รู้จักปฐมฌานในวิถีพุทธ

รู้จักปฐมฌานในวิถีพุทธ

381
0
แบ่งปัน

****** “รู้จักปฐมฌานในวิถีพุทธ” ******

ขอสาธุคุณสวัสดีให้มีแต่ความสุขความเจริญ

เช้านี้จะอธิบายปฐมฌานให้ฟัง

เรื่องปฐมฌานนี่ คงเป็นคนละเรื่องกับที่เราเข้าใจกันเลยทีเดียวในรายละเอียด

ปฐมฌานนี้ เป็นการทำสมาธิในวิถีจิต

คือที่เรามีการตื่นรู้ด้วยอายตนะครบสมบูรณ์นี่แหละ

เราอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไม ปฐมฌานที่เรารู้จัก

นอกจาก วิตก วิจารณ์แล้ว ยังมีปิติ สุข เอกคตารมณ์

แล้วปิติ ที่เรียกว่าฌานสอง สุขฌานสาม และเอกัคคตารมณ์ฌานสี่

มันเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

ตรงนี้แน่นอนว่านักสมาธิจิต ที่อ่านและฝึก หรือสอนๆชี้กัน ยังไม่เข้าใจกันมากนัก

หรือบางคนแค่รู้จักตามตำรา และไม่รู้ว่า

ปิติในปฐมฌานกับปิติในฌานสองนั้น มันตัวเดียวกันหรือไม่

เวลาเจ้าของเกิดอาการ หรือตั้งตนเป็นอาจารย์แล้วมักจะชี้อาการคนนั้นคนนี้ว่า อยู่ฌานนั้น อยู่ฌานนี้

และมั่วไปเรื่อยเพราะผู้คนทั่วๆไปต่างก็ไม่รู้เหมือนๆกัน

ใครตั้งตัวเป็นอาจารย์หน่อยก็จะพากันเชื่อ

หากกระดุมเม็ดแรกผิด ที่เหลือก็อย่าหวังว่าจะถูกน่ะ

ปิติ ในปฐมฌานกับปิติในฌานสองนี่ มันคนละวิถีจิตกัน

แต่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เป็นอาการปรุงแต่งออกมาจากจิตเหมือนกัน

แตกต่างกันแค่วิถีการดำเนินของจิต

ปฐมฌานนั้น เป็นการดำเนินไปตามวิถีจิต

ส่วนปิติ สุข เอกัคคตารมณ์ในฌาน สอง สาม สี่ เป็นการดำเนินไปตามภวังค์จิต

พูดเช่นนี้ หลายคนคงงงอีก

เดี๋ยวจะคลี่คลายออกมาให้เห็นง่ายๆ

วิถีจิตนี่ คือเราสัมผัสด้วยประสาท กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ที่เรารู้สึกได้ ด้วยอายตนะ มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม

พูดง่ายๆก็คือ ในขณะที่เรากำลังตื่นขึ้นมา นับจากยามเช้า ไปจนกระทั้งล้มตัวนอนนั่นแหละ

ส่วนภวังค์จิต เป็นการดับผัสสะทางอายตนะ เหลือแค่มโนจิตผัสสะ และปรุงแต่งไปเรื่อยตามมโนจิต

สติและสัมปชัญญะเจือจางและดับไป

พูดง่ายๆก็คือเราเข้าสู่โหมดฝันนั่นแหละ

นี่เรียกว่าเข้าสู่ภวังค์จิต

ส่วนวิถีจิตก็คือตื่นขึ้นมาจากหลับ ตบผัวแล้วสะใจได้

เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ใจแยกแยะวิถีจิตได้ ภวังค์จิตได้ เราก็จะเข้าใจในฌานวิถีแห่งความเป็นพุทธล่ะ

ซึ่งศาสนาอื่น เขาเข้าไม่ถึง เขาเอาตัวเข้าไปเป็นทั้งสองวิถีว่าเป็นตัวเขาเองที่เป็น

เวลาจิตเคลื่อนเข้าไปสู่ภวังค์จิต หรือใจเริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เขาก็จะเข้าใจว่า เขาเข้าถึงขั้นนั่นขั้นนี่ เห็นนั่นเห็นนี่

