย ไม่ได้แยกนี่ มหายาน นี่เถรวาท

หรือนี่ มหานิกาย นี่ธรรมยุติ อะไรอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้หรอก

ธรรมนั้นมันลงร่องเดียวกันหมดแหละ

มันแค่ต่างความคิดตามวาสนาภูมิ

แต่เห็นความเป็นตถาตาเช่นเดียวกันหมด

เข้ากันได้หมด

เพราะเข้าใจถึงเหตุปัจจัย มันมีที่มาและกำลังในแต่ละคน มันมีไม่เท่ากัน

พระอรหันต์ไม่ใช่ผู้ทุกเรื่อง

เป็นเพียงแต่เรื่องที่ไม่รู้ มันยังขาดเหตุปัจจัย

และมันก็เป็นธรรมดาของมันเช่นนั่นแหละ

นี่ท่านเข้าใจของท่านอย่างนี้

ถึงเวลากินข้าวแล้ว น้องๆรอ เช้านี้ขอสวัสดี


ผู้แสดงความคิดเห็น 1 >>> สุขนิยม หรือเทวนิยม มีมาก่อนพุทธกาล แต่หลักอริยสัจ ๔ คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จะไม่เหมือนกัน แต่ใกล้เคียงกันมาก

“ความสุขได้มาจากความทุกข์” ต้องรู้ทุกข์ เห็นทุกข์ กำหนดทุกข์จนเห็นความจริง จิตจะคลายความยึดมั่นถือมั่น

ไม่ทุกข์อีกต่อไป เห็นทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดา (เกิดปัญญา) ไม่ยึดอีกต่อไป ให้ลึกลงไปจะเห็นทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน และดับสลายหายไป

จิตเห็นอย่างนี้ (ตลอดเวลา) เห็นว่าอะไรก็เอาไม่ได้ ยึดไม่ได้ คว้าอะไรก็ไม่ได้ จิตจะวางทุกอย่างลง… จะเกิดความว่างจากอารมณ์ที่เคยยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน)

ตรงนี้ก็เป็นสุข แต่เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง (กระบวนการวิปัสสนา)

ขออนุญาตนำคำแนะนำในการสนทนาธรรมของพี่เลี้ยงท่านหนึ่งแบ่งปันลงในข้อความนะคะ…

เพื่อแบ่งปันประโยชน์แก่กัลยาณมิตรท่านอื่นๆ…และขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า ..ขออนุโมทนาสาธุในธรรมของพระคุณเจ้า…เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ตอบ <<< เห็นเช่นนั้น มันก็ไม่ได้วางอะไรจริงๆหรอก

ที่วางน่ะ เป็นเราทั้งนั้นแหละ

เพราะทิฏฐิมันลึกเข้าไป มันไม่ถึงทิฏฐิ

ธรรมชาติของธรรมนั้น ผู้รู้เห็นธรรมดาของเหตุปัจจัย

ไม่ใช่ เอาเราไปเป็นจิตอย่างที่เราเข้าใจอย่างนั้น

เมื่อมีตาก็ย่อมเห็นรูปเป็นธรรมดา จะวางหรือไม่วางมันก็เห็น

เมื่อมีหู มีลิ้น มีจมูก ฯ วิญญาณมันก็ทำหน้าที่ของมันแหละ

จะวางหรือไม่วาง ว่าไปตามเหตุปัจจัย

พุทธเรานี่ เข้าใจว่า จิตต้องปล่อยวาง และชี้กันมาเช่นนี้

ไม่ผิดหรอก แต่ไม่ถูก

เราไม่เข้าใจธรรมชาติเอง

เราจึงเป็นเจ้าของในสิ่งที่ธรรมชาติเป็นด้วยตรรกะแห่งเรา

และมันก็ต้องเป็นเช่นนั้นซะด้วย

นี่..วิถีพุทธจริงๆ มันจึงไม่ได้ง่ายต่อใครๆ

แต่ก็ใช่ว่าจะยากต่อใครๆที่จะทำความเข้าใจเช่นกัน

ผู้แสดงความคิดเห็น 2 >>> พระอาจารย์ขอรับ อยากทราบเกี่ยวกับการ กรวดน้ำ นี่มันจำเป็นไหม เพราะผมไม่เคยกรวดน้ำให้ใครเลยแค่แผ่เมตตาอย่างเดียวขอรับ

หรือเป็นแค่พิธีกรรม แบบพราหมณ์ ที่ทำตามๆกันมา

พระอาจารย์ตอบ <<< แผ่อย่างเดียวก็ได้

แต่พลังงานเก่าแก่ เขามีสัญญาในเรื่องการกรวดน้ำ

เราก็อาจแผ่ด้วยราดน้ำด้วยก็ได้

เผื่อไปถึงพลังงานที่เขายังยึดสัญญาของเขาอยู่

แต่ถึงเหมือนกัน ทั้งการกรวดน้ำและไม่กรวดน้ำ

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 10 มีนาคม 2561

โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง