พุทธะนั้นเพียรอย่างมีปัญญา

พุทธะนั้นเพียรอย่างมีปัญญา

418
0
แบ่งปัน

**** “พุทธะนั้นเพียรอย่างมีปัญญา” ****

….เมื่อวานเดินลงจากเขา ผ่านพระน้องรูปหนึ่ง กำลังเดินจงกรม ขึ้นเขาลงเขาด้วยความสงบนิ่ง

พระน้องรูปนี้ จิตใจดีมาก มีความเพียรในการปฏิบัติ ตั้งอกตั้งใจ เมื่อข้าเดินเข้าไปใกล้ ท่านก้มลงกราบ ข้าจึงถามว่า

” เดินขึ้นลงไปมา เอาสติระลึกถึงอะไร ”

ท่านตอบว่า ” ท่านท่อง นะ มะ พะ ธะ เดินท่องอยู่ในใจเช่นนี้ขอรับ ”

” อ้าว..เมื่อวันก่อนเห็นบอกว่า สวดปาฏิโมกข์นี่ ทำไมวันนี้มาท่อง นะ มะ พะ ธะ ”

ท่านก้มหน้านิ่ง ไม่รู้จะตอบยังไง ข้าจึงบอกไปว่า

” เราบวชมานาน การฝึกปฏิบัตินั้น เราพึงฉลาดและแยบคายในการฝึก

มาถึงขั้นนี้แล้ว ให้เลือกเอามาซักหนึ่งอารมณ์ ที่เข้ากับจริตเรา

คำทั้งหลายนั้น เป็นคำบริกรรม เราเลือกใช้ตามอัตถยาศัย

ถ้าเราเลือกคำบริกรรมใดบริกรรมหนึ่งเพื่อให้เป็นที่เกาะจิต เราก็พึงใช้คำบริกรรมนั้นอย่างเดียว เพื่อให้ใจมีที่เกาะ

การเลือกใช้หลายอย่าง ทำให้ใจเราไม่ชำนาญในนิมิตหมายแห่งคำบริกรรม

ถ้าเราจะเดินเพ่งไปที่การเคลื่อนไหวแห่งกาย เราก็เอาสัมปชัญญะประคองการเคลื่อนไหวแห่งกาย ไม่ต้องบริกรรม

ให้เอาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นที่ตั้ง ท่ามกลางธรรมชาติเช่นนี้ ความสงบแห่งมันจะไม่สาดส่ายและเป็นนิวรณ์ ”

ท่านก้มลงกราบดูว่าเข้าใจ ข้าจึงอธิบายให้ฟังต่อว่า

” ท่านขยันและฝึกมานาน ท่านอาจแก่ตายด้วยความโง่แห่งความเพียรเช่นนี้

ท่านจะเอาสงบถึงไหน เอาสงบไปทำอะไร ขยันนั้นดี แต่ขยันแบบโง่ๆนั้นไม่ดี

เราฝึกเพื่อต้องการความสงบนั้นมันถูก แต่สงบแล้วก็ฝึกสงบอยู่เช่นนั้นนี่มันโง่ มันบ้าคลั่งความสงบ ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ที่ชาวบ้านเขาฝึกๆกันนั้น เขาฝึกกันเพื่อให้สงบ เพราะใจเขาไม่สงบ

อย่างเรามีความเพียรสูง เมื่อสงบแล้ว เราเอาอารมณ์นั้นมาพิจารณาวินิจฉัยซิ หวงอะไรกับความสงบ

เห็นต้นไม้นั่นไหม นั่นโขดหิน นั่น นก นั่นท้องฟ้า นั่น..ใครเห็น..

สิ่งต่างๆที่มันเห็นมันมี มันเห็นมันมีเพราะอะไร

เพราะมีตาเราจึงเห็นใช่ไหม

เรามีจมูกจึงเห็นกลิ่นใช่ไหม

เรามีหูจึงเห็นเสียงใช่ไหม

เรามีลิ้นจึงเห็นรสใช่ไหม

เรามีกายจึงเห็นร้อน อ่อน แข็ง ใช่ไหม

เรามีใจจึงเห็นมโนความรู้สึกนึกคิดใช่ไหม

เราต้องเริ่มสาวผลที่ผัสสะเบื้องหน้าออกไปเช่นนี้ หาเหตุหาผลมัน ไม่ใช่จมแช่อยู่กับความสงบอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้

ถ้าตาบอด หูหนวก ไม่มีความรู้สึกทางกายสัมผัส เราจะกลัวเสือไหม เราจะยึดกับสิ่งที่มันมีไหม เราจะโกรธใครไหม เราจะรู้สึกถึงอารมณ์อะไรไหม

ที่เราอยากนั่น อยากนี่ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ก็เพราะมันมีไอ้ช่องต่อเหล่านี้ใช่ไหม

ถ้าไม่มี เราก็คงไม่มีความรู้สึก ไม่มีอารมณ์ ไม่ต้องมีความกลัว ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องโหยหาอะไรใช่ไหม

ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ใจเราก็คงสงบ ไม่ต้องมีกิเลสอะไร เพราะใจเรานี่ไม่เกิดความรู้สึกอะไร

ไม่ต้องมีบาป ไม่ต้องมีบุญ ไม่ต้องไปรู้เห็นอะไร สงบเช่นนี้เราจะนิพพานไหม

นี่..เราต้องพิจารณาเข้ามาหาตัวเราอย่างนี้

เราจะเห็นชัดว่า ความสงบที่เราเฝ้าเพียรหานั้น มันไม่ใช่มรรคผลนิพพานอะไร

ผู้พิจารณาเช่นนี้ อยู่เนืองๆ เดินไปพิจารณาไป มันก็จะเห็นชัดเองว่า

รูปมันไม่มี เสียงมันไม่มี กลิ่น รส ผัสสะ อารมณ์ ที่เกิดจากความเป็นเรารู้เราเห็นนั่น มันไม่มี

ที่มีมันเกิดจากอายตนะ คือ ตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจนี้ทั้งสิ้น

ถ้าไม่มีอายตนะเหล่านี้ สิ่งทั้งหลายที่เราหลงยึดเป็นอุปาทาน เป็นกิเลส เป็นตัณหา มันก็ไม่มี

ที่มีเกิดจากมันมีอายตนะนี่แหละ

เมื่อเห็นเช่นนี้ มันก็ฉลาดขึ้นมาบ้างล่ะ มันเห็นความจริงที่เราไม่เคยเห็นบ้างล่ะ นี่จะเป็นตัวพื้นฐานปัญญาขึ้นมา

แต่ถ้ามันแจ้งขึ้นมาด้วยปัญญาที่สอดส่งลงไปเช่นนี้ ด้วยการแช่อยู่กับปัญญาที่เห็นขึ้นมาเช่นนี้ มันก็เริ่มโง่อีก

นี่..โง่มันมีหลายโง่ว่ะ..

มันก็ต้องมาพิจารณาลึกลงไปอีกว่า เหตุที่มีเพราะมันเป็นอย่างนี้ๆๆๆ

ถ้าไม่มี มันก็จะเป็นอย่างนี้ๆๆๆ

สำคัญคือ ปัจจุบันนี้มันมี เราจะอยู่ยังไงกับความจริงเช่นนี้ ทั้งๆที่รู้แล้วว่า จริงๆมันก็ไม่มี

ที่มีเกิดจากเหตุปัจจัยที่เรียกกันว่า อายตนะ

นี่..ก็ต้องพิจารณาให้ลึก ให้ละเอียดในเหตุปัจจัย ที่ไม่มีในสัญญาของเรามาก่อน

มันจะทำให้เราฉลาดขึ้น ตื่นออกมาจากความหลงในอัตตาตัวตนที่เคยเป็น

การพิจารณาเห็นผลเช่นนี้ มันเป็นกฏอิธทัปปัจจยตา พิจารณาสาวผลไปเรื่อยๆตามกำลังแห่งปัญญา

มันจะได้รอบวงแจ้งขึ้นมา เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

กรรมวิธีเช่นนี้ เป็นวิปัสนาญานที่จะเข้าไปถึงปัญญาวิมุติได้

การฝึกปฏิบัตินั้น มันต้องมีความแยบคายจิต อย่าไปแช่นิ่งกับสิ่งที่เราเป็น

คนที่แช่นิ่งกับสิ่งที่ตนเป็น

มันเป็นอัตตา และเสียเวลาทั้งชีวิตเพราะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ ตนเห็น ตนรู้ ตนเป็น นั่นถูกต้องและเป็นเรา

ขอให้เพียรอย่างมีปัญญาเถิด ข้าขอสาธุโมทนา

นี่..เป็นสิ่งเล็กน้อยขณะที่ข้าเดินลงมาจากเขาและสวนทางกันกับพระน้อง ที่เขากำลังปฏิบัติ

คงได้ข้อคิดต่อพระที่กำลังปฏิบัติอยู่หลายคน..!!

พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์ธรรมกะ บุญญพลัง
วันที่ 27 กันยายน 2560