เขาไม่รู้ว่า นั่นเขากำลังเริ่มฝัน และนั่งฝันอย่างมีสติและสัมปชัญญะ ในการรับรู้ ภาวะของการปรุงแต่งแห่งจิต

คนที่ตกอยู่ในกระแสเช่นนี้ ฝึกจนตายก็เข้าสู่ปฐมฌานไม่ได้

มันไปติดตรงปิติจิตหมด ปิติคือโหมดการปรุงแต่งแห่งกองสังขาร

ที่แสดงออกมาทางอายตนะ

มีจักษุวิญญาณ คือทางรูป

มีกายวิญญาณ คือทางผัสสะกาย

มีทางโสตวิญญาณ คือได้ยินเสียงปรุงแต่งแปลกๆ

มันมีทุกช่องทางเข้านั่นแหละ มันแสดงผ่านออกมาได้

มันแสดงผ่านปรุงแต่งออกมาได้ ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสรับรู้และอารมณ์

นี่..พอจะเข้าใจไหม

พุทธศาสนา ท่านจึงให้ตั้งวิตกขึ้นมา

วิตกก็คือ เครื่องยึดเกาะ ที่เรายกขึ้นมา เอามาเป็นที่ตั้งแห่งใจ

เช่นคำบริกรรม วัตถุ สิ่งของ ลมหายใจ กาย หรืออะไรก็ได้

ยกขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วเอาใจเกาะยึดกับมันไว้

การเกาะยึดประคองไว้ไม่ให้ สิ่งที่ตั้งขึ้นมาที่เรียกวิตกนี้

ท่านเรียกว่า วิจารณ์

วิจารณ์ก็คือ การประคองวิตก ไม่ให้มันหลุดกระแสออกไปจากการเพ่งยึด ที่เรียกว่าวิตกนั่น

นี่ หน้าที่ของเรามันมีเพียงแค่นี้ ในการทำสมาธิ

เรามีกำลังเพียงแค่นี้ ในวิถีจิต

เราจะเห็นว่า

เมื่อเราตั้งวิตกขึ้นมาแล้ว เราประคองตัวอยู่ไม่ได้นาน

พักเดียวเดี๋ยวก็ไหลออกไปทางนู้นที ทางนี้ที

หลักๆเลยก็คือมโนจิต

มันจะฟุ้งไปทางมโนจิต ที่เราเรียกว่าความคิด

มันจะฟุ้งซ่านปลิ้นหลุดออกไปทางช่องนั้น

เพราะทางอื่น มันขาดเหตุปัจจัยในการผัสสะ

เช่นทางหู หากมันไม่ดังมากนัก จิตมันก็ไม่สนใจ

ทางลิ้น ทางกลิ่น ทางรส ทางผัสสะ ต่างก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากสิ่งที่ผัสสะ

ภาวะเช่นนี้ มันจึงปลิ้นออกไปทางมโนวิญญาณแทน

นี่..เราต้องรู้จักมันให้ละเอียดและเข้าถึงความเป็นจริงอย่างนี้

ในตำรามันไม่ได้สอนพวกเราหรอก คนแปลมันเข้าไม่ถึงภาวะเรื่องจิต

เขาแปลไปตามหัวข้อประโยคบาลี ขยายภาวะแห่งจิตไม่ออก

เพราะไม่ได้ฝึกฝนจากผู้รู้แล้วอธิบายคำแปล เขาแปลจากพจนานุกรมบาลี ที่เรียนตามๆกันมา

