ครรลองแห่งจิตในวิถีพุทธ

ครรลองแห่งจิตในวิถีพุทธ

421
0
แบ่งปัน

**** “ครรลองแห่งจิตในวิถีพุทธ” ****

ขอสาธุคุณให้มีแต่ความสุขความเจริญ

เรามาว่าถึงจิตเดิมแท้ตามหลักความเป็นจริง ในวิถีพุทธกัน

จิตเดิมแท้นั้น อาศัยเหตุแห่งอวิชา

เพราะอวิชาเป็นเหตุ จึงเกิดจิตสังขาร

เพราะจิตสังขารเป็นเหตุ จึงมีวิญญาณ

เพราะวิญญาณเป็นเหตุ จึงมีนามรูปขึ้นมา

นี่เป็นต้นกำเนิด แห่งจิต

เหตุแห่งอวิชา หากว่ากันในวงล้อแห่งวัฏฏะ

ก็คือการเกิด

เมื่อมีการเกิด อวิชาก็เกิด

อวิชาเกิด การปรุงแต่งแห่งจิตก็เกิด

การปรุงแต่งเกิด เวทนาก็เกิด

เวทนาเกิด ตัณหาก็เกิด

ตัณหาเกิด อุปาทานก็เกิด

อุปาทานเกิด ภพ ชาติก็เกิด

นี่เป็นวัฏฏะ ในวงล้อของเหตุแห่งอวิชา

อวิชาในวัฏฏะที่สืบเนื่องกันมาเป็นวงล้อ เหตุมาจากอะไร

เหตุของอวิชาก็คือ ผัสสะ

เพราะอายตนะในนามรูปมี ผัสสะก็ย่อมมี

ผัสสะนี้ เกิดจาก วิญญาณผ่านช่องต่อทางนามรูป

ช่องต่อนี่ เรียกว่าอายตนะ

อายตนะก็คือ ตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ

ตา ใช้ผัสสะรูป

หู ใช้ผัสสะเสียง

ลิ้น ใช้ผัสสะรส

จมูก ใช้ผัสสะกลิ่น

กาย ใช้ผัสสะร้อนเย็น อ่อนแข็ง

ใจ ใช้ผัสสะอารมณ์

นี่..วิญญาณผ่านช่องต่อเหล่านี้ เพื่อผัสสะ

เมื่อเกิดการผัสสะ ก็จะเกิดการปรุงแต่ง

ที่ปรุงแต่ง เพราะสิ่งที่ผัสสะ ยังไม่มีความหมายรู้ว่าเป็นอะไร

อย่างเช่น ตามองเห็นสิ่งหนึ่งที่เป็นรูป

สิ่งที่เห็นนั้น โปรแกรมจิตต้องเอาสัญญาที่บันทึกเข้าไปเทียบ

การเฟ้นหาสัญญาเข้าไปเทียบรูปที่ปรากฏทางช่องต่อ

เรียกว่าการปรุงแต่ง

ปรุงแต่งนี่ บาลีเรียกว่าสังขาร

เมื่อปรุงแต่งคือเทียบเคียงได้แล้ว

รู้ว่าเป็นอะไรตามสัญญา

หรือไม่รู้ว่าอะไรตามสัญญา

เช่นนี้เป็นวิญญาณ

เมื่อวิญญาณเกิด เวทนาอันเป็นสมมุติก็จะเกิดตามมายืนยัน

เช่นรู้ว่า เป็น โต๊ะ ตู้ เตียง คน สัตว์ สิ่งของ อะไรอย่างนี้

นี่..เรียกว่าการปรุงแต่งของกองขันธ์ทั้งห้า

มันปรุงแต่งธรรมดาของมัน ไม่ใช่เราปรุงแต่ง อย่างที่เข้าใจ

เรา..มันแค่ไปเป็นเจ้าของผลมัน

เมื่อมีเรา เวทนาก็เป็นเราเช่นกัน นี่เป็นธรรมดา

กระบวนการปรุงแต่งนี้ เรียกรวมกันว่า เจตสิก

เจตสิกนี่ เป็นเจตนาแห่งจิตที่เป็นกระบวนการปรุงแต่ง เริ่มแรกตั้งแต่ผัสสะ จนเกิดเวทนา

เวทนานี่ มันเกิดได้ทุกช่องทาง

หากทางตา เรียกว่า จักขุวิญญาณ

ทางหู เรียกว่า โสตวิญญาณ

ทางกาย เรียกว่ากายวิญญาณ อะไรอย่างนี้

คือรู้ความหมายที่ผัสสะทางช่องต่อ ในแต่ละช่อง

ที่เราเรียกกันว่าอายตนะ

เมื่อเจตสิกเกิด เวทนาก็จะตามมาเป็นผล

เวทนานี่ มันเกิดได้ทุกช่องทาง

เวทนานี่ ไม่ใช่ความเจ็บปวดอย่างเดียวอย่างที่เราเข้าใจ

เวทนานี่หมายถึงความรู้สึก

เรารู้สึกทางตาคือเห็นรูป

รู้สึกทางหูคือเห็นเสียง

รูสึกทางจมูกคือเห็นกลิ่น

รู้สึกทางลิ้นคือเห็นรส อะไรอย่างนี้

ถ้าทางกาย ก็เรียกกายวิญญาณ

ทางใจก็มโนวิญญาณ

ทางตาก็จักษุวิญญาณ

นี่..ก็ฟังๆกันไปราวๆนี้

วันนี้ไม่ว่างแล้ว ค่อยคุยกันวันหน้า ขอสาธุคุณในวันพ่อ ให้มีแต่ความสุขความเจริญ

หวัดดีๆ
—————————————————
ผู้แสดงความคิดเห็น 1 >>> ผัสสะมาเป็นอวิชา ได้เช่นไรคะ แล้วจึงปรุงแต่งมาเป็นสังขารจิตหรือความคิด. สงสัยค่ะ. สาธุเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ตอบ <<< ผัสสะแล้วรู้อะไรบ้าง กระบวนการเริ่มต้นนี่ ไม่รู้อะไร นี่ธรรมชาติมัน

เมื่อไม่รู้ก็ปรุงให้รู้ เพราะผัสสะเป็นเหตุ

เมื่อรู้หรือไม่รู้แล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุด

ส่วนความคิดนั้น มันเป็นอาการทางมโนจิต ที่ปรุงเรียบร้อยแล้ว

และเจ้าของเอาอัตตาตนเข้าไปปรุงต่อด้วยสมมุติตน ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้

มันมีเหตุปัจจัยไปตามสัญญาที่ตนมี คนละกาลกับผัสสะทางอายตนะ

ผู้แสดงความคิดเห็น 2 >>> กราบสาธุธรรมครับ พระอาจารย์

จิตเดิมที่พระอาจารย์ได้เมตตาอธิบาย คือ จิต ณ จุดเริ่มต้นของวงรอบ ที่เราๆท่านๆกลับมาวนเกิดใหม่

ซึ่งผ่านการสะสมสัญญาเก่าๆมามากมายนับไม่ถ้วน

อย่างนั้น คำกล่าว ที่ว่า จิตเดิม บริสุทธิ์ ประภัสสร จิตเดิม จะหมายถึง ณ จุดเริ่มแรกที่ จิตจุติขึ้นมาในวงรอบแรกอย่างนั้นรึเปล่าครับ

ถ้าใช่ แล้วมีเหตุปัจจัยอะไรทำให้จิตเดิมเกิดขึ้นมาครับ รบกวนขอความเมตตาพระอาจารย์ ช่วยขยายในส่วนนี้ด้วยครับ กราบสาธุครับ

พระอาจารย์ตอบ <<< จิตเดิมแรก ไม่มีความว่างเปล่า

จิตเดิมแรกอาศัยอวิชาเกิด

เพราะอวิชาเป็นเหตุ จิตสังขารจึงเป็นผล

จิตเดิมแรกในความหมายที่เรียกว่าประภัสสรนั้น

ท่านหมายถึงเครื่องมือไหม่คือรูป ที่ยังไม่ได้บันทึกสัญญาอะไรลงไป

ยังต้องผ่านการบันทึกทางอายตนะ เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

เช่นเด็กที่เกิดมา กิเลสต่างๆมันยังไม่มีกระแสอะไรมากมาย เพราะความไม่รู้เป็นเหตุ

เมื่อเกิดการปรุงแต่งแห่งผัสสะมากขึ้น ความรู้สึก บันทึกสัญญาก็มากตาม เป็นวิญญาน

และใส่สมมุติลงไปเป็นอัตตาตน เราจึงเรียกผลเหล่านี้ว่ากิเลส

ท่านใช้คำว่า กิเลสที่จรมา ทำให้จิตเศร้าหมอง

>> คำถาม : กราบเรียนถามพระอาจารย์ การไปถึงจุดตรงนั้นจำเป็นมั๊ยที่จะต้องนั่งจนถึงขนาดพระอาจารย์

ผมนั่งได้ชั่วโมงกว่ารับรู้แค่เจ็บปวดแล้วมันก็หายไป

มีสติรู้ เห็นจิตในจิต ดับการเคยชิน การท่องเที่ยวของจิต แต่ยังไม่เคยนั่งเกินช.ม.ครึ่ง

เห็นครูบาอาจารย์นั่งตลอดรุ่งผมก็เลยสงสัยว่าจะไปถึงฝั่งต้องผ่านตรงนี้ก่อนทุกรายมั๊ยครับกราบเรียนถาม

<< พระอาจารย์ : ไม่จำเป็นหรอก บุญรอด..

บางคนแค่ไม่กี่นาที จิตมันก็รวม ไม่เกี่ยวกับนั่งนานไม่นาน

พวกนั่งนานนี่มันเป็นวิริยะ มันเคยชิน และเป็นพวกตั้งสัจจะสู้

สองชั่วโมงนี่ จิตก็พักเต็มที่แล้ว ถ้าไม่เป็นจิตที่ไหลเข้าสู่ อัปนา

การเข้าถึงอุเบกขา เป็นวาสนาวิสัย ไม่ใช่สาธารณะทั่วไปแก่นักปฏิบัติ

ภาชนะจิตเรารองรับได้แค่ไหน เราพึงพอใจแค่นั้น

พุทธศาสนา ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อทำสมาธิเข้าสู่ฌานนั้นฌานนี้

สมาธิมีแค่ไหน เอาเท่าที่มี แค่เอากำลังถอยออกมา พิจารณา

เพื่อดับทุกข์ บรรลุได้ทุกขั้นของสมาธิ แม้ไม่นั่งสมาธิมาเลย ก็บรรลุธรรมได้เยอะแยะ

ระดับฌานต่างๆ นี่ มันเป็นแค่อาการหดของภาวะจิต มันตัดความหยาบแห่งอุปาทานไปเรื่อยๆ

คลายออกมา มันก็ยังเป็นสันดานเก่าๆ ที่มันมีมันบันทึกอยู่นั่นแหละ