เมื่อเรารู้เท่าทัน เพราะเรามีกำลังสติและสัมปชัญญะที่หนาแน่น

เราก็ยกอารมณ์มาตั้งที่วิตกใหม่

พอมันเริ่มคลาย เริ่มเป๋ออกจากวิตก

เมื่อรู้ตัว เราต้องกลับมาตั้งวิตกใหม่

เราต้องสู้กันอยู่เช่นนี้แหละ

สู้กันนานเลยทีเดียว

สู้กันจนกว่าใจมันจะเชื่อง

มันไม่เคยโดนกักขัง มันดิ้นรนของมันอย่างนั่นแหละ ด้วยความเคยชิน

หน้าที่เราคือ ดึงกลับมาสู่วิตก

จะกี่ร้อยกี่พันครั้งก็ตาม เรามีหน้าที่เพียงแค่นี้

อย่าไปอยากให้เป็นนั่นนี่นู่น อย่างใครเขาโม้เลย มันไม่จริง

ทำแค่นี้ ประคองแค่นี้ อดทนกับจิตตนเองแค่นี้ให้ได้ก่อน

เมื่อประคองวิตกได้ เช่นนี้เรียกว่าวิจารณ์ ตั้งมั่นประคองในวิจารณ์ให้ได้

เมื่อไหร่ที่ใจจดจ่อกับวิจารณ์ได้ มันจะเกิดปิติละ

ปิติคืออะไร…

นี่..ก็ต้องมาขยายความกันอีก

ปิติคือภาวะปรุงแต่งแห่งวิญญาณจิต ที่ปรุงแต่งแสดงออกมาทางอายตนะ

มีตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ รวมหกช่องทาง ในรูปของ

รูป รส กลิ่น เสียง ความรู้สึกแห่งกาย และอารมณ์

ถ้าแรกเริ่มเข้าสู่ปิตินี่ หากเป็นการเพ่ง มันจะแสดงออกปรุงแต่งออกมาทางจักษุวิญญาณ

เช่นมองเหรียญ สองเหรียญ เมื่อประคองจนเป็นสมาธิ

เราจะเห็นว่าเหรียญอีกเหรียญมันหายไป

จริงๆมันไม่ได้หาย

แต่เกิดจากการปรุงแต่งที่หดตัวของจิต ไปรวมตัวปรุงแต่งตรงโฟกัสเดียว

มันไม่โฟกัสรอบๆรวมๆอย่างที่ตาเรามองเห็นภาพแบบกระจาย

จิตมันปรุงแต่งมารวมตัวอยู่ตรงจุดเดียว

รอบๆก็เลยจางคลายหายไปจากครรลองแห่งจักษุ

การเพ่งเทียนก็เหมือนกัน

เมื่อจิตรวมเป็นสมาธิ เปลวเทียนจะลอยเด่นขึ้นมาในครรลองแห่งจักษุ

สิ่งที่เป็นรูปรอบๆ เช่นผนัง ผู้คนรอบๆ หรือรูปอะไรใดๆที่แสดงอยู่ในครรลองแห่งคลองจักษุ คือสิ่งที่เจ้าของเห็น

มันจะเลือนลางและจางคลายหายไป

เหลือแต่เปลวเทียนที่ส่องสว่างอยู่เบื้องหน้า อย่างเดียวเท่านั้น

ถ้าหลงตกไปในภวังค์จิต สติเผลอเลอไป

การปรุงแต่งที่เข้มข้นขึ้นมันก็จะเกิด

เช่นเทียนแยกออกเป็นร้อยเป็นพัน

ขยายเล็กใหญ่ หรือเราหายเข้าไปในเปลวเพลิง

เกิดเห็นสิ่งแปลกๆผุดขึ้นมา

นี่..อาการเช่นนี้ หากไม่มีผู้ชี้แนะ ว่ามันเป็นอาการปรุงแต่งจิต

เจ้าของก็จะหลงยึดล่ะ

ดีไม่ดี ตกใจสติแตกที่ท่านเรียกว่ากรรมฐานแตก

ก็จะวิกลจริตบ้าใบ้ไปตลอดชีวิตเลยก็มี

เราจึงควรพึงทำความรู้จักอาการมันไว้

ในวิถีพุทธ ผู้ที่ได้รับการอบรม และชี้แนะอย่างถูกวิธี

เขาจะรู้เท่าทันในอาการปรุงแต่งที่มีที่เกิด

ไม่ใช่ว่า รู้เท่าทันแล้ว มันจะไม่มีไม่เกิด

ถึงรู้เท่าทันมันก็เกิด

แต่การเกิดนั้น เขาตั้งมั่นด้วยสติและปัญญา ว่ามันเป็นเรื่องของการปรุงแต่ง

มันแค่กำลังเข้าสู่โหมดฝัน

ฝันในขณะที่เรากำลังตื่นอยู่

เพราะฝันในขณะที่กำลังตื่นอยู่นี่แหละ

คนฉลาดน้อย จึงคิดว่าตนเองนี่แหละเป็น

และเอาตัวตนเข้าไปเป็นเจ้าของในทุกอาการ

นี่..นักปฏิบัติทั้งหลาย จึงแช่อยู่แค่อาการปรุงแต่งแห่งปิตินี้

ไปไหนไม่รอด เข้าสู่สุข และเอกัคคตารมณ์ไม่ได้

เพราะสุขและ เอกัคคตารมณ์มันเป็นเรื่องของปัญญาและสติที่เข้าใจในวิถีของมันล้วนๆ

ถึงได้กล่าวว่า สมาธิแห่งพุทธวิถี เป็นเรื่องของชาวพุทธเท่านั้น

ไม่ได้มีในศาสนาอื่น ที่นั่งหลับตาแล้วเป็นนั่นเป็นนี่

ที่เป็นนั่นเป็นนี่ มันเป็นเรื่องปรุงแต่งจิต ที่เจ้าของออกไปจากกระแสไม่ได้ล้วนๆ

ข้าจะเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ แล้วพวกเราก็คิดกันเอาเองถึงเรื่องที่เราเรียกว่า อภิญญา

สมัยหนึ่ง ข้าอยู่ในป่าทางทุ่งใหญ่ ไปทางหมู่บ้านคริสตี้อะไรนู่นแหละ

อาหารก็ไม่ค่อยมีกิน กินใบไม้ เห็ด หยวกกล้วย ไปตามเรื่อง

การอยู่ป่าและอยู่กับอารมณ์ตนเองนี่ มันมีสมาธิจิตหนาแน่น

ข้าออกจากสมาธิ เพ่งไปที่ใบไม้แห้งกองหนึ่ง

ระลึกในใจว่าเดี๋ยวไฟก็ติดลุกโชนขึ้นมา

ปรากฏว่า ไฟก็ลุกขึ้นมา ข้าดูเปลวไฟเฉยๆ แต่ใคร่ครวญว่า

จิตนี่มีกำลังจริงหนอ ใครในโลกนี้จะรู้บ้าง เรานี่ มีพลังวิเศษ มีพลังอำนาจแห่งจิตแล้วหนอ

เมื่อระลึกให้มันดับลง ไฟมันก็ดับ มันดับไปตามกระแสนึกคิดของเรา

สมัยนั้นข้าไม่เข้าใจหรอก นึกว่าตัวเองได้อภิญญา

มันอยากออกจากป่าไปแสดงให้ใครๆเห็นว่า จิตนี้มีอำนาจติดไฟให้ลุกขึ้นมาได้

แต่ความจริง มันไม่ใช่อย่างนั้น

ความจริงก็คือ ข้านั่งฝันไปเอง มันเป็นอาการแห่งภวังค์จิตในขณะที่ตื่น

สติที่กล้าแข็งมันระลึกได้ แต่จริงๆ มันเข้าสู่ภวังค์จิตไปแล้ว

มันเคยชินของมันอย่างนั่น

มันจึงฝันอะไรก็ได้ อาศัยผัสสะด้วยสติที่ระลึกเอา

ระลึกอะไร มันก็ปรุงไปตามเหตุปัจจัย

มันไม่ใช่ความเป็นจริงอะไร

แต่ไอ้ความไม่จริงนี่แหละ

กับเจ้าของมันเกิดขึ้นจริงๆ

และสิ่งที่เกิดนี่แหละทำให้เราต้องวนเวียนกับความแปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจ และหลงใหลไปกับกระแสของมัน

มันเป็นอุปกิเลสที่ขวางมรรคผล

นี่..จึงแสดงเหตุมาให้ฟังกัน

วันนี้ไม่ว่างซะแล้ว ขอสาธุคุณโมทนาที่ติดตามอ่านตามฟังกัน

ขอบุญนี้ให้ทุกคนมีดวงตาเห็นธรรม

ขอสาธุคุณ

พระธรรมเทศนา ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2560
โดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง